การรบที่เมืองรุมเมืองคัง

(เปลี่ยนทางจาก เมืองคัง)

การรบที่เมืองรุมเมืองคัง เป็นผลมาจากการสวรรคตของพระเจ้าบุเรงนอง พระมหากษัตริย์พม่า ทำให้เมืองรุมเมืองคังกระด้างกระเดื่องต่อพม่า พม่าต้องการปราบปรามเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ประเทศราชอื่น ๆ พระเจ้านันทบุเรง ทรงจัดให้เจ้านายพม่าและพระนเรศวรเข้าตีเมืองรุมเมืองคังคนละวัน เจ้านายพม่าทั้งสามไม่สามารถเข้าตีเมืองได้ จนถึงวันที่สี่ พระนเรศวรทรงเข้าตีเมืองจนสำเร็จ ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่ามีกองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่นรธามังช่อ ร่วมสงครามด้วย สงครามนี้ปรากฏเฉพาะในพงศาวดารฝ่ายไทย ไม่ปรากฏในพงศาวดารพม่า

การรบที่เมืองรุมเมืองคัง

จิตรกรรมเรื่องพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอนพระนเรศวรนำกองทหารเข้าตีเมืองรุมเมืองคัง, วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สถานที่
เมืองรุมเมืองคัง (ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าคือที่ใด)
ผล เมืองรุมเมืองคังแตก
คู่สงคราม

อาณาจักรตองอู
อาณาจักรประเทศราช

เมืองรุมเมืองคัง
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
มังสามเกียด
พระสังขทัต
พระนเรศวร
นรธามังช่อ
เจ้าเมืองรุมเมืองคัง

การรบ แก้

พ.ศ. 2124 (พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) คลาดเคลื่อนเป็น พ.ศ. 2110) เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสวรรคต พระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์แทน เจ้าเมืองรุมเมืองคังได้กระด้างกระเดื่องแข็งเมืองต่อหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงจึงโปรดฯ ให้จัดทัพพระมหาอุปราชา ทัพพระสังขทัต ทัพพระเจ้าเชียงใหม่นรธามังช่อ และทัพพระนเรศวร ไปปราบเมืองรุมเมืองคัง เมื่อเสด็จไปถึงเมืองรุมเมืองคัง ทั้ง 4 พระองค์ปรึกษาว่ามีไพร่พลมากนัก จะสับสนวุ่นวายได้ พระนเรศวรจึงเสด็จไปเมืองอัตตะปือ

วันจันทร์ เดือน 5 ขึ้น 5 ค่ำ กองทัพพระมหาอุปราชาทำการเข้าตีในตอนกลางคืน ก็ถูกฝ่ายข้าศึกผลักก้อนศิลาลงมาทับผู้คนล้มตายเป็นอันมาก มิอาจจะเข้าตีต่อไปได้ ในที่สุดต้องถอยทัพกลับลงมายังค่าย

วันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 6 ค่ำ กองทัพพระสังขทัตทำการเข้าตี เกิดการรบพุ่งกันเป็นสามารถ แต่ฝ่ายข้าศึกอยู่บนที่สูง ชัยภูมิมั่นได้ผลักก้อนศิลาลงมาถูกรี้พลพระสังขทัตล้มตายเป็นอันมาก จะขึ้นหักเอามิได้ ก็ต้องถอยทัพกลับลงมาเช่นกัน

วันพุธ เดือน 5 ขึ้น 7 ค่ำ กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่นรธามังช่อ ทำการเข้าตีวันที่สาม ไม่สามารถเข้าตีได้ ต้องถอยทัพกลับมา

วันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 8 ค่ำ กองทัพพระนเรศวรกลับมาจากเมืองอัตตะปือ ได้ให้ระดมยิงปืนนกสับต้องข้าศึกที่ผลักก้อนศิลาล้มตายจำนวนมาก ผลักศิลาลงมาไม่ได้ พลทหารปีนขึ้นไปรบฆ่าข้าศึกตายจำนวนมาก สามารถจับตัวเจ้าเมืองรุมเมืองคังมาถวายพระเจ้าหงสาวดีได้[1]

พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน และพระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเลกล่าวต่างไปว่า พระนเรศวรให้พลปืนปีนขึ้นเขาแซงทั้ง 2 ข้าง แล้วให้ทหารอยู่บริเวณตีนเขาห่างๆ ทำการโห่ร้อง ชาวเมืองรุมเมืองคังผลักกลิ้งก้อนศิลาลงมาไม่โดน พลปืนที่ปีนขึ้นมาก็ระดมยิงใส่ชาวเมืองรุมเมืองคังตายเป็นจำนวนมาก ได้เมืองรุมเมืองคังเวลาเช้า​สามโมงจับตัวเจ้าเมืองรุมเมืองคังมาถวายพระเจ้าหงสาวดีได้ พระเจ้านันทบุเรงพระราชทานพานทองคำใส่ภูษา 1 องค์ หนักห้าชั่งจำหลักเปนรูปเทวดาแก่พระนเรศวร และไม่ได้กล่าวถึงเรื่องพระนเรศวรเสด็จไปเมืองอัตตะปือกับเรื่องกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่มารบเมืองรุมเมืองคัง[2][3]

เรื่องพระสังขทัต แก้

ในพงศาวดารไทยในตอนศึกเมืองรุมเมืองคัง ได้กล่าวถึงกองทัพของพระสังขทัตที่ยกมาตีเมืองรุมเมืองคัง ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงว่าเป็นใครมาจากไหน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าคือโอรสพระเจ้านันทบุเรงที่ได้เป็นพระเจ้าแปร ต่อมาทรงเปลี่ยนสันนิษฐานเป็นนะฉิ่นเหน่าง์ในพระนิพนธ์หนังสือไทยรบพม่า และในหนังสือพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำให้เชื่อกันว่าพระสังขทัตคือนะฉิ่นเหน่าง์ แต่จากพงศาวดารเกตุมดีตองอูราชวงศ์ (Ketumadi Toungoo Yazawin ကေတုမတီ တောင်ငူ ရာဇဝင်) ระบุว่านะฉิ่นเหน่าง์มีอายุได้ 13 ปีในสงครามยุทธหัตถี[4] เมื่อเทียบกับช่วงเวลาในศึกเมืองรุมเมืองคัง นะฉิ่นเหน่าง์จะมีอายุประมาณ 2-3 ปี ทำให้พระสังขทัตไม่น่าจะเป็นคนเดียวกันกับนะฉิ่นเหน่าง์

ปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่าพระสังขทัตควรเป็นพระเจ้าเมาะตะมะสิริสุธรรมราชา พระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนองกับพระนางราชเทวี ซึ่งมีพระนามเดิมว่าสังฆทัตถ (သင်္ဃဒတ္ထ) หรือ สังฆาทัตถ (သင်္ဃာ ဒတ္ထ)[5] อันมีความใกล้เคียงกับชื่อพระสังขทัตในพงศาวดารไทยมาก

ในหลักฐานพม่าและจีน แก้

ศึกเมืองรุมเมืองคังปรากฏเฉพาะในพงศาวดารฝ่ายไทย ไม่ปรากฏในพงศาวดารพม่า ในพงศาวดารพม่ามีเหตุการณ์ที่คล้ายกันคือ ในพ.ศ. 2125 เจ้าฟ้าไทใหญ่เมืองจันตา (ปัจจุบันอยูในเขตใต้คงและเป่าซาน มณฑลยูนนาน) และเมืองสองสบ (ปัจจุบันอยู่ใกล้กับเมืองก๋อง รัฐกะชีน) ไม่ยอมส่งบรรณาการให้พม่า หนีไปตั้งหลักที่เมืองจันตา (盏达) ในเขตใต้คง มณฑลยูนนาน พระเจ้านันทบุเรงจึงให้พระเจ้าแปรสะโตธรรมราชาและพระเจ้าเชียงใหม่นรธามังช่อยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม ล้อมเมืองจันตา 5 เดือนจึงยึดเมืองได้ จับเจ้าฟ้าทั้งสองกลับหงสาวดีใน พ.ศ. 2126[6] ในหมิงสื่อลู่และหมิงสือได้ระบุว่ามีชาวจีนในยูนนานชื่อเยว่เฟิง (嶽鳳) และคนเมืองกึ๋งม้าชื่อห่านเฉียน (罕虔) ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกองทัพพม่า และกล่าวว่าพม่าได้โจมตีหัวเมืองไทใหญ่ในเขตยูนนานจำนวนมาก แต่ถูกราชวงศ์หมิงโต้กลับ โดยส่งหลิวทิง (劉綎) และเติ้งจื่อหลง (鄧子龍) สองแม่ทัพเข้ามาทำศึกกับพม่า สงครามครั้งนี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของหงสาวดี ในปี พ.ศ. 2127[7][8]

เมืองรุมเมืองคัง แก้

ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าเมืองรุมเมืองคังอยู่ที่ไหน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงสันนิษฐานว่าเมืองรุมเมืองคังอาจเป็นเมืองเดียวกับเมืองก๋อง (မိုးကောင်း) ในรัฐกะชีน ซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐาน เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ตามหลักฐานพม่าและจีนแล้ว เมืองรุมเมืองคังอาจจะเป็นเมืองในกลุ่มหัวเมืองไทใหญ่ในยูนนานก็เป็นได้

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรทรง "เสด็จไปเถิงเมืองล้านช้างแล้วเสด็จไปเถิงอัตปือแดนเมืองจาม"[9] ปล่อยให้กองทัพที่เหลือตีเมืองรุมเมืองคัง เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาจึงยกทัพไปเมืองรุมเมืองคัง จึงสันนิษฐานว่าเมืองรุมเมืองคังอาจจะเป็นเมืองในลาวก็เป็นได้

อ้างอิง แก้

  1. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  2. ศานติ ภักดีคำ. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. หน้า (35)-(50). ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)]
  3. พระราชพงษาวดารกรุงเก่า-ฉบับหมอบรัดเล
  4. Sein Lwin Lay, Kahtika U (2006). Mintaya Shwe Hti and Bayinnaung: Ketumadi Taungoo Yazawin (in Burmese) (2nd printing ed.). Yangon: Yan Aung Sarpay.
  5. Royal Historical Commission of Burma (1829–1832). Hmannan Yazawin (in Burmese). 1–3 (2003 ed.). Yangon: Ministry of Information, Myanmar.
  6. Royal Historical Commission of Burma (1829–1832). Hmannan Yazawin (in Burmese). 1–3 (2003 ed.). Yangon: Ministry of Information, Myanmar.
  7. 明史/卷247
  8. 明实录神宗实录
  9. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9