เฟลิเป กัลเดรอน
เฟลิเป กอนซาเลซ กัลเดรอน โรกา (Felipe Gonzáles Calderón Roca) เป็นนักกฎหมายชาตินิยมผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฟิลิปปินส์ เกิดเมื่อ 4 เมษายน พ.ศ. 2411 ที่จังหวัดกาบิเต ประเทศฟิลิปปินส์ ครอบครัวของเขาเดิมอยู่ที่เม็กซิโกและได้อพยพมายังมะนิลา เขาจึงเติบโตมาในสังคมของชาวฟิลิปปินส์ในยุคที่มีกระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคม สำเร็จการศึกษาทางด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซานโตโตมัส เมื่อ พ.ศ. 2436 แนวคิดของกัลเดรอนนั้นไม่เห็นด้วยกับการปกครองของสเปนแม้เขาจะเกิดในครอบครัวคนชั้นสูง เขาเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อฟิลิปปินส์หลังจากสำเร็จการศึกษา โดยเข้าร่วมงานกับรัฐบาลปฏิวัติซึ่งต่อมาได้สถาปนาสาธารณรัฐมาโลโลสขึ้น
ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2441 สาธารณรัฐมาโลโลสได้จัดตั้งสภามาโลโลสซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ประกาศอิสรภาพของสาธารณรัฐมาโลโลสอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2441 สภานี้ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฟิลิปปินส์ที่เรียกรัฐธรรมนูญมาโลโลส กัลเดรอนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยใช้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปเป็นแบบ สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญนี้นั้น แบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง ฝ่ายบริหาร มีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้า มีคณะรัฐมนตรี 7 คน ฝ่ายตุลาการได้แก่ ศาล ประธานศาลสูงสุดแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งต่างจากการปกครองในสมัยเป็นอาณานิคมของสเปนซึ่งกำหนดให้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาประจำรัฐ กำหนดสิทธิพลเมืองและชาวต่างชาติอย่างละเอียด
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากสภามาโลโลสเมื่อ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 แต่หลังจากนั้นอีกเพียง 3 เดือน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็สิ้นสุดลง เมื่อสหรัฐไม่ยอมรับเอกราชของสาธารณรัฐมาโลโลส และเกิดสงครามกับสหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2441 สาธารณรัฐมาโลโลสได้ยอมจำนนต่อสหรัฐใน พ.ศ. 2444 ในระหว่างเกิดสงครามกับสหรัฐ กัลเดรอนได้ยุติบทบาทในสาธารณรัฐมาโลโลสและหันไปร่วมมือกับฝ่ายสหรัฐ เมื่อสหรัฐเป็นฝ่ายชนะ กัลเดรอนปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง แต่หันมาประกอบอาชีพอิสระ เขาเสียชีวิตที่มะนิลาเมื่อ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2451
อ้างอิง
แก้- สุพรรณี กาณจนัษฐิติ. นายเฟลีเป กัลเดรอง. ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 2 อักษร C-D ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2547.หน้า 22 – 25