เฟรนช์ฟรายส์

มันฝรั่งแท่งทอดในน้ำมันท่วม

เฟรนช์ฟรายส์ (อังกฤษ: French fries) หรือ ฟรายส์ (fries, ภาษาอังกฤษแบบอเมริกาเหนือ), ชิปส์ (chips, ภาษาอังกฤษแบบบริติชและแบบไอริช)[1], ฟิงเกอร์ชิปส์ (finger chips, ภาษาอังกฤษแบบอินเดีย)[2] เป็นมันฝรั่งหั่นแท่งทอดในน้ำมันท่วมแบบกรอบหรือนุ่มด้านใน โรยเกลือแล้วเสิร์ฟขณะร้อน เฟรนช์ฟรายส์เป็นขนมขบเคี้ยวหรืออาหารจานด่วนที่ทานกับซอสมะเขือเทศ มายองเนส น้ำส้มสายชู หรือซอสบาร์บีคิว นอกจากนี้ยังทานกับเนยแข็ง ซอสทาร์ทาร์ หรือน้ำสลัดเทาซันด์ไอแลนด์ รูปแบบเฟรนช์ฟรายส์มีหลากหลาย เช่น แบบวง แบบหยัก หรือใช้มันเทศแทนมันฝรั่ง

เฟรนช์ฟรายส์
French fries on a paper plate
ชื่ออื่นChips, finger chips, fries, frites, hot chips, steak fries, potato wedges, wedges
มื้อขนมขบเคี้ยว, เครื่องเคียง
แหล่งกำเนิดเบลเยียมหรือฝรั่งเศส (ยังเป็นที่ถกเถียง)
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน
ส่วนผสมหลัก
รูปแบบอื่นCurly fries, shoestring fries, steak fries, sweet potato fries, Chili cheese fries, poutine
ข้อมูลอื่นมักเสิร์ฟพร้อมเกลือ กินกับซอสมะเขือเทศ มายองเนส น้ำส้มสายชู ซอสบาร์บีคิว และอื่น ๆ

เฟรนช์ฟรายส์เตรียมได้จากการหั่นมันฝรั่งเป็นแท่ง นำไปล้างน้ำเย็นแล้วทิ้งไว้ให้แห้ง[3] เฟรนช์ฟรายส์อาจทอดเพียงครั้งเดียวหรือสองครั้ง[4] โดยการทอดสองครั้งจะทอดครั้งแรกที่อุณหภูมิ 160 °ซ (320 °ฟ) และครั้งที่สองที่อุณหภูมิ 190 °ซ (375 °ฟ) แค่ชั่วครู่เพื่อให้ผิวด้านนอกกรอบ ก่อนจะนำไปพักสะเด็ดน้ำมัน โรยเกลือและเสิร์ฟ ระยะเวลาในการทอดขึ้นอยู่กับขนาดของมันฝรั่ง โดยมันฝรั่งขนาดราว 2–3 มิลลิเมตร จะใช้เวลาทอดครั้งแรกประมาณสามนาที และครั้งที่สองแค่ไม่กี่วินาที[4] การทอดเฟรนช์ฟรายส์ทำได้หลายวิธี เช่น การทอดในน้ำมันท่วม การทอดสุญญากาศ หรือการทอดในกระทะก้นลึก ภัตตาคารส่วนใหญ่ใช้มันฝรั่งแช่แข็งแล้วนำมาลวกก่อนนำไปทอด[5] โดยปัจจุบันใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันจากไขมันวัว[4]

ประวัติ

แก้

ที่มาของเฟรนช์ฟรายส์ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่ามาจากประเทศเบลเยียมหรือประเทศฝรั่งเศส[6] โดยโจ เฌราร์ นักหนังสือพิมพ์ชาวเบลเยียมอ้างถึงต้นฉบับปี ค.ศ. 1781 ที่ระบุถึงมันฝรั่งทอดในหุบเขาแถบแม่น้ำเมิซก่อนปี ค.ศ. 1680 มีเนื้อหาว่า "ชาวเมืองนามูร์ อ็องแดน และดีน็อง โดยเฉพาะในหมู่คนยากจนมีวิธีตกปลาและทอดปลาเล็ก เมื่อแม่น้ำกลายเป็นน้ำแข็งและการตกปลาเป็นไปอย่างยากลำบาก พวกเขาจะหั่นมันฝรั่งเป็นรูปปลาเล็ก ๆ และนำไปทอดกินแทน"[7] ขณะทางฝรั่งเศสกล่าวว่าเฟรนช์ฟรายส์ถูกคิดค้นโดยพ่อค้าอาหารริมทางบนสะพานปงเนิฟ ก่อนเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789[8] และพบหลักฐานอ้างอิงถึง "มันฝรั่งทอด" ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1775[9]

เนื่องจากเฟรนช์ฟรายส์ประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรตในรูปแป้งและโปรตีนจากมันฝรั่ง ไขมันจากน้ำมันทอด และโซเดียมจากเกลือ จึงมักถูกกล่าวว่าเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โจนาทาน บอนเน็ตกล่าวในนิตยสาร ไทม์ ว่า "เฟรนช์ฟรายส์ไม่มีสารอาหารมาตั้งแต่ต้น เพราะมันผ่านทั้งการทอด เติมเกลือ และขาดส่วนที่มีคุณค่าทางอาหารมากที่สุดอย่างเปลือก"[10] ขณะที่เดวิด แคตซ์กล่าวว่าเฟรนช์ฟรายส์ไม่ดีต่อสุขภาพเพราะ "มันมักมาคู่กับเบอร์เกอร์ซึ่งมีไขมัน และกินกับซอสมะเขือเทศที่มีน้ำตาล และมายองเนสที่มีไขมัน"[10] นอกจากนี้เฟรนช์ฟรายส์ยังมีสารอะคริลาไมด์จากการทอด ซึ่งองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer หรือ IARC) ระบุว่าสารนี้ "อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์" ขณะที่สถาบันพิษวิทยาแห่งชาติของสหรัฐ (National Toxicology Program หรือ NTP) จัดให้อะคริลาไมด์เป็นสารที่ "คาดการณ์อย่างมีเหตุผลว่าอาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์"[11]

อ้างอิง

แก้
  1. "chip: definition of chip in Oxford dictionary (British English)". Oxforddictionaries.com. 12 September 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-08. สืบค้นเมื่อ 16 September 2013.
  2. Indian English,"finger chip". Cambridge Dictionary Online.
  3. Fannie Farmer, The Boston Cooking-School Cook Book, 1896, s.v.
  4. 4.0 4.1 4.2 Saint-Ange, Evelyn and Aratow, Paul (translator) (2005) [1927]. La Bonne Cuisine de Madame E. Saint-Ange: The Essential Companion for Authentic French Cooking. Larousse, translation Ten Speed Press. p. 553. ISBN 978-1-58008-605-9. {{cite book}}: |author= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  5. "The Making of French Fries". thespruce.com. สืบค้นเมื่อ 8 December 2017.
  6. Schehr, Lawrence R.; Weiss, Allen S. (2001). French Food: On the Table On the Page and in French Culture. Abingdon: Routledge. p. 158. ISBN 978-0415936286.
  7. Ilegems, Paul (1993). De Frietkotcultuur (ภาษาดัตช์). Loempia. ISBN 978-90-6771-325-2.
  8. "La frite est-elle Belge ou Française ?". Le Monde (ภาษาฝรั่งเศส). 2 January 2013. สืบค้นเมื่อ 3 February 2014.
  9. Le Moyne Des Essarts, Nicolas-Toussaint (1775). Causes célebres curieuses et interessantes, de toutes les cours ..., Volume 5, p. 41 and P. 159. สืบค้นเมื่อ 16 November 2014.
  10. 10.0 10.1 Fried Potatoes and Acrylamide: Are French Fries Bad For You?. Time.com (11 June 2015). Retrieved on 13 November 2016.
  11. "Acrylamide and Cancer Risk". American Cancer Society. February 11, 2019. สืบค้นเมื่อ September 7, 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้