เพลงพระราชนิพนธ์ เกษตรศาสตร์ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 ซึ่งจัดว่าเป็น 1 ใน 3 สถาบันการศึกษาที่พระองค์ได้พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ให้เป็นเพลงประจำสถาบัน โดยอีก 2 เพลง ได้แก่ เพลงพระราชนิพนธ์มหาจุฬาลงกรณ์ พระราชทานให้เป็นเพลงประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2492 และเพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทองที่พระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2506

เกษตรศาสตร์

เพลงประจำของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เนื้อร้องประเสริฐ ณ นคร
ทำนองพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
รับไปใช้17 ธันวาคม พ.ศ. 2509

ประวัติ แก้

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์ ได้เล่าไว้ว่า วันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด พระราชทานเลี้ยงอาหารเย็น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส. พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ "เกษตรศาสตร์" ให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างหาที่สุดมิได้ สำหรับเพลงพระราชนิพนธ์ "เกษตรศาสตร์" นี้ ในเวลานั้นมีเพียงทำนองยังไม่มีเนื้อร้อง จึงเรียกว่าเพลง K.U. Song ภายหลัง ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้เป็นผู้แต่งเนื้อร้องให้ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน [1] [2] [3]

พระราชดำรัส แก้

เนื่องจากเพลงประจำสถาบันทั้งสามแห่งมีความไพเราะแตกต่างกัน และสะท้อนภาพลักษณ์ของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งได้ชัดเจน ดังที่มีพระราชดำรัสถึงการแต่งเพลงประจำสถาบันไว้ว่า [4]

...เรื่องเพลงที่แต่งขึ้นใหม่นี้ต้องขอชี้แจงไว้นิด ฟังแล้วอาจจะตกใจ เพราะว่าเพลงที่ประจำมหาวิทยาลัยในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ ก็มีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ของธรรมศาสตร์ที่ได้ให้ทั้งสองเพลงนี้ กับเพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นี้ ต้องบอกว่ายาวเท่ากัน ไม่ต้องอิจฉาว่าของเขายาวกว่าหรือสั้นกว่ายาวเท่ากัน แล้วก็การสร้างเพลงนี้ก็สร้างในแบบเดียวกัน ไม่ต้องต้องอิจฉาอะไร แล้วก็บอกว่าชอบ ถ้าไม่ชอบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อาจจะแก้ไข อย่างไรก็ตามแต่ก็มีอย่างหนึ่งคือ เพลงของจุฬาฯ เขาก็บอกว่าเพลงของเขาเพราะที่สุด ถ้าไปถามชาวธรรมศาสตร์ ว่าเพลงไหนเพราะที่สุด เขาก็บอกว่า เพลงธรรมศาสตร์ แล้วก็ถ้าถามพวกเกษตรน่ากลัวบอกเพลงเกษตรเพราะกว่า ก็เลยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรนะ แต่ว่าเพลงของจุฬาฯ เขาโอ้อวดว่าสง่าผ่าเผยมาก แล้วก็เพราะมาก ถ้าพูดถึงเพลงธรรมศาสตร์เขาก็บอกว่า องอาจดี เดินก็ได้ จุฬาฯ เขาก็ตอบว่า ของเขาก็เดินได้เหมือนกัน เป็นเพลงสำหรับนำแถวได้ เพลงของเกษตรนี้ก็ที่จริงก็ควรจะตัดสินเอาเองว่า เป็นยังไง แต่ความคิดส่วนตัวของผู้แต่ง รู้สึกว่าเป็นเพลงที่อ่อนหวาน อ่อนหวานกว่าเพลงโน้น แต่อ่อนหวาน นี่ไม่ได้หมายความว่าไม่เข้มแข็ง แต่อ่อนหวานนี่อาจจะมีความหมายได้ว่า ผลิตผลของทางการเกษตรรวมทั้งผลไม้หรือสิ่งที่บริโภค ถ้ารสหวาน รู้สึกว่าดี เพราะว่าเขานิยมกันอย่างนั้น ข้าวโพดหวานเขาก็ชอบ ก็เลยคิดว่า เพลงหวานไม่เป็นไร แต่ถ้านำไปเดินสำหรับนำแถวก็อาจจะได้เปลี่ยนแปลงไปหน่อย ก็อาจจะเป็นเพลงสำหรับแตรวงเดินก็อาจจะพอได้ แต่ขออย่างเดียวอย่าเดินขบวน...

อ้างอิง แก้

  1. https://ku.ac.th/web2012/index.php?c=adms&m=selbannerh_eng&time=20161026105507&page=News%2520and%2520Event&ip=10&load=tab5&lang=eng&id=693&id1=0/ รวมเพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : บทเพลงพระราชนิพนธ์ “เกษตรศาสตร์”
  2. https://web.ku.ac.th/king72/2530/kasetsart.html/ เก็บถาวร 2019-09-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เพลงพระราชนิพนธ์ “เกษตรศาสตร์” - เพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  3. http://archives.psd.ku.ac.th/kuout/p9007.html/ เก็บถาวร 2019-10-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - วันพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ “เกษตรศาสตร์”
  4. พระอัจฉริยภาพด้านบทเพลง