เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค

เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค [(เยอรมัน: Bürgerliches Gesetzbuch) ; ย่อ: เบเกเบ (เยอรมัน: BGB)] หรือ ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน เป็นประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศเยอรมนีซึ่งเริ่มร่างเมื่อ ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443) นับเป็นโครงการขนาดมหึมาและไม่ปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์โลกโครงการหนึ่ง กับทั้งกลายมาเป็นแม่แบบของประมวลกฎหมายแพ่งแห่งประเทศอื่น ๆ ที่ใช้ระบบซีวิลลอว์ อาทิ โปรตุเกส จีนแผ่นดินใหญ่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน กรีซ ยูเครน และรวมถึงไทย[1] เองด้วย

เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค
เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค ประกาศในรัฐกิจจานุเบกษาเยอรมันลงวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1896 (พ.ศ. 2439)
ข้อมูลทั่วไป
วันเริ่มใช้1 มกราคม ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443)
ท้องที่ใช้เยอรมนี ทั่วประเทศเยอรมนี
ภาพรวม
กฎหมายสารบัญญัติ ประเภทกฎหมายเอกชน
ว่าด้วย กฎหมายบุคคล (บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล), กฎหมายนิติกรรมและสัญญา, กฎหมายหนี้ (หนี้โดยนิติกรรม และ หนี้โดยนิติเหตุ เช่น ละเมิด, จัดการงานนอกสั่ง และ ลาภมิควรได้ ฯลฯ), กฎหมายทรัพย์สิน (ทรัพยสิทธิ และ กรรมสิทธิ์ ฯลฯ), กฎหมายครอบครัว (หมั้น, สมรส, บิดามารดากับบุตร ฯลฯ) และ กฎหมายมรดก
เว็บไซต์
เยอรมันอังกฤษ

ประวัติ แก้

ยุคจักรวรรดิเยอรมนี แก้

การประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสหรือประมวลกฎหมายนโปเลียน (ฝรั่งเศส: Code Napoléon) เมื่อ ค.ศ. 1804 (พ.ศ. 2347) ส่งอิทธิพลมายังประเทศเยอรมนีครั้งที่ยังเป็นสมาพันธรัฐให้จัดทำประมวลกฎหมายแพ่งดุจกัน อันจะเป็นการจัดระบบและรวบรวมกฎหมายที่ต่างแบบกันทั้งหลายซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่หนทางไปสู่ความฝันครั้งนี้ของประเทศเยอรมนียังขรุขระนัก เนื่องเพราะช่วงนั้นยังไม่มีองค์กรนิติบัญญัติที่เหมาะสม กับทั้งได้รับเสียงคัดค้านอย่างหนักจากสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์เยอรมันที่นำโดย ฟรีดริช คาร์ล ฟอน ซาวิจนือ (เยอรมัน: Friedrich Carl von Savigny)

กระนั้น ใน ค.ศ. 1871 (พ.ศ. 2414) รัฐต่าง ๆ ในประเทศเยอรมันร่วมกันนำพาประเทศเข้าสู่ระบอบจักรวรรดิ ซึ่งในช่วงแรกรัฐต่าง ๆ ยังบริหารอำนาจนิติบัญญัติอย่างเอกเทศ กระทั่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิเยอรมนีเมื่อ ค.ศ. 1873 (พ.ศ. 2416) ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นทำหน้าที่องค์กรกลางในการนิติบัญญัติ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการหลายคณะเพื่อร่างกฎหมาย เพื่อใช้เป็นรากฐานในการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งใช้บังคับตลอดจักรวรรดิแทนที่กฎหมายที่ใช้บังคับเฉพาะถิ่นอย่างเดิม

ประมวลกฎหมายแพ่งฉบับแรกร่างเสร็จใน ค.ศ. 1888 (พ.ศ. 2431) แต่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบอย่างท่วมท้น คณะกรรมการชุดใหม่จึงได้รับการแต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิยี่สิบสองคนจากหลายสาขา อาทิ ผู้แทนนักนิติศาสตร์ ผู้แทนนักเศรษฐศาสตร์ และผู้แทนนักปรัชญา ทำหน้าที่ร่างประมวลกฎหมายแพ่งฉบับใหม่ ได้แก่ "เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค" นี้ ซึ่งต่อมาผ่านการพิจารณาสำคัญหลายครั้งกระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเยอรมนีลงมติรับรองให้ใช้เป็นกฎหมายได้ใน ค.ศ. 1896 (พ.ศ. 2439) และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443) ตราบวันนี้

ยุคนาซี แก้

ในยุคนาซี รัฐบาลนาซีมีแผนการจะยกเลิกเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคทั้งหมด แล้วประกาศใช้ประมวลกฎหมายใหม่ที่ตั้งใจจะให้เรียก "โฟคส์เกเซทซ์บุค" (เยอรมัน: Volksgesetzbuch) หรือ "ประมวลกฎหมายแห่งปวงชน" แทนที่ โดยประมวลกฎหมายใหม่ที่จัดทำขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับอุดมคติของรัฐบาลนาซี มากกว่าเจตนารมณ์แบบเสรีนิยมของเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค แต่แผนการครั้งนี้มิเคยกลายเป็นจริง

ยุคตั้งแต่ ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) แก้

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเยอรมนีแบ่งออกเป็นสองฟาก ฟากตะวันตกยึดถือระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยม ส่วนฟากตะวันออกยึดถือระบอบสังคมนิยม กระนั้น เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคยังคงทำหน้าที่เป็นกฎหมายแพ่งของทั้งสองฟากอยู่ กระทั่งฟากตะวันออกค่อย ๆ ประกาศใช้กฎหมายใหม่ที่ละอย่างสองอย่างเพื่อแทนที่เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค โดยเริ่มประกาศใช้ประมวลกฎหมายครอบครัวก่อนใน ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) และกฎหมายอื่น ๆ จนสิ้นสุดลงที่การประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งใหม่ทั้งฉบับใน ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) เรียก "ซีวิลเกเซทซ์บุค" (เยอรมัน: Zivilgesetzbuch) และรัฐบัญญัติว่าด้วยสัญญา ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) แต่ฟากตะวันตกนั้นยังใช้เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคอยู่ กระทั่งมีการสร้างเอกภาพใหม่ในเยอรมนีเพื่อรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวเมื่อ ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคจึงกลับมีผลใช้บังคับทั่วประเทศเยอรมนีอีกครั้ง

ในฟากตะวันตกตลอดมาจนเมื่อสร้างเอกภาพใหม่ในเยอรมนี เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาหลายครานับแต่ประกาศใช้เป็นครั้งแรกมา ครั้งสำคัญได้แก่ใน ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) ที่มีการชำระขนานใหญ่ซึ่งบรรพ 3 อันว่าด้วยหนี้ ส่งผลให้แนวทางของศาลในการปรับใช้และตีความกฎหมายแพ่งต้องพัฒนาเป็นการใหญ่ไปด้วย

เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคยังคงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของระบบซีวิลลอว์ในประเทศเยอรมนี มีอิทธิพลเหนือกฎเกณฑ์หลัก ๆ ที่ตราขึ้นต่อ ๆ มา แม้ปัจจุบัน ดังนั้น ในประมวลกฎหมายพาณิชย์เยอรมันจึงเป็นแต่กฎเกณฑ์พิเศษที่กำหนดขึ้นมาควบคุมห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจำกัด เพื่อประกอบกฎเกณฑ์ทั่วไปที่มีแล้วในเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค

ระบบควบคุมสังคมตามเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคเป็นแนวความคิดอันเป็นแบบอย่างทางนิติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พุทธศตวรรษที่ 24) เมื่อแรกประกาศใช้ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่ว่าไม่ได้คำนึงถึงการกำหนดให้ทุกฝ่ายมีความรับผิดชอบต่อสังคม นักนิติศาสตร์ก็ช่วยกันปรับปรุงระบบดังกล่าวเรื่อยมาเพื่อให้ใช้การได้ดีที่สุด และเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยอิทธิพลของกฎหมายแห่งสหภาพยุโรปอันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคก็ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างมากเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศนี้ ทั้งนี้ นักนิติศาสตร์มองว่าการปรับปรุงเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค เป็นไปเพื่อยังให้เกิดผลจริงซึ่งการทำให้กฎหมายว่าด้วยหนี้เกิดความทันสมัยขึ้นตามแนวความคิดสมัยใหม่ใน ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545)

โครงสร้าง แก้

เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคมีโครงสร้างที่ได้รับการดัดแปลงจากกฎหมายโรมันจนพิสดาร หรือที่เรียกว่า "กฎหมายพิสดาร" (อังกฤษ: pandect) โดยมีเนื้อหาสาระครอบคลุมกฎเกณฑ์เกี่ยวกับบุคคล ทรัพย์ ครอบครัว และมรดก เช่นเดียวกับประมวลกฎหมายของชาติอื่น ๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากกฎหมายโรมัน แต่ต่างจากประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสหรือ "ประมวลกฎหมายนโปเลียน" (ฝรั่งเศส: Code Napoléon) และประมวลกฎหมายแพ่งออสเตรียหรือ "อัลเกไมส์เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค" (เยอรมัน: Allgemeines bürgerliches Gesetzbuch) ตรงที่เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคประมวลบทบัญญัติทั่วไปมาไว้เป็นส่วนแรกสุด ทำให้เข้าใจบทบัญญัติในส่วนอื่น ๆ ได้ง่าย

เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคประกอบด้วยบทบัญญัติห้าบรรพ (อังกฤษ: book) ดังต่อไปนี้

  1. บรรพ 1 ว่าด้วยบททั่วไป (เยอรมัน: Allgemeiner Teil; อังกฤษ: General Part) — มาตรา 1 ถึงมาตรา 240 ซึ่งว่าด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีผลครอบคลุมถึงอีกสี่บรรพที่เหลือด้วย อาทิ กฎเกณฑ์เรื่องบุคคล ความสามารถในการผูกนิติสัมพันธ์ การแสดงเจตนา การบอกเลิกโมฆียกรรม การทำการแทน และการจำกัดพฤติการณ์บางอย่าง
  2. บรรพ 2 ว่าด้วยหนี้ (เยอรมัน: Recht der Schuldverhältnisse; อังกฤษ: Law of Obligations) — มาตรา 241 ถึงมาตรา 853 ซึ่งว่าด้วยสัญญาประเภทต่าง ๆ หนี้ระหว่างบุคคล และละเมิด
  3. บรรพ 3 ว่าด้วยทรัพย์สิน (เยอรมัน: Sachenrecht; อังกฤษ: Property Law) — มาตรา 854 ถึงมาตรา 1296 ซึ่งว่าด้วยการครอบครองและสิทธิต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์
  4. บรรพ 4 ว่าด้วยครอบครัว (เยอรมัน: Familienrecht; อังกฤษ: Family Law) — มาตรา 1297 ถึงมาตรา 1921 ซึ่งว่าด้วยการสมรส และนิติสัมพันธ์ต่าง ๆ ระหว่างสมาชิกในครอบครัว
  5. บรรพ 5 ว่าด้วยมรดก (เยอรมัน: Erbrecht; อังกฤษ: Law of Succession) — มาตรา 1922 ถึงมาตรา 2385 ว่าด้วยมรดก กล่าวคือเกิดอะไรขึ้นบ้างแก่สิ่งของของบุคคลที่ตายแล้ว รวมถึงการประกาศเจตนาของเขาด้วย

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แก้

  • ไม่มีกฎหมายแห่งเยอรมนีฉบับไหนที่มีจำนวนมาตรามากกว่าเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคที่มีทั้งสิ้นสองพันสามร้อยแปดสิบห้ามาตราอีกแล้ว
  • มาตรา 923 (1) แห่งเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค เป็นมาตราหกคณะ (อังกฤษ: hexameter) อันสมบูรณ์แบบในภาษาเยอรมัน โดยบัญญัติว่า

"Steht auf der Grenze ein Baum, so gebühren die Früchte und, wenn der Baum gefällt wird, auch der Baum den Nachbarn zu gleichen Teilen"

"If a tree stands on the border between two plots of land, the neighbours have equal rights to the fruit thereof and, if it is cut down, also to the tree."

"หากไม้ยืนต้นเจริญคาบขอบที่ดินสองที่ ผู้อยู่ข้างเคียงขอบที่ดินเช่นว่าย่อมมีสิทธิเสมอกันในสิ่งงอกเงยจากไม้ยืนต้นนั้น และในลำต้นแห่งไม้ยืนต้นนั้นเมื่อถูกโค่นลง"

  • ส่วนมาตรา 923 (3) แห่งเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค มีสัมผัสคล้องจองกันในภาษาเยอรมัน โดยบัญญัติว่า

"Diese Vorschriften gelten auch | für einen auf der Grenze stehenden Strauch"

"The foregoing provisions are also valid for bushes standing on the border."

"บทบัญญัติก่อนหน้านี้ให้ใช้บังคับแก่ไม้พุ่มอันเจริญบนขอบที่ดินด้วย"

  • แม้กฎหมายอื่น ๆ หลายฉบับพยายามจะแก้ปัญหาพิเศษบางประการซึ่งอาจอยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมายแพ่งทั่วไป กระนั้น ตัวเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคซึ่งเป็นประมวลกฎหมายแพ่งเองก็ปรากฏ "บีเนนเรช" (เยอรมัน: Bienenrecht) หรือ "กฎแห่งผึ้ง" (อังกฤษ: law of bees) อยู่ในมาตรา 961 ถึงมาตรา 964 แห่งบรรพ 3 อันว่าด้วยทรัพย์ กฎแห่งผึ้งเป็นผลมาจากการที่กฎหมายเยอรมันให้ตีความว่าผึ้งเป็นสัตว์ป่าเมื่อละจากรัง และตามกฎหมายแล้วบุคคลจะครอบครองสัตว์ป่ามิได้ มาตราดังกล่าวจึงอนุญาตให้ผู้ครอบครองฝูงผึ้งก่อนวันประกาศใช้เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์คงมีสิทธิในฝูงผึ้งนั้นได้ แต่มาตรา 961 ถึงมาตรา 964 นี้มักถูกมองว่ามีความสำคัญน้อยมากในกฎหมายเยอรมัน

อ้างอิง แก้

  1. แสวง บุญเฉลิมวิภาส. (2543). ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9742826218. หน้า 58.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้