เนบิวลานกอินทรี

(เปลี่ยนทางจาก เนบิวลาอินทรี)

เนบิวลานกอินทรี (อังกฤษ: Eagle Nebula; หรือวัตถุท้องฟ้าของเมซีเยหมายเลข 16; M16; หรือ NGC 6611) เป็นกระจุกดาวเปิดอายุน้อยในกลุ่มดาวงู และเป็นหนึ่งในบรรดาวัตถุท้องฟ้าที่มีชื่อเสียง เป็นที่สังเกตเห็นได้ง่าย ผู้ค้นพบคือ ฌ็อง-ฟีลิป เดอ เชโซ (ฝรั่งเศส: Jean-Philippe de Cheseaux) ในราวปี พ.ศ. 2288-2289 อยู่ในพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับเนบิวลาจาง ๆ หรือย่านเอช 2 ที่ขึ้นบัญชีไว้ในรหัส ไอซี 4703 เป็นย่านก่อตัวของดาวฤกษ์ใหม่ที่อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 7,000 ปีแสง ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในเนบิวลานี้มีโชติมาตรปรากฏเท่ากับ 8.24 ซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนโดยใช้กล้องส่องตา

เนบิวลานกอินทรี
ภาพของยอดแหลมใน เอ็ม 16 เนบิวลานกอินทรี
ภาพของยอดแหลมใน เอ็ม 16 เนบิวลานกอินทรี
ข้อมูลสังเกตการณ์: ต้นยุคอ้างอิง เจ 2000.0
ประเภทเนบิวลาเปล่งแสง
ไรต์แอสเซนชัน18h 18m 48s[1]
เดคลิเนชัน-13° 49′[1]
ระยะห่าง7,000 ly
โชติมาตรปรากฏ (V)+6.0[1]
ขนาดปรากฏ (V)7.0 ลิปดา
กลุ่มดาวกลุ่มดาวงู
ลักษณะทางกายภาพ
รัศมี70×55 ly
โชติมาตรสัมบูรณ์ (V)-8.21
จุดสังเกตอายุ 5.5 x 106 ปี
ชื่ออื่นเมซีเย 16, เอ็นจีซี 6611,[1], ชาร์ปเลส 49, อาร์ซีดับเบิลยู 165, กัม 83
ดูเพิ่ม: เนบิวลา, รายการเนบิวลา


เสาแห่งการก่อกำเนิด แก้

 
เสาแห่งการก่อกำเนิด ในเนบิวลานกอินทรี ภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

ภาพถ่ายเนบิวลาจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อปี พ.ศ. 2538 ทำให้เราเข้าใจกระบวนการภายในเนบิวลามากยิ่งขึ้น ภายในเนบิวลานกอินทรีมีย่านที่เรียกว่า "เสาแห่งการก่อกำเนิด" (อังกฤษ: Pillars of Creation) ซึ่งเป็นย่านก่อตัวดาวฤกษ์ใหม่ที่ใหญ่มาก มีพื้นที่มืดเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นดาวฤกษ์ก่อนเกิด ในปี พ.ศ. 2548 กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์สามารถถ่ายภาพโครงสร้างคล้ายเสาเช่นนี้ได้ในบริเวณกลุ่มดาวค้างคาว ซึ่งเป็นย่านก่อตัวเป็นดาวฤกษ์ใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าที่พบในเนบิวลานกอินทรีมาก เรียกชื่อว่า "ขุนเขาแห่งการก่อกำเนิด" (อังกฤษ: Mountains of Creation)[2]

เมื่อนำภาพถ่ายจากกล้องฮับเบิลรวมกับภาพถ่ายรังสีเอ็กซ์ที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราทำให้มองเห็นแหล่งกำเนิดรังสีเอ็กซ์ (จากดาวฤกษ์ใหม่) ซึ่งไม่สัมพันธ์กับโครงสร้างรูปเสา แต่กระจายเป็นหย่อมๆ ทั่วบริเวณ[1] ข้อมูลนี้แสดงว่าอาจจะมีการก่อตัวของดาวฤกษ์ใหม่สูงสุดในเนบิวลานกอินทรีเมื่อประมาณหนึ่งล้านปีมาแล้ว ส่วนโปรโตสตาร์ในส่วนกระจายแก๊สในโครงสร้างเสาอาจจะมีความร้อนไม่มากเพียงพอที่จะแผ่รังสีเอ็กซ์ออกมาได้

ราวต้นปี พ.ศ. 2550 นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ที่แสดงว่า โครงสร้างเสาได้ถูกทำลายลงโดยการระเบิดของซูเปอร์โนวาแห่งหนึ่งเมื่อประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว แต่แสงที่แสดงรูปร่างใหม่ของเนบิวลายังเดินทางมาไม่ถึงโลกจนกว่าจะถึงสหัสวรรษหน้า[3]

ยอดแหลม แก้

 
ยอดแหลมในเนบิวลานกอินทรี

ยอดแหลม (อังกฤษ: Spire) เป็นภาพที่ถูกถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2547 เป็นภาพที่แสดงถึง"ยอดแหลม"ในเนบิวลานกอินทรี ยอดแหลมนี้มีความยาวถึง 9.5 ปีแสงหรือ 91.7 ล้านล้านกิโลเมตร ข้างในมีดาวที่กำลังก่อกำเนิดอยู่ ดาวที่อยู่ข้างในนั้นอาจเกิดจากก๊าซความหนาแน่นสูงที่กำลังถล่มลงมาเพราะแรงโน้มถ่วง หรือไม่ก็ความดันจากก๊าซที่ถูกทำให้ร้อนโดยดาวที่อยู่ใกล้ ๆ ภาพนี้ประกอบไปด้วยสีหลักสองสี นั้นก็คือสีฟ้าในด้านบนของภาพสำหรับออกซิเจนเรืองแสงและสีแดงในอาณาเขตด้านล่างสำหรับไฮโดรเจนเรืองแสง

คลังภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "SIMBAD Astronomical Database". Results for NGC 6611. สืบค้นเมื่อ 2006-11-16.
  2. Spitzer Captures Cosmic "Mountains Of Creation"
  3. Famous Space Pillars Feel the Heat of Star's Explosion เก็บถาวร 2008-07-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - ห้องทดลองการขับเคลื่อนด้วยไอพ่น

แหล่งข้อมูลอื่น แก้