เนตร เขมะโยธิน
พลเอก เนตร เขมะโยธิน เป็นอดีตหัวหน้าคณะกบฏเสนาธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2491 เป็นอดีตเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) เป็นอดีตรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ ในรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคสหภูมิ
พลเอก เนตร เขมะโยธิน ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. | |
---|---|
![]() | |
เลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 – 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 | |
นายกรัฐมนตรี | สฤษดิ์ ธนะรัชต์ |
ก่อนหน้า | พันเอก แสวง เสนาณรงค์ |
ถัดไป | พลตรี ชูศักดิ์ วัฒนรณชัย |
รัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 1 มกราคม พ.ศ. 2501 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 | |
นายกรัฐมนตรี | ถนอม กิตติขจร |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 |
เสียชีวิต | 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 (75 ปี) |
พรรค | สหภูมิ |
คู่สมรส | คุณหญิงพูนทรัพย์ เขมะโยธิน |
ประวัติแก้ไข
พลเอก เนตร เขมะโยธิน [1] เกิดวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เป็นบุตรของ พันเอก พระยารามจตุรงค์ (นัด เขมะโยธิน) และ ริ้ว เขมะโยธิน (ญ.), พลเอก เนตร เป็นผู้สืบสายสกุล “ณ ราชสีมา” ชั้น 8 สาย "พระยาภักดีสงคราม (เจ้าเมืองนางรอง)" [2][3] ต่อมาได้สมรสกับ คุณหญิงพูนทรัพย์ เขมะโยธิน (ญ.) และมีบุตรหลายคน, พลเอก เนตร มีศักดิ์เป็นปู่ของ นุติ เขมะโยธิน นักแสดงโทรทัศน์
พลเอก เนตร ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2528
การศึกษาแก้ไข
พลเอก เนตร ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากบิดารับราชการเป็นนายทหารระดับผู้บังคับการกรมอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา และเมื่ออายุ 7 ปี ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยทหารบก เป็นเวลา 11 ปี (จากชั้นประถมถึงจบหลักสูตร) โดยได้เรียนจบในปี พ.ศ. 2470 และเข้ารับราชการเป็นนายทหาร (ตามประวัติกล่าวว่ามีอายุน้อยที่สุดในเพื่อนรุ่นเดียวกัน)
ปี พ.ศ. 2477 ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และสามารถสอบได้ลำดับที่ 1 จึงถูกส่งไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหาร ประเทศฝรั่งเศส
ปี พ.ศ. 2514 ได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศึกษาศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2513-2514 [4]
ปี พ.ศ. 2519 ถึงปี พ.ศ. 2520 ได้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น [5]
บทบาททางสังคมแก้ไข
เป็นกำลังสำคัญของกองทัพบูรพาแก้ไข
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในปี พ.ศ. 2475 ไม่ปรากฏชื่อเข้าร่วม แต่ในปี พ.ศ. 2476 ขณะที่มียศเป็นนายร้อยโท ได้เกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชขึ้น นายร้อยโทเนตร เป็นทหารของฝ่ายรัฐบาลอยู่ในกองบังคับการกองผสมที่มีนายพันโทหลวงพิบูลสงครามเป็นผู้บังคับการ สามารถปราบกบฏได้สำเร็จ ในปีถัดมา นายร้อยโทเนตรได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก และได้เข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และได้เดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหาร ประเทศฝรั่งเศส โดยได้ศึกษาเป็นระยะเวลา 5 ปี ภายหลังกลับมาเมืองไทยไม่นาน นายพันเอกหลวงพิบูลสงครามซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ไทยกับฝรั่งเศสมีปัญหาความขัดแย้ง จนนำไปสู่การสู้รบระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่เรียกกันว่าสงครามอินโดจีน ในตอนต้นปี พ.ศ. 2484 เนตร เขมะโยธิน มียศเป็นนายพันตรี ตำแหน่งรองเสนาธิการกองทัพบูรพา ที่มีนายพันเอก หลวงพรหมโยธี เป็นผู้บัญชาการ
สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยแก้ไข
พลตรี เนตร เป็นนายทหารมีทัศนคติโน้มเอียงไปในแนวทางประชาธิปไตยของฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์[6] โดยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2489 ซึ่งมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้ามข้าราชการประจำทั้งทหารและพลเรือนดำรงตำแหน่งทางการเมืองในเวลาเดียวกัน ซึ่ง พลตรี เนตร สนับสนุนแนวคิดนี้ พลตรี เนตร ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ พันเอก เผ่า ศรียานนท์ และ พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รวมทั้ง ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนของนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลหลังที่มาจากการเลือกตั้ง ครับ
ก่อการกบฎยึดอำนาจจากรัฐบาลทหารแก้ไข
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 พลตรี เนตร ได้เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกบฏเสนาธิการ วางแผนเข้ายึดอำนาจการปกครองจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรมและไม่ให้ทหารแทรกแซงการเมืองอีกต่อไป โดยมีแผนจู่โจมเข้าจับตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ขณะที่ไปร่วมงานฉลองมงคลสมรส ของ พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ นางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ แต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทราบแผนการล่วงหน้าและทำการจับกุมผู้คิดก่อการได้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2491 [7] หลังการก่อกบฏดังกล่าว พลตรี เนตร ถูกจับเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2491 และถูกศาลสั่งจำคุก 3 ปี[8]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 พลตรี เนตร ได้เข้าร่วมก่อการกับกบฏสันติภาพ [9] แต่ถูกจับกุมและศาลพิพากษาจำคุก ต่อมาจึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในปี พ.ศ. 2500 [10]
ลงเลือกตั้งและเข้าร่วมรัฐบาลแก้ไข
ภายหลังเมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษ พลตรี เนตร ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์สารเสรี ของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อนร่วมรุ่น และต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ธันวาคม พ.ศ. 2500 โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคสหภูมิ ของสุกิจ นิมมานเหมินท์ ต่อมาเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการยึดอำนาจจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ มอบให้พลโท ถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พลตรี เนตร จึงได้เข้าร่วมรัฐบาล โดยดำรงตำแหน่งสำคัญ ดังนี้
- วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงคมนาคม [11]
- วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2501 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม [12]
- วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ
ต่อมา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเอง พลตรี เนตร จึงได้กลับมาทำงานใกล้ชิดอีกครั้ง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี (จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์) ในปี พ.ศ. 2502 [13] อยู่ในตำแหน่งจนจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506 และเมื่อ จอมพล ถนอม กิตติขจร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ย้ายมาเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จนถึงเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2512 หลังจากนั้น พลตรี เนตร ก็ไม่ได้กลับเข้าไปในการเมืองอีก
เครื่องราชอิสริยาภรณ์แก้ไข
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยแก้ไข
- พ.ศ. 2508 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[14]
- พ.ศ. 2505 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[15]
- พ.ศ. 2510 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[16]
- พ.ศ. 2499 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศแก้ไข
พ.ศ. 2507 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์ออเรนจ์-นัสเซา ชั้นประถมาภรณ์[17]
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ เนตร เขมะโยธินกับกบฏเสนาธิการ [ลิงก์เสีย]
- ↑ กรมศิลปากร, จดหมายเหตุนครราชสีมา 11 กันยายน พ.ศ. 2497, พิมพ์สนองคุณ เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) และ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินท์ ณ ราชสีมา), กรุงเทพฯ: ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ม.ป.ป.) , หน้า 200
- ↑ ต้นสกุล ณ ราชสีมา ย้อนเรื่อง เมืองโคราช
- ↑ ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปีการศึกษา 2513-2514จาก หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ↑ ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น[ลิงก์เสีย]
- ↑ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, พิมพ์ครั้งที่2, กรุงเทพฯ: พี.เพรส., 2550, หน้า 159
- ↑ นรนิติ เศรษฐบุตร ศ.ดร., 1 ตุลาคม คอลัมน์ส่วนร่วมสังคมไทย หน้า 8 เดลินิวส์ ฉบับที่ 22,653: วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีเถาะ
- ↑ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, พิมพ์ครั้งที่2, กรุงเทพฯ: พี.เพรส., 2550, หน้า 165
- ↑ ย้อนรอยรัฐประหารไทย ตอนที่ 12 กบฏสันติภาพ
- ↑ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙
- ↑ ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งรัฐมนตรีสั่งราชการ
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง (นายเสวตร เปี่ยมพงษ์สานต์ นายชื่น ระวิวรรณ พลตรี เนตร เขมะโยธิน นายทิม ภูริพัฒน์ นายอารีย์ ตันติเวชกุล)
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมืองในสำนักนายกรัฐมนตรี
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ↑ https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2507/D/090/2450.PDF