เนตติฎีกา เป็นคัมภีร์อธิบายเนื้อความและคำศัพท์ของคัมภีร์เนตติปกรณ์ จึงจัดอยู่ในกลุ่มเนตติปกรณ์ หรือเนตติบาลี ที่สืบทอดมาจากภาษิตของพระมหากัจจายนะที่กล่าวไว้ในสมัยพุทธกาล ต่อมาได้มีการรจนาคัมภีร์อธิบายความเพิ่มเติมเป็นลำดับ เริ่มจากคัมภีร์เนตติอรรถกา มาถึงคัมภีร์เนตติฎีกา และยังมีคัมภีร์อรรถาธิบายในลำดับต่อมาอีก ในภาษาไทยได้มีการแปลโดยโครงการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่น มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ และฉบับแปลของพระคันธสาราภิวงศ์ แห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง

ผู้แต่ง แก้

เนตติฎีกา เป็นคัมภีร์อธิบายเนติอรรถกถาอีกชั้นหนึ่ง ในคัมภีร์คันถวงศ์ได้กล่าวว่า เป็นผลงานของท่านพระธรรมปาละ ซึ่งคาดว่าจะมีช่วงชีวิตอยู่ราวพ.ศ. 950 - 1000 แต่ตามทัศนะของผู้แปลเนตติฎีกา ฉบับมูลนิธิภูมิพโลภิกขุ เมื่อปี 2525 ระบุว่า น่าจะเป็นผลงานของพระธรรมปาละอีกองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์อาวุโสของท่านพระอานันทาจารย์ คนละองค์กับพระธรรมปาละผู้อยู่สำนักวัดพทรติตถวิหาร หากเป็นไปตามข้อสันนิษฐานนี้ เนตติฎีกา น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 - 14 [1]

ด้านพระคันธสาราภิวงศ์ผู้แปลเนตติฎีกา ฉบับปี 2551 ระบุว่า พระธรรมปาลแห่งสำนักวัดพทรดิตถวิหาร (วัดท่าพุทรา) เป็นผู้แต่งขึ้น ซึ่งพระอารามแห่งนี้พระเจ้าอโศกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นที่เมืองนาคปัฏฏัน ประเทศอินเดีย [2]

เนื้อหา แก้

เนตติฎีกา มีจุดประสงค์หลักอยู่ที่การอธิบายเพิ่มเติมเนื้อความในเนตติอรรถกถา เริ่มต้นของคัมภีร์นี้แตกต่างจากคัมภีร์อื่นๆ ตรงที่ไม่มีประณามคาถา คือคาถาภาษาบาลีสรรเสริญพระรัตนไตร แต่เริ่มต้นด้วยการพรรณนากถาเริ่มพระคัมภีร์ พรรณนานิทานถกา แล้วพรรณนาตามเนื้อหาของเนตติอรรถกถา ไปจบลงที่พรรณนานิคม หรือคำลงท้ายคัมภีร์ ซึ่งผู้รจนาแต่งไว้อย่างไพเราะสละสลวย

อ้างอิง แก้

  1. โครงการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่นฯ (2525). หน้า 28
  2. พระคันธสาราภิวงศ์. แปล (2551). หน้า (7)

บรรณานุกรม แก้

  • โครงการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่น. (2525). "เนตติฎีกา และ เนตติวิภาวินี." กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ
  • พระคันธสาราภิวงศ์. แปล (2551). "เนตติฎีกา คัมภีร์อธิบายเนตติอรรถกถา" ลำปาง. วัดท่ามะโอ.

ต้นฉบับ แก้

เนตติฎีกา