เทือกเขาเหิงตฺวั้น

เทือกเขาเหิงต้วน หรือ เทือกเขาเหิงตฺวั้น (จีน: 橫斷山脈; พินอิน: Héng duàn Shān mài; อังกฤษ: Hengduan Mountains) เป็นกลุ่มเทือกเขาขนาดใหญ่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่เชื่อมต่อส่วนตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตกับที่ราบสูงหยุนหนาน-กุ้ยโจว เทือกเขาเหิงต้วนเรียงตัวตามแนวเหนือ–ใต้ ซึ่งแยกที่ราบลุ่มทางตอนเหนือของเมียนมาออกจากที่ราบลุ่มของมณฑลเสฉวน เทือกเขานี้มีลักษณะเด่นคือแนวระลอกสูงต่ำซึ่งเกิดจากการเข้าชนกันของอนุทวีปอินเดียกับแผ่นพื้นทวีปยูเรเซีย และจากการกัดเซาะโดยแม่น้ำสายหลักสามสายที่ระบายน้ำออกจากที่ราบสูงทิเบตด้านตะวันออก คือแม่น้ำแยงซี แม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน เทือกเขาเหิงต้วนได้รับการจดทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นแหล่งมรดกโลกพื้นที่คุ้มครองแม่น้ำขนานสามสายแห่งยูนนาน

เทือกเขาเหิงตฺวั้น
เขาก้งก๋า ยอดสูงสุดบนเทือกเขาเหิงตฺวั้นต้วน[1]
จุดสูงสุด
ยอดเขาก้งก๋า
ความสูง
เหนือระดับน้ำทะเล
7,556 เมตร (24,790 ฟุต)
ข้อมูลเชิงขนาด
ยาว900 กม. (559 ไมล์)
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์
ประเทศประเทศจีน และ ประเทศเมียนมา
พิกัดเทือกเขา27°30′N 99°00′E / 27.5°N 99°E / 27.5; 99

เทือกเขาเหิงต้วนครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตภาคตะวันตกมณฑลเสฉวน (เรียกในภาษาจีน ชวนซี จีน: 川西) พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน พื้นที่บางส่วนทางตะวันออกสุดของเขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจั้ง) และ บางส่วนของมณฑลชิงไห่ตอนใต้ นอกจากนี้ยังครอบคลุมบางส่วนของรัฐคะฉิ่นตะวันออกในประเทศเมียนมา ซึ่งโดยรวมมีพื้นที่มากกว่า 600,000 ตารางกิโลเมตร เทือกเขาเหิงต้วนมีความยาวประมาณ 900 กิโลเมตร (560 ไมล์) ทอดยาวเหนือจรดใต้จากละติจูด 33 ° N ถึง 25 ° N ความกว้างตะวันตกจรดตะวันออกมีทั้งส่วนที่กว้างในตอนบนและแคบในตอนล่างในรูปทรงสามเหลี่ยมปลายแหลมหันลงทางใต้ เทือกเขาเหิงต้วนมีความกว้างประมาณ 400 กิโลเมตร (250 ไมล์) จากลองติจูด 98 ° E ถึง 102 ° E แนวเทือกเขาสี่แนวสำคัญของเทือกเขาเหิงต้วน ในภูมิภาคแม่น้ำขนานสามสาย ได้แก่ แนวเทือกเขา ชาลฺหวู่หลี่ (จีน: 沙鲁里山), แนวเทือกเขาหมางคัง (จีน: 芒康山) – ยหฺวินหลิ่ง (จีน: 云岭), แนวเทือกเขาทาเหนียนทาเวิง (จีน: 他念他翁山) – นฺวี่ (จีน: 怒山) และ แนวเทือกเขาปั๋วชูลาหลิ่ง (จีน: 伯舒拉岭) – เกาหลีก้ง (จีน: 高黎贡山)

เทือกเขาเหิงต้วนจากภาพถ่ายดาวเทียม
แผนที่ภูมิศาสตร์ทวีปเอเชีย แสดงภูมิภาคแม่น้ำขนานสามสาย - ใจกลางสำคัญของเทือกเขาเหิงต้วน ที่โยงความสัมพันธ์กันของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และ เอเชียตะวันออก และแสดงการระบายน้ำจากที่ราบสูงชิงไห่ - ทิเบตที่มีรูปลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ผ่านภูมิภาคแม่น้ำขนานสามสาย สู่ที่ราบลุ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน
แผนที่ภูมิศาสตร์เอเชียตะวันออก แสดงการกระจุกตัวของป่าสนในเขตภูเขา และตำแหน่งของเมืองลี่เจียง ในเขตเทือกเขาเหิงต้วน

แกลอรี แก้

อ้างอิง แก้

  1. www.peaklist.org/WWlists/ultras/china3.html