เทศบาลนครแหลมฉบัง
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
แหลมฉบัง เป็นเทศบาลนครที่จัดตั้งเพื่อรองรับการเป็นเมืองท่าพาณิชย์หลักของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศอีกด้วย ตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีราชาและอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ได้รับการยกฐานะจากเทศบาลตำบลเป็นเทศบาลนครเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[2][3]
เทศบาลนครแหลมฉบัง | |
---|---|
สมญา: เมืองแห่งท่าเรือ | |
คำขวัญ: อุตสาหกรรมไร้มลพิษ เศรษฐกิจรุ่งเรือง เมืองน่าอยู่ คู่คุณธรรม | |
พิกัด: 13°5′N 100°53′E / 13.083°N 100.883°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ชลบุรี |
อำเภอ | |
การปกครอง | |
• นายกเทศมนตรี | นางจินดา ถนอมรอด |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 88.59 ตร.กม. (34.20 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2560)[1] | |
• ทั้งหมด | 88,271 คน |
• ความหนาแน่น | 996.40 คน/ตร.กม. (2,580.7 คน/ตร.ไมล์) |
รหัส อปท. | 03200701 |
ที่อยู่ สำนักงาน | สำนักงานเทศบาลนครแหลมฉบัง เลขที่ 99 หมู่ที่ 10 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 20230 |
เว็บไซต์ | www |
ประวัติ
แก้จากบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลแหลมฉบัง อำเภอศรีราชาและอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2534 ให้เหตุผลว่า พื้นที่ในตำบลทุ่งสุขลาและพื้นที่บางส่วนของตำบลสุรศักดิ์ ตำบลหนองขาม ตำบลบึง อำเภอศรีราชา และพื้นที่บางส่วนของตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกอันเป็นท่าเรือพาณิชย์หลักของประเทศ ตลอดจนเป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมและศูนย์พาณิชยกรรมเพื่อการส่งออกตามโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมควรจัดตั้งท้องถิ่นในเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็น เทศบาลตำบลแหลมฉบัง ด้วยการยกฐานะพื้นที่บางส่วนของสุขาภิบาลอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา และพื้นที่บางส่วนของสุขาภิบาลบางละมุง อำเภอบางละมุง ขึ้นเป็นเขตเทศบาล เพื่อให้เป็นองค์กรการปกครองท้องถิ่นทำหน้าที่ควบคุมและบังคับใช้แผนพัฒนาเมือง ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่จะให้บริการสังคมแก่ชุมชนและการดำเนินกิจการของอุตสาหกรรมต่าง ๆ กับให้ประชาชนได้ปกครองดูแลและทำนุบำรุงท้องถิ่นของตน
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้เทศบาลนครแหลมฉบังตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีราชาและอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครเป็นระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 109.65 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของพื้นที่จังหวัดชลบุรี
- พื้นที่บางส่วนของสุขาภิบาลอ่าวอุดม มีพื้นที่จำนวน 72.56 ตารางกิโลเมตร รวม 4 ตำบล 19 หมู่บ้าน ประชากร ณ สิ้นปี 2561 จำนวน 73,807 คน
- พื้นที่บางส่วนของสุขาภิบาลบางละมุง มีพื้นที่จำนวน 16.03 ตารางกิโลเมตร รวม 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชากร ณ สิ้นปี 2561 จำนวน 14,464 คน
- พื้นน้ำ (ทะเล) มีพื้นที่จำนวน 21.06 ตารางกิโลเมตร ทางด้านตะวันตกของเขตเทศบาล
โดยเทศบาลนครแหลมฉบังมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา
- ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลบางละมุง(เทศบาลตำบลบางละมุง)และตำบลตะเคียนเตี้ย อำเภอบางละมุง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลหนองขามและตำบลบึง อำเภอศรีราชา
- ทิศตะวันตก จรดอ่าวไทย
การปกครอง
แก้รายชื่อนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง
แก้รายชื่อนายกเทศมนตรีเทศบาลนครแหลมฉบัง | |||
---|---|---|---|
ลำดับ | ชื่อ | วาระการดำรงตำแหน่ง | หมายเหตุ |
1 | นายบุญเลิศ น้อมศิลป์ | 3 มกราคม 2535 – 13 พฤษภาคม 2553 | นายกเทศมนตรีตำบลแหลมฉบัง |
รักษาการ | นายชุมพจน์ มีวุฒิสม | 14 พฤษภาคม 2553 – 23 พฤษภาคม 2553 | ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีตำบลแหลมฉบัง (เนื่องจากหมดวาระ) |
รักษาการ | นายชุมพจน์ มีวุฒิสม | 24 พฤษภาคม 2553 – 30 กันยายน 2553 | ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง (เนื่องจากยกฐานะเป็นเทศบาลนคร) |
รักษาการ | นายภูษิต แจ่มศรี | 1 ตุลาคม 2553 – 8 ธันวาคม 2553 | รองปลัดเทศบาล รักษาราชการแทนปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง (เนื่องจากปลัดเทศบาลเกษียณอายุราชการ) |
2 | นายภูษิต แจ่มศรี | 9 ธันวาคม 2553 – 13 พฤศจิกายน 2557 | ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง (ตามคำสั่ง คสช.) |
3 | นางจินดา ถนอมรอด | 14 พฤศจิกายน 2557 – 9 กุมภาพันธ์ 2558 | นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง |
*3 | นางจินดา ถนอมรอด | 10 กุมภาพันธ์ 2558 – ปัจจุบัน | นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง (ตามคำสั่งจังหวัดชลบุรี) |
ชุมชนในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง
แก้ชุมชน | พื้นที่การปกครอง |
---|---|
1. ชุมชนบ้านอ่าวอุดม | หมู่ 1 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
2. ชุมชนบ้านทุ่ง | หมู่ 2 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
3. ชุมชนบ้านแหลมฉบัง | หมู่ 3 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
4. ชุมชนบ้านนาเก่า | หมู่ 4, 5 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
5. ชุมชนบ้านเขาน้ำซับ | หมู่ 6 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
6. ชุมชนตลาดอ่าวอุดม | หมู่ 7 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
7. ชุมชนบ้านชากยายจีน | หมู่ 8 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
8. ชุมชนมโนรม | หมู่ 9 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
9. ชุมชนบ้านแหลมทอง | หมู่ 10 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
10. ชุมชนบ้านห้วยเล็ก | หมู่ 11, 12 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
11. ชุมชนวัดพระประทานพร | หมู่ 9 ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
12. ชุมชนบ้านหนองมะนาว | หมู่ 4 ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี |
13. ชุมชนบ้านนาใหม่ | หมู่ 6 ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี |
14. ชุมชนบ้านหนองพังพวย | หมู่ 7 ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี |
15. ชุมชนบ้านทุ่งกราด | หมู่ 8 ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี |
16. ชุมชนบ้านบางละมุง | หมู่ 9 ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี |
17. ชุมชนบ้านหนองขาม | หมู่ 11 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
18. ชุมชนบ้านชากกระปอก | หมู่ 11 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
19. ชุมชนบ้านจุกกะเฌอ | หมู่ 1 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
20. ชุมชนบ้านไร่หนึ่ง | หมู่ 5 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
21. ชุมชนบ้านหนองคล้าใหม่ | หมู่ 9 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
22. ชุมชนบ้านเศรษฐีในฝัน | หมู่ 9, 10 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
23. ชุมชนบ้านหนองคล้าเก่า | หมู่ 10 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
ประชากร
แก้ปัจจุบันคาดว่ามีประชากรในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 100,000 คนในแต่ละวัน ในขณะที่สถิติของสำนักงานทะเบียนราษฎรท้องถิ่นเทศบาลนครแหลมฉบัง มีจำนวน 86,833 คน แยกเป็นชาย 42,666 คน หญิง 44,167 คน ซึ่งส่วนมากจะเป็นประชากรแฝงประมาณ 40,000 คนที่เข้ามาทำงานในเขตนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือแหลมฉบัง และเครือสหพัฒน์ฯ และที่อื่น ๆ โดยที่ไม่มีการย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่แต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้างทั่วไป และบางส่วนประกอบอาชีพเกษตรและประมง
ศาสนสถาน
แก้ภายในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังมีวัด จำนวน 17 แห่ง และศาลเจ้า 5 แห่ง
วัดในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง
แก้- วัดใหม่เนินพยอม (อ่าวอุดม)
- วัดมโนรม
- วัดแหลมทอง
- วัดสันติคีรีเขต
- วัดเนินบุญญาราม (ต้นมะม่วง)
- วัดเขาทุ่งวัว (ธรรมจักรคีรี)
- วัดแหลมฉบัง (ใหม่)
- วัดแหลมฉบัง (เก่า)
- วัดบ้านนา
- วัดศรีวนาราม (บ้านนาใหม่)
- วัดหนองคล้า ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร
- วัดสุกรีย์บุญญาราม (หนองมะนาว)
- วัดศรีธรรมาราม (ทุ่งกราด)
- วัดบางละมุง
- วัดพระประทานพร
- วัดปชานาถ
- วัดเขาน้ำซับสิทธิวนาราม
ศาลเจ้าในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง
แก้- ศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่อ่าวอุดม(歐嗚隆三天界哪吒三太子廟)
- ศาลเจ้าแม่เซียะบ้อเนี่ยเนี้ยอ่าวอุดม(歐嗚隆聖母娘娘廟)
- ศาลเจ้าพ่อแป๊ะกงดาวเทียม(阧忝大帝伯公廟)
- ศาลเจ้าแม่กวนอิมบ้านทุ่ง(萬同觀音娘娘廟)
- ศาลเจ้ากวนอิมฮุกตึ๊งเครือสหพัฒน์(觀音佛堂)
การศึกษา
แก้สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
แก้โรงเรียนสังกัดเทศบาลนครแหลมฉบัง
แก้สถานศึกษาในกำกับของเทศบาลนครแหลมฉบัง มีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่
- โรงเรียนเทศบาลแหลมฉบัง 1
- โรงเรียนเทศบาลแหลมฉบัง 2 (มูลนิธิไต้ล้ง - เช็ง พรประภา)
- โรงเรียนเทศบาลแหลมฉบัง 3
โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
แก้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 (สพป.ชบ.3) จำนวน 11 แห่ง ได้แก่
- โรงเรียนวัดมโนรม
- โรงเรียนวัดแหลมฉบัง
- โรงเรียนบริษัทไทยกสิกรสงเคราะห์
- โรงเรียนวัดใหม่เนินพยอม
- โรงเรียนบ้านชากยายจีน
- โรงเรียนวัดบ้านนา (ฟินวิทยาคม)
- โรงเรียนวัดพระประทานพร
- โรงเรียนบ้านบางละมุง
- โรงเรียนวัดสุกรีย์บุญญาราม
- โรงเรียนบ้านทุ่งกราด
- โรงเรียนวัดหนองคล้า
สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง (สพม.ชบ.รย.) จำนวน 1 แห่ง ได้แก่
โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (โรงเรียนเอกชน)
แก้สถานศึกษาเอกชนในกำกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) หรือโรงเรียนราษฎร์ มีจำนวน 2 แห่ง ได้แก่
สถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา - อุดมศึกษา
แก้สถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา
แก้สถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง มีจำนวน 3 แห่ง โดยเป็นสถานศึกษาเอกชนทั้งหมด ได้แก่
สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา
แก้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัย) ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง มีจำนวน 1 แห่งได้แก่
การสาธารณสุข
แก้เทศบาลนครแหลมฉบัง มีสถานพยาบาลสำหรับบริการประชาชน ดังนี้
โรงพยาบาลแหลมฉบัง
แก้โรงพยาบาลแหลมฉบัง (เดิมชื่อว่า โรงพยาบาลอ่าวอุดม) เป็นโรงพยาบาลของรัฐ ประเภทโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย M2 (91-120) มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 114 เตียง แรกเริ่มก่อตั้งมีสถานะเป็น "สถานีอนามัยตำบลทุ่งศุขลา" ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,224,000 บาท เป็นค่าก่อสร้างโรงพยาบาลสาขาอ่าวอุดมศรีราชา เพื่อเป็นการเตรียมให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนตามแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก
ต่อมาผู้นำชุมชนและประชาชนได้ร่วมกันผลักดันการยกฐานะสถานีอนามัยตำบลทุ่งศุขลา ให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง โดยสถานีวิจัยศรีราชามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แบ่งที่ดินจำนวน 30 ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่สร้างโรงพยาบาล และได้รับการบริจาคและสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลและคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์จากหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
- มูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา บริจาคค่าก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลจำนวน 3,000,000 บาท
- โครงการสร้างงานในชนบทจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี ส.ส.นิคม แสนเจริญ และ ส.ส.จรูญ งามพิเชษฐ์ ท่านละ 100,000 บาท รวมเป็น 200,000 บาท
- พระภิกษุสงฆ์ ประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้า บริษัทห้างร้าน ร่วมบริจาคสมทบอีกจำนวน 1,299,724 บาท
วันที่ 10 สิงหาคม 2530 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารโรงพยาบาล ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 และได้รับการกำหนดชื่อสถานพยาบาลอย่างเป็นทางการว่า "โรงพยาบาลอ่าวอุดมอำเภอศรีราชา" โดยมี นพ.สุภาชัย สาระจรัส เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรก และได้มีการจัดพิธีเปิดโรงพยาบาลอ่าวอุดมอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 เมษายน 2531
ต่อมาโรงพยาบาลอ่าวอุดมได้รับงบประมาณการก่อสร้างอาคารใหม่ขนาด 4 ชั้น โดยได้รับพระราชทานชื่ออาคาร "สิรินธร" จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทั้งเสด็จทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2539 และก่อสร้างแล้วเสร็จจนเปิดใช้อาคารเพื่อให้บริการประชาชนตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2542 เป็นต้นมา
หลังจากที่โรงพยาบาลอ่าวอุดมได้เปิดให้บริการประชาชนต่อเนื่องมา 25 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2531-2555 คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล หัวหน้าส่วนราชการ และคณะกรรมการชุมชนในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง ได้มีมติที่ประชุมฯ เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อ "โรงพยาบาลอ่าวอุดมอำเภอศรีราชา" เป็น "โรงพยาบาลแหลมฉบัง" ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 จนถึงปัจจุบัน
โรงพยาบาลวิภารามแหลมฉบัง
แก้โรงพยาบาลวิภารามแหลมฉบัง (เดิมชื่อว่า โรงพยาบาลแหลมฉบังอินเตอร์เนชั่นแนล) เป็นโรงพยาบาลเอกชนเพียงแห่งเดียวในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง
ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลนครแหลมฉบัง
แก้เทศบาลนครแหลมฉบัง ได้จัดตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขจำนวน 3 แห่ง เพื่อให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังอย่างทั่วถึง ได้แก่
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 1 (เครือสหพัฒน์)
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 2 (ทุ่งกราด)
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 (เขาน้ำซับ)
องค์กรการกุศล มูลนิธิ-สมาคม
แก้มูลนิธิเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่ (หน่าจาเสี่ยงตึ๊ง)
แก้มูลนิธิเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่ หรือ หน่าจาเสี่ยงตึ๊ง(三天界哪吒三太子善堂)เป็นองค์กรมูลนิธิที่ไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นองค์กรการกุศล ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์ขององค์เจ้าพ่อโกมินทร์ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน ฟื้นฟู และส่งเสริม ประเพณีและวัฒนธรรมไทย-จีน ส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่หลักคำสอน รวมถึงภารกิจการโปรดสรรพสัตว์ของเจ้าพ่อโกมินทร์ เทวาจารย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกพระองค์ เพื่อสงเคราะห์และช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสาธารณภัยหรือภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงผู้ที่ได้รับความทุกข์ยากหรือยากไร้ อีกทั้งยังจัดการบริจาคโลงศพ และช่วยเหลือสงเคราะห์ด้านการศึกษาแก่เด็กในท้องถิ่น โดยเป็นการก่อตั้งขึ้นตามเทวดำริแห่งองค์เจ้าพ่อโกมินทร์ และเจตนารมณ์แห่งคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย
มูลนิธิเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่ ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งให้เป็นมูลนิธิและมีฐานะเป็นนิติบุคคลจากนายทะเบียนจังหวัดชลบุรี ตามทะเบียนเลขที่ ชบ 1/2563 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยมี นายนพรัตน์ ก่อซื่อวานิช เป็นประธานกรรมการมูลนิธิคนแรก และนายภคนันท์ เขียวศิริ เป็นเลขาธิการมูลนิธิคนปัจจุบัน
มูลนิธิอาสาบรรเทาภัย สาขาจังหวัดชลบุรี
แก้มูลนิธิอาสาบรรเทาภัย ได้จัดตั้งสาขาในชื่อว่า "ศูนย์ประสานงานมูลนิธิอาสาบรรเทาภัยจังหวัดชลบุรี" ขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 โดยมีที่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 159/2 หมู่ที่ 12 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นกำลังสำรองของทางราชการ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและพัฒนาชุมชน รวมทั้งให้ความร่วมมือในการสาธารณประโยชน์กับองค์กรทุกองค์กร โดยมี นายสัมฤทธิ์ มากมี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานคนแรก และในปี พ.ศ. 2556 ได้ทำการย้ายที่ทำการมาอยู่ ณ เลขที่ 163/52 หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
เมื่อปี พ.ศ. 2561 คณะกรรมการบริหารศูนย์ประสานงานมูลนิธิอาสาบรรเทาภัยจังหวัดชลบุรี ได้มีการประชุมและลงมติขอยุบเลิกศูนย์ประสานงานมูลนิธิอาสาบรรเทาภัยจังหวัดชลบุรี โดยมี นายประสานต์ เขียวศิริ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานฯ คนสุดท้าย ภารกิจการปฏิบัติหน้าที่ดำเนินการสิ้นสุดจนถึงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2561
สภาพเศรษฐกิจ
แก้สภาพทางเศรษฐกิจภายในเขตเทศบาลแหลมฉบัง ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมเป็นหลัก มีอัตราการขยายตัวของการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่สูงมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่เป้าหมายในเขตเศรษฐกิจใหม่ของการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งมีภารกิจหลักที่จะต้องพัฒนา คือ ท่าเรือพาณิชย์หลักระหว่างประเทศ นิคมอุตสาหกรรม และชุมชนเมืองใหม่ ด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคและสาธารณูปการอย่างครบวงจร ทำให้เหมาะแก่การจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแหลมฉบังและในเขตสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ฯ กลุ่มอุตสาหกรรมภายในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อจังหวัดชลบุรีและภาคตะวันออกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีมูลค่าการลงทุนสูงสุดของจังหวัดชลบุรีประมาณไม่ต่ากว่า 1 แสนล้านบาท มีผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 154 บริษัท และมีการจ้างงานเป็นจำนวนมากที่สุดของจังหวัดชลบุรีประมาณ 5 หมื่นคน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงที่สุดในสาขาการผลิตของจังหวัด
กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
แก้อุตสาหกรรมปิโตรเลียมเป็นอุตสาหกรรมที่มีค่าการลงทุนสูงสุดในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง แยกเป็น
- โรงกลั่นน้ำมัน 3 แห่ง คือ โรงกลั่นน้ำมันบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), โรงกลั่นน้ำมันบริษัทเอสโซ่ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และโรงกลั่นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานบริษัทไทยลู้บเบส จำกัด
- คลังเก็บน้ำมันปิโตรเลียม 3 แห่ง ได้แก่ คลังเก็บน้ำมันของบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), คลังเก็บน้ำมันของบริษัทเอสโซ่ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และคลังเก็บน้ำมันของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- คลังเก็บก๊าซแอลพีจี ซึ่งเป็นก๊าซหุงต้ม 3 แห่งคือของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสโซ่ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง
แก้นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังเป็นกิจกรรมหลักในการพัฒนาที่สำคัญอย่างหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายเขตเศรษฐกิจใหม่บริเวณแหลมฉบัง อยู่ในความรับผิดชอบของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3,556 ไร่ ตำบลทุ่งสุขลาระหว่างกิโลเมตรที่ 126-129 แบ่งเป็น
- เขตอุตสาหกรรมทั่วไป 1,098 ไร่
- เขตอุตสาหกรรมส่งออก 1,098 ไร่
- เขตพาณิชยกรรม 146 ไร่
ในปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังมีบริษัทเข้าไปลงทุนจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 98 บริษัท
กลุ่มสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ฯ
แก้โครงการสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ฯ ศรีราชา เป็นโครงการของเอกชนก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลติ้ง จำกัด (มหาชน) ที่ตำบลหนองขาม บนพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม 780 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 60 และพื้นที่สาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม 520 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 40 มีพนักงานและคนงานทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ประกอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 71 บริษัท
ท่าเรือแหลมฉบัง
แก้ท่าเรือแหลมฉบังตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ห่างจากกรุงเทพมหานคร ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 120 กิโลเมตรและห่างจากเมืองพัทยาประมาณ 15 กิโลเมตร มีพื้นที่อาณาบริเวณทางบกประมาณ 6,341 ไร่ (ประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร) อาณาบริเวณทางน้ำประมาณ 55 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ถมทะเลเพื่อสร้างท่าเทียบเรือในโครงการขั้นที่ 1 ประมาณ 900 ไร่ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อรับเรือบรรทุกตู้สินค้า เรือสินค้าประเภทสินค้าเกษตรกรรมขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพได้และการส่งเสริมการส่งออกที่สำคัญของไทยในอนาคต
เกษตรกรรม
แก้พื้นที่ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เคยเป็นแหล่งปลูกสับปะรดที่มีชื่อเสียงคือ สับปะรดพันธุ์ศรีราชา แล้วยังเคยเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลัง และได้มีการพัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลังที่มีคุณภาพดีในพื้นที่ คือ มันสำปะหลัง พันธุ์เกษตรศาสตร์ 60 โดยสถานีวิจัยศรีราชา (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
ปัจจุบันการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในท้องที่เทศบาลนครแหลมฉบังได้ลดน้อยลงอย่างมาก โดยนำพื้นที่ประกอบอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่
อ้างอิง
แก้- ↑ รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน ประจำปี พ.ศ. 2560 ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง
- ↑ เทศบาลนครแหลมฉบัง. เปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลนครแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา และอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นเทศบาลนครแหลมฉบัง. [ลิงก์เสีย]
- ↑ "มหาดไทยประกาศยกฐานะเป็นเทศบาลนครแหลมฉบังแล้ว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-16. สืบค้นเมื่อ 2010-05-31.
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์เทศบาลนครแหลมฉบัง เก็บถาวร 2009-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน