เทศบาลตำบลไทรน้อย

เทศบาลตำบลในจังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย

เทศบาลตำบลไทรน้อย เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลในเขตอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และเป็นเทศบาลตำบลหนึ่งในสิบเอ็ดแห่งของจังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน

เทศบาลตำบลไทรน้อย
สำนักงานเทศบาลตำบลไทรน้อย
สำนักงานเทศบาลตำบลไทรน้อย
แผนที่
ทต.ไทรน้อยตั้งอยู่ในจังหวัดนนทบุรี
ทต.ไทรน้อย
ทต.ไทรน้อย
ที่ตั้งสำนักงานเทศบาลตำบลไทรน้อย
พิกัด: 13°58′41.7″N 100°18′48.2″E / 13.978250°N 100.313389°E / 13.978250; 100.313389
ประเทศ ไทย
จังหวัดนนทบุรี
อำเภอไทรน้อย
จัดตั้ง • 30 สิงหาคม 2499 (สุขาภิบาลราษฎร์นิยม)
 • 25 พฤษภาคม 2542 (ทต.ไทรน้อย)
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีสัมฤทธ์ ด้วงโสน
พื้นที่
 • ทั้งหมด2.3 ตร.กม. (0.9 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2563)
 • ทั้งหมด2,511 คน
 • ความหนาแน่น1,091.74 คน/ตร.กม. (2,827.6 คน/ตร.ไมล์)
รหัส อปท.05120501
ที่อยู่
สำนักงาน
เลขที่ 10/11 หมู่ที่ 1 ถนนเทศบาล 2 ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี 11150
เว็บไซต์www.sainoi.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ประวัติ แก้

เมื่อถึงปี พ.ศ. 2499 ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอไทรน้อยมีสภาพชุมชนที่หนาแน่นพอสมควร ในวันที่ 30 สิงหาคม ของปีนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงประกาศจัดตั้ง สุขาภิบาลราษฎร์นิยม ขึ้นครอบคลุมพื้นที่ชุมชนในบริเวณดังกล่าวทั้งสองฝั่งคลองพระพิมล เพื่อประโยชน์ในการทะนุบำรุงท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า[1] สุขาภิบาลแห่งนี้มีพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างเขตตำบลไทรน้อยกับตำบลราษฎร์นิยมตามกฎหมายลักษณะการปกครองท้องที่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ทางราชการได้แยกบางหมู่บ้านของตำบลราษฎร์นิยมออกมาตั้งเป็นตำบลคลองขวาง[2] การเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองในครั้งนี้ทำให้ตำบลราษฎร์นิยมเหลือพื้นที่เฉพาะทางตอนเหนือสุดของจังหวัดนนทบุรี ส่วนพื้นที่ทางตอนใต้ของตำบลราษฎร์นิยม (เดิม) ซึ่งมีบางส่วนอยู่ในเขตสุขาภิบาลราษฎร์นิยมด้วยนั้นกลายเป็นท้องที่ปกครองของตำบลคลองขวางที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่

จนกระทั่งวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ได้มีพระราชบัญญัติยกฐานะสุขาภิบาลที่มีอยู่ทั่วประเทศในขณะนั้นเป็นเทศบาลตำบลทั้งหมด เนื่องจากโครงสร้างการปกครองแบบสุขาภิบาลไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและไม่เหมาะสมที่จะรองรับการกระจายอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ[3] อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ปีเดียวกัน (ในช่วงก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับ) กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนชื่อสุขาภิบาลราษฎร์นิยมเป็น สุขาภิบาลไทรน้อย เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อตำบลที่ตั้ง[4] (ท้องที่ตำบลราษฎร์นิยมไม่เกี่ยวข้องกับท้องที่ของสุขาภิบาลแห่งนี้แล้ว) และเมื่อพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาลมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พฤษภาคม ปีเดียวกัน[3] สุขาภิบาลไทรน้อยจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น เทศบาลตำบลไทรน้อย

ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556 กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลไทรน้อยเพื่อประโยชน์ในการจัดบริการสาธารณะ โดยขยายเขตด้านเหนือขึ้นไปจรดทางหลวงท้องถิ่นสายบ้านไทรน้อย-บ้านคลองนาหมอนและถนนบางกรวย-ไทรน้อย และขยายเขตด้านใต้ลงไปจรดคลองไทรน้อยพัฒนา (คลองแอน) พื้นที่ที่ขยายเพิ่มออกไปนี้ได้แก่ ท้องที่บางส่วนของหมู่ที่ 1 (บ้านคลองพระพิมลราชา) ตำบลคลองขวาง และบางส่วนของหมู่ที่ 5 (บ้านคลองพระพิมลราชา) ตำบลไทรน้อย ได้รับโอนมาจากจากองค์การบริหารส่วนตำบลคลองขวางและองค์การบริหารส่วนตำบลไทรน้อยตามลำดับ[5]

สภาพทางภูมิศาสตร์ แก้

ที่ตั้งและอาณาเขต แก้

เทศบาลตำบลไทรน้อยตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มทางทิศตะวันตกของตำบลไทรน้อย มีคลองพระพิมล คลองทวีวัฒนา และคลองห้าร้อยไหลผ่าน มีพื้นที่ 2.3 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 1,437.5 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บางส่วนของหมู่ที่ 1 ตำบลคลองขวาง และบางส่วนของหมู่ที่ 5 ตำบลไทรน้อย[6] โดยมีเขตเทศบาลติดต่อกับเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียงดังนี้[5]

ลักษณะภูมิประเทศ แก้

เทศบาลตำบลไทรน้อยมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่ราบภาคกลางตอนล่างในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1–2 เมตร ความต่างระดับมีน้อยประมาณ 1–5 เมตร

ลักษณะภูมิอากาศ แก้

ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปของเทศบาลตำบลไทรน้อยคล้ายคลึงกับกรุงเทพมหานคร คือ เป็นแบบร้อนชื้นเขตมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ อุณหภูมิสูงตลอดปี มีฤดูฝนสลับฤดูแล้งชัดเจน อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม มีความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาวไม่มากนัก อุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ย 32.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 24.2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์โดยเฉลี่ยร้อยละ 76.3 และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 1,795.5 มิลลิเมตร

สมรรถนะดิน แก้

สมรรถนะของดินโดยทั่วไปเป็นดินชุดบางเขน ซึ่งเป็นดินที่มีลักษณะดีมากเหมาะกับการทำนา แต่น้ำท่วมได้ง่ายและเป็นดินเหลวที่ใช้สำหรับเพาะปลูกพืชไร่ เหมาะสำหรับทำนา เพราะน้ำไหลระบายได้ช้า

แหล่งน้ำ แก้

 
คลองพระพิมล

เทศบาลตำบลไทรน้อย มีลำน้ำที่สำคัญที่ใช้เป็นแหล่งน้ำอุปโภคและบริโภคและเส้นทางคมนาคม คือ

ประชากร แก้

เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2563 เขตเทศบาลตำบลไทรน้อยมีประชากร

  • รวม 2,511 คน
  • ชาย 1,273 คน
  • หญิง 1,238 คน

มีความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ประมาณ 1,091.74 คนต่อตารางกิโลเมตร

การคาดประมาณจำนวนประชากรในอนาคต แก้

จากการศึกษาระบบชุมชนและความสำคัญของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยในระดับปริมณฑลของกองผังภาค พบว่าเทศบาลตำบลไทรน้อยเป็นชุมชนที่มีความสำคัญในระดับอำเภอและเป็นศูนย์กลางของอำเภอและชุมชนชนบท ทำหน้าที่ให้บริการแก่ชุมชนโดยรอบ เป็นตลาดกลางสินค้าและผลผลิตทางการเกษตร ชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยมีอัตราการขยายตัวของประชากรชั้นกลาง ซึ่งมีอัตราหลักการขยายตัวของประชากรโดยเฉลี่ยร้อยละ 6.4 คน

ลักษณะของชุมชน แก้

ลักษณะของการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย เป็นการตั้งถิ่นฐานตามเส้นทางของการคมนาคม คือคลองพระพิมลและคลองทวีวัฒนา ในปัจจุบันการคมนาคมทางน้ำมีบทบาทลดลง และการตั้งถิ่นฐานของชุมชนจึงเริ่มขยายตัวออกไปตามเส้นทางของการคมนาคมทางบกที่สำคัญ คือ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ถนนเทศบาล 3 และถนนเทศบาล 6

เทศบาลตำบลไทรน้อยแบ่งชุมชนออกเป็น 5 ชุมชน ดังนี้

  1. ชุมชนตลาด หมู่ที่ 1 ตำบลคลองขวาง
  2. ชุมชนวัดไทรใหญ่ หมู่ที่ 5 ตำบลไทรน้อย
  3. ชุมชนซอย 6 หมู่ที่ 5 ตำบลไทรน้อย
  4. ชุมชนซอย 7 หมู่ที่ 5 ตำบลไทรน้อย
  5. ชุมชนศาลเจ้าพ่อจุ้ยไทรใหญ่ หมู่ที่ 1 ตำบลคลองขวาง
  6. ชุมชนมงคลนนทเขต หมู่ที่ 5 ตำบลไทรน้อย

การคมนาคม แก้

การคมนาคมขนส่งที่สามารถติดต่อกับเทศบาลตำบลไทรน้อยได้สะดวก คือ การคมนาคมทางบกและการคมนาคมทางน้ำ โดยมีรายละเดียดดังนี้

  • การคมนาคมทางบก เป็นรูปแบบการคมนาคมขนส่งที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในปัจจุบัน การคมนาคมระหว่างเทศบาลตำบลไทรน้อยกับจังหวัดนนทบุรี เทศบาลตำบลไทรน้อยมีระยะห่างจากอำเภอเมืองนนทบุรีประมาณ 32 กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนบางกรวย-ไทรน้อย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3215) ถึงท่าน้ำบางศรีเมือง ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหลังเก่า ซึ่งมีรถโดยสารประจำทางสายไทรน้อย-บางบัวทองและสายบางบัวทอง-นนทบุรีให้บริการ ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที นอกจากนี้เทศบาลตำบลไทรน้อยยังอยู่ห่างจากอำเภอเมืองนนทบุรีประมาณ 28 กิโลเมตร ถึงศาลากลางจังหวัดนนทบุรีโดยข้ามสะพานพระนั่งเกล้า ตามเส้นทางถนนสายบางกรวย-ไทรน้อยและถนนรัตนาธิเบศร์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3215 ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 302) โดยรถประจำทางสายไทรน้อย-บางบัวทองและสายบางบัวทอง-นนทบุรีเช่นเดียวกัน ในระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
  • การคมนาคมทางน้ำ เทศบาลตำบลไทรน้อยมีเส้นทางในการคมนาคมทางน้ำที่ยังสามารถใช้ติดต่อทั้งภายในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง คือคลองพระพิมล ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำสายหลักที่สามารถติดต่อกับอำเภอบางบัวทองโดยเรือยนต์ มีระยะห่างจากเทศบาลตำบลไทรน้อยประมาณ 14 กิโลเมตร และสามารถติดต่อกับจังหวัดนนทบุรีโดยผ่านประตูน้ำบางบัวทอง ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอปากเกร็ด แล้วล่องตามลำน้ำไปสู่จังหวัดระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1-2 ชั่วโมง

เศรษฐกิจ แก้

สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปในเขตของเทศบาลตำบลไทรน้อยยังคงพึ่งพาการเกษตรกรรมเป็นหลักเช่นเดียวกับอำเภอไทรน้อย ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มมีความอุดมสมบูรณ์ของดินและมีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่สมบูรณ์ จึงเหมาะแก่การเกษตรกรรม ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรและใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมเกินกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมด อาชีพเกษตรกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การทำนา รองลงมาเป็นการทำสวนผลไม้ สวนผัก และมีการเลี้ยงสัตว์บ้างเล็กน้อย อาชีพนอกภาคเกษตรกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การค้าขายและการรับจ้าง

การใช้ที่ดินในปัจจุบัน แก้

ลักษณะในการใช้ที่ดินของชุมชนในเขตเทศบาลตำบลไทรน้อยแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้

  1. ที่พักอาศัย บริเวณที่พักอาศัยของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยส่วนใหญ่จะเกาะกลุ่มและเรียงรายไปตามคลองพระพิมลและเป็นบริเวณที่พักอาศัยหนาแน่น ส่วนพื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไปในคลองจะมีที่พักอาศัยเบาบาง ลักษณะที่พักอาศัยในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น
  2. การพาณิชยกรรม ย่านการค้าหรือพาณิชยกรรมของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยส่วนใหญ่จะอยู่ปะปนกับที่พักอาศัยคือ บริเวณย่านการค้าแถวบริเวณรอบ ๆ สำนักงานเทศบาลตำบลไทรน้อย ลักษณะของการค้าและพาณิชยกรรมของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยส่วนใหญ่จะเป็นการค้าขายของชำสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ให้บริการขายในชุมชนและชนบท
  3. การอุตสาหกรรม กิจการอุตสาหกรรมที่สำคัญของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย คือ โรงงานผลิตภัณฑ์ไม้อัดเฟอร์นิเจอร์
  4. สถาบันการศึกษา สถาบันการศึกษาภายในชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย มีสถานศึกษา 2 แห่ง คือ
  1. สถาบันศาสนา สถาบันการศาสนาของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยมี 2 แห่ง คือ
  1. สถาบันราชการ สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ การใช้ที่ดินประเภทนี้ประกอบด้วยที่ทำการปกครองอำเภอไทรน้อย ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขไทรน้อยและสหกรณ์การเกษตรอำเภอไทรน้อย
  2. พื้นที่ว่างและเกษตรกรรม พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม การเกษตรกรรมหลัก ๆ ได้แก่ การทำนา รองลงมาได้แก่ การทำสวนผลไม้และการทำสวนผัก

การค้าและการบริการ แก้

บริเวณย่านการค้าในเขตของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย คือบริเวณย่านการค้าของชุมชนซึ่งอยู่ใกล้กับที่ว่าการอำเภอไทรน้อย ลักษณะการค้าส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นทั้งร้านค้าและที่พักอาศัย ลักษณะของการค้าขายในเขตของชุมชน เทศบาลตำบลไทรน้อยเป็นการค้าขายสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นในชุมชนชนบท นอกจากสถิติปี พ.ศ. 2545 พบว่าร้านค้าภายในชุมชนมีทั้งหมด 29 ร้าน โดยแยกเป็นประเภทได้ดังนี้

  • ร้านค้าเครื่องชำต่าง ๆ
  • ร้านค้าเครื่องดื่มและอาหาร
  • ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า
  • ร้านเสริมสวย
  • อุตสาหกรรม

เนื่องจากในเขตชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยเป็นชุมชนเกษตรกรรม ดังนั้นกิจการอุตสาหกรรมของเทศบาลตำบลไทรน้อยจึงมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานที่เกี่ยวเนื่องกับผลผลิตทางด้านเกษตรกรรม ได้แก่ โรงสี บริษัทผลิตภัณฑ์ประเภทไม้อัดเฟอร์นิเจอร์ จำนวน 1 โรงงานภายในเขตชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย

สาธารณูปโภค แก้

การบริการสังคมในเขตเทศบาลตำบลไทรน้อย ได้แก่ การให้บริการในด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การศึกษา การบริการสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งการให้บริการแก่สังคมในชุมชนปัจจุบันมีดังนี้

การไฟฟ้า แก้

การไฟฟ้าในเขตของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยดำเนินการโดยการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งให้การบริการกระแสไฟฟ้าแก่ชุมชนในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล ในปัจจุบันการให้บริการไฟฟ้ามีครบทุกหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการให้บริการไฟฟ้าแสงสว่างสาธารณะในเขตเทศบาลตำบลไทรน้อย

การประปา แก้

การให้บริการด้านการประปาดำเนินการโดยการประปานครหลวงซึ่งมีที่ทำการตั้งอยู่บริเวณถนนเทศบาล 1 มีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้ 120 ลูกบาศก์เมตร และปริมาณน้ำประปาที่บริการ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวันโดยใช้แหล่งน้ำดิบจากน้ำบาดาล จำนวน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงโดยใช้แหล่งน้ำดิบจากบาดาล

การบริการสาธารณสุข แก้

การให้บริการด้านสาธารณสุขในชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย มีสาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง ขอบข่ายของการให้บริการครอบคลุมอำเภอไทรน้อยและพื้นที่ใกล้เคียง การศึกษา การให้บริการด้านการศึกษาในเขตของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย มีการให้บริการด้านการศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษาคือโรงเรียนวัดไทรใหญ่ และระดับมัธยมศึกษาคือโรงเรียนไทรน้อย

การไปรษณีย์โทรเลข แก้

การบริการด้านการสื่อสารในเขตของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย มีที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขระดับอำเภออยู่บริเวณถนนเทศบาล 1 ให้บริการจดหมาย โทรเลข พัสดุ ตั๋วแลกเงิน และธนาณัติ การให้บริการครอบคลุมทั้งอำเภอไทรน้อยทั้งทางบกและทางเรือ นอกจากนี้ยังมีชุมสายโทรศัพท์ไทรน้อยจำนวน 500 เลขหมาย แต่ยังไม่เปิดดำเนินการ ปัจจุบันมีโทรศัพท์สาธารณะ 6 แห่งให้บริการวิทยุสื่อสาร

การกำจัดขยะมูลฝอย แก้

การให้บริการในด้านการกำจัดขยะมูลฝอยในเขตของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย มีรถลากเข็นเก็บขยะ 3 คัน รถอัดขยะ 2 คัน และถังรองรับขยะมูลฝอย 150 ถัง ซึ่งวางไว้ตามจุดต่าง ๆ ในชุมชน ประมาณขยะมูลฝอยประมาณ 650 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เนื่องจากปริมาณขยะในชุมชนมีน้อย ในการกำจัดขยะมูลฝอยทางเทศบาลตำบลไทรน้อยได้นำไปทิ้งในที่ทิ้งขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี

สถานีดับเพลิง แก้

การให้บริการทางด้านการดับเพลิงในเขตของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย ในปัจจุบัน เทศบาลมีเครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิง ดังนี้

  1. รถยนต์ดับเพลิง จำนวน 1 คัน
  2. รถยนต์บรรทุกเล็กสำหรับติดตั้งเครื่องดับเพลิงชนิดหาบหาม จำนวน 1 คัน
  3. รถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ จำนวน 1 คัน
  4. เครื่องหาบหาม จำนวน 1 คัน
  5. เคมีดับเพลิง จำนวน 50 ชุด

กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม แก้

จัดทำเทศบัญญัติสาธารณสุขเทศบาลตำบลไทรน้อย พุทธศักราช 2543

  1. เทศบัญญัติ เรื่อง การควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  2. เทศบัญญัติ เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์
  3. เทศบัญญัติ เรื่อง การควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทการแต่งผม
  4. เทศบัญญัติ เรื่อง การควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  5. เทศบัญญัติ เรื่อง ตลาด
  6. เทศบัญญัติ เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร
  7. เทศบัญญัติ เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย

อ้างอิง แก้

  1. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลราษฎร์นิยม อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (พิเศษ 75 ง): 1–2. 20 กันยายน 2499.
  2. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 96 (135 ง พิเศษ): 11–14. 8 สิงหาคม 2522. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2010-04-17.
  3. 3.0 3.1 "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4. 24 กุมภาพันธ์ 2542. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2010-04-17.
  4. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่อ "สุขาภิบาลราษฎร์นิยม" เป็น "สุขาภิบาลไทรน้อย" อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (พิเศษ 33 ง): 4. 21 พฤษภาคม 2542.
  5. 5.0 5.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 130 (พิเศษ 37 ง): 24. 22 มีนาคม 2556.
  6. sainoi.go.th. ข้อมูลทั่วไป เทศบาลตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี. เก็บถาวร 2010-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

แหล่งข้อมูลอื่น แก้