เทรีซา เมย์

อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

เทรีซา แมรี เลดีเมย์ (อังกฤษ: Theresa Mary, Lady May; เกิด 1 ตุลาคม 2499) คือนักการเมืองชาวบริติช อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2559-2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ช่วงปี 2553-2559 และสมาชิกรัฐสภาจากเขตเมเดนเฮดตั้งแต่ปี 2540 ทั้งยังเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยม-ประเทศเดียว (One-Nation Conservative) ผู้สนับสนุนการรวมตัวของประเทศต่าง ๆ (อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ) ในสหราชอาณาจักรต่อไป นอกจากนี้เมย์ยังเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยมเสรี (liberal conservative) ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เธอได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรต่อจากนายเดวิด แคเมอรอนหลังการเข้าเฝ้า ฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2559

เลดีเมย์
ภาพถ่ายทางการปี 2016
นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร
ดำรงตำแหน่ง
13 กรกฎาคม 2559[1] – 24 กรกฎาคม 2562
(3 ปี 11 วัน)
กษัตริย์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ก่อนหน้าเดวิด แคเมอรอน
ถัดไปบอริส จอห์นสัน
หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม
ดำรงตำแหน่ง
11 กรกฎาคม 2559 – 23 กรกฎาคม 2562
ก่อนหน้าเดวิด แคเมอรอน
ถัดไปบอริส จอห์นสัน
สมาชิกรัฐสภา
เขต เมเดนเฮด
เริ่มดำรงตำแหน่ง
1 พฤษภาคม 2540
ก่อนหน้าเขตเลือกตั้งใหม่
คะแนนเสียง18,846 (33.3%)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
เทรีซา แมรี บราซิเออร์

1 ตุลาคม พ.ศ. 2499 (67 ปี)
อีสต์เบิร์น, อังกฤษ
ศาสนาคริสตจักรแห่งอังกฤษ[2][3]
พรรคการเมืองพรรคอนุรักษนิยม
คู่สมรสฟิลิป เมย์ (สมรส 1980)
ลายมือชื่อ

ในอดีตเทรีซา เมย์ เคยทำงานประจำอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 2520 - 2526 ต่อมาที่สมาคมผู้ให้บริการหักบัญชีชำระเงิน ระหว่างปี 2528 - 2540 ขณะเดียวกันก็ยังได้ตำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเมืองเมอร์ตันประจำเขตเดิร์นสฟอร์ดในกรุงลอนดอนไปด้วย จนกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาสามัญชนในการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2540 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่ประสบความสำเร็จในการหาเสียงการเลือกตั้งในปี 2535 และปี 2537 นอกจากนี้เมย์ยังเคยดำรงตำแหน่งหลากหลายตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเงาภายใต้การนำของวิลเลียม เฮก, เอียน ดันแคน สมิธ, ไมเคิล ฮาวเวิร์ด และเดวิด แคเมอรอน เช่น ผู้นำเงาแห่งสภาสามัญชน และรัฐมนตรีเงาประจำกระทรวงแรงงานและสวัสดิการ รวมถึงดำรงตำแหน่งประธานพรรคอนุรักษนิยมช่วงปี 2545 - 2546 อีกด้วย

หลังการจัดตั้งคณะรัฐบาลผสมของแคเมอรอนในปี 2553 เมย์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีด้านสตรีและความเท่าเทียม ซึ่งภายหลังได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีด้านสตรีและความเท่าเทียมในปี 2555 ต่อมาหลังจากที่พรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาสามัญชนได้สำเร็จ เมย์ก็ถูกแต่งตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยอีกครั้ง และเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่วาระของนายเจมส์ ชูเตอร์ เอด เมื่อกว่า 60 ปีก่อน ซึ่งตลอดการดำรงตำแหน่งเมย์ได้ผลักดันนโยบายการปฏิรูปตำรวจ การจัดการกับปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง และได้ริเริ่มนโยบายจำกัดผู้อพยพ[4]

ต่อมาหลังจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปในการออกเสียงประชามติว่าด้วยสมาชิกภาพในสหภาพยุโรป เดือนมิถุนายน 2559 ที่มีนายเดวิด แคเมอรอน เป็นหนึ่งในแกนนำรณรงค์หาเสียง แคเมอรอนก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้สถานภาพผู้นำพรรครัฐบาลอย่างพรรคอนุรักษนิยมสิ้นสุดลงไปด้วย เมย์จึงได้ประกาศว่าเธอจะลงชิงตำแหน่งเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมคนต่อไป และกลายมาเป็นผู้สมัครตัวเต็งของการแข่งขันนี้อย่างรวดเร็ว เมย์ชนะการหยั่งเสียงในหมู่สมาชิกพรรครอบแรกในวันที่ 5 กรกฎาคม โดยมีคะแนนนำผู้สมัครคนอื่น ๆ ค่อนข้างมาก สองวันถัดมาเมย์ชนะการหยั่งเสียงรอบที่สองด้วยคะแนน 199 เสียง และเข้าสู่การแข่งขันกับผู้สมัครอีกคนอย่าง นางแอนเดรีย ลีดซัม ในรอบถัดไป จนกระทั่งวันที่ 11 กรกฎาคม นางลีดซัมประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน ส่งผลให้เมย์กลายเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวและได้รับประกาศเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมในวันเดียวกันนั้นเอง เทรีซา เมย์ จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งสหราชอาณาจักรคนที่สองในประวัติศาสตร์ ถัดจากมาร์กาเรต แทตเชอร์

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Theresa May to succeed Cameron as UK PM on Wednesday". BBC. 11 July 2016. สืบค้นเมื่อ 11 July 2016.
  2. Gimson, Andrew (20 October 2012). "Theresa May: minister with a mind of her own". The Observer. London. May said: 'I am a practising member of the Church of England, a vicar's daughter.'
  3. Howse, Christopher (29 November 2014). "Theresa May's Desert Island hymn". The Daily Telegraph. London. The Home Secretary declared that she was a 'regular communicant' in the Church of England
  4. "Boring and competent Theresa May is what the nation needs after shock Brexit vote". The Independent. 1 July 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-13. สืบค้นเมื่อ 11 July 2016.