เด็กชายปอกผลไม้ (คาราวัจโจ)

เด็กชายปอกผลไม้ (ภาษาอังกฤษ: Boy Peeling Fruit) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยคาราวัจโจจิตรกรสมัยบาโรกคนสำคัญชาวอิตาลีที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่มูลนิธิโรเบอร์โต ลอนกีห์, โรมในประเทศอิตาลี

เด็กชายปอกผลไม้
ศิลปินคาราวัจโจ
ปีค.ศ. 1592 - ค.ศ. 1593
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่มูลนิธิโรเบอร์โต ลอนกีห์, โรม

ภาพ “เด็กชายปอกผลไม้” เขียนราวระหว่างปี ค.ศ. 1592 ถึงปี ค.ศ. 1593 เป็นงานที่เชื่อกันว่าเป็นงานชิ้นแรกของคาราวัจโจที่เขียนไม่นานหลังจากมาถึงโรมจากมิลานในกลางปี ค.ศ. 1592 ที่อยู่ระหว่างนี้ไม่ทราบแน่นอนแต่ตามคำกล่าวของจุยเลียโน มันชินิ (Giulio Mancini) คาราวัจโจพักอยู่ระยะหนึ่งกับพันดุลโฟ พุชชิที่วังโคโลนนา แต่ไม่นานก็ย้ายเพราะไม่พอใจในวิธีที่พุชชิปฏิบัติด้วย (พุชชิให้แต่ผักเขียวกับผู้ที่พักอยู่ในบ้านจนคาราวัจโจตั้งชื่อเล่นให้ว่า “มอนซิยอร์สลัด”) ในช่วงนั้นคาราวัจโจกก็อปปีงานศาสนาให้พุชชิแต่ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ ในขณะเดียวกันก็เขียนงานสองสามชิ้นของตนเองที่รวมทั้งงานชิ้นนี้ซึ่งอาจจะวาดหลังจากที่พำนักกับมันชินิ และเมื่อไปทำงานกับจุยเซ็ปปิ เซซาริ หรือ “คาวาเลียร์ดาร์ปิโน” ช่างเขียนคนโปรดของสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 8 ผู้เป็นช่างเขียนที่มีความสำเร็จดีในเวิร์คช็อพที่คล้ายโรงงาน ระหว่างนั้นคาราวัจโจก็ได้แต่เขียน “ดอกไม้และผลไม้”

งาน “เด็กชายปอกผลไม้” เป็นงานที่เขียนสำหรับขายนอกเวิร์คช็อพแต่เป็นงานที่ยึดจากดาร์พิโนโดยคาร์ดินัลสคิปิโอเน บอร์เกเซ (Scipione Borghese) ในปี ค.ศ. 1607 พร้อมกับงานเขียนระยะแรกๆ ของคาราวัจโจอีกสองชิ้น “บาคคัสไม่สบาย” และ “เด็กชายกับตะกร้าผลไม้” แต่ก็ไม่เป็นที่ทราบว่ามาอยู่ในความเป็นเจ้าของโดยเซซาริได้อย่างไร

ผลไม้ที่ปอกยังเป็นปริศนา ว่ากันว่าอาจจะเป็นลูกแพร์[1] หรืออาจจะเป็นลูกเน็คตารีน[2] หรือพลัม[3] ซึ่งกลิ้งอยู่หลายลูกบนโต๊ะ แต่ผลไม้พวกนี้ไม่ใช่ผลไม้ที่ต้องปอก บ้างก็สันนิษฐานว่าเป็นส้มเบอร์กาม็อท [4] ซึ่งเป็นส้มที่มีรูปร่างเหมือนลูกแพร์ที่ปลูกกันในอิตาลี แต่ก็ถูกค้านว่าส้มเบอร์กาม็อทเปรี้ยวเกินกว่าที่กินได้

ภาพ “เด็กชายปอกผลไม้” เป็นภาพเขียนแบบที่เรียกว่าภาพชีวิตประจำวันง่ายๆ แต่ต่างจากภาพชนิดเดียวกันภาพอื่นๆ ตรงที่เด็กผู้ชายในภาพดูไม่เป็นเด็กพื้นบ้าน แต่แต่งตัวเรียบร้อยสะอาดและแทนที่จะเป็นเด็กซนมอมแมมน่ารัก ภาพอาจจะเป็นอุปมานิทัศน์ตรงการใช้ผลไม้เป็นสัญลักษณ์ของภาพเขียนในสมัยเรอเนสซองซ์ นักวิชาการจอห์น ที. สไปค์ตั้งข้อเสนอเมื่อไม่นานมานี้ว่าเด็กชายในภาพแสดงความยับยั้งตัวเองโดยไม่เลือกผลไม้อื่นที่หวาน (ผลไม้แห่งความบาป) บนโต๊ะแต่เลือกส้มเบอร์กาม็อทแทนที่ แต่ความคิดนี้ไม่เป็นที่ยอมรับกัน

ผู้เป็นแบบหน้าตาคล้ายกับเทวดาในภาพ “นักบุญฟรานซิสปลื้ม” และเด็กผู้ชายที่แต่งตัวเป็นคิวปิดทางด้านซ้ายสุดในภาพ “นักดนตรี” ทั้งสองภาพเขียนราวระหว่างปี ค.ศ. 1595 ถึงปี ค.ศ. 1597

ภาพนี้มีหลายก็อปปี ในปี ค.ศ. 1996 จอห์น ที. สไปค์เป็นผู้บ่งว่าเป็นงานต้นฉบับของคาราวัจโจในการประมูลภาพเขียนในปีนั้น

อ้างอิง แก้

ดูเพิ่ม แก้