เดอะ พระราม 9 ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ แอท เดอะ แกรนด์ พระราม 9

เดอะ พระราม 9 ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ แอท เดอะ แกรนด์ พระราม 9 (อังกฤษ: The Rama IX Super Tower at The Grand Rama 9) เป็นตึกระฟ้าในประเทศไทย สร้างในพื้นที่โครงการเดอะ แกรนด์ พระราม 9 โดยบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ จีแลนด์ เป็นเจ้าของโครงการ ตัวอาคารมีความสูง 615 เมตร และมีจำนวนชั้น 125 ชั้น แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ ศูนย์ประชุม อาคารสำนักงานระดับสูง พื้นที่ค้าปลีก และโรงแรม เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย และจะแซงตึกแฝดที่สูงที่สุดในโลกอย่างเปโตรนาสทาวเวอร์ขึ้นเป็นอาคารที่สูงที่สุดในอาเซียน อีกทั้งเป็นอาคารแรกในประเทศไทยที่มีความสูงมากกว่า 100 ชั้น โดยบริษัทใช้เงินลงทุนเฉพาะอาคารดังกล่าว 18,000 ล้านบาท [3]

เดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ แอท
เดอะ แกรนด์ พระราม 9 (ชื่อชั่วคราว)
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้งโครงการเดอะ แกรนด์ พระราม 9 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°45′26.8″N 100°34′4.1″E / 13.757444°N 100.567806°E / 13.757444; 100.567806พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′26.8″N 100°34′4.1″E / 13.757444°N 100.567806°E / 13.757444; 100.567806
สถานะยกเลิก[1]
การใช้งานโรงแรม อาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก ศูนย์ประชุม ร้านอาหาร และ หอดูดาว
ความสูง
หลังคา615 เมตร
รายละเอียด
จำนวนชั้น125 ชั้น
พื้นที่ชั้น360,000 m2 (3,900,000 sq ft)
มูลค่า18,000 ล้านบาท (620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2])
บริษัท
สถาปนิกบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด
ผู้พัฒนาบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน)
เจ้าของบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน)

เดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ แอท เดอะ แกรนด์ พระราม 9 ออกแบบโดยบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49) โดยมีบริษัท สกิดมอร์, โอวิงส์ และเมอร์ริล ที่เป็นผู้ออกแบบอาคารวิลลิสทาวเวอร์ วันเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และบุรจญ์เคาะลีฟะฮ์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ ตัวอาคารใช้แนวคิดอนุรักษ์พลังงาน ตามมาตรฐาน LEED ตัวอาคารมีกระจกฉนวนกันความร้อนหุ้มภายนอก ส่วนภายในมีระบบส่งจ่ายอากาศแบบ VAV นอกจากนี้ตัวอาคารยังสามารถรองรับแรงแผ่นดินไหวและมีระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินอีกด้วย[4]

อย่างไรก็ตามโครงการกลับไม่คืบหน้าตามแผนที่วางไว้ จนเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้มีประกาศซื้อหุ้นสามัญของบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการ ด้วยวิธีการทำข้อเสนอขอซื้อหุ้นคืนทั้งหมด (Tender Offer) เพื่อแปลงสภาพบริษัทกลับเป็นบริษัทจำกัด และถอนบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจุดประสงค์เพื่อต้องการกรรมสิทธิ์ในโครงการ ที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ที่กลุ่มแกรนด์ คาแนล แลนด์ ถือครองอยู่ทั้งหมด รวมถึงโครงการเดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ แอท เดอะ แกรนด์ พระราม 9 จนกระทั่งใน พ.ศ. 2563 เซ็นทรัลพัฒนาได้ตัดสินใจยกเลิกโครงการลงในที่สุด และนำที่ดินมาสร้างเป็นส่วนต่อขยายของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 และพัฒนาให้กลายเป็นโครงการ เซ็นทรัลแกรนด์ ต่อไป

อ้างอิง แก้

  1. "Grand Rama 9 Tower - The Skyscraper Center". www.skyscrapercenter.com. สืบค้นเมื่อ 2021-03-05.
  2. "THE SUPER TOWER". a49.co.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-28. สืบค้นเมื่อ 9 April 2017.
  3. "G LAND ผุดตึกศูนย์กลางศก.ระฟ้า สูงติด 1ใน10 โลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-15. สืบค้นเมื่อ 2014-10-14.
  4. 'จีแลนด์'ผงาด'เดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์' ตึกสูงติดท็อปเท็นของโลก[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้