เดอะเกรตเกม
เดอะเกรตเกม (อังกฤษ: The Great Game) เป็นการเผชิญหน้าทางการเมืองและการทูตช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระหว่างจักรวรรดิบริติชและจักรวรรดิรัสเซีย รัสเซียซึ่งในขณะนั้นยึดครองรัฐข่านคาซัคเกรงว่าบริติชจะใช้อิทธิพลทางทหารและการค้ารุกเข้ามาในเอเชียกลาง ขณะที่บริติชกังวลว่ารัสเซียจะเข้าแทรกแซงอินเดียอันเป็นอาณานิคมสำคัญของตนในเอเชียใต้[1] ทั้งสองฝ่ายจึงพยายามแผ่อำนาจเข้ามาในอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณ นำไปสู่ความตึงเครียดและคำขู่ว่าจะเกิดสงครามระหว่างสองจักรวรรดิ[2] ชื่อ เดอะเกรตเกม ที่นิยามถึงช่วงเวลานี้มีใช้มาก่อนศตวรรษที่ 19 เพื่อหมายถึงเกมที่ต้องชิงไหวชิงพริบ[3] ก่อนจะแพร่หลายทั่วไปโดยนวนิยายเรื่อง คิม ของรัดยาร์ด คิปลิง ซึ่งมีฉากหลังในช่วงเวลาดังกล่าว[4]
ต้นศตวรรษที่ 19 อนุทวีปอินเดียซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรเป็นที่สนใจของทั้งจักรวรรดิบริติชที่กำลังรุกคืบเข้ามาด้วยบริษัทอินเดียตะวันออก และจักรวรรดิรัสเซียที่กำลังขยายอำนาจลงมาทางเอเชียกลาง จุดเริ่มต้นของ เดอะเกรตเกม ยังคงเป็นที่ถกเถียง บางส่วนเชื่อว่าเริ่มขึ้นเมื่อรัสเซียชนะสงครามรัสเซีย-เปอร์เซียในปี ค.ศ. 1813[5] ปีเตอร์ ฮอปเคิร์ก นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ชาวบริติชเสนอความเห็นว่าเริ่มในปี ค.ศ. 1836 เมื่อบริติชสนับสนุนชาวเซอร์คัสเซียให้ลุกฮือต่อรัสเซียในคอเคซัส[6] ในบริติชเชื่อว่า เดอะเกรตเกม เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1830 เมื่อลอร์ดเอลเลนโบโรห์ ประธานกรรมการการค้าในอินเดียมอบหมายให้ลอร์ดวิลเลียม เบนทิงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์แห่งอินเดียจัดตั้งเส้นทางการค้าใหม่กับเอมิเรตบูคารา[7] บริติชวางแผนจะยึดเอมิเรตอัฟกานิสถานเป็นรัฐในอารักขา และใช้อาณาจักรราชวงศ์กอญัรและรัฐข่านบูคาราเป็นรัฐกันชนเพื่อขวางไม่ให้รัสเซียเข้าถึงมหาสมุทรอินเดีย ในขณะที่รัสเซียต้องการใช้อัฟกานิสถานเพื่อประโยชน์ทางการค้าฝ่ายตน[8][9] ในปี ค.ศ. 1839 บริติชซึ่งกลัวว่ารัสเซียอาจใช้อัฟกานิสถานในการเดินทัพมาบริติชอินเดียตัดสินใจบุกอัฟกานิสถานและคุมตัวเอมีร์ดอสต์ มุฮัมมัด ข่าน จนเกิดเป็นสงครามอังกฤษ–อัฟกานิสถานครั้งที่หนึ่ง ในช่วงแรกบริติชประสบชัยชนะอย่างง่ายดายก่อนจะถูกตีโต้จนลอร์ดเอลเลนโบโรห์ต้องยอมสงบศึกและส่งตัวดอสต์ มุฮัมมัด ข่านกลับไปปกครองอัฟกานิสถานตามเดิม ถึงแม้ว่าจะเอาชนะอัฟกานิสถานแบบเด็ดขาดไม่ได้ในสงครามครั้งต่อ ๆ มา แต่การพิชิตจักรวรรดิซิกข์และการทำสนธิสัญญากับเปอร์เซียในปี ค.ศ. 1857 รวมถึงการได้ทิเบตมาเป็นรัฐในอารักขาหลังบุกครองทิเบตในปี ค.ศ. 1903 ก็ทำให้บริติชสร้างรัฐกันชนเพื่อป้องกันไม่ให้รัสเซียเข้าถึงบริติชอินเดียได้สำเร็จ[10][11]
จุดสิ้นสุดของ เดอะเกรตเกม ยังคงเป็นที่ถกเถียงเช่นกัน บางส่วนเชื่อว่ายุติในปี ค.ศ. 1907 เมื่อมีความตกลงอังกฤษ-รัสเซีย[5] ขณะที่บางส่วนเชื่อว่าจบลงเมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1895 เมื่อบริติชและรัสเซียร่วมลงนามในพิธีสารปามีร์เพื่อกำหนดเขตแดนระหว่างอัฟกานิสถานและรัสเซียด้วยเทือกเขาปามีร์และแม่น้ำอามูดาร์ยา[12][13] ปัจจุบันมีสื่อบางแห่งใช้ เดอะเกรตเกม ในการอธิบายความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ของมหาอำนาจยุคใหม่ในดินแดนเอเชียกลาง[14]
อ้างอิง
แก้- ↑ Chepkemoi, Joyce (August 1, 2017). "What Was The Great Game?". WorldAtlas.com. สืบค้นเมื่อ November 6, 2019.
- ↑ Ewans 2004, p. 1.
- ↑ Yapp 2000, pp. 183.
- ↑ Morgan 1973, pp. 55–65.
- ↑ 5.0 5.1 Konstantin Penzev (2010). "When Will the Great Game End?". Oriental Review Org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-13. สืบค้นเมื่อ 2019-11-06. web article, no page numbers.
- ↑
Hopkirk, Peter (2006) [1990]. The Great Game: On Secret Service in High Asia. London: Hachette UKJohn Murray. ISBN 9781848544772. สืบค้นเมื่อ 14 June 2019.
The Caucasus, thanks to Urquhart and his friends, had thus become part of the Great Game battlefield.
- ↑ Edward Ingram. The International History Review, Vol. 2, No. 2 (April 1980), pp. 160-171. Published by: Taylor & Francis, Ltd. Stable URL: https://www.jstor.org/stable/40105749 Great Britain's Great Game: An Introduction เก็บถาวร 2016-08-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ In Defence of British India: Great Britain in the Middle East, 1775-1842 By Edward Ingram. Frank Cass & Co, London, 1984. ISBN 0714632465. p7-19
- ↑ Becker 2005, p. 47.
- ↑ Powers 2004, p. 82.
- ↑ Szczepanski, Kallie (July 31, 2019). "What Was the Great Game?". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ November 6, 2019.
- ↑ International Boundary Study of the Afghanistan-USSR Boundary (1983) เก็บถาวร 2014-08-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by the US Bureau of Intelligence and Research
- ↑ https://bioone.org/journals/mountain-research-and-development/volume-25/issue-2/0276-4741(2005)025%5B0139%3AKFSDIT%5D2.0.CO%3B2/Knowledge-for-Sustainable-Development-in-the-Tajik-Pamir-Mountains/10.1659/0276-4741(2005)025[0139:KFSDIT]2.0.CO;2.full
- ↑ Morrison, Alexander (July 25, 2017). "Central Asia's Catechism of Cliché: From the Great Game to Silk Road". Eurasianet. สืบค้นเมื่อ November 6, 2019.