เซาตูแมอีปริงซีปของโปรตุเกส

อดีตอาณานิคมของโปรตุเกส ระหว่าง ค.ศ. 1485 ถึง 1975

หมู่เกาะเซาตูแมอีปริงซีป ตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิโปรตุเกส นับตั้งแต่ถูกค้นพบใน ค.ศ. 1470 จนกระทั่งมีการมอบเอกราชให้ใน ค.ศ. 1975

จังหวัดโพ้นทะเลเซาตูแมอีปริงซีป

Província Ultramarina de São Tomé e Príncipe
ค.ศ. 1485–ค.ศ. 1975
ตราแผ่นดินของเซาตูแมอีปริงซีป
ตราแผ่นดิน
เพลงชาติ"อูอีนูปราเตียติโก" (ค.ศ. 1808–26)
เพลงของผู้รักชาติ

"อูอีนูดาการ์ตา" (ค.ศ. 1826–1911)
เพลงสรรเสริญรัฐธรรมนูญ

"อาปูร์ตูเกซา" (ค.ศ. 1911–75)
เพลงแห่งชาวโปรตุเกส
สถานะอาณานิคมของจักรวรรดิโปรตุเกส (ค.ศ. 1485-1951)
จังหวัดโพ้นทะเลของจักรวรรดิโปรตุเกส (ค.ศ. 1951-1975)
เมืองหลวงเซาตูแม
ภาษาทั่วไปโปรตุเกส
ประมุขแห่งรัฐ 
• ค.ศ. 1470-1481
พระเจ้าอาฟงซูที่ 5
• ค.ศ. 1974–75
ฟรานซิสโก ดา คอสต้า โกเมซ
ผู้ว่าการ 
• ค.ศ. 1485-1490 (คนแรก)
ณูเอา เด ไพวา
• ค.ศ. 1974–75 (คนสุดท้าย)
อังตอนียู เอลีซโซ คาเปโล พีซ เวโลโซ
ยุคประวัติศาสตร์จักรวรรดินิยม
• ก่อตั้ง
ค.ศ. 1485
• การสิ้นสุดของจักรวรรดิโปรตุเกส
12 กรกฎาคม ค.ศ. 1975
สกุลเงินเอสคูโดเซาตูแมอีปริงซีป
ถัดไป
เซาตูแมอีปริงซีป
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ เซาตูแมอีปริงซีป

ประวัติศาสตร์ แก้

หมู่เกาะเซาตูแมอีปริงซีปถูกค้นพบโดยนักสำรวจชาวโปรตุเกส ณูเอา เด ซังตาไร และเปโร เอสโกบาร์ ในราว ๆ ค.ศ. 1470[1] ซึ่งพวกเขาพบว่าหมู่เกาะดังกล่าวไม่มีผู้อยู่อาศัย[2] เกาะเซาตูแมได้รับการตั้งชื่อตามนักบุญโธมัสอัครทูต เนื่องจากชาวโปรตุเกสค้นพบเกาะดังกล่าวในวันฉลองของนักบุญองค์นี้ ในขณะที่เกาะปริงซีป (แปลว่า เกาะเจ้าชาย) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติแด่เจ้าชายอาฟงซูแห่งโปรตุเกส พระราชโอรสพระองค์โปรดในพระเจ้าฌูเอาที่ 2[1]

มีความพยายามก่อตั้งนิคมขึ้นบนหมู่เกาะเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1485 หลังจากราชสำนักโปรตุเกสยกเกาะเซาตูแมให้กับณูเอา เด ไพวา กระนั้น ความพยายามดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเหล่าผู้ตั้งถิ่นฐานไม่สามารถผลิตอาหารในสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศอันเป็นเอกเอกลักษณ์ของหมู่เกาะนี้ อีกทั้งยังเป็นเพราะโรคภัยเขตร้อนที่แพร่ระบาดในหมู่ผู้ตั้งถิ่นฐานด้วย[1] การตั้งถิ่นฐานมาประสบผลสำเร็จใน ค.ศ. 1493 เมื่อพระเจ้าฌูเอาที่ 2 แห่งโปรตุเกส ทรงแต่งตั้งอัลวาโร คามินฮา เป็นผู้ว่าการชั่วคราวของเกาะเซาตูแม[1] ผู้ตั้งถิ่นฐานชุดแรกโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นอาชญากรและผู้เป็นกำพร้า รวมถึงยังมีเด็ก ๆ ชาวยิวที่ถูกพรากจากพ่อแม่เพื่อนำมาเข้ารีตเป็นคริสตชนอยู่จำนวนหนึ่งด้วย[3]การตั้งถิ่นฐานบนเกาะปริงซีปตามมาภายหลังใน ค.ศ. 1500[1]

ในช่วงหลายปีให้หลัง ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวโปรตุเกสเรื่มนำเข้าทาสจำนวนมากจากภาคพื้นทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาใช้เป็นแรงงานเพาะปลูกอ้อยซึ่งเป็นสินค้ามีราคาในสมัยนั้น บนพื้นดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุภูเขาไฟของเซาตูแม เมื่อถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 เซาตูแมก็สร้างความมั่งคั่งให้กับโปรตุเกสเป็นอย่างมาก เมื่อโปรตุเกสกลายมาเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก[4]

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 การแข่งขันด้านไร่น้ำตาลกับอาณานิคมบราซิล และการกบฎของทาสที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งบนเกาะ เริ่มส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกอ้อยอย่างช้า ๆ[1] ซึ่งส่งผลให้การผลิตน้ำตาลลดลงและทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นหันไปพึ่งพาการค้าทาสแทน[2] ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถูกควบคุมโดยประชากรเชื้อสาย เมสติโซ ในท้องถิ่น[4] ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของหมู่เกาะนี้ยังทำให้มันกลายเป็นสถานีการค้าสำคัญในเส้นทางการค้าทาสทรานแอตแลนติก[5] โดยหมู่เกาะเซาตูแมอีปริงซีปทำหน้าที่เป็นจุดรวมตัวของเหล่าทาสที่นำมาจากอ่าวกินีและราชอาณาจักรคองโก เพื่อนำไปยังจุดหมายปลายทางในทวีปอเมริกา[4]

เกาะเซาตูแมถูกสาธารณรัฐดัตช์ เข้ายึดครองระหว่าง ค.ศ. 1641 ถึง ค.ศ. 1648 ก่อนที่โปรตุเกสจะกลับเข้ามาปกครองอีกครั้ง[5] กระนั้นเกาะปริงซีปก็ไม่ได้ถูกฝ่ายดัชต์ยึดครองไปด้วยแต่อย่างใด[5]

เนื่องจากเมืองหลวงของอาณานิคมถูกพวกโจรสลัดและคอร์แซร์โจมตี จึงมีการย้ายเมืองหลวงไปยังซังตูอังตอนีอูซึ่งตั้งอยู่บนเกาะปริงซีป ใน ค.ศ. 1753 และหมู่เกาะทั้งสองก็เริ่มถูกปกครองเป็นอาณานิคมเดียวกัน และมีการแต่งตั้งผู้ว่าการเพียงแค่คนเดียว[4] ภายหลังเมืองหลวงของอาณานิคมได้ย้ายกลับไปยังเกาะเซาตูแมดังเดิมใน ค.ศ. 1852[6]

เมื่อถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวโปรตุเกสได้นำเอากาแฟและโกโก้ มาเพาะปลูกในไร่ขนาดใหญ่เรียกว่า โฮชัช (Roças) ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก การผลิตกาแฟยุติลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และโกโก้กลายมาเป็นสินค้าหลักของหมู่เกาะแทน จากนั้นเซาตูแมอีปริงซีปจึงกลายมาเป็นผู้ผลิตโกโก้รายใหญ่อยู่หลายชั่วอายุคน และในช่วงแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เซาตูแมอีปริงซีปก็ถือเป็นผู้ผลิตโกโก้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกในช่วงเวลานั้น[2]

ใน ค.ศ. 1972 ขบวนการปลดปล่อยเซาตูแมอีปริงซีป พรรคการเมืองชาตินิยม แนวคิดลัทธิมากซ์ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผู้พลัดถิ่นในอิเควทอเรียลกินี โดยมีจุดประสงค์เพื่อสถาปนาเซาตูแมอีปริงซีปเป็นประเทศเอกราช หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติคาร์เนชัน ใน ค.ศ. 1974 ซึ่งยุติระบอบเผด็จการอึชตาดูโนวูในโปรตุเกส รัฐบาลใหม่ของโปรตุเกสได้ริเริ่มกระบวนการปล่อยอาณานิคมในทวีปแอฟริกาให้เป็นอิสระ และมอบเอกราชให้เซาตูแมอีปริงซีป ในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1975[5]

 
ธงที่มีการเสนอให้ใช้เป็นธงของเซาตูแมอีปริงซีปภายใต้การปกครองของโปรตุเกส

ระเบียงภาพ แก้

สถาปัตยกรรมสมัยอาณานิคม แก้

เงินตรา แก้

ดูเพิ่ม แก้

รายการอ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Francisco, Agostinho, p.24
  2. 2.0 2.1 2.2 Grivetti, Shapiro, p. 1849
  3. Greene, Morgan, p.85
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Greene, Morgan, p.86
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Huang, Morrissete, p. 970
  6. McKenna, p.73

บรรณานุกรม แก้

  • Jack P. Greene, Philip D. Morgan, Atlantic History: A Critical Appraisal (2008) ISBN 9780199886432
  • Richard M. Juang, Noelle Morrissette, Africa and the Americas: Culture, Politics, and History (2008) ISBN 9781851094417
  • Louis E. Grivetti, Howard-Yana Shapiro, Chocolate: History, Culture, and Heritage (2011) ISBN 9781118210222
  • Albertino Francisco, Nujoma Agostinho, Exorcising Devils from the Throne: São Tomé and Príncipe in the Chaos of Democratization (2011) ISBN 9780875868486
  • Amy McKenna, The History of Central and Eastern Africa (2011) ISBN 9781615303229

แหล่งข้อมูลอื่น แก้