เซปักตะกร้อ[3] เป็นกีฬาพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[4] เซปักตะกร้อแตกต่างจากกีฬาที่คล้ายกันของฟุตวอลเลย์ โดยใช้ลูกที่ทำจากหวายและอนุญาตให้ผู้เล่นใช้เท้า, เข่า, หน้าอก และศีรษะเพื่อสัมผัสลูก

เซปักตะกร้อ
เซปักตะกร้อหญิงคู่ในเอเชียนเกมส์ 2014 ที่อินช็อน
สมาพันธ์สูงสุดสหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ
ชื่ออื่นkick volleyball[1]
แบบมาตรฐานพ.ศ. 2503 กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย[1][2]
สโมสร31
ลักษณะเฉพาะ
การปะทะไม่
ผู้เล่นในทีม2, 3, หรือ 4
แข่งรวมชายหญิงไม่
หมวดหมู่ในร่ม, กลางแจ้ง, ชายหาด
อุปกรณ์ลูกหวายหรือลูกพลาสติก, ตาข่าย
สถานที่สนามตะกร้อ
จัดแข่งขัน
ประเทศ ภูมิภาคเอเชีย
โอลิมปิกไม่
พาราลิมปิกใช่
เวิลด์เกมส์ไม่
เด็กกับการสาธิตการเล่นตะกร้อ

ศัพทมูลวิทยา แก้

เซปักตะกร้อ มาจากคำสองคำ คำแรก "เซปัก" (มลายู: sepak) เป็นคำมลายูแปลว่า "เตะ" กับคำว่า "ตะกร้อ" เป็นคำไทยแปลว่า "ของเล่นสานด้วยหวาย ใช้เตะเล่น"[5]

ส.พลายน้อยอธิบายที่มาของคำว่า "ตะกร้อ" ว่าอาจเป็นคำจีนเก่าคือคำว่า "ทาก้อ" ใช้เรียกกีฬาที่คล้ายกัน ในภาษาไทยถิ่นเหนือเรียก "มะต้อ" ถิ่นอีสานเรียก "กะต้อ" และถิ่นใต้เรียก "ตร่อ" และอธิบายอีกว่า ต้อ ตร่อ และกร้อ เป็นคำเดียวกันแต่เพี้ยนเสียง[6] ส่วนขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ให้ความเห็นว่า แต่เดิมคงเรียก "ตากล้อ" แปลว่า "ของที่สานเป็นตากลม ๆ" กรณีเดียวกันกับคำว่า "ผมหยิกหน้ากล้อคอสั้นฟันขาว" ซึ่งคำว่า "กล้อ" แปลว่า "กลม"[6]

ในภาษามลายูจะเรียกกีฬานี้ว่า "เซปักรากา" (มลายู: sepak raga)

ประวัติ แก้

ในการค้นคว้าหลักฐานเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดการเล่นกีฬาตะกร้อในอดีตนั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างชัดเจนว่าตะกร้อนั้นกำเนิดจากที่ใด การเล่นตะกร้อมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับทั้งด้านรูปแบบและวัตถุดิบในการทำจากสมัยแรกเป็นผ้า, หนังสัตว์, หวาย, จนถึงประเภทสารสังเคราะห์ (พลาสติก) มีหลายประเทศในแถบเอเชียที่เล่นกีฬาประเภทนี้คล้ายกัน

  • มีหลักฐานการเล่นตะกร้อในรัฐสุลต่านมะละกาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยมีการบันทึกในพงศาวดารมลายู (มลายู: Sejarah Melayu)[7]
  • พม่ามีการเล่นเป็นกีฬาที่มีมายาวนาน ซึ่งเรียกว่า "ชี่นโล่น"
  • ฟิลิปปินส์ นิยมเล่นกีฬาชนิดนี้กันมานานแล้ว โดยมีชื่อเรียกว่า ซิปะก์
  • ประเทศจีนมีเกมกีฬาที่คล้ายตะกร้อ แต่เป็นการเตะลูกหนังปักขนไก่ ซึ่งปรากฏในภาพเขียนและพงศาวดารจีน
  • ประเทศเกาหลีมีเกมกีฬาลักษณะคล้ายคลึงกับของจีนแต่ใช้ดินเหนียวห่อด้วยผ้าสำลีเอาหางไก่ฟ้าปัก แทนการใช้ลูกหนังปักขนไก่

ลักษณะการเล่น แก้

 
ตะกร้อหวาย

การเล่นตะกร้อสามารถเล่นได้หลายแบบ ดังนี้

  • การเล่นเป็นทีม ผู้เล่นจะล้อมเป็นวง ผู้เริ่มต้นจะใช้เท้าเตะลูกตะกร้อไปให้อีกผู้รับหนึ่ง ผู้รับจะต้องมีความว่องไวในการใช้เท้ารับและเตะส่งไปยังอีกผู้หนึ่ง จึงเรียกวิธีเล่นนี้ว่า "เตะตะกร้อ" ความสนุกอยู่ที่การหลอกล่อที่จะเตะไปยังผู้ใด ถ้าผู้เตะทั้งวงมีความสามารถเสมอกัน จะโยนและรับไม่ให้ตะกร้อถึงพื้นได้เป็นเวลานานมาก กล่าวกันว่าทั้งวันหรือทั้งคืนก็ยังมี แต่ผู้เล่นยังไม่ชำนาญก็โยนรับได้ไม่กี่ครั้ง ลูกตะกร้อก็ตกถึงพื้น
  • การติดตะกร้อ (เล่นเดี่ยว) เป็นศิลปะการเล่นตะกร้อ คือ เตะตะกร้อให้ไปติดอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และต้องถ่วงน้ำหนักให้อยู่นาน แล้วใช้อวัยวะส่วนนั้นส่งไปยังส่วนอื่นโดยไม่ให้ตกถึงพื้น เช่น การติดตะกร้อที่หลังมือ ข้อศอก หน้าผาก จมูก เป็นต้น ผู้เล่นต้องฝึกฝนอย่างมาก
  • ตะกร้อติดบ่วง การเตะตะกร้อติดบ่วง ใช้บ่วงกลมๆแขวนไว้ให้สูงสุด แต่ผู้เล่นจะสามารถเตะให้ลอดบ่วงไปยังผู้อื่นได้ กล่าวกันว่าบ่วงที่เล่นเคยสูงสุดถึง 7 เมตร และยิ่งเข้าบ่วงจำนวนมากเท่าไรยิ่งแสดงถึงความสามารถ ถือเป็นการฝึกฝนได้ดี

ท่าเตะ แก้

ท่าเตะตะกร้อมีหลายท่าที่แสดงให้เห็นถึงความงดงามและความว่องไว ตามปกติจะใช้หลังเท้า แต่ผู้เล่นตะกร้อจะมีวิธีเตะที่พลิกแพลง ใช้หน้าเท้า เข่า ไขว้ขา (เรียกว่าลูกไขว้) ไขว้ขาหน้า ไขว้ขาหลัง ศอก ข้อสำคัญ คือ ความเหนียวแน่นที่ต้องรับลูกให้ได้เป็นอย่างดีเมื่อลูกมาถึงตัว ผู้เล่นมักฝึกการเตะตะกร้อด้วยท่าต่าง ๆ ลีลาในการเตะตะกร้อมี 4 แบบ คือ การเตะเหนียวแน่น (การรับให้ได้อย่างดี) การเตะแม่นคู่ (การโต้ตรงคู่) การเตะดูงามตา (ท่าเตะสวย มีสง่า) การเตะท่ามาก (เตะได้หลายท่า)

กฎและข้อบังคับ แก้

การแข่งขันตะกร้อในระดับนานาชาติ เรียกเกมกีฬาชนิดนี้ว่าเซปักตะกร้อ โดยเป็นการแข่งขันของผู้เล่น 2 ทีม ทำการโต้ตะกร้อข้ามตาข่ายเพื่อให้ลงในแดนของคู่ต่อสู้ สามารถแบ่งแยกย่อยเป็น 2 ประเภทคือ "เรกู" หรือทีม 3 คน และ "ดับเบิ้ล เรกู" หรือก็คือ ตะกร้อคู่ (คำว่า เรกู เป็นภาษามลายู แปลว่าทีม)

สนามแข่งขัน แก้

 
สนามแข่งขันขนาดมาตรฐาน

สนามแข่งขันเซปักตะกร้อ มีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 2 เท่าของสนามแบดมินตัน มีความยาว 13.40 เมตร กว้าง 6.1 เมตร เพดานหรือสิ่งกีดขวางอื่นใด ต้องอยู่สูงกว่าสนามไม่น้อยกว่า 8 เมตร จากพื้นสนาม (ไม่เป็นพื้นหญ้า หรือพื้นทราย) และต้องไม่มีสิ่งกีดขวางอื่นใดในระยะ 3 เมตรจากขอบสนามโดยรอบ

ความกว้างของเส้นขอบทั้งหมดวัดจากด้านนอกเข้ามาไม่เกิน 4 เซนติเมตร ส่วนเส้นแบ่งแดนความกว้างไม่เกิน 2 เซนติเมตร โดยลากเส้นแบ่งแดนทั้ง 2 ข้างออกตามแนวขวาง แนวเส้นทับพื้นที่ของแต่ละแดนเท่าๆกัน เส้นขอบทั้งหมดนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของแดนสำหรับผู้เล่นแต่ละฝ่าย

ปลายของเส้นแบ่งแดน ใช้เป็นจุดศูนย์กลางลากเส้นโค้งครึ่งวงกลมความกว้างเส้น 4 เซนติเมตร โดยขอบในของเส้นโค้งครึ่งวงกลมมีรัศมี 90 เซนติเมตร กำหนดไว้เป็นตำแหน่งยืนของผู้เล่นหน้าซ้าย และหน้าขวา ในขณะที่ส่งลูก

แดนทั้งสองจะมีวงกลมซึ่งกำหนดเป็นจุดยืนสำหรับผู้ส่งลูก โดยวาดเป็นวงกลมขอบในมีรัศมี 30 เซนติเมตร ความกว้างของเส้นคือ 4 เซนติเมตร จุดศูนย์กลางอยู่ที่ระยะ 2.45 เมตรจากเส้นหลังของแต่ละแดน และอยู่กึ่งกลางตามแนวกว้างของสนาม

ตาข่าย แก้

ตาข่ายจะถูกขึงกั้นแบ่งแดนทั้งสองออกจากกัน ทำจากวัสดุจำพวกเชือกหรือไนลอน ความสูงของตาข่ายบริเวณกึ่งกลาง คือ 1.52 เมตรสำหรับนักกีฬาชาย (1.42 เมตรสำหรับนักกีฬาหญิง) ส่วนความสูงบริเวณเสายึดตาข่าย คือ 1.55 เมตรสำหรับนักกีฬาชาย (1.45 เมตรสำหรับนักกีฬาหญิง) ตาข่ายมีขนาดรู 6–8 เซนติเมตร ผืนตาข่ายมีความกว้าง 70 เซนติเมตร และยาวไม่น้อยกว่า 6.1 เมตร

การศึกษา แก้

ปัจจุบันโรงเรียนในประเทศไทย กีฬาเซปักตะกร้อมีอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาพลศึกษาและสุขศึกษา ในชั้นประถมศึกษาและชั้นมัธยมต้น

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "Sepaktakraw". Olympic Council of Asia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กรกฎาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2021.
  2. Victoria R. Williams (2015). Weird Sports and Wacky Games around the World: From Buzkashi to Zorbing: From Buzkashi to Zorbing. ABC-CLIO. p. 264. ISBN 9781610696401.
  3. Shawn Kelley (2006). "Takraw: A Traditional Southeast Asian Sport". Tourism Authority of Thailand. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 กรกฎาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2007.
  4. J. A. Mangan; Fan Hong (2002). Sport in Asian society: past and present. Frank Cass Publishers. p. 220. ISBN 978-0-7146-8330-0.
  5. "sepak takraw | Definition of sepak takraw in US English by Oxford Dictionaries". Oxford Dictionaries | English. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กันยายน 2018. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2018.
  6. 6.0 6.1 ส. พลายน้อย. เกร็ดภาษา หนังสือไทย ฉบับปรับปรุง. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ. 2560. หน้า 314–316. ISBN 978-616-003-169-6
  7. Dunsmore, Susi (1983). Sepak Raga (Sarawak Museum occasional paper). University of Michigan. p. 2. ASIN B0000CPD6R.

บรรณานุกรม แก้

  • Pogadaev, Victor. “Let’s Play Volleyball… By Foot! “ – “Vostochnaya Kollektsia” (Oriental Collection). M.: Russian State Library. N 3 (34). 2008. pp. 129–134. ISSN 1681-7559.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้