เฉิน ยฺหวิน

ผู้อาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ค.ศ. 1905–1995)
(เปลี่ยนทางจาก เฉิน หยุน)

เฉิน ยฺหวิน (จีนตัวย่อ: 陈云; จีนตัวเต็ม: 陳雲; พินอิน: Chén Yún, สะกดว่า [ʈʂʰə̌n y̌n]; 13 มิถุนายน ค.ศ. 1905 – 10 เมษายน ค.ศ. 1995) เป็นผู้นำการปฏิวัติชาวจีนผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำที่มีอิทธิพลมากที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีนในคริสต์ทศวรรษ 1980 และ 1990 และเป็นหนึ่งในสถาปนิกและผู้กำหนดนโยบายที่สำคัญสำหรับช่วงการปฏิรูปและเปิดกว้างร่วมกับเติ้ง เสี่ยวผิง เขายังเป็นที่รู้จักในนาม เลี่ยว เฉินยฺหวิน (廖陈云 เนื่องจากเขาใช้นามสกุลของลุง (เลี่ยว เหวินกวาง; 廖文光) เมื่อได้รับการรับเลี้ยงโดยลุงของเขาหลังจากพ่อแม่ของเขาเสียชีวิต

เฉิน ยฺหวิน
陈云
เฉินใน ค.ศ. 1959
ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนกลางคนที่ 2
ดำรงตำแหน่ง
2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1987 – 12 ตุลาคม ค.ศ. 1992
เลขาธิการจ้าว จื่อหยาง
เจียง เจ๋อหมิน
ก่อนหน้าเติ้ง เสี่ยวผิง
ถัดไปยุบเลิกตำแหน่ง
เลขาธิการคณะกรรมการสอบวินัยส่วนกลางคนที่ 1 คนที่ 6
ดำรงตำแหน่ง
22 ธันวาคม ค.ศ. 1978 – 31 ตุลาคม ค.ศ. 1987
เลขาธิการหู เย่าปัง
จ้าว จื่อหยาง
ก่อนหน้าสำนักงานใหม่
(ต่ง ปี้อู่ ใน ค.ศ. 1968)
ถัดไปเฉียว ฉือ (เลขาธิการ)
รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่ง
28 กันยายน ค.ศ. 1956 – 1 สิงหาคม ค.ศ. 1966
ประธานเหมา เจ๋อตง
ดำรงตำแหน่ง
18 ธันวาคม ค.ศ. 1978 – 12 กันยายน ค.ศ. 1982
ประธานฮฺว่า กั๋วเฟิง
หู เย่าปัง
รองนายกรัฐมนตรีจีนคนที่ 1 คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
15 กันยายน ค.ศ. 1954 – 21 ธันวาคม ค.ศ. 1964
หัวหน้ารัฐบาลโจว เอินไหล
ถัดไปหลิน เปียว
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด13 มิถุนายน ค.ศ. 1905(1905-06-13)
ชิงผู่ จักรวรรดิชิง
(ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน)
เสียชีวิต10 เมษายน ค.ศ. 1995(1995-04-10) (89 ปี)
ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (1924–1995)
คู่สมรสยฺหวี รั่วมู่

ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เฉินเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เฉินเข้าร่วมคณะกรรมาธิการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน ค.ศ. 1931 และกรมการเมืองใน ค.ศ. 1934 ใน ค.ศ. 1937 เขาได้เป็นหัวหน้าฝ่ายองค์การของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และกลายเป็นที่ปรึกษาคนสนิทของเหมา เจ๋อตง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนหนึ่ง เขามีส่วนสำคัญในขบวนการแก้ไขเหยียนอานใน ค.ศ. 1942 และเริ่มรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจในปีนั้น และท้ายที่สุดได้เป็นหัวหน้าคณะกรรมการการเงินและเศรษฐกิจส่วนกลางตั้งแต่ ค.ศ. 1949

หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เฉินเป็นบุคคลสำคัญในการบรรเทาแนวคิดเศรษฐกิจสุดโต่งหลายประการของเหมา เฉินมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีนหลังจากวิกฤติการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า (ค.ศ. 1958–60) ร่วมกับเติ้ง เสี่ยวผิงและโจว เอินไหล โดยสนับสนุนเศรษฐกิจแบบ "กรงนก" ซึ่งอนุญาตให้เศรษฐกิจตลาดมีบทบาทแต่ถูกจำกัดไว้เหมือน "นกในกรง" เฉินถูกลดตำแหน่งในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมแม้เขาจะกลับคืนสู่อำนาจหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมาใน ค.ศ. 1976 ก็ตาม

ภายหลังการฟื้นฟูของเติ้ง เสี่ยวผิง เฉินได้ออกมาวิจารณ์นโยบายลัทธิเหมา โดยประณามการไม่มีนโยบายเศรษฐกิจของจีน และต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในสถาปนิกของนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้างของเติ้ง ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 และ 1990 เฉินได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่ทรงพลังเป็นอันดับสองในประเทศจีนรองจากเติ้งและต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในแปดผู้อาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในช่วงแรก เฉินเป็นผู้สนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน แต่เมื่อการปฏิรูปดำเนินไป เขาก็ค่อย ๆ กลายเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม และกลายเป็นบุคคลสำคัญในการชะลอการปฏิรูปหลาย ๆ อย่าง และกลายเป็นผู้นำกลุ่มอนุรักษ์นิยมในพรรคคอมมิวนิสต์จีน เฉินลาออกจากคณะกรรมาธิการกลางใน ค.ศ. 1987 แต่ยังคงมีอิทธิพลในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนกลางจนถึง ค.ศ. 1992 จากนั้นเขาก็เกษียณจากการเมืองอย่างเต็มตัว

ชีวิตช่วงต้น

แก้

เฉินเกิดในชิงผู่ เจียงซู (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเซี่ยงไฮ้) ใน ค.ศ. 1905 เฉินเป็นช่างเรียงพิมพ์ให้กับสำนักพิมพ์สื่อโฆษณาพาณิชย์ (Commercial Press) ชื่อดังของเซี่ยงไฮ้ ซึ่งพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติและแม้แต่พระคัมภีร์ไบเบิลของโปรเตสแตนต์[1][2] เขามีส่วนสำคัญในการเป็นผู้จัดงานรุ่นเยาว์ในขบวนการแรงงานในช่วงต้นและกลางคริสต์ทศวรรษ1920 โดยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน ค.ศ. 1924 หลังจากขบวนการ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1925 เฉินเป็นผู้จัดงานที่สำคัญภายใต้การนำของโจว เอินไหลและหลิว เช่าฉี ช่วงหนึ่ง โจวและเฉินอาศัยอยู่ที่โบสถ์คริสต์ในฉางทิงซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะกรรมการปฏิวัติ[3] หลังเจียง ไคเชกหันมาต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน ค.ศ. 1927 เฉินก็หนีกลับไปยังบ้านเกิดของเขา แต่ไม่นานก็กลับมาเซี่ยงไฮ้และทำงานเป็นนักสหภาพแรงงานอย่างลับ ๆ

เฉินเป็นหนึ่งในผู้จัดงานพรรคคอมมิวนิสต์เพียงไม่กี่คนที่มีพื้นเพเป็นชนชั้นแรงงานในเมือง เขาทำงานใต้ดินในฐานะผู้จัดงานสหภาพแรงงานในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1920 เข้าร่วมการเดินทัพทางไกล และทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการกลางตั้งแต่ ค.ศ.1931 ถึง 1987[4] เขาทำงานด้านเศรษฐศาสตร์ตลอดอาชีพการงานของเขา แม้ว่าจะไม่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการหลังจบประถมศึกษา

อาชีพช่วงต้นในพรรคคอมมิวนิสต์ 

แก้

เขาทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการกลางในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 6 ใน ค.ศ. 1930 และกลายเป็นสมาชิกของกรมการเมืองใน ค.ศ. 1934 ในปี ค.ศ. 1933 เขาอพยพไปยังรุ่ยจิน ในมณฑลเจียงซี สำนักงานใหญ่ของพื้นที่ "โซเวียต" หลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขาเป็นผู้รับผิดชอบงาน "พื้นที่ขาว" ของพรรคโดยรวม ซึ่งก็คือกิจกรรมใต้ดินในสถานที่ที่ไม่อยู่ในการควบคุมของพรรค ในการเดินทัพทางไกล เขาเป็นหนึ่งในสี่สมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองที่เข้าร่วมการประชุมจุนอี้ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1935 เขาออกจากการเดินทัพทางไกลในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1935 กลับไปเซี่ยงไฮ้ และในเดือนกันยายน ค.ศ. 1937 เขาเดินทางไปมอสโกเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการประชุมโคมินเทิร์นที่ส่งมาโดยกรมการเมือง แม้เขาจะไม่ได้มีส่วนร่วมในงานของคณะผู้แทนเนื่องจากถูกส่งไปที่โรงงานรถแทรกเตอร์สตาลินกราดเพื่อเป็นการลงโทษที่เขาเข้าร่วมกลุ่มหลัว จางหลง[5]: 111–112 

ใน ค.ศ. 1937 เฉินกลับมายังประเทศจีนในฐานะที่ปรึกษาของเชิ่น ฉีไฉ ผู้นำซินเจียง ต่อมาเฉินได้เข้าร่วมกับเหมาที่เหยียนอาน อาจก่อนสิ้นปีนั้น ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1937 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายองค์การพรรค โดยดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนถึง ค.ศ. 1944 และในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1940 เขาก็อยู่ในวงในที่ปรึกษาของเหมา งานเขียนของเขาเกี่ยวกับองค์การ อุดมการณ์ และการฝึกอบรมแกนนำได้รับการรวมไว้ในเอกสารการศึกษาสำคัญสำหรับขบวนการแก้ไขเหยียนอานใน ค.ศ. 1942 ซึ่งเป็นการรณรงค์การข่มเหงทางการเมืองที่รวบรวมอำนาจของเหมาไว้ภายในพรรค[6] ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นที่ทราบกันดีว่าเขาได้ปกป้องสหายบางคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกทรอตสกี และวิพากษ์วิจารณ์ความเกินจริงของการรณรงค์ในพื้นที่ฐานชานตง[5]: 480–481 

อาชีพทางเศรษฐกิจของเฉินเริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1942 เมื่อเขาถูกแทนที่โดยเหริน ปี้ฉือในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายองค์การพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในตำแหน่งใหม่นี้ เฉินได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบด้านการจัดการด้านการเงินในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน สองปีต่อมา เขาได้รับการระบุว่าเป็นผู้รับผิดชอบด้านการเงินในเขตชายแดนฉ่านกานหนิงด้วย เขาเพิ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเข้ามาในความรับผิดชอบของเขาใน ค.ศ. 1946 (ขณะนั้นอยู่ภายใต้การนำของรวมของนายพลหลิน เปียวและกรรมาธิการการเมืองเผิง เจิน)

ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1940 เฉินเป็นผู้มีส่วนสนับสนุนหลักต่อยุทธศาสตร์ "สงครามเศรษฐกิจ" ของพรรค[7] ภายใต้แนวคิดนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ปลดปล่อยถือเป็นการสนับสนุนที่สำคัญในการต่อสู้ปฏิวัติ[7] เฉินแย้งว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและการผลิตเป็นสิ่งสำคัญ โดยอธิบายว่า "เราจะสามารถเป็นผู้นำมวลชนได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องอาหารและเครื่องนุ่งห่มสำหรับคนส่วนใหญ่ได้เท่านั้น ดังนั้น นักธุรกิจปฏิวัติจึงเป็นนักปฏิวัติอย่างแท้จริง"[7]

ความท้าทายหลักของคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลานี้คือการขับไล่สกุลเงินชาตินิยมที่แข่งขันกันออกไปและแทนที่ด้วยสกุลเงินที่ใช้ในฐานการปฏิวัติ[7] เฉินแย้งว่าแนวทางควรอาศัยทั้งกลไกทางเศรษฐกิจและการเมือง (ไม่ใช่การห้ามปราม) รวมถึงการควบคุมมูลค่าสกุลเงินที่แข่งขันกันและการควบคุมการค้าสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ[8] ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของเฉินในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในช่วงแรกคือการรักษาเสถียรภาพของราคาในเซี่ยงไฮ้หลังจากรัฐบาลชาตินิยมไม่สามารถควบคุมวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดจากการเก็งกำไรของกลุ่มทุนผูกขาดได้

อาชีพการเมืองภายใต้เหมา

แก้

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1949 เฉินได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะกรรมการการเงินและเศรษฐกิจส่วนกลางแห่งชาติชุดใหม่ ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1952 โจว เอินไหลเป็นหัวหน้าคณะร่างแผนพัฒนาห้าปีฉบับแรก ซึ่งประกอบด้วยเฉิน, ป๋อ อีปัว, หลี่ ฟู่ชุน และนายพลเนี่ย หรงเจิน โจว, เฉิน และหลี่ได้นำร่างดังกล่าวไปเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญของโซเวียตในมอสโก แต่ผู้เชี่ยวชาญกลับปฏิเสธ ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1953 เกา กั่งและคณะกรรมการวางแผนแห่งรัฐได้เริ่มทำงานในสิ่งที่จะกลายมาเป็นเวอร์ชันสุดท้ายในที่สุด[9] หลังการล่มสลายของเกา, เฉิน, ปั๋ว อีปัว, หลี่ ฟู่ชุน และ (ต่อมา) หลี่ เซียนเนี่ยน ได้บริหารเศรษฐกิจจีนเป็นเวลากว่า 30 ปี

การบริหารเศรษฐกิจ

แก้

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 และ 1960 เฉินเป็นผู้สนับสนุนมาตรการทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นตลาดมากขึ้น[10] เมื่อมองย้อนกลับไป เฉินเชื่อในเวลาต่อมาว่าเป็นความผิดพลาดของเหมาที่ทำให้จีนไม่สามารถบรรลุแผนห้าปีได้[6] ใน ค.ศ. 1956 เมื่อมีการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 8 เฉินได้รับเลือกให้เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการกลาง[11] ในช่วงเวลานั้น ทั้งเหมาและเฉินเริ่มมีความเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจซึ่งจำลองแบบมาจากสหภาพโซเวียตมีระบบรวมศูนย์มากเกินไป แต่ก็มีความเห็นต่างกันว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ เฉินเชื่อว่าตลาดควรมีบทบาททางเศรษฐกิจที่มากขึ้นแต่ยังคงอยู่ภายใต้แผนที่รัฐควบคุม[12]: xx  เฉินใช้คำเปรียบเทียบเป็นนกในกรงเพื่อบรรยายถึงเศรษฐกิจสังคมนิยม[12]: xx   ถ้ากรงเล็กเกินไป นกก็อาจไม่สามารถรอดได้[12]: xx  ถ้ากรงถูกเปิดไว้ นกก็จะบินหนีไป[12]: xx 

แนวคิดของเหมา คือ การกระจายอำนาจให้แก่หน่วยงานระดับมณฑลและท้องถิ่น ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นคณะกรรมาธิการพรรคมากกว่าจะเป็นเทคโนแครตของรัฐ และใช้การระดมมวลชนมากกว่าแผนกลางโดยละเอียดหรือตลาดในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ โครงการของเหมาได้รับชัยชนะ และนโยบายเหล่านี้มาบรรจบกับส่วนที่เหลือของการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าที่ท้ายที่สุดแล้วนำไปสู่หายนะ ภายในต้นปี ค.ศ. 1959 เศรษฐกิจก็เริ่มแสดงสัญญาณความตึงเครียด ในเดือนมกราคมปีนั้น เฉินได้ตีพิมพ์บทความเรียกร้องให้เพิ่มความช่วยเหลือจากโซเวียต ในเดือนมีนาคม เขาได้เผยแพร่คำวิจารณ์เกี่ยวกับการก้าวกระโดดไกลที่ค่อนข้างเรียบง่ายแต่ครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพาการเคลื่อนไหวของมวลชน เขายืนยันว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความเร็วเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและวิศวกรรมที่มีคุณภาพอีกด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทักษะทางเทคนิค ไม่ใช่แค่ความตระหนักทางการเมืองเท่านั้น[6]

การปฏิวัติทางวัฒนธรรม

แก้

เฉินหมดความโปรดปรานจากเหมา[10] ในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1959 พรรคได้จัดการประชุมขึ้นที่เมืองตากอากาศหลูชานเพื่อทบทวนนโยบายของการก้าวกระโดดไกล จอมพล เผิง เต๋อหวย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โจมตีแนวคิดสุดโต่งของการก้าวกระโดดไกล และเหมาก็คิดว่านี่เป็นการโจมตีตัวเขาเองและอำนาจของเขา เหมาตอบโต้ด้วยการโจมตีส่วนตัวอย่างรุนแรงต่อเผิง เผิงสูญเสียตำแหน่งทางทหารของเขาและพรรคได้ดำเนินการกวาดล้างครั้งใหญ่ในสิ่งที่เหมาเรียกว่าลัทธิโอกาสนิยมขวา การปฏิรูปนโยบายของการก้างกระโดดไกลเพิ่มเติมนั้นไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ประเทศจีนยังคงเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้เป็นเวลาอีกหนึ่งปีหรือมากกว่านั้น และภายในสิ้นปี ค.ศ. 1960 จีนก็ประสบภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก

เฉินเห็นพ้องกับการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดก้าวกระโดดของเผิงและร่วมมือกับโจว เอินไหลและเติ้ง เสี่ยวผิงในการบริหารเศรษฐกิจในช่วงหลังการก้าวกระโดดไกล ซึ่งต้องอาศัยความสามารถในการรับมือกับความอ่อนไหวต่อคำวิจารณ์ของเหมาอย่างชาญฉลาด[13]

เฉินยังคงดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคและสมาชิกกรมการเมืองและยังคงแสดงความเห็นของเขาอยู่เบื้องหลัง ใน ค.ศ. 1961 เขาได้ทำการสืบสวนพื้นที่ชนบทรอบเซี่ยงไฮ้ จากการโจมตีเขาโดยกลุ่มหัวรุนแรงในระบบการเงินในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เขารายงานว่าชาวนาพูดว่า "ในสมัยเจียง ไคเชก เรามีข้าวกิน แต่ในสมัยรุ่งเรืองของประธานเหมา เรามีแต่ข้าวต้ม" จากคำไว้อาลัยของเขา เฉินเป็นหนึ่งในผู้ออกแบบนโยบายเศรษฐกิจหลักของสมัย "ถนนทุนนิยม" (ค.ศ. 1951–62) ซึ่งเป็นสมัยที่นโยบายเศรษฐกิจของจีนเน้นที่แรงจูงใจทางวัตถุและพยายามส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการบรรลุเป้าหมายทางอุดมการณ์ แนวทางนี้มักเรียกกันว่าทฤษฎี "กรงนก" ของเฉินเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสมัยก้าวกระโดดไกล โดยที่นกเปรียบเสมือนตลาดเสรี ส่วนกรงเปรียบเสมือนแผนกลาง เฉินเสนอว่าควรหาจุดสมดุลระหว่าง "การปล่อยนกให้เป็นอิสระ" และการทำให้นกหายใจไม่ออกโดยใช้แผนกลางที่เข้มงวดเกินไป ทฤษฎีนี้กลายเป็นจุดวิพากษ์วิจารณ์เฉินในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในเวลาต่อมา การปรากฏตัวต่อสาธารณะครั้งเพียงเดียวของเขาในช่วงเวลานี้คือภาพถ่ายของเขาที่ตีพิมพ์ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้าและหนังสือพิมพ์หลักอื่น ๆ ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1962 ซึ่งแสดงให้เห็นเฉินจับมือกับประธานเหมา ขณะที่หลิว เช่าฉี, โจว เอินไหล, จู เต๋อ และเติ้ง เสี่ยวผิง (แกนนำพรรคทั้งหมดในขณะนั้น ยกเว้นหลิน เปียว) เฝ้าดูอยู่ ไม่มีคำบรรยายหรือคำอธิบายใด ๆ ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เฉินถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ของยุวชนแดงแต่ไม่ใช่ในสื่อทางการ เขาได้รับการเลือกกลับเข้าสู่คณะกรรมาธิการกลางอีกครั้งในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคครั้งที่ 9 ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1969 แต่ไม่ได้รับเลือกเข้าสู่กรมการเมือง เขาไม่ได้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบใด ๆ อีกต่อไป ในปลายปีนั้น ต่อมาในปีนั้น เขาถูก "อพยพ" ออกจากปักกิ่ง เช่นเดียวกับผู้นำรุ่นแรกคนอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งสำคัญหรือตกอับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่กล่าวอ้างว่าเพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่สหภาพโซเวียตซึ่งมีความขัดแย้งรุนแรงกับจีนอาจเข้ารุกราน เฉินถูกส่งไปทำงานในโรงงานแห่งหนึ่งในหนานชาง มณฑลเจียงซี ซึ่งเขาอยู่ที่นั่นเป็นเวลาสามปี ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1975 เขาได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจีน

อาชีพในช่วงปฏิรูป

แก้

หลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1976 และการรัฐประหารต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรงสี่คนในหนึ่งเดือนต่อมา เฉินก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตทางการเมืองของประเทศ เขาและนายพลหวัง เจิ้นได้ยื่นคำร้องต่อฮฺว่า กั๋วเฟิง ประธานพรรคเพื่อขอให้ฟื้นฟูเติ้ง เสี่ยวผิงที่การประชุมเชิงปฏิบัติการของคณะกรรมธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1977 แต่ถูกปฏิเสธ[14] หลังจากเติ้งได้รับการฟื้นฟูในช่วงปลายปีนั้น เฉินได้เป็นผู้นำการโจมตีสมัยเหมาในการประชุมเชิงปฏิบัติการของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ค.ศ. 1978 โดยยก "หกประเด็น" อันละเอียดอ่อนขึ้นมา ได้แก่ การกวาดล้างปั๋ว อีปัว, เถา จู้, หวัง เหอโช่ว และเผิง เต๋อหวย อุบัติการณ์เทียนอันเหมิน ค.ศ. 1976 และความผิดพลาดของคัง เชิง เฉินยกประเด็นทั้งหกนี้ขึ้นมาเพื่อบ่อนทำลายฮฺว่าและผู้สนับสนุนฝ่ายซ้ายของเขา[15] การแทรกแซงของเฉินทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางของการปฏิเสธการปฏิวัติทางวัฒนธรรมอย่างเปิดเผยและการเลื่อนตำแหน่งของเติ้ง เสี่ยวผิงในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 ให้เป็นผู้นำโดยพฤตินัยของระบอบการปกครอง เฉินวางรากฐานสำหรับโครงการ "ปฏิรูปและเปิดกว้าง" ของเติ้ง

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1979 เฉินได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้า (และหลี่ เซียนเนี่ยนเป็นรองหัวหน้า) คณะกรรมการเศรษฐกิจและการเงินแห่งชาติชุดใหม่โดยมีพันธมิตรและนักวางแผนเศรษฐกิจแนวอนุรักษ์นิยมเป็นสมาชิก ในเดือนเมษายนและกรกฎาคมปีนั้น เขาได้กล่าวคำพูดยั่วยุเพิ่มเติมในการประชุมพรรคภายใน แม้จะมีโฆษกอย่างเป็นทางการออกมาปฏิเสธ (ในลักษณะคลุมเครือ) ถึงความถูกต้องของคำพูดเหล่านั้น ในเรื่องนี้ เฉินแสดงความเสียใจต่อความไม่ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของจีนและการสูญเสียความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อพรรค ในเดือนเมษายน เขาวิจารณ์ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยของผู้นำพรรค (รวมถึงตัวเขาเอง) และกล่าวว่าหากเขารู้ก่อนช่วงการปลดปล่อยว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมาจะเป็นเช่นนี้ (นั่นคือช่วงการทางปฏิวัติวัฒนธรรม) เขาคงจะหันไปหาเจียง ไคเชก เขาตำหนิวิธีการปกครองแบบเผด็จการของเหมา และบอกเป็นนัยแม้จะไม่ชัดเจนนักว่าพรรคควรใช้แนวทางที่อ่อนโยนกว่านี้ต่อผู้เห็นต่าง หาก "หลิน เปียว และแก๊งออฟโฟร์ หรือที่เรียกว่ากลุ่มฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง" สามารถทำให้ประชาชนมีอาหารและเสื้อผ้าอย่างเพียงพอ เขากล่าวว่า พวกเขาคงจะไม่ถูกโค่นล้มได้ง่ายดายเช่นนี้[ต้องการอ้างอิง]

ในเดือนกรกฎาคม เฉินได้ขยายความเกี่ยวกับหัวข้อเหล่านี้ในงานเขียนชิ้นอื่น (ซึ่งรวมถึงข้อสังเกตเชิงเสียดสีเกี่ยวกับรสนิยมทางวรรณกรรมของประธานผู้ล่วงลับ) เฉินกล่าวว่า "เราพูดถึงราชวงศ์เก่าและก๊กมินตั๋งว่า 'ปกครอง' ประเทศ แต่กลับพูดถึง 'การนำ' ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ในความเป็นจริงพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เป็นพรรครัฐบาลเช่นกัน และหากพรรคต้องการรักษาอำนาจก็ต้องรักษาความไว้วางใจจากประชาชน ไม่ควรลอยตัวเหนือประชาชนแต่ควรอยู่ท่ามกลางประชาชนเสมือนเป็นผู้รับใช้ ทั้งสวัสดิการของประชาชนและตำแหน่งผู้นำของพรรคจำเป็นต้องอาศัยการลดช่องว่างระหว่างพรรคกับประชาชน" เฉินกล่าวว่า ราชวงศ์เก่ารู้ถึงคุณค่าของนโยบายการยอมจำนนหรือการถอยห่างจากตำแหน่งที่ไม่อาจรักษาไว้ได้ พรรคจะต้องสามารถถอยห่างจากแนวทางปฏิบัติในอดีต ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์ และอุดมการณ์ โดยไม่ประนีประนอมหลักการพื้นฐานของสังคมนิยม เฉินเชื่อว่าพรรคจะต้องรองรับการอยู่ร่วมกับลักษณะต่าง ๆ ของระบบทุนนิยมไปชั่วคราว แต่เฉินกล่าวเสริมว่าทั้งหมดนี้จะต้องทำอย่างระมัดระวัง มิฉะนั้นจีนจะตกอยู่ในอันตรายของการละทิ้งสังคมนิยมและฟื้นฟูทุนนิยม การประกาศเหล่านี้เป็นลางบอกเหตุถึงการเปลี่ยนทิศทางครั้งใหญ่ของลัทธิคอมมิวนิสต์จีนในขบวนการปฏิรูป[16][17]

บทบาทในการส่งเสริมการปฏิรูปเศรษฐกิจ

แก้

แม้ว่าเติ้ง เสี่ยวผิงจะได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปนิกแห่งการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนสมัยใหม่ แต่เฉินก็มีส่วนสนับสนุนอย่างมากต่อยุทธศาสตร์ที่เติ้งนำมาใช้ และเฉินยังมีส่วนร่วมโดยตรงในรายละเอียดของการวางแผนและการดำเนินการอีกด้วย ลักษณะสำคัญของการปฏิรูปคือการใช้ตลาดในการจัดสรรทรัพยากร ภายใต้ขอบเขตของแผนโดยรวม การปฏิรูปในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 นั้นแท้จริงแล้วคือการนำเอาแผนงานที่เฉินได้ร่างขึ้นในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1950 มาปฏิบัติจริงในที่สุด เฉินเรียกสิ่งนี้ว่า "เศรษฐกิจกรงนก"[18] ตามที่เฉินกล่าวไว้ "กรงคือแผน และอาจจะใหญ่หรือเล็กก็ได้ แต่ภายในกรงนั้น นก [เศรษฐกิจ] มีอิสระที่จะบินได้ตามใจชอบ"

ใน ค.ศ. 1981 "กลุ่มผู้นำทางการเงินและเศรษฐกิจ" ที่เป็นคู่แข่งได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้การนำของจ้าง จื่อหยางและมีสมาชิกเป็นนักวางแผนเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย ใน ค.ศ. 1982 เฉินนในวัย 77 ปี ​ได้ลาออกจากกรมการเมืองและคณะกรรมาธิการกลาง และเข้าดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนกลาง ซึ่งเป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้นำรุ่นก่อตั้งยังคงมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 เฉินมีส่วนร่วมอย่างมากในการหารือนโยบายต่าง ๆ ในช่วงเริ่มต้นและในฐานะหนึ่งในสถาปนิกสำคัญของการปฏิรูปและเปิดกว้าง เขาสนับสนุนเติ้งและการปฏิรูปตลาดเสรีที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในภาคเกษตรกรรมไปจนถึงเขตเมืองและภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ เขายังวางรากฐานให้รัฐบาลยังคงมีบทบาทเชิงรุกในการพัฒนาและวางแผนตลาด ซึ่งเป็นนโยบายที่จะมีอิทธิพลต่อผู้นำรุ่นอนาคต เช่น เจียง เจ๋อหมิน, หู จิ่นเทา และสี จิ้นผิง เขามีส่วนสำคัญในการรณรงค์ต่อต้านมลพิษทางจิตวิญญาณซึ่งจัดขึ้นในช่วงปลายปี ค.ศ. 1983 เพื่อช่วยรักษาสถานะทางการเมืองและเสถียรภาพภายในประเทศของจีน

เฉินเป็นที่ชื่นชมและเคารพนับถืออย่างกว้างขวางสำหรับการสร้างสมดุลระหว่างระบบทุนนิยมเสรีกับการรักษาความเป็นผู้นำของรัฐในการชี้นำเศรษฐกิจตลาดของจีน การปฏิรูปและการมองการณ์ไกลของเติ้งกับเฉินช่วยชาวจีนหลายชั่วอายุคนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นนับตั้งแต่สมัยการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของเหมา รวมทั้งผลักดันให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก (อันดับหนึ่งตามประสิทธิผลของเงิน (PPP) และอันดับสองตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP))[16][19]

ผู้ต่อต้านการปฏิรูป

แก้

โดยหลักการแล้ว เฉินไม่ได้คัดค้านขอบเขตการปฏิรูปของเติ้ง เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจของจีนได้ตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไว้เป็นเวลานานหลายทศวรรษ จนถึงจุดที่ราคาสินค้าในจีนไม่มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับมูลค่าสัมพัทธ์ของทรัพยากร สินค้า หรือบริการอีกต่อไป เฉินคัดค้านวิธีดำเนินการปฏิรูปเมือง ผลที่ตามมาทันทีจากการปฏิรูปราคาของเติ้งคือภาวะเงินเฟ้อรุนแรงและฉับพลัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ไม่เคยประสบและสร้างความหวาดกลัวเป็นพิเศษสำหรับผู้สูงอายุที่ยังจดจำภาวะเงินเฟ้อที่ระบาดรุนแรงในช่วงปีสุดท้ายของระบอบชาตินิยมได้ การหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ร่วมกับระบบผสมที่บุคคลในตำแหน่งทางราชการหรือมีความเชื่อมโยงทางราชการมีโอกาสพิเศษในการแสวงหาผลประโยชน์จากโอกาสใหม่ในการทำกำไร ส่งเสริมให้เกิดการทุจริตในระบบราชการ เฉินยังต่อสู้กับการทุจริตและปราบปรามเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตอย่างเข้มงวด[20]

การตอบสนองครั้งแรกของรัฐบาลต่อภาวะเงินเฟ้อคือการออกโบนัสให้แก่พนักงานในรัฐวิสาหกิจเพื่อช่วยชดเชยการขึ้นราคา เฉินแย้งว่าหากจะมีโบนัสดังกล่าว ก็ควรถูกวัดตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ในทางปฏิบัติ โบนัสจะครอบคลุมทั่วทั้งภาครัฐและมีผลทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับการที่รัฐบาลพิมพ์เงินเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากชาวนาจีนไม่มีสิทธิ์ได้รับโบนัสเนื่องจากพวกเขาไม่ได้เป็นพนักงานของรัฐโดยตรง ดังนั้นภาคการเกษตรของจีนที่เจริญรุ่งเรืองในช่วงแรกของการปฏิรูปจึงได้รับความเสียหายเป็นพิเศษจากภาวะเงินเฟ้อ

ทฤษฎีของเฉินคือตลาดควรมาเสริมแผนดังกล่าว ในบริบทของลัทธิเหมาหัวรุนแรง ทำให้เขาดูเหมือนเป็นผู้สนับสนุนระบอบสังคมนิยมแบบประชาธิปไตยของสังคมนิยมแบบตลาด[6] อย่างไรก็ตาม กลับกลายเป็นว่าเฉินหมายความตามที่เขาพูดอย่างแน่นอน เขามีความกระตือรือร้นเกี่ยวกับตลาดน้อยกว่าเติ้ง เสี่ยวผิงและเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องของเติ้งมาก แม้ว่าในคำประกาศ "ลับ" ของเขาใน ค.ศ. 1979 เฉินได้แสดงความดูถูกเหยียดหยามส่วนตัวต่อเหมาผิดปกติ แต่เขายังระบุด้วยว่าเขามีความกังวลเช่นเดียวกับประธานคนก่อนที่ว่าจีนจะละทิ้งสังคมนิยมและหันกลับไปสู่ทุนนิยม เฉินรู้สึกสงสัยเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) โดยมองว่าเป็นการทดลองที่ไม่ใช่สังคมนิยม[21] และมองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์และไม่เป็นจริง[12]: 107 

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 เฉินได้กลายมาเป็นบุคคลหลักในกลุ่มผู้ต่อต้านการปฏิรูปสายแข็ง เขาสนับสนุนการรณรงค์ที่เข้มแข็งในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 ต่อต้าน "คนสามประเภท" ซึ่งเป็นการกวาดล้างผู้คนที่ถูกระบุว่าเป็นกลุ่มหัวรุนแรงในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ เขาทำประโยชน์ร่วมกับพวกอนุรักษ์นิยมและผู้อาวุโสพรรคคนอื่น ๆ ในสมัยปฏิรูป เฉินปฏิเสธที่จะพบปะกับชาวต่างชาติ เฉินไม่เคยไปเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ ในพิธีรำลึกถึงหลี่ เซียนเนี่ยน อดีตเพื่อนร่วมงานจากระบบเศรษฐกิจ (และเช่นเดียวกับเฉิน หนึ่งในชนชั้นกรรมาชีพที่แท้จริงเพียงไม่กี่คนจากผู้นำพรรครุ่นแรก) เฉินกล่าวว่าเขาไม่ได้คัดค้านทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่อย่างใด ขณะที่เฉินกลายเป็นผู้นำทางศีลธรรมของฝ่ายค้านอนุรักษ์นิยมต่อเติ้ง เสี่ยวผิง แต่เขาก็ไม่ได้ท้าทายความเป็นผู้นำของเติ้งในฐานะหัวหน้าระบอบ[ต้องการอ้างอิง]

แม้การส่งเสริมการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจของจ้าว จื่อหยางจะทำให้จ้าวเป็นหนึ่งในคู่แข่งทางการเมืองหลักของเฉิน แต่เฉินก็เป็นหนึ่งในผู้อาวุโสของพรรคที่มีบทบาทในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ที่จ้าวเคารพมากที่สุด ในอัตชีวประวัติของจ้าว เฉินเป็นหนึ่งในผู้อาวุโสเพียงไม่กี่คนที่จ้าวกล่าวถึงเป็นประจำว่า "สหาย" ก่อนจะบังคับใช้นโยบายใหม่ จ้าวเคยมีนิสัยชอบไปเยี่ยมเฉินเพื่อขอคำแนะนำจากเฉินและพยายามที่จะได้รับการอนุมัติจากเฉิน ในกรณีที่จ้าวไม่สามารถได้รับการอนุมัติจากเฉิน จ้าวก็มักจะพยายามหันกลับไปพึ่งความโปรดปรานของเติ้ง เสี่ยวผิงเพื่อส่งเสริมการปฏิรูป[6]

การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

แก้

ใน ค.ศ. 1989 เฉินร่วมกับเติ้ง เสี่ยวผิง, หลี่ เผิง และคนอื่น ๆ เป็นหนึ่งในผู้อาวุโสของพรรคที่รับผิดชอบการตัดสินใจสำคัญเกี่ยวกับ[>การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พ.ศ. 2532|การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน]]ซึ่งนำโดยนักศึกษา ไม่มีหลักฐานว่าเฉินมีส่วนร่วมในคำตำหนินักศึกษาหรือสนับสนุนการปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรงอย่างจริงจัง ขณะที่เฉินคัดค้านการปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรงแม่แบบ:According to whom เขากลับให้การสนับสนุนกองทัพเมื่อการกระทำดังกล่าวเริ่มขึ้น เฉินเห็นด้วยว่าควรแทนที่จ้าว จื่อหยางให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการ และเขายังสนับสนุนการเสนอชื่อเจียง เจ๋อหมินเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่อีกด้วย

เกษียณอายุและบั้นปลายชีวิต

แก้

หลังการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคครั้งที่ 13 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1987 เฉินยุติอาชีพทางการเมืองที่ยาวนานถึง 56 ปีในฐานะสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และยังลาออกจากคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง ร่วมกับเติ้ง เสี่ยวผิงและหลี่ เซียนเนี่ยน กระนั้น เฉินได้สืบทอดตำแหน่งประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนกลางต่อจากเติ้ง ในช่วงการดำรงตำแหน่งของเฉิน คณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนกลางได้กลายเป็นพลังชั้นนำของกลุ่มอนุรักษ์นิยมภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน

หลังอุบัติการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1989 อิทธิพลของเฉินในพรรคก็เติบโตขึ้นเนื่องมาจากการขับไล่นักปฏิรูปอย่างจ้าว จื่อหยางและหู ฉีลี่ออกจากคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง อย่างไรก็ตาม หลังจากการเยือนภาคใต้ของเติ้ง เสี่ยวผิงในต้นปี ค.ศ. 1992 อิทธิพลของเฉินและกลุ่มอนุรักษ์นิยมในพรรคก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1992 ขณะมีอายุได้ 87 ปี เฉินเกษียณจากวงการการเมืองพร้อมกับผู้อาวุโสพรรคคนอื่น ๆ ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคครั้งที่ 14 เมื่อคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนกลางถูกยุบไปด้วย

เฉินเสียชีวิตในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1995 สิริอายุ 89 ปี[22] เขาถูกฌาปนกิจที่สุสานปฏิวัติปาเป่าชาน[12]: 118–119  คำไว้อาลัยอย่างเป็นทางการของเขาได้บรรยายถึงเขาว่าเป็น "นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพและนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่" และเป็น "มาร์กซิสต์ที่โดดเด่น"[12]: 119 

มรดก

แก้
หากประธานเหมาอสัญกรรมใน ค.ศ. 1955 ชื่อเสียงของเขาจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ หากเขาอสัญกรรมใน ค.ศ. 1966 เขาก็ยังคงเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่แต่ก็มีข้อบกพร่อง แต่เขากลับอสัญกรรมใน ค.ศ. 1976 อนิจจา จะพูดอย่างไรดี

— เฉิน ยฺหวิน [23]

เฉินเป็นที่รู้จักในฐานะผู้มีส่วนสำคัญต่อการเป็นหัวหอกในการปฏิรูปและเปิดกว้างร่วมกับเติ้ง เสี่ยวผิง ในช่วงดำรงตำแหน่งของเติ้ง เฉินเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจเป็นอันดับสองในประเทศจีน เฉินได้รับการยกย่องในการดำเนินการปฏิรูปหลายอย่างที่ทำให้คนรุ่นใหม่ของชาวจีนร่ำรวยขึ้น แต่ยังชื่นชมในการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจเสรีกับการรักษาการควบคุมของรัฐในพื้นที่สำคัญของตลาด ตอนแรกเขาเป็นคนมีแนวคิดเสรีนิยม แต่ต่อมาก็ระมัดระวังและอนุรักษ์นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต เขาเป็นที่ชื่นชมอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวจีน ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องการวางแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแบบกว้าง ศีลธรรม และความไร้การทุจริต

มุมมองทางการเมืองของเฉินโดยทั่วไปถูกมองว่าเป็นแนวปฏิรูปจนถึงประมาณ ค.ศ. 1980 แต่เป็นแนวอนุรักษ์นิยมหลังจากประมาณ ค.ศ. 1984 เฉินยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำที่ทรงอำนาจและมีอิทธิพลมากที่สุดของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 50 ปีแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากเขาเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการกลางและกรมการเมืองนานกว่า 40 ปี[19]

ในตอนแรก เฉินสนับสนุนเติ้งและการปฏิรูปที่มีอิทธิพลมากมายที่ทำให้ชาวจีนรุ่นหนึ่งร่ำรวยขึ้น แต่ต่อมา เขาก็ตระหนักได้ว่ารัฐบาลยังคงต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในตลาดเพื่อป้องกันไม่ให้ภาคเอกชนกลายเป็นผู้ที่ควบคุมไม่ได้ การวิจารณ์การปฏิรูปเศรษฐกิจในเวลาต่อมาของเติ้งของเฉินมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางในพรรคและสะท้อนออกมาในนโยบายของผู้นำจีนหลังสมัยเติ้ง ทฤษฎีของเฉินสนับสนุนความพยายามของเจียง เจ๋อหมินและหู จิ่นเทาในการใช้พลังอำนาจของรัฐเพื่อกำหนดขอบเขตการดำเนินการของตลาดและเพื่อไกล่เกลี่ยความเสียหายที่ระบบทุนนิยมสามารถก่อให้เกิดกับผู้ที่พบว่ายากที่จะได้รับผลประโยชน์จากตลาดเสรี แนวคิดของเฉินเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในฐานะ "พรรครัฐบาล" ถือเป็นศูนย์กลางในการนิยามบทบาทของพรรคใหม่ใน "สามตัวแทน" ของเจียง เจ๋อหมิน ใน ค.ศ. 2005 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาลของเฉิน สื่อของพรรคได้ตีพิมพ์รายงานการประชุมสัมมนาที่หารือถึงการมีส่วนสนับสนุนของเฉินต่อประวัติศาสตร์ ทฤษฎี และการปฏิบัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ 

แม้เฉินจะต่อต้านระบอบเหมาและนโยบายบางส่วนในเวลาต่อมาของเติ้ง แต่เฉินก็ยังคงได้รับการเคารพนับถืออย่างกว้างขวางในฐานะหนึ่งในผู้อาวุโสชั้นนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เฉินสามารถหลบหนีการข่มเหงทางการเมืองได้ โดยเฉพาะในสมัยของเหมา เนื่องจากเขาระมัดระวังไม่ให้ท้าทายผู้นำระดับสูงมากเกินไป ไม่ว่าท่าทีที่เขายืนหยัดจะฉลาดเพียงใด เฉินก็ดูเหมือนจะกระทำการด้วยหลักการมากกว่าเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และเขายังคงรักษาอิทธิพลในพรรคตลอดสมัยเหมาและเติ้ง[16][19]

เฉิน ยฺเหวียน บุตรชายคนโตของเขาเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารพัฒนาแห่งประเทศจีนและอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการแห่งชาติประจำสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน

ผลงาน

แก้
  • เฉิน ยฺหวิน (2001). สรรนิพนธ์ของเฉิน ยฺหวิน: 1926–1949. Vol. I (2nd ed.). ปักกิ่ง: สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ. ISBN 7-119-02181-8.
  • — (1997). สรรนิพนธ์ของเฉิน ยฺหวิน: 1949–1956. Vol. II (1st ed.). ปักกิ่ง: สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ. ISBN 7-119-01691-1.
  • — (1999). สรรนิพนธ์ของเฉิน ยฺหวิน: 1956–1994. Vol. III (1st ed.). ปักกิ่ง: สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ. ISBN 7-119-01720-9.

อ้างอิง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Lin, Pei-yin; Tsai, Weipin (6 February 2014). Print, Profit, and Perception: Ideas, Information and Knowledge in Chinese Societies, 1895-1949. BRILL. ISBN 9789004259119.
  2. Leung, Edwin Pak-Wah; Leung, Pak-Wah (2002). Political Leaders of Modern China: A Biographical Dictionary. Greenwood Publishing. ISBN 9780313302169.
  3. [1][ลิงก์เสีย]
  4. *Free searchable biography of Chen Yun at China Vitae
  5. 5.0 5.1 Gao Hua, How the Red Sun Rose: The Origins and Development of the Yan'an Rectification Movement, 1930–1945, Chinese University of Hong Kong Press. 2018
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Zhao 2009, p. 18.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Weber 2021, p. 76.
  8. Weber 2021, p. 76–77.
  9. Whitson & Huang 1973, p. 184.
  10. 10.0 10.1 Liu 2023, p. 40–41.
  11. Editors, China Directory, 1979 Edition, Radiopress, Inc (Tokyo), September 1978, p. 481
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 12.6 Chatwin, Jonathan (2024). The Southern Tour: Deng Xiaoping and the Fight for China's Future. Bloomsbury Academic. ISBN 9781350435711.
  13. Whitson & Huang 1973, pp. 240–41.
  14. Whitson & Huang 1973, p. 351.
  15. Whitson & Huang 1973, pp. 361–362.
  16. 16.0 16.1 16.2 Deng Xiaoping (25 December 1980). "Implement the policy of readjustment, ensure stability and unity". CPC Encyclopedia. China Daily. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 May 2021.
  17. "Dec 16-25, 1980: CCP Central Committee holds working conference". China Daily.
  18. Exupoli 2009.
  19. 19.0 19.1 19.2 Stefan Landsberger. "Chen Yun". chineseposters.net. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-02. สืบค้นเมื่อ 2014-08-13.
  20. "陈云:严办几个,杀几个,判刑几个,并且登报,否则党风无法整顿_升华天下|辛亥革命网|辛亥革命112周年,辛亥网". Xhgmw.com. 2019-04-12. สืบค้นเมื่อ 2023-08-27.
  21. Heilmann 2018, p. 65.
  22. Patrick E. Tyler (April 12, 1995). "Chen Yun, Who Slowed China's Shift to Market, Dies at 89". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 18 September 2023.
  23. "Big bad wolf". The Economist. 31 August 2006. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015.

บรรณานุกรม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า เฉิน ยฺหวิน ถัดไป
วาระในพรรคการเมือง


ไม่มี   รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่งร่วมกับ: หลิน เปียว, โจว เอินไหล, หลิว เช่าฉี, จู เต๋อ

(ค.ศ. 1956–1969)
  หลิน เปียว
โจว เอินไหล, หลี่ เซียนเนี่ยน, คัง เชิง, หลี่ เต๋อเชิง, หวัง หงเหวิน, เย่ เจี้ยนอิง   รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่งร่วมกับ: หลี่ เซียนเนี่ยน, เย่ เจี้ยนอิง, วัง ตงซิง, เติ้ง เสี่ยวผิง, ฮฺว่า กั๋วเฟิง, จ้าว จื่อหยาง

(ค.ศ. 1978–1982)
  ไม่มี
ไม่มี   เลขาธิการคณะกรรมการสอบวินัยส่วนกลาง คนที่ 1
(ค.ศ. 1978–1987)
  เฉียว ฉือ
(เลขาธิการ)
เติ้ง เสี่ยวผิง   ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน
(ค.ศ. 1987–1992)
  ไม่มี
ตำแหน่งทางการเมือง


ไม่มี   รองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน คนที่ 1
(ค.ศ. 1954–1965)
  หลิน เปียว