เจ้าหน้าที่การทูต
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
เจ้าหน้าที่การทูต หรือ นักการทูต (อังกฤษ: diplomat) เป็นบุคคลที่รัฐแต่งตั้งให้ดำเนินกิจการทางการทูตกับรัฐอื่นหรือองค์การระหว่างประเทศ หน้าที่หลักของนักการทูต คือ การเป็นผู้แทนเจรจาและปกป้องผลประโยชน์ ตลอดจนปกป้องประเทศนั้น ๆ เช่นเดียวกับการสนับสนุนข้อมูลและความสัมพันธ์ฉันมิตร(จากประเทศเยือน) นักการทูตส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือกฎหมาย[1]
การใช้ทูต หรือนักการทูต ถือเป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดของสถาบันนโยบายต่างประเทศของรัฐ โดยเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานรัฐบาลในรูปแบบของกระทรวงในสมัยปัจจุบันเป็นเวลาหลายศตวรรษ ในกรณีของประเทศไทย มีการใช้ทูตสื่อสารไปมาระหว่างกษัตริย์ต่อกษัตริย์มาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย หลายร้อยปีก่อนหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศจะได้มีการสถาปนาขึ้นตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงจัดตั้งระบบบริหารราชการแผ่นดินแบบกระทรวง ในปี พ.ศ. 2418
ศัพท์มูล
แก้ลำดับชั้นของนักการทูต มีอาทิ เอกอัครราชทูต ผู้แทนทางทูต อัครราชทูต และอุปทูต ล้วนกำหนดขึ้นโดยกฎหมายระหว่างประเทศ ชื่อว่า อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961
ตามธรรมเนียมการทูตสากล ลำดับชั้นของนักการทูตเป็นดังนี้
- หัวหน้าคณะผู้แทนทางทูต (head of diplomatic mission) แบ่งเป็นสามชั้น คือ
- ชั้น 1 ได้แก่ เอกอัครราชทูต (ambassador) หรือ เอกอัครสมณทูต (nuncio)
- ชั้น 2 ได้แก่ รัฐทูต (envoy), อัครราชทูต (minister) หรือ อัครสมณทูต (internuncio)
- ชั้น 3 ได้แก่ อุปทูต (chargé d’affaires)
- เจ้าหน้าที่ฝ่ายทูต (diplomatic staff) อื่น ๆ ในคณะผู้แทนทางทูต ประกอบด้วย
- อัครราชทูตที่ปรึกษา (minister-counsellor)
- ที่ปรึกษา (counsellor)
- เลขานุการ (secretary) แบ่งเป็น เลขานุการเอก (first secretary), เลขานุการโท (second secretary) และ เลขานุการตรี (third secretary)
- ผู้ช่วยเลขานุการ (attaché)
พึงสังเกตว่า คำว่า minister ในภาษาอังกฤษนั้นมีได้หลายความหมาย ความหมายที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ รัฐมนตรี แต่คำนี้ยังสามารถแปลว่าศาสนาจารย์ก็ได้ หรือเป็นระดับตำแหน่งทางทูตที่รองลงมาจากเอกอัครราชทูตก็ได้ด้วย ในกรณีหลังสุดนี้ ศัพท์บัญญัติภาษาไทยกำหนดให้เรียกว่า "อัครราชทูต" ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ มิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกคณะรัฐบาลแต่อย่างใด ตำแหน่งนี้ตามระบบราชการไทย เทียบได้กับรองอธิบดี
ตำแหน่ง counsellor ซึ่งศัพท์ทางทูตภาษาไทยกำหนดให้เรียกว่า ที่ปรึกษา นั้น เป็นชื่อตำแหน่งทางทูตที่เรียกเช่นนั้นเอง ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำที่ทำงานปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา มิได้มีสถานะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำหรือเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์หรือตำแหน่งลอยแต่ประการใด ตามระบบราชการไทยพอเทียบได้กับข้าราชการระดับ 7 เดิม หรือนักการทูตชำนาญการในปัจจุบันนี้ ซึ่งเทียบได้กับระดับรองผู้อำนวยการกอง
นักการทูตสามารถเปรียบเทียบได้ว่ามีความแตกต่างจากกงสุล หรือ ผู้ช่วยทูต ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐในด้านการบริหารหลายด้าน แต่ไม่มีหน้าที่ทางการเมืองเช่นเดียวกับนักการทูต
หน้าที่
แก้นักการทูตมีหน้าที่รวบรวมและรายงานข้อมูลซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งบ่อยครั้งมักเป็นการแนะนำเกี่ยวกับมาตรการรับมือให้แก่รัฐบาลของประเทศแม่ จากนั้น เมื่อมีนโยบายรับมือออกมาจากรัฐบาลแล้ว นักการทูตจะมีหน้าที่รับผิดชอบในการนำนโยบายนั้นไปปฏิบัติ เจ้าหน้าที่การทูตยังมีหน้าที่ในการถ่ายทอด ด้วยวิธีการที่ชักจูงมากที่สุด มุมมองของรัฐบาลประเทศแม่ให้แก่รัฐบาลประเทศที่ประจำอยู่นั้น เพื่อพยายามโน้มน้าวให้รัฐบาลเหล่านั้นดำเนินการให้เหมาะสมกับผลประโยชน์ของประเทศแม่ ด้วยวิธีการดังนี้ นักการทูตจึงเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของวงจรในกระบวนการนโยบายต่างประเทศ
ในสมัยปัจจุบันนี้ เป็นการยากที่เจ้าหน้าที่การทูตจะดำเนินการเป็นอิสระได้เหมือนในสมัยก่อน ดังที่รัฐบุรุษอเมริกัน โทมัส เจฟเฟอร์สัน ได้เขียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้นว่า "เราไม่ได้ข่าวจากเอกอัครราชทูต (ของสหรัฐฯ) ในสเปนกว่าสองปีแล้ว ถ้าเรายังไม่ทราบข่าวคราวจากเขาในปีนี้อีก ควรที่เราจะเขียนจดหมายหาเขา"[2]
ระบบการสื่อสารรักษาความปลอดภัย ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้ต้นสังกัดสามารถติดต่อและสั่งการต่อหัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตของตนเองได้ไม่ว่าจะปลีกออกไปหลบซ่อนตัวถือสันโดษอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม เทคโนโลยีเดียวกันนี้ ในทางกลับกัน ก็ทำให้นักการทูตในต่างประเทศสามารถที่จะให้ข้อมูลของตนป้อนกลับสู่กระบวนการจัดทำนโยบายในประเทศแม่ของตนได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน[โปรดขยายความ]