เจ้าหญิงท็อกฮเย (เกาหลี덕혜옹주; ฮันจา德惠翁主; อาร์อาร์Deokhye Ongju) หรือ อี ท็อก-ฮเย (이덕혜, 李德惠; 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 – 21 เมษายน พ.ศ. 2532) เป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิโคจง กับพระสนมบกนย็อง ทรงถูกนำไปประทับที่ประเทศญี่ปุ่น ทรงรับการศึกษาและเสกสมรสที่นั่น ภายหลังจึงนิวัตกลับประเทศเกาหลีใต้ในปัจฉิมวัย

เจ้าหญิงท็อกฮเย
องจู
ประสูติ25 พฤษภาคม พ.ศ. 2455
พระราชวังท็อกซู เคโจ เกาหลีของญี่ปุ่น
สิ้นพระชนม์21 เมษายน พ.ศ. 2532 (76 ปี)
พระราชวังชังด็อก โซล ประเทศเกาหลีใต้
ฝังพระศพฮงรยูรึง นัมยังจู จังหวัดคย็องกี ประเทศเกาหลีใต้
พระสวามีทาเกยูกิ โซ (สมรส 2474; หย่า 2496)
พระบุตรมาซาเอะ โซ
ราชวงศ์โชซ็อน
พระบิดาจักรพรรดิโคจง
พระมารดาพระสนมบกนย็อง

ขณะประทับอยู่ในประเทศญี่ปุ่น พระองค์ได้รับการขานพระนามหลายอย่าง เช่น ทกเกะ ริ หรือ โทกูเอะ ริ (ญี่ปุ่น: 李徳恵), ทกเกองจุ (トッキェオンジュ), โทกูเอะ โซ (宗徳恵), ยัง ทกเกะ (梁徳恵) และ โทกูเอะฮิเมะ (徳恵姫)

พระประวัติ

แก้

พระชนม์ชีพตอนต้น

แก้

เจ้าหญิงท็อกฮเยประสูติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 ณ พระราชวังชังด็อก เป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในจักรพรรดิโคจง ที่ประสูติแต่พระสนมยัง หลังประสูติกาลพระราชธิดา[1] จึงได้รับพระราชทานราชทินนามว่าพระสนมบกนย็อง[2] เจ้าหญิงท็อกฮเยเป็นพระธิดาองค์โปรดของพระชนกนาถผู้มีพระชนมายุ 60 พรรษา ทรงก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลชุนมย็องดัง (준명당) สำหรับพระราชธิดาทรงพระอักษร ณ ตำหนักฮัมนย็องภายในพระราชวังท็อกซู[1] โดยมีเหล่าธิดาจากครอบครัวชนชั้นสูงร่วมชั้นเรียนด้วย

พ.ศ. 2460 จักรพรรดิโคจงทรงโน้มน้าวให้เทราอูชิ มาซาตาเกะ ผู้ปกครองครองเกาหลีของญี่ปุ่นในขณะนั้น รับรองเจ้าหญิงท็อกฮเยว่ามีพระสถานะเป็นเจ้าและเป็นสมาชิกพระราชวงศ์เกาหลี

พ.ศ. 2462 จักรพรรดิโคจงมีพระราชประสงค์ให้เจ้าหญิงท็อกฮเยหมั้นหมายกับคิม จัง-ฮัน หลานชายของคิม ฮวัง-จิน เจ้าพนักงานกรมวัง เพื่อปกป้องพระราชธิดาจากการคุกคามญี่ปุ่น แต่ทว่าญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงพระราชพิธีหมั้นนี้ หลังจากนั้นเป็นต้นมาคิม ฮวัง-จินมิได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพระราชวังท็อกซูอีก ส่วนจักรพรรดิโคจงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 มกราคมในปีนั้น สองปีต่อมาเจ้าหญิงท็อกฮเยทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนประถมศึกษาฮีโนแด (Hinodae elementary school) ในเคโจ

ประทับในญี่ปุ่นและการเสกสมรส

แก้
 
เจ้าหญิงท็อกฮเยและทาเกยูกิอดีตพระสวามี พ.ศ. 2474

พ.ศ. 2468 ทางการญี่ปุ่นนำเจ้าหญิงท็อกฮเยไปยังประเทศญี่ปุ่นโดยอ้างว่าให้เจ้าหญิงเสด็จไปศึกษาต่อเช่นเดียวกับมกุฎราชกุมารอึยมินพระเชษฐา โดยศึกษาต่อที่โรงเรียนกากูชูอิง (Gakushuin) พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นอย่างเงียบ ๆ เปล่าเปลี่ยว และไม่สบายพระทัย เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระชนนีถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2472 ทางการญี่ปุ่นจึงอนุญาตให้เจ้าหญิงผู้นิราศกลับไปมาตุภูมิชั่วคราวสำหรับการปลงศพพระชนนีในปี พ.ศ. 2473 แต่ทางญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้พระองค์เข้าร่วมพิธีศพด้วยฉลองพระองค์สุภาพ และในปีเดียวกันนั้นพระองค์เริ่มมีปัญหาทางจิตอันแสดงออกด้วยพระอาการละเมอเดิน (sleepwalking) พระองค์จึงเสด็จไปประทับพระราชวังลีในโตเกียวร่วมกับมกุฎราชกุมารอึยมินพระเชษฐา ซึ่งในช่วงนี้เจ้าหญิงทรงเลือนพระสัญญาเรื่องการเสวยพระกระยาหาร แพทย์ประจำพระองค์ลงความเห็นว่าพระองค์ประชวรด้วยภาวะพระสมองเสื่อมก่อนวัย (precocious dementia) หนึ่งปีต่อมาหลังจากนั้นพระอาการของพระองค์ก็ดีขึ้น ซึ่งน่าจะมาจากการอภิบาลอย่างดี

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2474 เจ้าหญิงท็อกฮเยเสกสมรสกับเคานต์ทาเกยูกิ โซ (宗武志) ขุนนางชาวญี่ปุ่น[3] อันเป็นการคลุมถุงชนในพระราชประสงค์ของจักรพรรดินีเทเมในจักรพรรดิไทโชแห่งญี่ปุ่น ซึ่งเดิมมีกำหนดการที่จะจัดพิธีเสกสมรสในปี พ.ศ. 2473 แต่มกุฎราชกุมารอึยมินทรงคัดค้านเพราะพระขนิษฐายังประชวรอยู่ ครั้นเจ้าหญิงท็อกฮเยทรงหายจากการประชวรในปีต่อมา ทางญี่ปุ่นจึงจัดพิธีเสกสมรสขึ้น โดยพระองค์ได้ให้ประสูติกาลพระธิดาคนเดียวคือเคาน์เตสมาซาเอะ โซ (宗正惠; 14 สิงหาคม 2475 – 2499) หรือชง จ็อง-ฮเย (종정혜, 宗正恵) ในภาษาเกาหลี[1]

หนึ่งปีถัดมาหลังประสูติการพระธิดา เจ้าหญิงท็อกฮเยทรงประชวรด้วยพระอาการทางจิตอีกครั้ง คราวนี้พระองค์มีพระบังคนหนักเล็ดราด หรือกลั้นพระบังคนไม่ได้ (incontinence) ด้วย และใช้เวลายาวนานหลายปีในการรักษาอาการประชวรดังกล่าว

หลังการพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีกลับมามีเอกราชอีกครั้ง และทาเกยูกิ โซพระภัสดาสูญเสียบรรดาศักดิ์เพราะญี่ปุ่นยกเลิกระบบขุนนางไป ทั้งสองห่างเหินกันและนำไปสู่การหย่าร้างในปี พ.ศ. 2496 ทาเกยูกิได้สมรสใหม่กับโยชิเอะ คัตสึมูระ หญิงสามัญชาวญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2498 เจ้าหญิงท็อกฮเยทรงเศร้าพระทัยและไร้สุขกับชีวิตรักที่อัปปาง แต่มีเหตุการณ์ที่สร้างความปริวิโยคที่สุดนั่นคือมาซาเอะ พระธิดาเพียงพระองค์เดียวของพระองค์หายสาบสูญในปี พ.ศ. 2499 มีรายงานว่ามาซาเอะได้กระทำอัตวินิบาตกรรมเนื่องจากเสียใจที่บิดามารดาหย่าร้างกัน หลังจากนั้นเป็นต้นมาเจ้าหญิงท็อกฮเยจึงทนทุกข์ทรมานกับพระพลานามัยที่ไม่สู้สมบูรณ์เนื่องจากเสียพระทัยจากเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นไล่เลื่ยกัน

นิวัตเกาหลี

แก้

เจ้าหญิงท็อกฮเยได้เสด็จนิวัตเกาหลีตามคำกราบทูลเชิญของรัฐบาลเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2505 หลังประทับอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนาน 37 ปี[4] เบื้องต้นรัฐบาลเกาหลีปฏิเสธที่จะให้ผู้สืบสายเลือดจากพระราชวงศ์พระองค์สุดท้ายกลับมาตุภูมิ เพราะประธานาธิบดีอี ซึง-มันเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง[5] อย่างไรก็ตามคิม อึล-ฮันได้พบกับเจ้าหญิงท็อกฮเยและชี้ชวนให้ทางการเกาหลีใต้กราบทูลเชิญเจ้าหญิงเสด็จกลับ[6]

เจ้าหญิงทรงกันแสงเมื่อพระองค์นิวัตมาตุภูมิ และประทับ ณ ตำหนักนักซ็อนในพระราชวังชังด็อก[7] ร่วมกับมกุฎราชกุมารอึยมิน, เจ้าหญิงพังจา, เจ้าชายกู, จูเลีย มุลล็อก และพย็อน บกดง นางสนองพระโอษฐ์

เจ้าหญิงท็อกฮเยสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532 ณ ตำหนักซูกัง พระราชวังชังด็อก สิริพระชันษา 76 ปี ปลงพระศพ ณ ฮงรยูรึงในนัมยังจูใกล้กรุงโซล

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

แก้
 
พระฉายาลักษณ์เจ้าหญิงท็อกฮเยฉลองพระองค์ฮันบก ในปี พ.ศ. 2466

ภาพยนตร์และโทรทัศน์

แก้

หนังสือ

แก้
  • อัตชีวประวัติเจ้าหญิงท็อกฮเย (A biography for Princess Deokhye) โดยยาซูโกะ ฮมมะ (本馬恭子)
  • เจ้าหญิงท็อกฮเย (Princess Deokhye) โดยคว็อน บี-ย็อง (Kwon Bi-young)

เพลง

แก้
  • โฮ ชิม-นัม (Ho Shim-nam) นักร้องชาวเกาหลีใต้ แต่งเพลงจากพระประวัติของเจ้าหญิงท็อกฮเย เมื่อปี พ.ศ. 2506
  • "กุหลาบแห่งน้ำตา" (눈물꽃, The Rose of Tears) โดยโฮ จิน-ซ็อล แต่งเพลงจากพระประวัติของเจ้าหญิงท็อกฮเย เมื่อปี พ.ศ. 2553

ละครเวที

แก้
  • มีการแสดงละครเรื่อง "เจ้าหญิงท็อกฮเย" (Princess Deokhye) ณ ศูนย์ศิลปะโซล เมื่อปี พ.ศ. 2538
  • มีการแสดงละครเพลงเรื่อง "ท็อกฮเย เจ้าหญิงองค์สุดท้าย" (덕혜옹주) จากพระประวัติของเจ้าหญิงท็อกฮเย เมื่อปี พ.ศ. 2556[10][11]

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 "덕혜옹주 (Deokhye Ongju)". Doosan Corporation. สืบค้นเมื่อ 3 March 2016.
  2. "Musical "Deokhye, The Last Princess"". world.kbs.co.kr. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-22. สืบค้นเมื่อ 10 March 2016.
  3. Chung, Ah-young. "Life of Joseons Last Princess Revisited". Korean Times. สืบค้นเมื่อ 19 November 2012.
  4. "Late Joseon Princess Deokhye's life revealed". www.asiaone.com. สืบค้นเมื่อ 19 November 2012.
  5. "덕혜옹주". www.doopedia.co.kr. สืบค้นเมื่อ 10 March 2016.
  6. "The Last Princess of the Joseon Dynasty, Deokhye". The Korea Blog (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-10. สืบค้นเมื่อ 10 March 2016.
  7. "Princess' belongings to return to Korea :: Korea.net : The official website of the Republic of Korea". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-22. สืบค้นเมื่อ 10 March 2016.
  8. Ahn Sung-mi (28 March 2016). "'The Last Princess' wraps up filming". K-Pop Herald. สืบค้นเมื่อ 13 April 2016.
  9. "The Last Princess "ซอนเยจิน" รับบทเจ้าหญิงองค์สุดท้ายของเกาหลี". MGR Online. 10 กรกฎาคม 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-13. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "Musical "Deokhye, The Last Princess"". 27 May 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-22. สืบค้นเมื่อ 10 March 2016.
  11. Lim Jeong-yeo (2 March 2015). "Crayon Pop's Choa takes lead role in musical". K-Pop Herald. สืบค้นเมื่อ 12 March 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้