เจ้าหญิงชาร์ลอตแห่งเบลเยียม

คาร์ลอตาแห่งเบลเยียม สมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งเม็กซิโก หรือ เจ้าหญิงชาร์ลอตแห่งเบลเยียม (ภาษาอังกฤษ: Princess Charlotte of Belgium, ภาษาเยอรมัน: Prinzessin Charlotte von Belgien) (พระนามเต็ม: มารี ชาร์ลอต อเมลี่ ออกัสตีน วิคโตร์ คลีเมนตีน ลีโอโพลดีน, Marie Charlotte Amélie Augustine Victoire Clémentine Léopoldine von Habsburg-Lorraine (de Saxe-Coburg and Gotha)) ทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งเบลเยียม และสมเด็จพระจักรพรรดินีมเหสีในสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซีมีเลียนที่ 1 แห่งเม็กซิโกอีกด้วย

เจ้าหญิงชาร์ลอตแห่งเบลเยียม
สมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งเม็กซิโก
สมเด็จพระจักรพรรดินีชาร์ลอต (คาร์ลอต้า) แห่งเม็กซิโก
สมเด็จพระจักรพรรดินีชาร์ลอต (คาร์ลอต้า) แห่งเม็กซิโก


พระราชสมภพ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2383
(ค.ศ. 1840)
สวรรคต 19 มกราคม พ.ศ. 2470
(ค.ศ. 1927) (86 พรรษา)
พระราชสวามี สมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซีมีเลียนที่ 1 แห่งเม็กซิโก
พระราชบุตร ไม่มี
ราชวงศ์ ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค
ราชวงศ์แซ็กซ์-โคบูร์กและโกธา
พระราชบิดา สมเด็จพระราชาธิบดีลีโอโพลด์ที่ 1 แห่งเบลเยียม
พระราชมารดา เจ้าหญิงหลุยส์-มารีแห่งฝรั่งเศส

พระราชประวัติ แก้

 
เจ้าหญิงชาร์ลอตเมื่อทรงพระเยาว์

สมเด็จพระจักรพรรดินีคาร์ลอตา พระราชสมภพเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2383พระราชวังลาเค็น กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระราชาธิบดีลีโอโพลด์ที่ 1 แห่งเบลเยียม และพระมเหสีองค์ที่ 2 ของพระองค์ เจ้าหญิงหลุยส์-มารีแห่งฝรั่งเศส พระองค์ทรงได้พระราชทานพระนามจากพระบิดา โดยนำพระนามจากพระมเหสีพระองค์แรกของพระองค์ เจ้าหญิงชาร์ลอต ออกัสต้าแห่งเวลส์ (พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร) ที่ทรงสวรรคตกะทันหัน พระองค์เป็นพระญาติกับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ต เจ้าชายพระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียอีกด้วย

เมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงมีความสนิทสนมกับสมเด็จพระอัยกีของพระองค์ เจ้าหญิงมาเรีย อมาเลียแห่งทู ซิชิลีส์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส พระมเหสีในสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปป์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศส เมื่อทรงทุกข์ หรือทุกข์พระทัยอันใด ก็เสด็จพระราชดำเนินไปหาสมเด็จพระอัยกีอยู่เสมอ

เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษา 10 ชันษา สมเด็จพระราชินีหลุยส์-มารีทรงสวรรคตกะทันหันด้วยโรควัณโรค สมเด็จพระราชาธิบดีลีโอโพลด์จึงทรงนำพระองค์ไปฝากเลี้ยงกับท่านเคาน์เตสแห่งเฮาสต์ ซึ่งเป็นพระสหายสนิทของสมเด็จพระราชบิดา และ 1 ปีต่อมา พระองค์ก็ทรงย้ายมาประทับที่พระตำหนักแคลร์มอนต์ เซอร์เรย์ สหราชอาณาจักร พระองค์ทรงย้ายมาประทับกับสมเด็จพระราชินีมาเรีย อมาเลีย พระอัยกี ซึ่งขณะนั้น พระราชวงศ์ฝรั่งเศสทรงอยู่ในการลี้ภัย เนื่องจากมีการปฏิวัติ รัฐประหารปฏิรูปการปกครอง

อภิเษกสมรส และอาร์คดัชเชสแห่งออสเตรีย แก้

 
อาร์คดยุคเฟอร์ดินานด์ แม็กซีมีเลียน และเจ้าหญิงชาร์ลอตเมื่อทรงอภิเษกสมรส

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2400 ขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 17 ชันษา พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับอาร์คดยุคเฟอร์ดินานด์ แม็กซีมีเลียนแห่งออสเตรีย พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ หลังจากการอภิเษกสมรสแล้ว พระองค์ก็ทรงได้รับการสถาปนาเป็น อาร์คดัชเชสแห่งออสเตรีย และด้วยความที่เป็นพระชายาของอาร์คดยุคเฟอร์ดินานด์ แม็กซีมีเลียน พระองค์จึงทรงเป็นที่พึงพอพระทัยของอาร์คดัชเชสโซฟี พระสัสสุเป็นอย่างยิ่ง โดยเมื่อทรงมีเวลาว่าง อาร์คดัชเชสโซฟีจะทรงเรียกพระองค์ไปเข้าเฝ้าเสมอ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงไม่ชอบสมเด็จพระจักรพรรดินีเอลิซาเบธ พระมเหสีในสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟเป็นอย่างยิ่ง เหตุผลเนื่องจากที่สมเด็จพระจักรพรรดินีทรงมีความสนิทสนมกับพระสวามีของพระองค์มากเกินไป และนอกจากนี้พระองค์ยังทรงเห็นว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีมีพระพักตร์สิริโฉมงดงามกว่าพระองค์ ต่อมา พระองค์และพระสวามีทรงย้ายที่ประทับไปอยู่ที่ประเทศอิตาลี เพราะเนื่องจากพระสวามีทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นอุปราชแห่งราชอาณาจักรลอมบาร์ดีและเวเนเทีย ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย

สมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งเม็กซิโก แก้

ในช่วงปีพ.ศ. 2403 สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ได้เข้าไปรุกรานเม็กซิโก เป็นเหตุให้มีการแทรกแซงระบอบการเมืองการปกครองของเม็กซิโก ฝรั่งเศสได้ทีอยากฟื้นฟูระบอบจักรวรรดินิยมเสียใหม่ แทนที่พระองค์จะทรงปกครองเม็กซิโกเอง กลับทรงมอบราชบัลลังก์อิมพีเรียลเม็กซิโกให้กับอาร์คดยุคเฟอร์ดินานด์ แม็กซีมีเลียน พระองค์และพระชายาจึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศเม็กซิโก โดยทรงเถลิงวัลย์ราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเม็กซิโก ส่วนอาร์คดัชเชสชอร์ลอต ก็ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งเม็กซิโก โดยทรงใช้พระนามของพระองค์เป็นภาษาสเปนว่า คาร์ลอตา (Carlota) และนอกจากนี้ พระองค์และพระสวามีของพระองค์ทรงย้ายที่ประทับมาที่ปราสาทชาพัลเตเพ็ค ชานกรุงเม็กซิโก ซิตี้อีกด้วย

เพียงไม่กี่เดือน หลังจากได้ทรงครองราชย์ สมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซีมีเลียน และสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนทรงตกลงกันถอนกำลังออกจากเม็กซิโก ทำให้นักสาธารณรัฐนิยมได้ที ทำการก่อปฏิวัติ รัฐประการปฏิรูปการเมืองการปกครองทันที การก่อรัฐประหารครั้งนี้ มีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุน โดยส่งหน่วยรบปิดกั้นทางเข้าประเทศ ทำให้กองทัพฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาช่วยเหลือ ไม่สามารถเข้าไปได้ เป็นเหตุทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซีมีเลียนทรงถูกจับกุม ส่วนตัวพระองค์เองทรงหลบหนีรอดไปได้ โดยก่อนหน้านั้น พระราชสวามีทรงให้พระองค์หลบหนีออกไปก่อนพร้อมด้วยผู้ติดตาม โดยพระองค์ทรงอพยพกลับไปยังยุโรป และไม่เสด็จพระราชดำเนินกลับเม็กซิโกอีกเลย

เบนิโต ยัวเรซ แกนนำกลุ่มปฏิวัติ (ภายหลังดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีแห่งเม็กซิโก) ได้ให้ศาลตัดสินประหารชีวิตสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซีมีเลียน เป็นเหตุให้ต้องล้มล้างจักรวรรดิเม็กซิโกที่ 2 ตั้งแต่บัดนั้น ส่วนสมเด็จพระจักรพรรดินีคาร์ลอต้า เจ้าฟ้าชายฟิลลิปป์แห่งเบลเยียม เค้านท์แห่งแฟลนเดอร์ส พระเชษฐาทรงส่งกองทัพบกไปรับพระองค์กลับมาที่ประเทศเบลเยียม มาตุภูมิ พระองค์จึงทรงประทับอยู่ที่ปราสาทโบรชเอาต์ เมืองเมยส์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เบลเยียมได้ถูกล้อมโดยกองทัพของเยอรมนี แต่ปราสาทโบรชเอาต์ที่พระองค์ทรงประทับอยู่ไม่ถูกล้อม และกองทัพเยอรมันไม่กล้ารุกล้ำเขตพระราชฐานได้ เพราะเนื่องจากออสเตรียได้ขอยกเว้นไว้ เพราะพระองค์เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ออสเตรียเช่นกัน

สวรรคต แก้

ในช่วงเวลาสุดท้ายของพระชนม์ชีพของพระองค์นั้น พระองค์ทรงเริ่มมีพระอาการประชวร ซึ่งสาเหตุเกิดจากการที่พระองค์ทรงหวาดระแวง โดยพระองค์ยังทรงรอการกลับมาของพระราชสวามี โดยพระองค์ยังทรงไม่รู้ว่าพระราชสวามีถูกประหารชีวิตแล้ว โดยทรงหวังว่า พระราชสวามีจะต้องทรงกลับมาหาพระองค์ ซึ่งระหว่างการรอคอยนั้น พระองค์ทรงอยู่กับตุ๊กตาคู่พระทัยของพระองค์ โดยพระองค์ตั้งชื่อว่า แม็กซ์ โดยทรงถือว่าตุ๊กตาเป็นตัวแทนของพระสวามีของพระองค์

สมเด็จพระจักรพรรดินีคาร์ลอตาเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2470 สิริพระชนมพรรษาได้ 86 พรรษา

พระราชอิสริยยศ แก้

ราชตระกูล แก้

พระราชตระกูลในสามรุ่นของเจ้าหญิงชาร์ลอตแห่งเบลเยียม
เจ้าหญิงชาร์ลอตแห่งเบลเยียม พระชนก:
พระเจ้าเลออปอลที่ 1 แห่งเบลเยียม
พระอัยกาฝ่ายพระชนก:
ฟรันซ์ ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟลด์
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
ดยุคเอิร์นส์ ฟรีดริชแห่งแซ็กซ์-โคบูร์ก-ซาลเฟลด์
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
เจ้าหญิงโซเฟีย แอนโตเนียแห่งบรันสวิค-โวลเฟนบืทเทล
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก:
เจ้าหญิงออกัสต้าแห่งรอยส์-เอเบอร์สดอร์ฟ
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
เค้านท์เฮ็นริคที่ 24 แห่งรอยส์-เอเบอร์สดอร์ฟ
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
เจ้าหญิงแคโรไลน์ เออร์เนสตีนแห่งเออร์แบช-เชินเบิร์ก
พระชนนี:
หลุยส์-มารีแห่งออร์เลอ็อง
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี:
พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
หลุยส์ ฟิลิปที่ 2 ดยุกแห่งออร์เลอ็อง
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
หลุยส์ มารี อาเดลาอีด เดอ บูร์บง
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
มารีอา อะเมเลียแห่งเนเปิลส์และซิซิลี
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
สมเด็จพระราชาธิบดีเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งทู ซิชิลีส์
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
อาร์คดัชเดสมารี แคโรไลน์แห่งออสเตรีย

อ้างอิง แก้

  • del Paso,Fernando: Noticias del Imperio. México 1987
  • Bibesco, Princesse Marthe: Charlotte et Maximilien. París 1962.
  • Castelot, André: Maximiliano y Carlota. La Tragedia de la Ambición. México 1985.
  • Corti, Conte Egon Caesar: Maximilian und Charlotte von Mexiko. Nach dem bisher unveröffentlichten Geheimarchive des Kaisers Maximilian und sonstigen unbekannten Quellen. 2 Vols. Zurich, Leipzig, Viena 1924.
  • Corti, Conte Egon Caesar: Maximilian von Mexiko. Die Tragödie eines Kaisers. Francfort del Meno 1953.
  • Desternes, Suzanne; Chandet, Henriette: Maximilien et Charlotte. París 1964.
  • Gómez Tepexicuapan, Amparo: “Carlota en México.” En: Igler, Susanne; Spiller, Roland (eds.) : Más nuevas del imperio. Estudios interdisciplinarios acerca de Carlota de México. Francfort del Meno 2001. (=Erlanger Lateinamerika-Studien. 45). p. 27-40.
  • Miguel de Grecia: La Emperatriz del Adiós. El trágico destino del emperador Maximiliano y su mujer Carlota. Barcelona 2000.
  • Harding, Bertita: Phantom Crown. The story of Maximilian and Carlota of Mexico. 3a edición. México 1967 [1935].
  • Haslip, Joan: The Crown of Mexico: Maximilian and his Empress Carlota. 2a edición. Nueva York 1972.
  • Hyde, Montgomery H.: Mexican Empire. The history of Maximilian and Carlota of Mexico. Londres 1946.
  • Igler, Susanne: Carlota de México. México 2002. (=Grandes Protagonistas de la Historia Mexicana) [segunda edición: 2006].
  • Igler, Susanne: De la intrusa infame a la loca del castillo: Carlota de México en la literatura de su 'patria adoptiva'. Frankfurt: Peter Lang 2007 (Studien und Dokumente zur Geschichte der Romanischen Literaturen, 58).
  • Kerckvoorde, Mia: Charlotte. La passion et la fatalité. París 1981.
  • Maria y Campos, Armando: Carlota de Bélgica. La infortunada Emperatriz de México. México 1944.
  • Praviel, Armand: La vida trágica de la emperatriz Carlota. Buenos Aires 1937.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้