สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2

(เปลี่ยนทางจาก เจ้าสามพระยา)

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา (พ.ศ. 1929 – 1994) เป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา รัชกาลที่ 7 ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1967 – 1991 พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถในการปกครอง และการรบ ดังจะเห็นได้จากกรณีการตีอาณาจักรล้านนาและประเทศกัมพูชา นับเป็นการขยายพระราชอาณาเขตของ อาณาจักรอยุธยาตอนต้นอย่างเป็นรูปธรรม

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 1967 – 1991 (24 ปี)
ก่อนหน้าสมเด็จพระอินทราชา
ถัดไปสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
พระราชสมภพพ.ศ. 1929
สวรรคตพ.ศ. 1994 (65 พรรษา)
คู่อภิเษกพระราชเทวี (พระราชธิดาในพระมหาธรรมราชาที่ 2)
พระราชบุตรพระนครอินท์เจ้า
เจ้าพญาแพรก
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
พระราชบิดาสมเด็จพระอินทราชา

พระราชประวัติ

แก้

พระราชสมภพ

แก้

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 มีพระนามเดิมว่าเจ้าสามพระยา เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระอินทราชา หลังจากพระราชบิดาตีได้หัวเมืองเหนือแล้ว ก็โปรดให้มีพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ทั้ง 3 พระองค์ไปครองเมืองต่าง ๆ คือ เจ้าอ้ายพระยาเป็นผู้ครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยาเป็นผู้ครองเมืองแพรกศรีราชา (อำเภอสรรคบุรี) ส่วนพระองค์ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปปกครองเมืองชัยนาท (พิษณุโลก) ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญทางเหนือ และได้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งกรุงสุโขทัย

การขึ้นครองราชย์

แก้
 
เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยากระทำยุทธหัตถีชิงราชสมบัติที่เชิงสะพานป่าถ่านจนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ เป็นเหตุให้เจ้าสามพระยาได้เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาแทนพระเชษฐาทั้งสอง ภาพจากจิตรกรรมประกอบโคลงพระราชพงศาวดาร ปัจจุบันภาพต้นฉบับถูกเก็บรักษาไว้ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อสมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1959 เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา ต่างยกทัพเข้ากรุงศรีอยุธยาเพื่อชิงราชสมบัติ ทั้งสองพระองค์ได้กระทำยุทธหัตถีกันที่เชิงสะพานป่าถ่านจนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ ขุนนางผู้ใหญ่จึงไปกราบทูลเชิญเจ้าสามพระยาขึ้นเสวยราชสมบัติ เฉลิมพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า แล้วโปรดให้ขุดพระศพพระเชษฐาทั้งสองพระองค์ไปถวายพระเพลิง แล้วสร้างวัดราชบูรณะในที่ถวายพระเพลิงนั้น ส่วนที่กระทำยุทธหัตถีให้ก่อเป็นเจดีย์ไว้ 2 องค์

สวรรคต

แก้

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. 1994 พระองค์ครองราชสมบัติรวม 35 ปี โดยสมเด็จพระราเมศวรพระราชโอรสได้สืบราชสมบัติต่อ มีพระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

เหตุการณ์ในรัชสมัย

แก้
  • พ.ศ. 1959 เสด็จขึ้นครองราชย์ในปีเดียวกันสถาปนาวัดราชบูรณะ
  • พ.ศ. 1962 เสด็จยกทัพไปตีเมืองพระนครของเขมร
  • พ.ศ. 1969 สร้างวัดมเหยงค์ในปีเดียวกัน พระพุทธชินราช มีน้ำพระเนตรไหลออกมาเป็นโลหิต

ปราบเมืองพิมายและพนมรุ้ง

แก้

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนปี พ.ศ. 1982 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ทรงให้ระดมกองทัพช้างม้า เตรียมจะยกไปตีเมืองพิมายและพนมรุ้ง เจ้าเมืองทั้งหลายจึงออกมาถวายบังคมสมเด็จพระบรมราชาธิราช พระองค์ก็โปรดพระราชทานรางวัล แล้วโปรดให้เจ้าเมืองเหล่านั้นกลับไปปกครองเมืองของตนตามเดิม[1]

พระราชพิธีโกษรกรรม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

แก้

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1982 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 จัดให้มีพระราชพิธีโกษรกรรม(พระราชพิธีโสกันต์) ให้กับพระบรมเชษฐาธิราช พระราชโอรส แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "สมเด็จพระราเมศวรบรมไตรโลกนารถบพิตร"[1]

ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ความว่า :-

"๏ ศักราช 801 มะแม เอกศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าก็ให้ประชุมพราหมณาจารย์แลท้าวพญาเสนามาตย์ทั้งหลายเล่นมหรสพ ตั้งพระราชพิธีโกษ(ร)...กรรมสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชกุมารท่าน แลประสาทพระนาม...สมเด็จพระราเมศวรบรมไตรโลกนารถบพิตร"[1]

  • เพลิงไหม้พระราชมณเทียร
  • พ.ศ. 1984 เกิดเพลิงไหม้พระที่นั่งตรีมุข
  • พ.ศ. 1985 เสด็จยกทัพตีเชียงใหม่แต่ไม่สำเร็จ
  • พ.ศ. 1987 เสด็จยกทัพปราบจราจล แลตั้งทัพหลวงที่ปะทายเขษม

ราชการสงคราม

แก้

การศึกกับเขมร

แก้

ปี พ.ศ. 1962 สมเด็จพระบรมราชาธิราชได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองนครหลวง (นครธม) ในรัชสมัยพระธรรมาโศกราชได้ แล้วโปรดให้พระนครอินทเจ้า พระราชโอรสไปครองเมืองนครหลวงแทนในฐานะเมืองประเทศราช แล้วให้นำพระยาแก้วพระยาไท พร้อมทั้งพระประยูรญาติ เหล่าขุนนาง กับทั้งรูปหล่อพระโคสิงห์สัตว์ต่าง ๆ กลับมากรุงศรีอยุธยาด้วย ทำให้อิทธิพลของเขมรในด้านการปกครอง ประเพณี ตลอดจนงานศิลปะมาปรากฏชัดในอยุธยา ต่อมาพระองค์ได้แต่งตั้งพระอินทราชา (พระนครอินทร์) อยู่ครองกรุงนครธม แต่พระอินทราชาอยู่ปกครองกรุงกัมพูชาได้ไม่นานเท่าใดก็ประชวร สิ้นพระชนม์ พระองค์จึงทรงแต่งตั้งเจ้าพญาแพรกครองแทน

การศึกกับล้านนา

แก้

ในปี พ.ศ. 1985 พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้รบกับท้าวช้อยผู้เป็นพระอนุชา ท้าวช้อยแพ้หนีไปอยู่เมืองเทิง(อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย) เจ้าเมืองเทิงได้มาขอสวามิภักดิ์กับกรุงศรีอยุธยาและขอให้ส่งกองทัพไปช่วยรบ สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ของอาณาจักรล้านนาแต่ก็ตีไม่สำเร็จประกอบกับทรงพระประชวรจึงทรงยกกองทัพกลับกรุงศรีอยุธยา

ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 1987 ทรงตั้งทัพหลวงที่ตำบลปะทายเขษม ครั้งนี้ได้หัวเมืองชายแดนของเชียงใหม่กับเชลยอีก 120,000 คน จึงยกทัพหลวงกลับพระนคร แต่ศึกครั้งนี้ไม่ปรากฏในหลักฐานฝ่ายล้านนา ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ กล่าวเพียงแค่เสด็จไปปราบพรรค ตั้งทัพหลวงที่ตำบลปะทายเขษม ได้เชลย 120,000 คน เท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่

จากข้อมูลอื่นใน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีกหมายเลข 223,2/ก.125 กล่าวว่า เจ้าอยาด บุตรพระรามเจ้า (พระรามาธิบดี (คำขัด)) ที่ถูกส่งไปอยู่จัตุรมุข (พนมเปญ) นั้น ได้ก่อกบฏต่อพระอินทราชา ชักชวนชาวเขมรให้แข็งเมืองขึ้นจนใหญ่โตเป็นมหาพรรค พระอินทราชายกทัพไปตีเจ้าอยาดแตกพ่าย จับเจ้าอยาดส่งไปกรุงศรีอยุธยา แต่ขุนนครไชยกลับแอบปล่อยตัวให้เจ้าอยาดหนีไป เจ้าอยาดเลยระดมกองทัพมหาพรรคชาวเขมรขึ้นใหม่ ในขณะนั้นพระอินทราชาเกิดประชวรสวรรคต เจ้าสามพระยาจึงส่งเจ้าพระยาแพรก ราชบุตรอีกองค์ไปครองพระนครธม และยกทัพใหญ่เข้ามายังกัมพูชาเพื่อปราบพรรคในปี พ.ศ. 1987 จึงน่าจะเป็นเหตุการณ์นี้มากกว่าสงครามกับล้านนา และเมื่อพิจารณาจากชื่อสถานที่ตั้งทัพคือปะทายเขษม คำว่าปะทายน่าจะเพี้ยนมาจากภาษาเขมรคือ บันทาย (បន្ទាយ) ซึ่งมักพบเป็นชื่อสถานที่หรือชื่อเมืองในกัมพูชา

พระราชกรณียกิจ

แก้

ด้านการพระศาสนา

แก้
 
วัดราชบูรณะในปัจจุบัน

เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดให้สถาปนาเจดีย์ใหญ่ สองพระองค์ ไว้ตรงบริเวณที่เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา พระเชษฐาชนช้างสู้รบกันถึงสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ ณ ตำบลป่าถ่าน พร้อมกับได้โปรดให้สถาปนาวัดราชบูรณะ ประกอบด้วยพระธาตุ และพระวิหาร โดยสร้างไว้ ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงศพเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาและสร้างพระปรางค์ใหญ่ขึ้นเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลแด่สมเด็จพระอินทราชา พระราชบิดาในวาระนั้นด้วย

พ.ศ. 1969 สมเด็จพระบรมราชาธิราชได้ทรงสร้างวัดมเหยงคณ์

ด้านการปกครอง

แก้

ทรงตรากฎหมายลักษณะอาญาศึก (อยู่ในลักษณะกบฏศึก) ขึ้น

การรวมสุโขทัยกับอยุธยา

แก้

พระเจ้าติโลกราชเป็นผู้นำที่เข้มแข็งในการสงคราม ได้พยายามที่จะขยายอาณาเขตของเมืองเชียงใหม่ลงมาทางใต้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงเห็นว่าหากปล่อยให้เชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ปกครองสุโขทัยในฐานะเมืองประเทศราชอยู่เช่นนั้นแล้ว จะทำให้ผู้คนในหัวเมืองพากันไปเข้ากับล้านนา หรือไม่ก็ถูกล้านนาลงมารุกราน ด้วยสุโขทัยนั้นอ่อนแอลงไม่เข้มแข็งพอ ที่จะดูแลหัวเมืองต่าง ๆ นั้นได้

เพื่อให้หัวเมืองฝ่ายเหนือหรืออาณาจักรสุโขทัยในการดูแลของเมืองพิษณุโลก อยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ ดังนั้นใน พ.ศ. 1981 เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 4 ได้สวรรคตลง สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงทรงให้รวบรวมหัวเมืองเหนือที่เคยแยกการปกครองเป็นสองเขตนั้น รวมเป็นเขตเดียวกัน แล้วแต่งตั้งพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระราชเทวี (ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระมหาธรรมราชาที่ 2) เป็นสมเด็จพระราเมศวรเจ้า ให้ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกเพื่อกำกับดูแลหัวเมืองเหนือทั้งหมด ทำให้ราชวงศ์พระร่วงหมดอำนาจในการปกครองสุโขทัย อาณาจักรสุโขทัยจึงค่อย ๆ ถูกรวมกับกรุงศรีอยุธยา

พระราชสันตติวงศ์

แก้

พระองค์มีพระราชโอรส 3 พระองค์ ได้แก่

  1. พระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) โปรดให้ไปครองเมืองนครหลวง จนกระทั่งสิ้นพระชนม์
  2. เจ้าพญาแพรก โปรดให้ไปครองเมืองนครหลวง ต่อจากพระอินทราชา แต่ถูกพระบรมราชา (เจ้าพระยาญาติ) ปลงพระชนม์
  3. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประสูติแต่พระราชเทวีที่เป็นพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งกรุงสุโขทัย

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้

เชิงอรรถ

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 ปกรณ์ ทรงม่วง. 2539. ปริญญานิพนธ์ เรื่อง การวิเคราะห์พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.  

บรรณานุกรม

แก้
  • ตรงใจ หุตางกูร. การปรับแก้เทียบศักราชและอธิบายความพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร, 2561. 200 หน้า. ISBN 978-616-7154-73-2
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9

ดูเพิ่ม

แก้
ก่อนหน้า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ถัดไป
สมเด็จพระอินทราชา
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

(พ.ศ. 1938 - พ.ศ. 1959)
   
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

(พ.ศ. 1959 - พ.ศ. 1994)
  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

(พ.ศ. 1994 - พ.ศ. 2032)