เจ้าหญิงอลิซ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์

เลดีอลิซ คริสตาเบล มอนทากิว-ดักลาส-สก็อต (อังกฤษ: Lady Alice Christabel Montagu-Douglas-Scott) หรือ เจ้าหญิงอลิซ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ (Princess Alice, Duchess of Gloucester 25 ธันวาคม ค.ศ. 1901 - 29 ตุลาคม ค.ศ. 2004) เป็นพระชายาในเจ้าฟ้าชายเฮนรี ดยุกแห่งกลอสเตอร์ พระราชโอรสพระองค์ที่สามของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 และ สมเด็จพระราชินีแมรี จึงทำให้เป็นพระกนิษฐาภาดาในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 และ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และเป็นพระชนนีในดยุกแห่งกลอสเตอร์คนปัจจุบัน นอกจากนั้นก็ยังเป็นพระปิตุจฉาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยผ่านทางการอภิเษกกับพระปิตุลาของพระองค์ด้วย

เจ้าหญิงอลิซ
ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์
ประสูติ25 ธันวาคม ค.ศ. 1901(1901-12-25)
บ้านมอนทากิว, ลอนดอน, อังกฤษ, สหราชอาณาจักร
สิ้นพระชนม์29 ตุลาคม ค.ศ. 2004(2004-10-29) (102 ปี)
พระราชวังเคนซิงตัน, ลอนดอน, สหราชอาณาจักร
ฝังพระศพ5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2004
Royal Burial Ground, Frogmore, Windsor, Berkshire, อังกฤษ, สหราชอาณาจักร
พระสวามีเจ้าชายเฮนรี ดยุกแห่งกลอสเตอร์
พระนามเต็ม
อลิซ คริสตาเบล
พระบุตรเจ้าชายวิลเลียมแห่งกลอสเตอร์
เจ้าชายริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์
ราชวงศ์วินด์เซอร์ (เสกสมรส)
พระบิดาจอห์น มอนทากิว ดักลัส สกอตต์ ดยุกที่ 7 แห่งบักคลูช และดยุกที่ 9 แห่งควีนส์เบอร์รี
พระมารดาเลดีมาร์กาเรต บริดจ์แมน

ชีวิตในวัยเยาว์ แก้

เลดี้อลิซเกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1901 ณ ตำหนักมอนทากิว กรุงลอนดอน เป็นธิดาคนที่ 3 ของจอห์น มอนทากิว ดักลาส-สก็อต ดยุกแห่งบักเคลิชและควีนส์เบอร์รี กับ เลดี้ มาร์กาเร็ต บริดจ์แมน จึงทำให้มีเชื้อสายผ่านทางผู้ชาย (แม้ว่าจะนอกกฎหมาย) โดยไม่ขาดสายของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เลดีอลิซใช้เวลาในวัยเด็กอยู่ที่บ้านพักต่างๆ ในชนบท อาทิ ตำหนักโบตันในมณฑลนอร์แธมป์ตันไชร์ ปราสาทดรัมลานริกในมณฑลดัมไฟรส์และกัลโลเวย์ และโบฮิลล์ในมณฑลสกอตติชบอร์ดเดอร์ ได้เข้าเรียนในโรงเรียนเซ็นต์เจมส์ เมืองเวสต์มาลเวิร์น มณฑลวอร์สเตอร์ไชร์ และต่อมาก็ได้ไปประเทศฝรั่งเศสและประเทศเคนยา

อภิเษกสมรส แก้

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1935 เลดี้อลิซได้หมั้นหมายกับเจ้าชายเฮนรี ดยุกแห่งกลอสเตอร์ พระราชโอรสพระองค์ที่สามในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 และได้อภิเษกสมรสด้วยพิธีหลวงส่วนตัวในห้องสวดมนต์ของพระราชวังบัคกิงแฮม ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ในตอนแรกทั้งดยุกและดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ได้อาศัยอยู่ในเมืองอัลเดอร์ช็อต ซึ่งเป็นที่ที่ดยุกได้เข้ามาฝึกเป็นทหารอยู่ ต่อมาดยุกแห่งกลอสเตอร์ก็ได้ทรงลาออกจากกองทัพเพื่อมาปฏิบัติพระกรณียกิจมากขึ้นในคราวการสละราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1936

ทั้งสองพระองค์ได้รับพระราชทานตำหนักยอร์ค ซึ่งเป็นพระราชสมบัติในพระประมุขของอังกฤษ โดยเป็นส่วนหนึ่งในพระราชวังเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน และก็ยังได้ซื้อคฤหาสน์บาร์นเวลล์ในมณฑลนอร์แธมป์ตันไชร์ในปี ค.ศ. 1938 ไว้อีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงสถานภาพ แก้

ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1974 เจ้าชายเฮนรีได้สิ้นพระชนม์ลงและตำแหน่งดยุกแห่งกลอสเตอร์ได้ตกทอดต่อไปยังเจ้าชายริชาร์ด พระโอรสองค์ที่สอง (เจ้าชายวิลเลียม พระราชโอรสพระองค์โตและทายาทสืบตำแหน่งดยุกได้สิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุเครื่องบินตกในปี ค.ศ. 1972) พระชายาหม้ายของดยุกได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ให้ทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าหญิงอลิซ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ (HRH Princess Alice, Duchess of Gloucester) แทน เจ้าหญิงดัชเชสหม้ายแห่งกลอสเตอร์ (HRH The Dowager Duchess of Gloucester) สมเด็จพระราชินีทรงอนุญาตให้พระปิตุจฉาใช้พระอิสริยยศนี้เพื่อเป็นการเลี่ยงความสับสนในตำแหน่งกับดัชเชสแห่งกลอสเตอร์คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นพระชายาในพระโอรส (เดิมคือ บริจิตต์ เอวา ฟาน เดอร์ส)

เจ้าหญิงอลิซไม่ทรงประสงค์เป็นดัชเชสพระชายาหม้ายและได้ดำรงพระยศตามแบบอย่างเจ้าหญิงมารีนา ดัชเชสแห่งเคนต์ พระกนิษฐภาดาเมื่อคราวการอภิเษกสมรสของพระโอรสองค์โตเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1961 แต่อย่างไรก็ดี เจ้าหญิงมารีนาเป็นเจ้าหญิงตั้งแต่แรกประสูติ ดัชเชสหม้ายแห่งกลอสเตอร์ตามสิทธิโดยชอบจึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้เรียกว่าเจ้าหญิงอลิซตามอัธยาศัยจากสมเด็จพระราชินีนาถ แม้ว่าจะไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าหญิงแบบเฉพาะเจาะจงตามพระราชโองการเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ทรงได้รับการขนานพระนามพระองค์เองให้เป็นเจ้าหญิงอังกฤษ ถึงแม้จะไม่ได้ประสูติเป็นเจ้าหญิงก็ตาม

ปลายพระชนม์ชีพ แก้

ในปี ค.ศ. 1975 เจ้าหญิงอลิซทรงเป็นสตรีพระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งบาธชั้นที่ 1 และต่อมาในปี ค.ศ. 1981 ทรงได้พิมพ์บันทึกความทรงจำของพระองค์ออกมาในชื่อ "The Memoirs of Princess Alice, Duchess of Gloucester" (บันทึกความทรงจำของเจ้าหญิงอลิซ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์) และในปี ค.ศ. 1991 พระองค์ได้ทรงพิมพ์ฉบับแก้ไขใหม่ในชื่อ "Memories of Ninety Years" (บันทึกความทรงจำในเวลาเก้าสิบปี)

ในปี ค.ศ. 1994 หลังจากสมาชิกครอบครัวกลอสเตอร์ได้ขายคฤหาสน์บาร์นเวลล์ ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาทางด้านการเงิน เจ้าหญิงอลิซจึงได้ทรงย้ายจากคฤหาสน์บาร์นเวลล์ไปประทับยังพระราชวังเคนซิงตัน ซึ่งเป็นที่ประทับของดยุกและดัชเชสแห่งกลอสเตอร์คนปัจจุบัน

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2001 พระราชวงศ์อังกฤษได้จัดพิธีเฉลิมฉลองวันประสูติครบรอบ 100 พรรษาให้แก่เจ้าหญิงอลิซ ซึ่งเป็นการจัดครั้งที่สองที่เกิดขึ้นในปีนั้น (โดยครั้งแรกเป็นของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระบรมราชชนนี) และในพิธีนี้เป็นการปรากฏพระองค์ต่อหน้าสาธารณชนครั้งสุดท้ายของเจ้าหญิงอลิซ (และของเจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถ) และต่อมาในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2003 เจ้าหญิงทรงเป็นสมาชิกของราชวงศ์อังกฤษที่มีพระชนม์ชีพยาวนานที่สุดที่ยังไม่ใครเกินหน้าได้ต่อจากสมเด็จพระบรมราชินีเอลิซาเบธ พระบรมราชชนนี

เจ้าหญิงอลิซสิ้นพระชนม์ลงด้วยพระอาการสงบเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 2004 ณ พระราชวังเคนซิงตัน ขณะมีพระชันษา 102 ปี งานพิธีศพจัดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ พระศพได้ฝังลงเคียงข้างเจ้าชายเฮนรี พระสวามีและเจ้าชายวิลเลี่ยม พระโอรสองค์โตในสุสานฝังศพหลวงที่ฟร็อกมอร์ สมเด็จพระราชินีนาถและเหล่าสมาชิกพระราชวงศ์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมงานพระศพด้วย

พระอิสริยยศ และ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

พระอิสริยยศ แก้

  • 25 ธันวาคม ค.ศ. 1901 – 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1935: เลดี อลิซ มอนทากิว ดักลาส สก็อตต์ (Lady Alice Montagu Douglas Scott)
  • 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1935 – 10 มิถุนายน ค.ศ. 1974: สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ (Her Royal Highness The Duchess of Gloucester)
  • 10 มิถุนายน ค.ศ. 1974 – 29 ตุลาคม ค.ศ. 2004: สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงอลิซ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ (Her Royal Highness Princess Alice, Duchess of Gloucester)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งบาธ ชั้นที่ 1 (Dame Grand Cross of the Order of the Bath)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎแห่งอินเดีย ชั้นที่ 1 (Companion of the Order of the Crown of India)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ราชวิกตอเรีย ชั้นที่ 1 (Dame Grand Cross of the Royal Victorian Order)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ ชั้นที่ 1 (Dame Grand Cross of the Order of the British Empire)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญจอห์นแห่งเยรูซาเล็ม ชั้นที่ 1 (Dame Grand Cross the Order of St. John of Jerusalem)

พระโอรส แก้