เจ้าฟ้ากองไท บ้างเรียกว่า เจ้ากองไต หรือ เจ้าก๋องไต ราชบุตรในเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่ 8 ประสูติแต่เจ้านางจามฟอง ต่อมาพระองค์ได้เป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่ 9 ต่อจากเจ้าพ่อ โดยเจ้าฟ้ากองไทครองราชย์เป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงไม่ถึงหนึ่งปีก็ถูกลอบปลงพระชนม์

เจ้าฟ้ากองไท
เจ้าฟ้าเชียงตุง
รัชสมัยพ.ศ. 2480 (ไม่ถึงปี)
รัชกาลก่อนหน้าเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง
รัชกาลถัดไปเจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยสสรพรหมลือ
ประสูติพ.ศ. 2440
พิราลัย22 ตุลาคม พ.ศ. 2480[1]
พระมเหสีเจ้านางจ่ายุ้นท์มหาเทวี
เจ้าฟ้ากองไท
พระบุตร5 คน
ราชวงศ์มังราย
พระบิดาเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง
พระมารดาเจ้านางจามฟอง

พระประวัติ

แก้

เจ้าฟ้ากองไท ราชบุตรในเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่ 8 ประสูติแต่เจ้านางจามฟอง พระองค์และเจ้าพรหมลือได้ไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ โดยเจ้ากองไทได้เรียนทางภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ส่วนเจ้าพรหมลือเรียนทางด้านช่างไฟฟ้า แต่เรียนไม่สำเร็จการศึกษาทั้งคู่ เนื่องจากทั้งคู่เรียน ๆ เล่น เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง ผู้เป็นเจ้าพ่อ จึงได้เรียกทั้งสองคนกลับมายังเชียงตุง เมื่อกลับมาถึงพม่า เจ้ากองไทไม่ยอมกลับเชียงตุง และได้สมัครเข้าเป็นทหารอังกฤษ จนได้รับยศเป็นนายร้อยโท การไม่กลับเชียงตุงเจ้ากองไทได้เขียนหนังสือถึงเจ้าพ่อแจ้งว่าตนไม่มีหวังจะได้ดิบได้ดีอะไรทางเชียงตุง (คือไม่มีหวังจะได้เป็นเจ้าฟ้า) ก็จะไปหาความดีเอาทางอื่น การที่เจ้ากองไทคิดเช่นนั้น เพราะเห็นว่าเจ้าแม่เป็นคนสามัญ ไม่ใช่เชื้อเจ้า และไม่ใช่มหาเทวี และเข้าใจว่าตำแหน่งเจ้าแกมเมือง (ตำแหน่งรัชทายาท) จะได้แก่เจ้าพรหมลือ เพราะมารดาเป็นเชื้อเจ้าและเป็นมหาเทวี เมื่อเจ้าพ่อได้ทราบความจากหนังสือนั้นแล้ว ก็โทรเลขไปเรียกตัวเจ้ากองไทให้กลับมา และได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าแกมเมือง

ตำแหน่งเจ้าฟ้าเชียงตุงและการลอบปลงพระชนม์

แก้

หลังจากแต่งตั้งเจ้าแกมเมืองมาถึง 13 ปี เจ้าฟ้าเฒ่าจึงวายชนม์ลงเมื่อ พ.ศ. 2479 และเจ้ากองไทก็ได้ขึ้นเป็นเจ้าแทนในปี พ.ศ. 2480 และจะมีงานพิธีครองเมืองในเดือนมกราคม ต่อมา แต่พอถึงเดือนตุลาคม วันที่ 22 ตรงกับวันแรม 3 ค่ำ เดือน 12 มีงานพิธีออกพรรษา เจ้าฟ้าก็ถูกฆาตกรรม งานนี้สามารถจับตัวฆาตกรได้ คือเจ้าสีหะ และในเบื้องต้นได้ซัดทอดคนสนิทเจ้าพรหมลือจนมีเสียงร่ำลือว่าเจ้าพรหมลือมีส่วนในการจ้างวานผู้อื่นลอบปลงพระชนม์เจ้าฟ้ากองไท เพราะต้องการแก้แค้นที่ถูกปล้นราชสมบัติไป ท่าจึงจ้างทนายความพม่ามาเพื่อแก้ต่างในคดีนี้จนเสียเงินว่าจ้างเป็นจำนวนมาก แต่ก็พ้นข้อกล่าวหามาได้ และชาวเชียงตุงส่วนใหญ่ก็ไม่ปักใจเชื่อว่าเจ้าพรหมลือจะมีส่วนในคดีนี้ เพราะเห็นว่าทั้งสองนั้นรักใคร่สนิทสนมกันมาก ขณะที่ข้าหลวงอังกฤษยังคงเชื่อมั่นว่าเจ้าพรหมลือต้องมีส่วนในกรณีนี้ ก็ไม่ได้ผลคืบหน้า หาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้[2] เมื่อไม่มีหลักฐานมัดตัวเจ้าพรหมลือ จึงได้ทำการปล่อยตัวเจ้าพรหมลือ ส่วนเจ้าสีหะได้รับโทษเพียงจำคุกตลอดชีวิต

สถานการณ์หลังการลอบปลงพระชนม์

แก้

เจ้านางจ่ายุ้นท์ พระมหาเทวีหม้ายได้เศร้าโศกเสียใจ และท่องเที่ยวไปมาระหว่างเชียงตุง โดยส่วนใหญ่จะอาศัยในเมืองตองยี ส่วนเจ้าพรหมลือเมื่อพ้นจากคดีแล้ว ทางอังกฤษจำกัดเขตให้อยู่ที่ตองยี คงจะอ้างเหตุอันเกี่ยวกับการค้าฝิ่นออกนอกเขตดังกล่าวมาแล้ว ครั้นเกิดสงครามกับญี่ปุ่นและไทย อังกฤษได้สั่งให้ย้ายไปอยู่ในประเทศพม่าตอนเหนือจนเมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดพม่าได้ เจ้าพรหมลือจึงได้กลับมาอยู่เชียงตุงอีก ทางการทหารกองทัพพายัพของไทยที่ยึดเชียงตุงอยู่ในเวลานั้นได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าพรหมลือเป็นผู้ครองนครเชียงตุง และเมื่อสงครามสงบได้เข้ามาอยู่ที่เชียงใหม่ และได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อ พ.ศ. 2498 ส่วนเจ้าสีหะถูกจำคุกอยู่ที่ย่างกุ้งเมื่อญี่ปุ่นเข้าย่างกุ้งได้ จึงได้หนีออกจากเรือนจำไป ภายหลังได้กลับมาอยู่ในเขตเมืองเชียงตุง และถูกฆ่าตายที่เมืองเลน[3]

อ้างอิง

แก้
  1. ...เจ้านายฝ่ายฟ้า นคราเขมรัฐเชียงตุง....(ภาพเก่าเล่าเรื่อง) จากเว็บพันทิป
  2. "ภาพประวัติศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-17. สืบค้นเมื่อ 2010-01-27.
  3. คดีฆาตกรรมเจ้าฟ้าเมืองเจียงตุ๋งตี้ครึกโครมในปี๋ พ.ศ. ๒๔๘๐[ลิงก์เสีย]
ก่อนหน้า เจ้าฟ้ากองไท ถัดไป
เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง   เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง
(พ.ศ. 2480-2480)
  เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราช ยสสรพรหมลือ