เจ้าพระยาพิษณุโลก (เมฆ)

เจ้าพระยาพิษณุโลก[3] มีนามเดิมว่า เมฆ เป็นควาญช้างในกรมพระคชบาล และเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระพิษณุโลกรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ[4]: 63 

เจ้าพระยาพิษณุโลก
(เมฆ)
ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2251 – พ.ศ. 2275
กษัตริย์สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ
ก่อนหน้ากรมพระราชวังบวร
ถัดไปเจ้าพระยาสุรสีห์[note 1]
ข้อมูลส่วนบุคคล
บุตรเจ้าพระยานเรนทราภัย
เจ้าพระยาสุรินทรภักดี
เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์
บุพการี
  • พระมหาราชครู ​ (บิดา)

ประวัติ แก้

เจ้าพระยาพิษณุโลก (เมฆ) เป็นเชื้อสายพราหมณ์เป็นบุตรของ พระมหาราชครู พระราชปุโรหิตาจารย์ ราชสุภาวดี ศรีบรมหงส์ องค์บุริโสดม พรหมทิชาจารย์ (มูริศโดมโรมรามราช)[5]: 19  ราชปุโรหิตในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา สืบสายลงมาจาก พราหมณ์ศิริวัฒนะ ราชปุโรหิตในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเข้ามาอยู่ที่กรุงสุโขทัยก่อนจะรับราชการในกรุงศรีอยุธยา และเป็นพี่น้องกับ ผล (ต่อมาเป็น เจ้าพระยามหาสมบัติ รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ)[6]: 87 

ต่อมา เมฆ มีบุตร 3 คน[7]: (ก.) [3] คือ บุญเกิด (ต่อมาเป็น เจ้าพระยานเรนทราภัย) บุญมี (ต่อมาเป็น เจ้าพระยาสุรินทรภักดี) และ อู่ (ต่อมาเป็น เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์)[5]: 77 

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) ครั้งนั้น เมฆ ตัดมวยผมและละเพศพราหมณ์[8] แล้วเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก[5]: 58  ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงทรงบาศ (เมฆ) ตำแหน่งควาญท้ายช้างพระที่นั่ง กรมพระคชบาล (กรมช้าง)[9]: 331 

มีเหตุการณ์ของ หลวงทรงบาศ (เมฆ) แสดงความกตัญญู[9]: 331  ต่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 2 พระองค์ของพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี กล่าวคือ เมื่อปีมะเมียจัตวาศก[4]: 63 [9]: 331 [5]: 68–72  หลังจากสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีเสด็จประพาสล้อมช้างในป่า เกิดเหตุการณ์สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงพระแสงของ้าวหมายจะฟันพระเศียรกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าเพชร) แต่เจ้าฟ้าพรทรงยกด้ามพระแสงของ้าวขึ้นกันพระแสงของ้าวของพระราชบิดาไว้อย่างท่วงทัน เจ้าฟ้าพรทรงช้างเข้ากับช้างเจ้าฟ้าเพชร ทั้ง 2 พระองค์ต่างพากันขับช้างหนีพระราชบิดาไป สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงพระพิโรธยิ่งนักทรงไสช้างไล่ติดตามช้างพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ ขณะนั้น หลวงทรงบาศ (เมฆ) ซึ่งอยู่ท้ายช้างพระที่นั่ง เห็นว่า ช้างของเจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพรนั้นหนีไปไม่ทัน หลวงทรงบาศ (เมฆ) จึงเอาขอท้ายช้างเกี่ยวท้ายช้างพระที่นั่งเข้าไว้ให้ค่อยรอช้างลง ส่วนเจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพรทรงกลัวพระราชอาญา จึงทรงรีบขับช้างบุกป่าหนีไป

สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีจึงมีพระราชโองการตรัสประกาศแก่ข้าทูลละอองทั้งปวงว่า :-

ท่านทั้งหลายจงช่วยกันติดตามจับเอาตัวอ้ายขบถสองคนมาให้เราจงได้[4]: 63 [5]: 71 

แล้วจึงเสด็จกลับมายังพลับพลาที่ประทับ ณ บ่ายวันนั้น ส่วนตำรวจแลข้าราชการทั้งหลายก็ติดตามไปพบเจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพรแล้วนำมาถวาย ณ ค่ายหลวง สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนพระราชโอรสทั้ง 2 พระองค์ ยกหนึ่ง 30 ที[5]: 72  แล้วให้พันธนา [มัด] เข้าไว้ด้วยสังขลิกพันธ์ [โซ่ตรวน] แล้วดำรัสสั่งให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนตอนเช้ายกหนึ่ง ตอนเย็นยกหนึ่งเป็นประจำทุกวัน จนกว่าสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีจะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังพระนคร[4]: 63 

ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ ขณะที่ เจ้าฟ้าพร ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้ง หลวงทรงบาศ (เมฆ) ควาญช้าง กรมพระคชบาล เป็น เจ้าพระยาพิษณุโลก (เมฆ)[4]: 65 [5]: 75  เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระพิษณุโลก หัวเมืองชั้นเอก ถือศักดินา 10000 และตั้ง ผล เป็น ออกญาเพ็ชรัตนสงครามฯ (ผล) ผู้สำเร็จราชการเมืองเพชรบูรณ์ หัวเมืองชั้นโท ถือศักดินา 10000 เช่นกัน

เมื่อปลายรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเกิดสงครามแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ฝ่ายวังหลวง กับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ฝ่ายวังหน้า เจ้าพระยาพิษณุโลก (เมฆ) จึงได้ย้ายราชการเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา[4]: 65  ในฐานะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เพื่อประนีประนอมความขัดแย้งทั้งสองฝ่าย แต่ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เมฆ) ถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ[4]: 65 [5]: 76 

บรรดาศักดิ์ แก้

  • มหาดเล็ก
  • หลวงทรงบาศ (เมฆ) กรมพระคชบาล รัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี
  • พระยาปกฤษณุรักษ์ (เมฆ) จางวางกรมพระคชบาลฝ่ายพระราชวังบวรฯ[9]: 331  รัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี
  • พระยากลาโหมราชเสนา (เมฆ) เสนาบดีวังหน้า[9]: 331  รัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี
  • เจ้าพระยาพิษณุโลก (เมฆ) เจ้าเมืองพระพิษณุโลก หัวเมืองชั้นเอกอุ ศักดินา 10000 เอกอุ มีราชทินนามว่า เจ้าพระยาสุรสีห์พิศมาธิราช ชาติพัทยาธิเบศวราธิบดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ เจ้าเมืองพิษณุโลกเอกอุ นา ๑๐๐๐๐ ขึ้นประแดงเสนาฏขวา รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ

ลำดับสาแหรก แก้

หมายเหตุ แก้

  1. เดิมเป็น หลวงจ่าแสนยากร[1]: 153  ต่อมาคือ พระยาอภัยมนตรี ผู้ว่าที่สมุหนายก[2]: 8 

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. (2536). ขุนนางอยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรม. 298 หน้า. ISBN 978-9-745-71443-4
  2. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2459). "กฎหมายงานพระบรมศพครั้งกรุงเก่า (สอบเรื่องราวตำราพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพฯ)," ใน เรื่องสมเด็จพระบรมศพ คือจดหมายเหตุงานพระเมรุครั้งกรุงเก่า กับพระราชวิจารณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง. พิมพ์แจกในงานศพ อำมาตย์เอก พระยาทวาราวดีภิบาล (แจ่ม โรจนวิภาต) จางวางกรุงเก่า ปีมโรงอัฐศพ พ.ศ. ๒๔๕๙. พระนคร: โสภณพิพรรฒนากร. 43 หน้า.
  3. 3.0 3.1 เจือ นครราชเสนี. (2505). “ประวัติสังเขป เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง สิงหเสนี),” ใน สกุลสิงหเสนี และเครือญาติ. (พิมพ์ครั้งที่ 4). พิมพ์เป็นบรรณาการในงานฌาปนกิจศพ คุณหญิงตุ่ม ประเสริฐสุนทราศรัย ณ เมรุวัดจักรวรรดิราชาวาส พระนคร วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๐๔. พระนคร: รุ่งเรืองธรรม. 124 หน้า.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 วัดเทพลีลา. (2551). สายสกุล สิงหเสนี. วัดเทพลีลา บางกะปิ กทม. พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี ป.ภ.,ท.ช. ณ เมรุวัดเทพศิริรทราวาส วันอังคารที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑. กรุงเทพฯ: [ม.ป.พ.]. 187 หน้า.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 5.7 ศิริวัฒนอาณาทร (ผล ศิริวัฒนกุล), ขุน. (2509). "เรื่องเชื้อสายพระมหาราชครูศิริวัฒน แต่งและรวบรวมโดย ขุนศิริวัฒนอาณาทร (ผล ศิริวัฒนกุล)," ใน ที่ระลึกในการรับพระราชทานเพลิงเผาศพ นางสาวพร้อม ศิริวัฒนกุล ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ๓ ธันวาคม ๒๕๐๙. พระนคร: แพร่การช่าง. 150 หน้า.
  6. สมบัติ พลายน้อย. (2534). ขุนนางสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน. 271 หน้า. ISBN 978-9-747-11428-7
  7. กรมศิลปากร. (2502). "ประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)," ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๗ จดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ ๓ ตอนที่ ๑. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงสำลี ยมาภัยพงศ์พิพัฒน์ ต.จ.รัตน.ว.ป.ร.๔ ณ เมรุวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๒. พระนคร: นิมิตรอักษร. 116 หน้า.
  8. ปวัตร์ นวะมะรัตน. (2554). เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ผู้พิทักษ์บัลลังก์บ้านพลูหลวง คนโปรดผู้นำ-ผิดก็ไม่โดนลงโทษ. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2554. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 ก.ศ.ร. กุหลาบ ตฤษณานนท์. (2448). มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ ว่าด้วยลำดับวงศ์ตระกูลขุนนางไทยทั้งสิ้นในแผ่นดินสยาม เล่มที่ 1. พระนคร: สยามประเภท, ร.ศ. 124.