เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่

เจ้าเชียงใหม่

อำมาตย์ตรี เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ (28 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 − 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2510) อดีตนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (2504−2508) และเป็นบิดาของเจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่

เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่
เกิด28 พฤษภาคม พ.ศ. 2440
คุ้มเจ้าราชวงศ์ จังหวัดเชียงใหม่
เสียชีวิต30 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 (70 ปี)
คู่สมรสเจ้าศิริประกาย ณ เชียงใหม่ (พ.ศ. 2468−2482)
คุณหญิงถนิม ณ เชียงใหม่ (พ.ศ. 2490−2510)
บุตรเจ้าพงษ์กาวิล ณ เชียงใหม่
เจ้าศิริกาวิล สิงหรา ณ อยุธยา
เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่
บุพการีเจ้าราชวงศ์ (ชมชื่น ณ เชียงใหม่)
เจ้ากรรณนิกา ณ เชียงใหม่

ประวัติ แก้

เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่เป็นบุตรของเจ้าราชวงศ์ (ชมชื่น ณ เชียงใหม่) กับเจ้ากรรณนิกา ณ เชียงใหม่ เมื่อครั้นเจ้าอุบลวรรณาผู้เป็นเจ้ายายเสียชีวิต เจ้ากาวิละวงศ์จึงได้ย้ายไปอยู่กับเจ้าดารารัศมี พระราชชายา พร้อมกับเจ้าเรณุวรรณา ณ เชียงใหม่ ที่เป็นเจ้าพี่ และเจ้าลดาคำ ณ เชียงใหม่ ธิดาเจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่)[1]

เจ้ากาวิละวงศ์ได้รับการเลี้ยงดูจากเจ้าดารารัศมี พระราชชายา และถูกส่งไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสพร้อมกับเจ้าลดาคำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานทุน[1] เมื่อสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมรถไฟ จาก École nationale des ponts et chaussées ประเทศฝรั่งเศส[2] จึงกลับมายังประเทศไทย และได้สมรสกับเจ้าศิริประกาย ณ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2467 (นับศักราชปัจจุบัน พ.ศ. 2468) มีบุตร 3 คน คือ[3]

  1. เจ้าพงษ์กาวิล ณ เชียงใหม่ สมรสกับงามวิไล (สกุลเดิม สุกัณศีล) และสมรสอีกครั้งกับบุญประกอบ (สกุลเดิม ส่วยสุวรรณ) มีธิดาจากการสมรสครั้งหลังชื่อ กาวิลยา สอนวัฒนา
  2. เจ้าศิริกาวิล สิงหรา ณ อยุธยา สมรสกับหม่อมหลวงประสิทธิ์ศิลป์ สิงหรา มีธิดาชื่อ วรางคณา วจะโนภาส
  3. เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ สมรสและหย่ากับพลตำรวจโท ทิพย์ อัศวรักษ์ มีบุตรชื่อ ทินกร อัศวรักษ์

หลังเจ้าศิริประกายเสียชีวิตไปแล้ว เจ้ากาวิละวงศ์สมรสอีกครั้งกับคุณหญิงถนิม ณ เชียงใหม่ (สกุลเดิม นาวานุเคราะห์) อดีตภรรยาของพระยาสุขุมนัยวินิต (สวาท สุขุม) ใน พ.ศ. 2490 แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน

เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ณ วัดธาตุทอง

การทำงาน แก้

เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ เข้ารับราชการเป็นนายช่าง สังกัดกรมรถไฟหลวง[2] และมีส่วนร่วมในการสร้างสะพานพระราม 6 เมื่อปี พ.ศ. 2469 ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นพิเศษ ในพิธีเปิดสะพานในครั้งนั้นด้วย ตำแหน่งหน้าที่ราชการในกรมรถไฟหลวงมีดังนี้

  1. พ.ศ. 2469 : ดำรงตำแหน่ง นายช่างบำรุงทางกรุงเทพ (วิศวกรกำกับการกองบำรุงทางเขตกรุงเทพ วบข.กท. ในปัจจุบัน)
  2. พ.ศ. 2470 : ดำรงตำแหน่งนายช่างภาค
  3. พ.ศ. 2471 : ย้ายไปปฏิบัติราชการกรมทาง(สมัยนั้นกรมทางขึ้นอยู่กับกรมรถไฟหลวง)และย้ายกลับมาปฏิบัติราชการที่กรมรถไฟหลวงตามเดิม ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน
  4. พ.ศ. 2475 : ดำรงตำแหน่งนายช่างบำรุงทางปราจีนบุรี
  5. พ.ศ. 2476 : ดำรงตำแหน่งนายช่างภาค กองแบบแผน กรมรถไฟหลวง และย้ายไปรับราชการกระทรวงวัง เดือนมิถุนายน 2476

ในสมัยที่เจ้ากาวิละวงศ์รับราชการในสังกัดกรมทางหลวง ดำรงตำแหน่งนายช่างกำกับการภาคอิสาณ ขอนแก่น ท่านได้เป็นผู้ออกแบบและอำนวยการก่อสร้างสะพานข้ามลำโดมน้อยในทางหลวงแผ่นดินสายวารินชำราบ-ช่องเม็ก (ปัจจุบันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 217 ถนนสถิตนิมานการ) จนสำเร็จ รัฐบาลไทยจึงประกาศให้ขนานนามสะพานนี้ว่า "สะพานกาวิละวงศ์" เมื่อ พ.ศ. 2493 เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน[4] สะพานแห่งนี้ทำเป็นรูปสะพานโค้ง ถือเป็นสะพานที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กที่ไม่มีเสากลางเป็นแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี นับว่าเป็นของแปลกใหม่สำหรับชาวจังหวัดอุบลราชธานีในยุคนั้น[5]

เจ้ากาวิละวงศ์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับหม่อมราชวงศ์จักรทอง ทองใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2502[6] และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ในระหว่างปี พ.ศ. 2504 ถึงปี พ.ศ. 2508

เจ้ากาวิละวงศ์เคยเป็นผู้จัดการตลาดวโรรส ในยุคที่เป็นตลาดของตระกูล ณ เชียงใหม่[7]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ แก้

ลำดับสาแหรก แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 หนานอินแปง. พระราชชายา เจ้าดารารัศมี. กรุงเทพฯ : บางกอกบุ๊ค, 2546
  2. 2.0 2.1 "สายลับ พ.27 บทที่ 19". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-23. สืบค้นเมื่อ 2012-09-28.
  3. "รายพระนาม นาม เหล่าพระประยูรญาติ และเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-14. สืบค้นเมื่อ 2012-09-27.
  4. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่. เล่ม 67, ตอน 67 ง, 12 ธันวาคม พ.ศ. 2493, หน้า 6377.
  5. ภาพเก่าเล่าเรื่อง..เมืองอุบลราชธานี โดย งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (26 ตุลาคม 2558). "สะพานโดม". สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  7. เบญจวรรณ บุญโทแสง. พัฒนาการการปรับตัวทางการเมืองของกลุ่มอำนาจท้องถิ่นภายหลังการผนวกดินแดนของสยาม (พ.ศ. 2442-2547): กรณีศึกษาตระกูล ณ เชียงใหม่. เก็บถาวร 2011-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2550
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๗๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๔๑, ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๖
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๖๑ ง หน้า ๒๒๘๘, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๕
  10. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๔๙ ง หน้า ๓๐๒๕, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๖
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาต ประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๔๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๘๗๘, ๑๐ มิถุนายน ๒๔๗๑