เจริญ เชาวน์ประยูร

เจริญ เชาวน์ประยูร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ 7 สมัย ได้รับเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2522

เจริญ เชาวน์ประยูร
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ดำรงตำแหน่ง
9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
นายกรัฐมนตรีพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด25 กันยายน พ.ศ. 2477 (89 ปี)
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองพรรคราษฎร (2543-2547)
คู่สมรสอำไพ เชาวน์ประยูร

ประวัติ แก้

นายเจริญ หรือที่ชาวเชียงใหม่เรียกว่า “อาจารย์เจริญ” เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2477 เป็นบุตรของร้อยตำรวจโท จันทร์ เชาวน์ประยูร กับนางบุญศรี เชาวน์ประยูร อาศัยอยู่บ้านย่านวัดพญาเม็งราย อำเภอเมืองเชียงใหม่ เข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลอำเภอขุนยวม ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนแม่สะเรียง "บริพัตรศึกษา" จังหวัดแม่ฮ่องสอนเนื่องจากขณะนั้นบิดารับราชการตำรวจที่อำเภอแม่สะเรียง ต่อมาเมื่อบิดาเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2489 จึงย้ายกลับมาเรียนต่อ ระดับเตรียมอุดมศึกษาแผนกอักษรศาสตร์ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

ต่อมาได้ศึกษาวิชาครูด้วยตนเองด้วยการสมัครสอบจนได้รับประกาศนียบัตรครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2502 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์ (การเมืองการปกครอง) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้นายเจริญ เชาวน์ประยูร ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาชุมชนและทางการเกษตร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัย Gregorio Araneta University Foundation ประเทศฟิลิปปินส์ โดยความเห็นชอบของกระทรวงศึกษาวัฒนธรรมและการกีฬาของประเทศฟิลิปปินส์

นายเจริญ สมรสกับนางอำไพ มีบุตรธิดารวม 4 คน

การทำงาน แก้

นายเจริญ ได้เริ่มทำงานเป็นครูที่โรงเรียนบูรณศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2498 จนได้รับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ เมื่ออายุ 27 ปี เข้าสู่งานการเมืองระดับท้องถิ่น โดยการสมัครได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสุขาภิบาลช้างเผือก เป็นสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) เขตเลือกตั้งอำเภอแม่ริม 3 สมัย และได้รับตำแหน่งประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่ (2521 - 2522) เคยทำงานร่วมกับนายเลิศ ชินวัตร นายปรีดา พัฒนถาบุตร

ต่อมาได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2522 สังกัดพรรคกิจสังคม ซึ่งได้รับเลือกตั้งเนื่องจากตอนเป็นครูโรงเรียนบูรณศักดิ์ จึงได้รับคะแนนจากลูกศิษย์จำนวนมาก เอาชนะเจ้าบุญเลิศ ณ เชียงใหม่ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ จากนั้นได้รับเลือกตั้งในอีก 5 สมัยต่อมา คือ สมัยที่สองในปี พ.ศ. 2526 สังกัดพรรคกิจสังคม ในปี พ.ศ. 2529 ได้เข้าร่วมงานกับพรรคกิจประชาคม[1] แต่ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2529 สังกัดพรรคสหประชาธิปไตย ที่มีนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งการเลือกตั้งในปี 2529 เขาได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนน 101,480 คะแนน มากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของประเทศ รองจากณรงค์ วงศ์วรรณ และนิพนธ์ พร้อมพันธุ์[2] ในปี พ.ศ. 2531 สังกัดพรรคเอกภาพ โดยได้รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค[3] และปี พ.ศ. 2535 ได้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัคคีธรรม[4] ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2535 ได้รับเลือกตั้งในสังกัดพรรคชาติพัฒนา[5]

นายเจริญ เคยได้รับตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ[6] นอกจากนี้เคยได้รับตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง สมัยรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร[7] เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องพม่ากักตัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย เมื่อปี พ.ศ. 2535[8]

ในปี 2539 เจริญลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง[9]

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 นายเจริญ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในสังกัดพรรคราษฎร[10] แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยได้รับคะแนนเป็นอันดับที่ 3 รองจากนายยงยุทธ สุวภาพ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายทวีศักดิ์ สุภาศรี จากพรรคไทยรักไทย และได้คะแนนใกล้เคียงกับนายณรงค์ นิยมไทย จากพรรคความหวังใหม่ คือประมาณ 2 พันคะแนนเศษ[11][12]

นายเจริญ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2549 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยอมรับการเปลี่ยนแปลงของพรรคกิจประชาคม ตามนัยมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๒๔ (เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหาร ภาพเครื่องหมาย ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และนโยบายของพรรค)
  2. รายงานวิจัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2529. กรมการปกครอง. 2529
  3. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคเอกภาพเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค
  4. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง (พรรคสามัคคีธรรม)
  5. นักการเมืองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า. 2551
  6. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๕ ราย)
  7. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 68/2535 เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง
  8. กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องพม่ากักตัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย
  9. ผลการเลือกตั้ง เก็บถาวร 2004-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนเว็บไซต์กรมการปกครอง
  10. ประวัติผู้สมัคร ส.ส.[ลิงก์เสีย]
  11. คะแนนเลือกตั้ง 2 พันคะแนน
  12. "ผลการเลือกตั้ง ส.ส.เชียงใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-07. สืบค้นเมื่อ 2012-07-07.
  13. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๒๐๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๖
  14. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๒๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒
  15. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๗๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖, ๒๐ มิถุนายน ๒๕๒๘
  16. รายนามผู้ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๒๑ จากเว็บไชต์ thaiscouts