เตเรซาแห่งเลออน เคาน์เตสแห่งโปรตุเกส

เตเรซาแห่งเลออน (สเปน: Teresa de León; ค.ศ. 1080 – 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1130) เป็นเคาน์เตสแห่งโปรตุเกสและเป็นธิดานอกสมรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 แห่งเลออนกับฆิเมนา มุญโญซ สนมลับ ทั้งยังเป็นมารดาของพระเจ้าอาฟงซูที่ 1 แห่งโปรตุเกส ปฐมกษัตริย์แห่งโปรตุเกส

จุลจิตรกรรมสมัยกลางแสดงภาพของเตเรซาแห่งเลออน เคาน์เตสแห่งโปรตุเกส

ชาติกำเนิดและการสมรส แก้

เตเรซาเป็นธิดานอกสมรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 แห่งเลออนและกัสติยากับฆิเมนา มุญโญซ สนมลับ[1] ปี ค.ศ. 1093 บิดาจับเธอสมรสกับอ็องรีแห่งบูร์กอญ[2] ขุนนางฝรั่งเศสซึ่งเป็นพระภาติยะของพระราชินีกงสต็องส์และเป็นน้องชายของดยุคแห่งบูร์กอญ เขาเป็นลูกหลานในสายเพศชายของกษัตริย์ฝรั่งเศส อ็องรีได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่พ่อตาในการต่อสู้กับชาวมัวร์บนชายแดนฝรั่งเศส

เดือนแรกของปี ค.ศ. 1096 อ็องรีกับแรมงแห่งบูร์กอญ ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นพระสวามีของอูร์รากา พระธิดาตามกฎหมายของพระเจ้าอัลฟอนโซได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันภายใต้เงื่อนไขที่ว่าหลังพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 สิ้นพระชนม์ ราชอาณาจักรโตเลโดกับราชสมบัติหนึ่งในสามส่วนหรือไม่ก็ราชอาณาจักรกาลิเซียจะตกเป็นของอ็องรี แลกกับการที่เขาจะต้องให้การสนับสนุนแรมงในการรักษาดินแดนทั้งหมดของกษัตริย์กับราชสมบัติอีกสองในสามส่วนที่เหลือ ทันทีล่วงรู้ถึงข้อตกลงดังกล่าว พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 ได้แต่งตั้งอ็องรีเป็นข้าหลวงในดินแดนที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำมีญูจนถึงซังตาไรซึ่งเดิมเคยอยู่ภายใต้การบริหารปกครองของแรมง และจำกัดอำนาจการปกครองของพระสสุระเหลือแค่ในกาลิเซีย ลูกพี่ลูกน้องที่เคยเป็นพันธมิตรกับจึงเปลี่ยนมาเป็นศัตรูกันด้วยต่างคนต่างต้องการเป็นคนโปรดของกษัตริย์

ความขัดแย้งกับพระเชษฐภคินี แก้

ในรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 เตเรซากับอ็องรีเป็นข้าราชบริวารของกษัตริย์แห่งเลออนและกัสติยา แต่หลังกษัตริย์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1109 อูร์รากา พระธิดาตามกฎหมายและทายาทของพระองค์ได้ขึ้นครองบัลลังก์[3] เป็นสมเด็จพระราชินีนาถอูร์รากาที่ 1 แห่งกัสติยา อ็องรีได้บุกเลออนด้วยความหวังที่จะได้ดินแดนเพิ่ม เมื่อเขาถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1112 เตเรซาถูกทิ้งไว้ให้รับมือกับสถานการณ์ทางทหารและทางการเมือง เธอทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองและพิชิตดินแดนทางตอนใต้กลับคืนมาจากชาวมัวร์ได้จนถึงแม่น้ำมงเดกู ชัยชนะของเธอเหนือกูอิงบราทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาปาสคาลที่ 2 ขนานนามและให้การยอมรับเธอเป็น "พระราชินี" เธอปรากฏในเอกสารต่าง ๆ ในฐานะ "พระธิดาของพระเจ้าอัลฟอนโซและผู้ได้รับเลือกจากพระเจ้า" ทั้งยังถูกขนานนามว่าพระราชินีอย่างชัดเจนในเอกสารปี ค.ศ. 1117 จึงนับได้ว่าเธอคือพระมหากษัตริย์คนแรกของโปรตุเกส[4]

ปี ค.ศ. 1116 เตเรซาพยายามขยายอำนาจด้วยการต่อสู้กับพระราชินีนาถอูร์กา พี่สาวต่างมารดา ทั้งคู่ต่อสู้กับอีกครั้งในปี ค.ศ. 1120 ด้วยความมุ่งมั่นอยากได้ส่วนแบ่งก้อนโตในมรดกเลออน เตเรซาที่เป็นม่ายจึงได้จับมือเป็นพันธมิตรกับเฟร์นันโด เปเรซ เด ตราบา ขุนนางกาลิเซียผู้ทรงอำนาจที่ได้ทิ้งภรรยาคนแรกมาอยู่กินกับเธออย่างเปิดเผย เขาทำหน้าที่ดูแลพรมแดนริมแม่น้ำมงเดกูทางตอนใต้ ปี ค.ศ. 1121 หลังถูกกองทัพของพระราชินีนาถอูร์รากาโจมตี เตเรซาล่าถอยออกจากชายฝั่งทางซ้ายของแม่น้ำมีญู กองทัพของเธอปราชัยและแตกพ่าย สุดท้ายเธอได้ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในปราสาทลัญโญซูและถูกอูร์รากาปิดล้อมจับกุมตัว ด้วยความช่วยเหลือของอัครมุขนายกแห่งซานเตียโกเดกอมโปสเตลาและอัครมุขนายกแห่งบรากาสองพี่น้องร่วมบิดาได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพร่วมกันภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเตเรซาจะเป็นอิสระหากยินยอมที่จะครอบครองเคาน์ตีโปรตุเกสในฐานะข้าราชบริวารของราชอาณาจักรเลออน ซึ่งเธอได้ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว

การก่อกบฏ แก้

 
หลุมฝังศพของเตเรซาแห่งเลออนที่อาสนวิหารบรากา

ปี ค.ศ. 1128 อัครมุขนายกแห่งบรากาและขุนนางศักดินาของโปรตุเกสเหนื่อยหน่ายในตัวพันธมิตรชาวกาลิเซียผู้แสนดื้อด้านของเตเรซา โดยอัครมุขนายกกลัวว่าอำนาจในทางศาสนาของตนจะตกเป็นของดิเอโก เฆลมิเรซ อัครมุขนายกแห่งซานเตียโกเดกอมโปสเตลาชาวกาลิเซีย คู่อริที่เริ่มแสดงอำนาจด้วยการอ้างว่าได้ค้นพบปูชนียวัตถุของนักบุญยากอบในเมืองของตน เพื่อให้ตนเองมีอำนาจและความร่ำรวยเหนือกว่าอาสนวิหารอื่น ๆ ในคาบสมุทรไอบีเรีย

กลุ่มขุนนางโปรตุเกสได้ทำการก่อกบฏ หลังสงครามกลางเมืองที่จบลงในช่วงเวลาอันสั้น พระราชินีนาถอูร์รากาหมดอำนาจในโปรตุเกส อาฟงซู บุตรชายและทายาทของเตเรซาไม่ยอมให้เฟร์นันโด เปเรซ เด ตราบาได้ควบคุมดินแดนที่เคยเป็นของบิดาอีกต่อไป สองแม่ลูกเปิดสงครามใส่กันและผู้เป็นลูกสามารถปราบกองทัพของมารดาได้ที่สมรภูมิเซามาแมดือใกล้กับเมืองกีมาไรช์ เตเรซากับชายคนรักและลูก ๆ ของทั้งคู่ถูกออกจากโปรตุเกสไปอยู่ที่ราชอาณาจักรกาลิเซียซึ่งมีพรมแดนติดกัน ที่นั่นตราบาได้ก่อตั้งอารามโตโชสโอว์โตส ต่อมาไม่นานเตเรซาได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1130 ร่างของเธอถูกฝังที่อาสนวิหารบรากาใกล้กับหลุมฝังศพของอ็องรีแห่งบูร์กอญ สามีคนแรก

บุตรธิดา แก้

เตเรซามีบุตรธิดากับอ็องรี เคานต์แห่งโปรตุเกส ดังนี้

พระนางมีธิดานอกสมรสกับเฟร์นันโด เปเรซ เด ตราบา

อ้างอิง แก้

  1. Rodrigues Oliveira, Ana (2010). Rainhas medievais de Portugal. Dezassete mulheres, duas dinastias, quatro séculos de História (in Portuguese). Lisbon: A esfera dos livros. ISBN 978-989-626-261-7, p. 23.
  2. Spain in the Eleventh Century, Simon Barton, The New Cambridge Medieval History: Volume 4, C.1024-c.1198, Part II, ed. David Luscombe, Jonathan Riley-Smith, (Cambridge University Press, 2015), 187.
  3. Rodrigues Oliveira, Ana (2010). Rainhas medievais de Portugal. Dezassete mulheres, duas dinastias, quatro séculos de História (in Portuguese). Lisbon: A esfera dos livros. ISBN 978-989-626-261-7, p. 32.
  4. Marsilio Cassotti, "D. Teresa utilizou armas de homens" - Jornal de Notícias (p.39), 13 July 2008
  5. 5.0 5.1 5.2 Rodrigues Oliveira, Ana (2010). Rainhas medievais de Portugal. Dezassete mulheres, duas dinastias, quatro séculos de História (in Portuguese). Lisbon: A esfera dos livros. ISBN 978-989-626-261-7, p. 28.
  6. López Morán, Enriqueta (2005). «Galician female monasticism in the High Middle Ages (Lugo and Orense) (XIII to XV centuries)» . Nalgures (A Coruña: Association of Historical Studies Culture of Galicia) (II): 49-142 (vid pp. 88-89). ISSN 1885-6349 . Archived from the original on February 6, 2011.
  7. Rodrigues Oliveira, Ana (2010). Rainhas medievais de Portugal. Dezassete mulheres, duas dinastias, quatro séculos de História (in Portuguese). Lisbon: A esfera dos livros. ISBN 978-989-626-261-7, p. 31.
  8. Torres Sevilla-Quiñones de León, Margarita Cecilia (1999). Linajes nobiliarios de León y Castilla: Siglos IX-XIII. Salamanca: Junta de Castilla y León, Consejería de educación y cultura. ISBN 84-7846-781-5, p. 230.