เคน ดาเหลา
เคน ดาเหลา มีฉายาทางหมอลำกลอนว่า หมอลำเคนฮุด ปรมาจารย์ผู้มีความสามารถโดนเด่นด้านหมอลำกลอนแห่งภาคอีสานของประเทศไทย เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2473 ปีมะเมีย ที่บ้านหนองเต่า ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือตำบลหนองเต่า) เป็นบุตรของโอ๋ ดาเหลา และจันทร์แดง ดาเหลา มีพี่น้องรวม 7 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 4 คน
เคน ดาเหลา | |
---|---|
ลีลาการฟ้อนของหมอลำเคนฮุด | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
ชื่อเกิด | เคน ดาเหลา |
ชื่ออื่น | หมอลำเคนฮุด |
เกิด | 3 เมษายน พ.ศ. 2473 |
จุดกำเนิด | จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557 (84 ปี) |
บิดา | โอ๋ ดาเหลา |
มารดา | จันทร์แดง ดาเหลา |
คู่สมรส | เบ็ญ คำไม พูนทรัพย์ ผาลา คำภา ฤทธิทิศ บุญเพ็ง ไฝผิวชัย |
บุตร | 10 คน |
อาชีพ | ศิลปินพื้นบ้าน นักร้องหมอลำ |
ผลงานเด่น | ลำกลอนแตงสังหารสาว ฯลฯ |
รางวัล | |
ศิลปินแห่งชาติ | พ.ศ. 2534 - สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) |
ชีวิตวัยเยาว์
แก้พ.ศ. 2483 เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบ้านหนองเต่า ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ได้ออกมาทำนาทำไร่ช่วยบิดามารดา แต่ด้วยความสนใจในการแสดงพื้นบ้านอีสานคือหมอลำที่มีอยู่ในตัว ประกอบกับเป็นผู้มีแววศิลปินมาตั้งแต่เด็กๆ จึงได้เริ่มหัดลำ ลิเกพื้นบ้าน และหนังประโมทัยด้วยตนเอง
ชีวิตครอบครัว
แก้เคน ดาเหลา ได้ประกอบอาชีพทางด้านศิลปินด้วยการแสดงหมอลำเพียงอย่างเดียว จนประสบผลสำเร็จในด้านชื่อเสียง และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีพอสมควร จนสามารถสนับสนุนให้บุตรธิดาได้รับการศึกษาในระดับสูงๆ และประกอบอาชีพอย่างมั่นคงได้ หมอลำเคน ดาเหลา มีภรรยา และบุตรธิดา ดังนี้
- นางเบ็ญ คำไม มีบุตรธิดาร่วมกัน 3 คน
- นางพูนทรัพย์ ผาลา มีบุตรร่วมกัน 1 คน
- นางคำภา ฤทธิทิศ มีบุตรธิดาร่วมกัน 6 คน
- นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. 2540 ไม่มีบุตรธิดาร่วมกัน อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 528/155 หมู่บ้านแก่นทองธานี ต.บ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
การทำงานหมอลำ
แก้พ.ศ. 2489 ได้เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้านคือ โรคผีดาษ หรือ โรคไข้ทรพิษ ระบาดไปทั่วหมู่บ้านในอีสานผู้คนล้มตายมาก ชาวบ้านจึงแยกย้ายกันไปอยู่ตามทุ่งนา ไม่มีการพบปะกันเท่าที่ควร เคน ดาเหลา ก็ได้ไปอาศัยอยู่ที่ทุ่งนาของตน และใช้เวลาว่างนอนท่องกลอนลำเล่น โดยอาศัยการได้สัมผัสจดจำ ลีลาการแสดงและท่องกลอนที่จดจำมาจากหมอลำคง ดาเหลา ซึ่งเป็นพี่ชาย และเป็นหมอลำที่กำลังมีชื่อเสียงในละแวกบ้านของตน และได้ยึดลีลาท่าทางการแสดงและกลอนลำของพี่ชายเป็นหลักในการฝึก จนสามารถลำเองได้โดยไม่มีครูสอนให้
พ.ศ. 2491 หมอลำคง ดาเหลา ผู้เป็นพี่ชายได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน จึงได้นำกลอนลำที่ผู้เป็นพี่ชายได้จดบันทึกเอาไว้มาหัดท่องจนสามารถจดจำได้ เมื่อมีการแสดงจึงถูกนำขึ้นเป็นหมอลำแสดงแทนพี่ชายของตน และสามารถแสดงหมอลำกลอนได้เป็นอย่างดี จนได้รับความนิยมในหมู่ชาวอีสานอย่างรวดเร็ว
พ.ศ. 2500 เคน ดาเหลา ได้เริ่มหัดแต่งกลอนลำได้เอง โดยอาศัยวิธีการแต่งตามประสบการณ์ในการลำ และศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมตามแหล่งความรู้ต่างๆ ที่พอจะหาได้ จนสามารถแต่งกลอนเพื่อใช้ลำเอง และลูกศิษย์ได้ใช้ลำมากมาย กลอนลำที่ท่านแต่งจะมีลีลาและจังหวะที่แปลกไปจากกลอนลำของหมอลำอื่นๆ ในด้านเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น ในด้านศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีอีสาน ประวัติศาสตร์ นิทาน กลอนลำ แบบตลก กลอนลำเบ็ดเตล็ด เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นำเอาสำนวนภาษาอีสาน หรือสำนวนผญาอีสานมาแทรกไว้ในกลอนได้อย่างดียิ่ง จึงทำให้กลอนลำมีเนื้อหาสาระ สัมผัสคล้องจองที่ดี และมีภาษาที่ลึกซึ้งกินใจแก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง กลอนลำได้สอดแทรกด้านเนื้อหาสาระ และสัมผัสตามรูปแบบการประพันธ์ โดยอาศัยประสบการณ์ในการลำและกลอนลำของครูที่ใช้ลำมาเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่ติดตามข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่มิได้ขาด จึงทำให้ผลงานการแต่งกลอนลำของท่าน มีความสัมพันธ์กับสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างดี
พ.ศ. 2509 เคน ดาเหลา ได้ก่อตั้งโรงเรียนหมอลำที่บ้านหนองเต่า ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล และสำนักงานหมอลำ (ข้างวัดแจ้ง) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และมีลูกศิษย์เดินทางเข้ามาเล่าเรียนเป็นจำนวนมากจนมีชื่อเสียงโด่งดัง อาทิ ทองเจริญ ดาเหลา (บุตรชายของหมอลำคง ดาเหลา) ฉวีวรรณ ดำเนิน และบุญช่วง เด่นดวง เป็นต้น
ต่อมาเคน ดาเหลา ได้เปิดสำนักงานหมอลำร่วมกับหมอลำคำภา ฤทธิทิศ ที่ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ลูกศิษย์ที่เดินทางเข้ามาเล่าเรียนในยุคนี้มีบุญเสริม เพ็ญศรี อำพัน สร้อยสังวาลย์ และทองศรี ศรีรักษ์ เป็นต้น
พ.ศ. 2527 มูลนิธิญี่ปุ่น (The Japan Foundation) และบริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น (Japan Broadcasting Corporation) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ได้เชิญเคน ดาเหลา , บุญเพ็ง ไฝผิวชัย และฉวีวรรณ ดำเนิน ร่วมเดินทางไปทำการเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมอีสานที่ประเทศญี่ปุ่น
ด้วยการพัฒนาตนเองขึ้นมาเรื่อยๆ จึงทำใหมีลักษณะการลำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ท่วงท่าลีลาการฟ้อน น้ำเสียงก้องกังวาล มีคารมคมคาย ทั้งลำทางสั้น ลำทางยาว ลำเต้ย และลำเบ็ดเตล็ดอื่นๆ มีปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศในเชิงกลอนลำสด ที่เรียกว่า แตกลำ การใช้สำนวนผญาแบบอีสาน สำนวนกลอนที่มีความเฉียบคมลึกถึงใจผู้ฟังแล้วยังประกอบไปด้วยสาระที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จนเป็นหมอลำชั้นครูต้นแบบของการแต่งกลอนลำ และลำแม่บทที่เรียกว่า ลำแม่บท 32 ท่า ได้สมบูรณ์แบบที่สุด จึงทำให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และมีผู้คนนิยมกันเป็นวงกว้างทั่วภาคอีสาน จนเป็นได้รับการยอมรับในวงการหมอลำทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ขนานนามว่า บรมครูหมอลำ
การเสียชีวิต
แก้เคน ดาเหลา ได้ป่วยด้วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้ายมาร่วมเดือน โดยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557 สิริรวมอายุ 84 ปี นับเป็นการสูญเสียปูชนียาจารย์แห่งวงการหมอลำของภาคอีสาน
และวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ได้จัดให้มีงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดสว่างสุทธาราม บ้านหนองกุง ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
ผลงาน
แก้ผลงานด้านกลอนลำของเคน ดาเหลา ส่วนใหญ่เกี่ยวกับด้านการเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านศาสนาและความเชื่อ ด้านการศึกษา ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี และด้านการดำเนินชีวิตของผู้คน อาทิ
- ลำกลอนแตงสังหารสาว
- ลำกลอนฟ้อน 32 ท่า
- ลำกลอนต้นกำเนิดหมอลำ
- ลำกลอนล่องโขง
- ลำกลอนสอนผู้เฒ่า
- ลำกลอนสร้อยศาสนา
- ลำกลอนเว้าสาวสวนแตง
- ลำกลอนร่างกาย 32 อย่าง
- อัลบั้มเคนฮุดชุดเต้ย (ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสุดท้าย)
รางวัลและเกียรติคุณ
แก้- พ.ศ. 2531 ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2531 สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม
- พ.ศ. 2534 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. 2534 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2536 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)[1]
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ หน้า 73 เล่มที่ 110 ตอนที่ 36 22 มีนาคม 2536
- ประวัติ ศิลปินพื้นบ้าน เก็บถาวร 2007-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ศิลปะพื้นบ้าน เก็บถาวร 2007-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน