เข็มขัดพรหมจรรย์

เข็มขัดพรหมจรรย์ (อังกฤษ: chastity belt) เป็นชื่อเรียกเครื่องประแจโลหะสำหรับนุ่งห่ม ออกแบบขึ้นเพื่อขังบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้สวมไว้มิให้ถูกย่ำกราย มีความมุ่งประสงค์จะป้องกันผู้สวมมิให้ร่วมประเวณีหรือถูกชำเรา บางประเภทยังมีอุปกรณ์เสริมเพื่อกันมิให้ผู้สวมสำเร็จความใคร่ของตัวด้วย เข็มขัดนี้ใช้ได้กับทั้งชายและหญิง

  ภาพพิมพ์ไม้ในประเทศเยอรมนีสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเสียดสีว่า อันที่จริงเข็มขัดพรหมจรรย์นั้นไม่ช่วยรักษาพรหมจรรย์ได้ดังชื่อ
  ภาพแสดงหญิงผู้อ่อนเยาว์นางหนึ่ง (กลาง) ถูกสามีเฒ่า (ซ้าย) จับสวมเข็ดขัดพรหมจรรย์ลงกุญแจแน่นหนา นางล้วงกระเป๋าสามีหยิบเงินส่งให้ชายชู้ (ขวา) ซึ่งถือลูกกุญแจมาให้ แล้วนางกล่าวขึ้นว่า
  •    "ประแจใดก็ไร้ค่า   ฤๅสามารถกันสตรี
  •  มารยาบรรดามี   อีกเล่ห์กลย่อมดลไป
  •   ไม่รักคือไม่รัก   สุดจะหักใจภักดิ์ได้
  •  เงินทองผัวข้าไซร้   จึงใช้ซื้อลูกกุญแจ"
  •    ("Es hilft kain shloß für frauwen,
  •  kain trew mag sein dar lieb nit ist.
  •  Darumb ain slüssel, der mir gefelt.
  •  Den wöl ich kauffen umb dein gelt.")

ตามเรื่องร่ำลือสมัยใหม่ ว่ากันว่า ในยุคสงครามครูเสด มีการใช้เข็มขัดพรหมจรรย์เพื่อป้องกันเหตุต่าง ๆ อันอาจเกิดขึ้นเพราะความใคร่ในกามคุณ เช่น เมื่ออัศวินไปราชการสงคราม ภริยาของเขาจะสวมเข็มขัดพรหมจรรย์เพื่อรักษาตนเองให้ซื่อตรงต่อสามี กล่าวคือ เพื่อป้องกันมิให้ตนเองได้ร่วมเพศกับผู้ใดอันจะเป็นการนอกใจสามี อย่างไรก็ดี ไม่ปรากฏพยานหลักฐานอันชวนเชื่อว่า เข็ดขัดพรหมจรรย์เกิดขึ้นก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 15 นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า มีการใช้เข็มขัดพรหมจรรย์กันเป็นที่ประจักษ์ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา มากกว่าจะเป็นสมัยมัชฌิมยุคที่เกิดสงครามครูเสดนั้น

อนึ่ง กล่าวกันว่า ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา เข็มขัดพรหมจรรย์ยังบุผ้านวมเป็นซับใน เพื่อป้องกันมิให้แผ่นเหล็กอันใหญ่โตนั้นถูกเนื้อต้องหนังผู้สวม แต่นวมเหล่านี้ต้องเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้ ในทางปฏิบัติแล้ว จึงไม่สมควรใช้เข็มขัดต่อเนื่องยาวนาน การใช้ต่อเนื่องยาวนานเช่นกล่าวนั้นก่อให้อวัยวะเพศถูกเสียดสีขัดถูจนกลายเป็นแผล ติดเชื้อ เกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ และถึงตายได้[1]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Massimo Polidoro: "Myth of the Chastity Belts" Skeptical Inquirer: 35:5: September/October 2011: 27-28