เขื่อนบ้านพลวง

เขื่อนในจังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย

เขื่อนบ้านพลวง[a] หรือ เขื่อนพลวง เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียวสำหรับกักเก็บน้ำไว้สำหรับการใช้งานด้านชลประทาน และรองรับน้ำจากการผลิดกระแสไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งส่งมาจากเขื่อนทุ่งเพล ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี

เขื่อนบ้านพลวง
แนวสันเขื่อนบ้านพลวง
เขื่อนบ้านพลวงตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี
เขื่อนบ้านพลวง
ที่ตั้งของเขื่อนบ้านพลวงในจังหวัดจันทบุรี
ชื่อทางการโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล (เขื่อนบ้านพลวง)
ประเทศประเทศไทย
ที่ตั้งอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี
พิกัดภูมิศาสตร์12°48′19″N 102°09′18″E / 12.8052°N 102.1550°E / 12.8052; 102.1550
จุดประสงค์รองรับน้ำจากการผลิดกระแสไฟฟ้าพลังน้ำและจ่ายให้ระบบชลประทาน
เริ่มต้นการก่อสร้างมีนาคม พ.ศ. 2534
วันที่เปิดกรกฎาคม พ.ศ. 2537
เจ้าของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
โครงสร้างและทางน้ำล้น
ความสูง46.5 เมตร (153 ฟุต)
ความยาว1,100 เมตร (3,600 ฟุต)
กั้นคลองพลวง
ทางน้ำล้นทางระบายน้ำล้นสันมนแบบไม่มีประตูควบคุม
ชนิดทางน้ำล้นคอนกรีตหลา
ปริมาณน้ำล้น200.50 ลบ.ม./วินาที
อ่างเก็บน้ำ
อ่างเก็บน้ำเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว
ความจุ80 ล้าน ลบ.ม.
พื้นที่อ่าง14.00 ตารางกิโลเมตร
พื้นที่วัด ณ ระดับน้ำส่วนเหนือเขื่อน3.20 ตารางกิโลเมตร

เขื่อนบ้านพลวง อยู่ในตำแหน่งของเขื่อนล่าง ตามโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล[1] ภายใต้ความดูแลของ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน[2]

ประวัติ แก้

เขื่อนบ้านพลวง เป็นเขื่อนตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[2][3] สำหรับจัดหาแหล่งน้ำสำหรับกักเก็บในการอุปโภค บริโภค และใช้ในด้านการเกษตร รวมถึงผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งดำริขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2531 ในการเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร[4] โดยนางสิริพร ไศละสูต เลขาธิการพลังงานแห่งชาติในขณะนั้นได้ถ่ายทอดให้ฟังว่า[5]

"เมื่อถวายรายงานว่า หลังจากนี้กรมจะสร้างฝายยางเพื่อกั้นน้ำและปล่อยน้ำไปช่วยทางจังหวัดตราด พระองค์รับสั่งว่า "ยังไม่วิกฤติ ยังน้อย คนที่ต้องช่วยเขาก่อนจะอยู่ทางด้านทุ่งเพล เพราะขาดน้ำมากกว่า"...

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้รับกระแสพระราชดำริและมอบหมายให้เลขาธิการพลังงานแห่งชาติ (ปัจจุบันคือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน)[4] นำไปศึกษาและดำเนินการ[5]

จากนั้นสำนักงานพลังงานแห่งชาติได้ดำเนินการศึกษาและสำรวจรายละเอียดเพิ่มเติม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้รับการสำรวจเบื้องต้นแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2508 ด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลออสเตรเลีย จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาดำเนินการสำรวจศึกษาความเหมาะสมในปีงบประมาณ 2532 โดยแบ่งเขื่อนในโครงการเป็นสองส่วนคือ เขื่อนบน อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า ชื่อว่าเขื่อนทุ่งเพล และเขื่อนล่าง อยู่ในตำแหน่งต่ำกว่า คือเขื่อนบ้านพลวง เพื่อประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ[4]

โครงการก่อสร้างนั้นถูกวางขึ้นในช่วงปีงบประมาณ 2532 ถึงปีงบประมาณ 2541 ใช้ระยะเวลา 10 ปี ภายใต้งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 2,364 ล้านบาท โดยได้เริ่มต้นก่อสร้างส่วนของเขื่อนบ้านพลวง (เขื่อนล่าง) ก่อนเนื่องจากพื้นที่ไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยลงนามว่าจ้างบริษัท บางกอกมอเตอร์อีควิปเมนต์ จำกัด ดำเนินการก่อสร้างในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 และก่อสร้างเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2537 และเริ่มต้นใช้งานในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน[4]

 
เขื่อนบ้านพลวงอยู่บริเวณติดกับอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ

แต่ส่วนของเขื่อนทุ่งเพล (เขื่อนบน) สำนักงานพลังงานพลังงานแห่งชาติเห็นว่าแนวการวางท่อส่งน้ำเดิมที่บริษัทที่ปรึกษาออกแบบจะต้องมีการตัดหน้าดิน อาจจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้ขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลสวีเดนเพื่อให้ร่วมศึกษาและทบทวนแผนในการออกแบบเขื่อนทุ่งเพล (เขื่อนบน) ให้ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 และออกแบบแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536 แต่ก็ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ก่อสร้างส่วนหนึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ และเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว รวมถึงแนวอุโมงค์ส่งน้ำมายังเขื่อนบ้านพลวงบางส่วนอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 เอ โดยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2537 เห็นชอบในหลักการอนุญาตให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (สำนักงานพลังงานแห่งชาติเดิม) เข้าไปดำเนินการก่อสร้างเขื่อนทุ่งเพล (เขื่อนบน) ได้ พร้อมทั้งเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ที่จะก่อสร้างเขื่อนออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ออกจากเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า และผ่อนผันการใช้งานในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 เอ[4]

นอกจากนี้สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2537 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างเขื่อนบนและหาทางแก้ไขให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานจึงได้ว่างจ้งให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการศึกษาจนแล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2538[4]

ปัจจุบันโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพลได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2561[6] โดยมีอ่างเก็บน้ำบ้านพลวง (เขื่อนล่าง) เป็นแหล่งรับน้ำหลังจากการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งมาจากเขื่อนทุ่งเพล (เขื่อนบน)[4][1]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเดิม) ได้ว่าจ้างให้บริษัท บี แอนด์ ซี เมเนจเมนท์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสมและดำเนินการสำรวจออกแบบการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล ปรากฏออกมาเป็นรายงานในเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 จำนวน 3 โครงการ โดย 2 ใน 3 ของโครงการดำเนินการในเขื่อนบ้านพลวงในรูปแบบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กมากท้ายเขื่อนพลวง 1 และ 2 ให้พลังงานเฉลี่ยต่อปี 0.63 ล้านหน่วย และ 0.46 ล้านหน่วยตามลำดับ[7]

คุณสมบัติ แก้

เขื่อนบ้านพลวง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำคลองทุ่งเพล ซึ่งอยู่ในกลุ่มของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก[8] โดยคุณสมบัติในส่วนของเขื่อนล่าง คือเขื่อนบ้านพลวง ประกอบไปด้วย[4]

อ่างเก็บน้ำ แก้

 
สันเขื่อนและพื้นที่อ่างเก็บน้ำ

เขื่อนบ้านพลวง บริเวณอ่างเก็บน้ำมีพื้นที่รับน้ำขนาด 14 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี 36.27 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 1.15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับกักเก็บน้ำสูงสุด 70.00 ม.รทก. ใช้งานได้ต่ำสุด 38.00 ม.รทก. ความจุของอ่างที่ระดับใช้งาน 80.00 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับต่ำสุด 4.50 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ผิวอ่างเก็บน้ำจำนวน 3.20 ตารางกิโลเมตร รับน้ำจากคลองพลวง และอุโมงค์ส่งน้ำความยาว 5,955 เมตร จากเขื่อนทุ่งเพลเข้าสู่โรงไฟฟ้าพลังน้ำสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า และจ่ายน้ำลงในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนบ้านพลวง[1][9]

เขื่อน แก้

เขื่อนบ้านพลวง เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว มีความสูงที่ระดับสันเขือน 73.50 เมตร ความยาวสันเขื่อน 1,100.00 เมตร ความสูงจากระดับท้องน้ำ 46.50 เมตร ซึ่งมีปริมาณของเขื่อน 6.4 ล้านลูกบาศก์เมตร

อาคารน้ำล้น แก้

เขื่อนบ้านพลวง มีอาคารน้ำล้นแบบสันมนไม่มีประตูควบคุม (Uncontrol Overflow Ogee) ชนิดคอนกรีตหลา (Mass Concrete) ปริมาณน้ำล้น (1,000 ปี) 200.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ความสูงอาคาร 6.50 เมตร ความยาวสันอาคาร 17.50 เมตร ระดับสันอาคาร 71.50 ม.รทก. ความสูงของน้ำล้น 1.50 เมตร

ท่อส่งน้ำ แก้

เขื่อนบ้านพลวง ประกอบไปด้วยท่อส่งน้ำแบบท่อเหล็กหุ้มด้วยคอนกรีตรูปวงกลม จำนวน 2 ท่อ เส้นผ่าศูนย์กลางภายใน 2.00 เมตร ความาว 292 เมตร มีปริมาณน้ำส่งได้สูงสุดต่อท่อ 22.00 ลูกบากศ์ต่อวินาที

เขื่อนปิดกั้นช่องเขา แก้

 
เขื่อนปิดกั้นช่องเขาแห่งที่ 2 ความยาว 750 เมตร

เขื่อนบ้านพลวง ประกอบไปด้วยเขื่อนปิดกั้นช่องเขาจำนวน 2 แห่ง คือ

  • เขื่อนปิดกั้นช่องเขาแห่งที่ 1 เป็นเขื่อนดิน ระดับสันเขื่อน 73.50 ม.รทก. ความยาวสันเขื่อน 49 เมตร ความสูงเฉลี่ยจากระดับพื้นดิน 1.50 เมตร ความลาดในด้านหน้าเขื่อน (แนวดิ่ง:แนวนอน) 1:3 ความลาดชันด้านหลังเขื่อน 1:2.5
  • เขื่อนปิดกั้นช่องเขาแห่งที่ 2 เป็นเขื่อนดิน ระดับสันเขื่อน 73.50 ม.รทก. ความยาวสันเขื่อน 750 เมตร ความสูงเฉลี่ยจากระดับพื้นดิน 35.50 เมตร ความลาดในด้านหน้าเขื่อน (แนวดิ่ง:แนวนอน) 1:3 ความลาดชันด้านหลังเขื่อน 1:2.5 ปริมาตรของเขื่อน 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร

พื้นที่ชลประทาน แก้

เขื่อนบ้านพลวงนั้น ให้บริการน้ำสำหรับทำการเกษตรในพื้นที่ชลประทานกว่า 58,822 ไร่ ครอบคลุมเนื้อที่อำเภอเขาคิชฌกูฏ ในตำบลพลวง ตำบลตะเคียนทอง (บางส่วน) และพื้นที่อำเภอมะขาม ในตำบลฉมัน และตำบลวังแซ้ม[10] ด้วยระบบสูบน้ำผ่านท่อเหล็กและท่อใยหินฝังดิน เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.40 - 1.50 เมตร ความยาว 58.925 กิโลเมตร โดยสถานีสูบน้ำ 4 แห่ง เข้าสู่พื้นที่ชลประทาน แบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งตะวันออก พื้นที่รับน้ำ 23,365 ไร่ และฝั่งขวา (ตะวันตก) พื้นที่รับน้ำ 26,557 ไร่[9]

การท่องเที่ยว แก้

เขื่อนบ้านพลวง อยู่ใกล้เคียงกับรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง) จึงทำให้เขื่อนบ้านพลวงกลายเป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวก่อนเดินทางขึ้นไปนมัสการพระบาทพลวงในช่วงงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง) และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในพื้นที่ และออกกำลังกายบริเวณถนนตามแนวสันเขื่อน เนื่องจากอยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ทำให้มีอากาศที่บริสุทธิ์ สดชื่น และธรรมชาติที่สวยงาม[11][12]

นอกจากนี้ เขื่อนบ้านพลวงยังมีความสวยงามในรูปแบบของทะเลหมอกในช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตกดิน โดยจะเกิดขึ้นเฉพาะบางช่วงเวลาของปีตามสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ในขณะนั้น[11]

ระเบียงภาพ แก้

หมายเหตุ แก้

  1. ใช้คำว่าเขื่อนบ้านพลวง ตามเอกสารโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล ซึ่งประกอบไปด้วยเขื่อนทุ่งเพล (เขื่อนบน) และเขื่อนบ้านพลวง (เขื่อนล่าง)

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "รมว.พลังงานตามความคืบหน้าโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล". mgronline.com. 2008-10-17.
  2. 2.0 2.1 องคมนตรี ไปติดตามการดำเนินงานโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร จังหวัดจันทบุรี, สืบค้นเมื่อ 2023-04-28
  3. "โครงการ เขื่อนบ้านพลวง". km.rdpb.go.th.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (1995). "โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี" (PDF). e-lib.dede.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 "พลังงานในพระราชดำริ". www.eppo.go.th.
  6. "ผลักดันโรงไฟฟ้าพลังน้ำเมืองจันทร์". Thai Post | อิสรภาพแห่งความคิด (ภาษาอังกฤษ).
  7. "โครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี - ระบบสารสนเทศองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน". kc.dede.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. กระทรวงพลังงาน, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. "โครงการด้านพัฒนาพลังงานทดแทน : โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก" (PDF). e-lib.dede.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. 9.0 9.1 "โครงการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานโครงการด้านอนุรักษ์พลังงานและด้านพลังงานทดแทนในระยะที่ผ่านมา - ระบบสารสนเทศองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน". kc.dede.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. ""อนันตพร"ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์พลังงานภาคตะวันออก". thansettakij. 2016-12-16.
  11. 11.0 11.1 "เขื่อนพลวง ทะเลหมอก อีก 1 แห่ง ของจันทบุรี". www.chill-gang.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "เขื่อนบ้านพลวง จันทบุรี". www.thai-tour.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)