เขตพิเศษของโตเกียว
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
เขตพิเศษ (ญี่ปุ่น: 特別区; โรมาจิ: tokubetsu-ku; ทับศัพท์: โทกูเบ็ตสึ-กุ) เป็นเขตการปกครองระดับเทศบาลในมหานครโตเกียวซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 23 เขต โดยในอดีตถือเป็นส่วนของนครโตเกียว อันเป็นเมืองหลวงของจังหวัดโตเกียว (東京府 โตเกียว-ฟุ) ต่อมาในปี ค.ศ. 1943 ได้มีการจัดตั้งมหานครโตเกียวขึ้นเป็นเขตปกครองรูปแบบพิเศษ และมีการแบ่งนครโตเกียวออกเป็น 23 เขต แต่ละเขตมีสิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีประจำเขตและปกครองตัวเองโดยอิสระจากมหานครโตเกียว ตามกฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่น (地方自治法 ชิโฮ-จิชิ-โฮ) ชาวญี่ปุ่นมักเรียกทั้งเขตทั้ง 23 อย่างง่าย ๆ ว่า "นิจูซังกุ" (23区)
เขตพิเศษของโตเกียว 東京特別区 | |
---|---|
ที่ตั้งในสีเขียว | |
ประเทศ | ญี่ปุ่น |
เกาะ | ฮนชู |
ภูมิภาค | คันโต |
จังหวัด | โตเกียว |
พื้นที่ | |
• เขตพิเศษ | 627.57 ตร.กม. (242.31 ตร.ไมล์) |
ประชากร (1 มิถุนายน ค.ศ. 2020) | |
• เขตพิเศษ | 9,693,701 คน |
• ความหนาแน่น | 15,446 คน/ตร.กม. (40,000 คน/ตร.ไมล์) |
ประวัติ
แก้ก่อนปี ค.ศ. 1943 กรุงโตเกียวถือเป็นจังหวัดหนึ่งเทียบเท่ากับจังหวัดอื่น ๆ และในจังหวัดโตเกียวก็ประกอบด้วยหลาย ๆ เทศบาล เทศบาลนครโตเกียวถือเป็นหนึ่งในนั้นและถือเป็นเมืองหลวงของจังหวัดโตเกียว และในนครโตเกียวก็แบ่งออกเป็น 35 เขต
วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1943 มีการยุบเทศบาลนครโตเกียว จังหวัดโตเกียวถูกยกฐานะเป็นกรุงโตเกียว ทั้ง 35 เขตถูกโอนไปขึ้นตรงกับองค์การปกครองกรุงโตเกียว[1]
วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1947 จากเดิมที่นครโตเกียวมี 35 เขต ถูกแบ่งใหม่ให้เป็น 22 เขต
วันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1947 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่น เป็นผลให้เขตทั้ง 22 เขตเดิม ยกฐานะขึ้นเป็นเขตพิเศษของกรุงโตเกียว
วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1947 ได้มีการประกาศให้เขตเนริมะ เป็นเขตพิเศษที่ 23 ของกรุงโตเกียว
ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา เขตพิเศษของกรุงโตเกียวได้รับอำนาจบริหารที่อิสระกว่าเทศบาลในจังหวัดอื่น แต่ละเขตสามารถเลือกนายกเทศมนตรีเขต (区長 kuchō) และสภาเขต (区議会 kugikai) ของตัวเอง
ใน ค.ศ. 2000 รัฐสภาของญี่ปุ่นมอบอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น (地方公共団体 ชิโฮ โคเกียว ดันไต) ให้เขตพิเศษทั้ง 23 เขตของกรุงโตเกียว ส่งผลให้แต่ละเขต (区 กุ) มีฐานะเทียบเท่ากับนคร (市 ชิ)
เขตพิเศษต่าง ๆ มีขนาดต่างกันตั้งแต่ 10–60 ตารางกิโลเมตร และจำนวนประชากรก็ต่างกันตั้งแต่ 40,000–830,000 คน บางเขตมีเกาะที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยการถมทะเล เขตที่มีประชากรมากที่สุดคือเขตเซตางายะ (世田谷区 Setagaya-ku) และเขตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือเขตโอตะ
จำนวนประชากรของเขตพิเศษทั้ง 23 เขตของกรุงโตเกียวจากการสำรวจจำนวนประชากรเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2010 มีจำนวน 8,846,580 คน[2] คิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรของกรุงโตเกียว และ 1 ใน 4 ของประชากรในกรุงโตเกียวและปริมณฑล (首都圏 ชุโตเก็ง) มีความหนาแน่นประชากร 13,800 คนต่อตารางกิโลเมตร
รายชื่อเขตพิเศษ (เรียงลำดับตามตัวอักษรโรมัน)
แก้*จำนวนประชากร ณ เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2007
เขต | คันจิ (ตัวโรมัน) |
ประขากร* | ความหนาแน่น (/กม.²) |
พื้นที่ (กม.²) |
ย่านที่มีชื่อเสียง |
---|---|---|---|---|---|
อาดาจิ | 足立区 (Adachi-ku) |
629,392 | 11,830.68 | 53.20 | อายาเซะ, คิตะเซ็นจู, ทาเกโนะสึกะ |
อารากาวะ | 荒川区 (Arakawa-ku) |
194,777 | 18,262.25 | 10.20 | อารากาวะ, มาจิยะ, นิปโปริ, มินามิเซ็นจู |
บุงเกียว | 文京区 (Bunkyō-ku) |
194,933 | 16,009.28 | 11.31 | ฮนโง, ยาโยอิ, ฮากุซัน |
ชิโยดะ | 千代田区 (Chiyoda-ku) |
43,802 | 3,763.06 | 11.64 | นางาตะโจ, คาซูมิงาเซกิ, โอเตมาจิ, มารูโนอูจิ, อากิฮาบาระ, ยูรากุโช, ไอดะบาชิ |
ชูโอ | 中央区 (Chūō-ku) |
104,997 | 10,344.53 | 10.15 | นิฮมบะชิ, คะยะบะโจ, กินซะ, สึกิจิ, ฮัจโจโบะริ, ชินกะวะ, สึกิชิมะ, คะจิโดะกิ, สึกุดะ, |
เอโดงาวะ | 江戸川区 (Edogawa-ku) |
661,386 | 13,264.86 | 49.86 | คะซะอิ, โคะอิวะ |
อิตาบาชิ | 板橋区 (Itabashi-ku) |
529,059 | 16,445.72 | 32.17 | อิตาบาชิ, ทากาชิมะไดระ |
คัตสึชิกะ | 葛飾区 (Katsushika-ku) |
428,066 | 12,286.62 | 34.84 | ทะเตะอิชิ, อะโอะโตะ |
คิตะ | 北区 (Kita-ku) |
330,646 | 15,885.67 | 20.59 | อะกะบะเนะ, โอจิ, ทะบะตะ |
โคโต | 江東区 (Kōtō-ku) |
436,337 | 10,963.24 | 39.8 | คิบะ, อะริอะเกะ, คะเมโดะ, โทโยโช, มนเซ็นนะกะโช, ฟุกะงะวะ, คิโยะซุมิ, ชิระกะวะ, เอ็ทชูจิมะ, ซุนะมะจิ, อะโอะมิ |
เมงูโระ | 目黒区 (Meguro-ku) |
267,798 | 18,217.55 | 14.70 | เมะงุโระ, นะกะเมะงุโระ, จิยุงะโอะกะ |
มินาโตะ | 港区 (Minato-ku) |
205,196 | 10,088.30 | 20.34 | อะกะซะกะ, รปปงงิ, โอะไดบะ, ชินบะชิ, ชินะงะวะ, โทะระโนะมง, อะโอะยะมะ, อะซุบุ, ฮะมะมะสึโช, ทะมะจิ |
นากาโนะ | 中野区 (Nakano –ku) |
312,939 | 20,097.82 | 15.59 | นะกะโนะ |
เนริมะ | 練馬区 (Nerima-ku) |
702,202 | 14,580.61 | 48.16 | เนะริมะ, โออิซุมิ, ฮิกะริงะโอะกะ |
โอตะ | 大田区 (Ōta-ku) |
674,590 | 11,345.27 | 59.46 | โอโมะริ, คะมะตะ, ฮะเนะดะ, เด็งเอ็งโจฟุ |
เซตางายะ | 世田谷区 (Setagaya-ku) |
855,416 | 14,728.23 | 58.08 | เซะตะงะยะ, คิตะซะวะ, คิตุตะ, คะระซุยะมะ, ทะมะงะวะ |
ชิบูยะ | 渋谷区 (Shibuya-ku) |
205,512 | 13,337.13 | 15.11 | ชิบุยะ, เอะบิซุ, ฮะระจุกุ, ฮิโระโอะ, , เซ็นดะงะยะ, โยะโยะงิ |
ชินางาวะ | 品川区 (Shinagawa-ku) |
353,887 | 15,576.01 | 22.72 | ชินะงะวะ, โกะตันดะ, โอซะกิ |
ชินจูกุ | 新宿区 (Shinjuku-ku) |
309,463 | 16,975.48 | 18.23 | ชินจุกุ, ทะกะดะโนะบะบะ, โอกุโบะ, คะงุระซุกะ, อิจิงะยะ |
ซูงินามิ | 杉並区 (Suginami-ku) |
534,981 | 15,725.49 | 34.02 | โคเอ็นจิ, อะซะงะยะ, โอะงิกุโบะ |
ซูมิดะ | 墨田区 (Sumida-ku) |
237,433 | 16,079.49 | 13.75 | คินชิโช, โมะริชิตะ, เรียวโงะกุ |
โทชิมะ | 豊島区 (Toshima-ku) |
256,009 | 19,428.44 | 13.01 | อิเคะบุกุโระ, โคะมะโงะเมะ, เซ็งกะวะ, ซุงุโมะ |
ไทโต | 台東区 (Taitō-ku) |
168,277 | 16,139.38 | 10.08 | อูเอโนะ, อาซากูซะ |
รวมทั้งหมด | 8,637,098 | 13,890.25 | 621.81 |
สถานที่ที่มีชื่อเสียง
แก้สถานที่ที่มีชื่อเสียงในย่านต่าง ๆ เขตพิเศษทั้ง 23 เขตมีดังต่อไปนี้
- อากาซากะ (赤坂 Akasaka) : อยู่ในเขตมินาโตะ เป็นย่านที่มีภัตตาคารร้านอาหาร สถานบันเทิง และโรงแรมมากมาย นอกจากนี้ยังมีถนนคนเดินเล็ก ๆ ให้ได้สัมผัสชีวิตชาวโตเกียวท้องถิ่น ตั้งอยู่ติดกับเขตรปปงงิ และอาโอยามะ
- อากิฮาบาระ (秋葉原 Akihabara) : อยู่เขตไทโตและเขตชิโยดะ เป็นย่านที่เต็มไปด้วยร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เกม การ์ตูน และของเล่น
- อาโอยามะ (青山 Aoyama) : อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเขตมินาโตะ เป็นย่านที่พักอาศัยของผู้มีฐานะ รวมทั้งมีสวนสาธารณะ ร้านอาหารนานาชาติ ร้านกาแฟทันสมัย สถานีรถไฟใต้ดินโอโมเตะซันโด และสุสานอาโอยามะ อันใหญ่โตด้วย
- กินซะ (銀座Ginza) และ ยูระกุโช : ย่านกินซะอยู่ในเขตชูโอ ส่วนย่านยูระกุโชอยุ่ในเขตชิโยดะ (千代田区 Chiyoda-ku) ทั้งสองย่านนี้เป็นย่านศูนย์การค้าและแหล่งบันเทิง มีห้างสรรพสินค้าที่ขายสินค้าหรูหรา โรงภาพยนตร์ และโรงละคร
- อิเกะบุกุโระ (池袋 Ikebukuro) : อยู่ในเขตโทชิมะ เป็นย่านที่มีชุมทางรถไฟและรถไฟใต้ดินที่จอแจที่สุดของตอนเหนือของโตเกียว มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ชื่อซันชายน์ซิตี (Sunshine City)
- จิมโบโช (神保町 Jinbōchō) : อยู่ในเขตชิโยดะ เป็นย่านที่เต็มไปด้วยร้านหนังสือมือสอง สำนักพิมพ์ และร้านขายของเก่ามากมาย
- มารูโนอูจิ (丸の内 Marunouchi) และโอเตมาจิ : อยู่ในเขตชิโยดะ อยู่ติดกับสถานีรถไฟโตเกียว และพระราชวังหลวงโตเกียว เป็นย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจและการเงินของโตเกียว เต็มไปด้วยอาคารสูงเสียดฟ้ามากมาย ที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของธนาคารหลายธนาคาร และสำนักงานของบริษัทใหญ่ ๆ นอกจากนี้ยังมีศูนย์การค้าและแหล่งบันเทิงด้วย
- นะงะตะโช (永田町 Nagata-chō) : อยู่ในเขตชิโยดะ เป็นย่านที่เป็นหัวใจของการปกครองของญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นที่ตั้งของอาคารสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ทำการของกระทรวงและพรรคการเมืองต่าง ๆ
- โอะไดบะ (お台場 Odaiba) : อยู่ในเขตโคโตและเขตชินางาวะ เป็นเกาะที่มนุษย์สร้างขึ้นจากการถมทะเล เป็นแหล่งศูนย์การค้าและบันเทิงที่กำลังได้รับความนิยม
- โอโมเตะซันโด (表参道 Omotesandō) : อยู่ในเขตมินาโตะและเขตชิบูยะ เป็นย่านที่มีร้านสินค้ายี่ห้อหรูหราตั้งเรียงรายตลอดถนน
- รปปงงิ (六本木 Roppongi) : อยู่ในเขตมินาโตะ เป็นย่านที่เป็นที่ตั้งของสถานทูตของหลายประเทศ จึงทำให้ชาวต่างชาติรวมตัวอยู่ในย่านนี้จำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นย่านที่มีสถานบันเทิงยามค่ำคืนอยู่มากมาย และยังเป็นที่ตั้งของอาคารรปปงงิฮิลส์ ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่มีทั้งสำนักงาน ศูนย์การค้า และสถานบันเทิง
- เรียวโงกุ (両国 Ryōgoku) : อยู่ในเขตซูมิดะ เป็นศูนย์กลางของซูโม่ของโลก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสนามกีฬาแห่งชาติเรียวโงกุ (両国国技館 Ryōgoku Kokugi-kan) ซึ่งเป็นสนามซูโม่ที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น และมีสำนักซูโม่หรือเฮยะ (部屋 heya) ตั้งอยู่มากมาย
- ชิบุยะ (渋谷区 Shibuya-ku) : เป็นเขตศูนย์รวมห้างสรรพสินค้า แฟชั่น สถานบันเทิงยามราตรี และเป็นแหล่งวัยรุ่นที่มีเชื่อเสียงมานาน
- ชินะงะวะ (品川区 Shinagawa-ku) : เป็นที่ตั้งของสถานชินะงะวะ ทางด้านตะวันตกของสถานีมีโรงแรมขนาดใหญ่มากมาย ส่วนทางด้านตะวันออกที่เคยเงียบเหงา ปัจจุบันถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ของโตเกียว
- ชิมบะชิ (新橋 Shinbashi) : อยู่ในเขตมินาโตะ เป็นย่านที่เคยเงียบเหงาแต่กลับคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากเป็นประตูสู่ย่านโอะไดบะและย่านตึกสูงชิโอะโดะเมะ (汐留 Shiodome)
- ชินจุกุ (新宿区 Shinjuku-ku) : เป็นเขตตึกสูงยุคแรก ๆ ของโตเกียวตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้า ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และโรงแรมหลายแห่ง รวมถึงเป็นที่ตั้งของศาลาว่าการกรุงโตเกียว มีสถานีรถไฟชินจูกุ อันเป็นสถานีที่มีคนสัญจรผ่านประมาณสามล้านคนต่อวัน ถือเป็นสถานีรถไฟที่คับคั่งที่สุดในโลก ทางด้านตะวันออกของสถานีชินจุกุ เป็นย่านคาบูกิโช ซึ่งเป็นย่านสถานเริงรมณ์ยามราตรี
- อุเอะโนะ (上野 Ueno) : อยู่ในเขตไทโต เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟอูเอโนะ อันเป็นชุมทางของรถไฟที่จะไปทางด้านเหนือของโตเกียว หน้าสถานีมีตลาดอาเมะโยโกะ (アメ横) ด้านข้างสถานีมีสวนอุเอะโนะ (上野公園) สวนสัตว์อูเอโนะ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายแห่ง ในฤดูใบไม้ผล สวนอุเอะโนะและบึงชิโนะบะซุ (不忍池 ชิโนะบะซุ โนะ อิเกะ) ที่อยู่ข้าง ๆ จะกลายเป็นสถานที่ชมดอกซากูระ หรือ ฮะนะมิ (花見) ที่มีผู้คนคับคั่ง
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- คำอธิบายเขตการปกครองพิเศษโดยศาลาว่าการกรุงโตเกียว เก็บถาวร 2014-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ภาษาอังกฤษ)
- สถิติโดยศาลาว่าการกรุงโตเกียว เก็บถาวร 2006-01-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ภาษาญี่ปุ่น)
อ้างอิง
แก้- ↑ Kurt Steiner, Local government in Japan, Stanford University Press, 1965, p. 179
- ↑ "TOKYO STATISTICAL YEARBOOK 2010, Population by District". Statistics Division, Bureau of General Affairs, Tokyo Metropolitan Government. 2012-07-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (XLS)เมื่อ 2020-08-11.