เกาะแสมสาร
เกาะแสมสาร เป็นหนึ่งใน 9 เกาะของหมู่เกาะแสมสาร ตั้งอยู่ในเขตตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี อยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ เปิดให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมได้แบบไปเช้าเย็นกลับ ไม่สามารถพักค้างคืนได้ โดยนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน
กองทัพเรือทำการฝึกที่เกาะแสมสาร | |
ภูมิศาสตร์ | |
---|---|
พื้นที่ | 4.22 ตารางกิโลเมตร (1.63 ตารางไมล์) |
การปกครอง | |
จังหวัด | จังหวัดชลบุรี |
อำเภอ | อำเภอสัตหีบ |
ตำบล | ตำบลแสมสาร |
ข้อมูลอื่น ๆ | |
เขตเวลา | |
รหัสไปรษณีย์ | 15250 |
เกาะแสมสารมีรูปทรงยาวรี มีเนื้อที่ 4.22 ตารางกิโลเมตร ดินเป็นดินลูกรังปนหินลูกรัง มีภูเขาขนาดใหญ่ 1 ลูก สูงประมาณ 167 เมตร อยู่ทางทิศเหนือของเกาะ มีภูเขาขนาดย่อม 1 ลูก สูงประมาณ 159 เมตร อยู่ทางทิศใต้ของเกาะ ชายหาดบนเกาะแสมสารมีด้วยกัน 5 หาด แต่สามารถเล่นน้ำและดำน้ำได้ 2 หาด คือหาดเทียนและหาดลูกลม ชายหาดบนเกาะแสมสารมีทรายขาว น้ำทะเลใส[1]
ในอดีตมีชุมชนอาศัยอยู่บนเกาะแสมสาร ประกอบอาชีพทำประมง แต่ต่อมาทางราชการได้ขอมาใช้พื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ ชาวบ้านจึงได้ย้ายมาบนฝั่ง[2] เมื่อ พ.ศ. 2541 กองทัพเรือเข้าสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (โครงการ อพ.สธ.) และได้น้อมเกล้าฯ ถวายการใช้พื้นที่เกาะแสมสารและเกาะข้างเคียงรวม 9 เกาะเป็นพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชทางทะเลของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ[3]
ชายหาด
แก้- หาดเทียน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะ มีความยาวทอดตัวจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ลักษณะของหาดเป็นชายหาดหินสลับกับหาดทรายและหาดกรวด เขตน้ำขึ้นน้ำลงเป็นพื้นที่ราบกว้างมากและมีแอ่งน้ำขัง (lagoon) ขนาดใหญ่ ชายหาดยังเป็นแหล่งสาหร่ายทะเลกลุ่มต่าง ๆ สิ่งมีชีวิตที่พบมีความหลากหลายมาก เช่น ปลิงทะเล ฟองน้ำทะเล เม่นทะเล หอยทะเล ปลาทะเลในแอ่งน้ำขัง
- หาดหน้าบ้าน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะ ในอดีตเคยมีชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ ลักษณะของหาดเป็นชายหาดหาดทรายทอดยาวไปจนจรดภูเขาทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นหาดกรวดต่อเนื่องกับหาดหินเชิงเขา เขตน้ำขึ้นน้ำลงในส่วนที่เป็นชุมชนแคบและขยายออกกว้างขึ้นใกล้กับเชิงเขา เข้าใจว่าบริเวณนี้เป็นที่สะสมตะกอนจากการขึ้นลงของน้ำทะเล รวมทั้งเมื่อน้ำลงจะพบสันทรายกั้นพื้นที่ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกกลายเป็นทะเลแหวก สิ่งมีชีวิตที่พบมีความหลากหลายพอสมควรและมีลักษณะเด่นตรงบริเวณหาดกรวดที่มีชุมชนของหอยเฉลียบ (Isognomon spp.) และหอยจอบ (Pinna sp.) และฟองน้ำถูตัวสีดํา (Spongia sp.)
- หาดลูกลม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ ที่มาของชื่อหาดมาจากเมล็ดพันธุ์ของหญ้าลอยลมที่มีขึ้นอยู่มากบริเวณชายหาดแห่งนี้ เมื่อเมล็ดพันธ์ของหญ้าหลุดจากขั้วก็จะลอยตามลม ลักษณะของหาดเป็นชายหาดหาดทรายทอดยาวในแนวเหนือใต้ไปจนจรดภูเขาซึ่งเป็นหาดกรวดมนแตกต่างจากหาดหน้าบ้านที่เป็นกรวดเหลี่ยม ชายหาดบริเวณหาดลูกลมมีความละเอียดมากและขาวสะอาด ด้านหน้าหาดเป็นแนวปะการังที่มีความลาดชันน้อย มีร่องน้ำแคบๆขวางกั้นก่อนที่จะไปถึงเกาะปลาหมึกที่มีแนวปะการังน้ำตื้นค่อนข้างสมบูรณ์ เขตน้ำขึ้นน้ำลงบริเวณหาดทรายของหาดลูกลมค่อนข้างแคบ พบปูลมค่อนข้างมาก ส่วนหาดหินทางทิศเหนือเป็นหินเชิงเขาทอดยาวลงไปจรดทะเล บริเวณนี้มีหอยนางรมเจริญขึ้นอยู่เป็นจํานวนมาก หาดหินและแนวปะการังทางทิศใต้เป็นแนวปะการังที่มีรูปทรงการเจริญแบบก้อนเป็นชนิดเด่น และมีสาหร่ายเจริญอยู่ปะปนกับปะการัง
- หาดเตย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะ ที่มาของชื่อหาดมาจากมีต้นเตยทะเลขึ้นอยู่ ลักษณะของหาดเป็นชายหาดหาดทรายทอดยาวในแนวเหนือใต้ไปจนจรดภูเขาที่ขนาบทั้งสองด้าน ทําให้มีลักษณะเป็นอ่าวค่อนข้างลึก มีรายงานว่าเต่าทะเลมักจะขึ้นมาวางไข่ ณ ชายหาดแห่งนี้
อ้างอิง
แก้- ↑ "เกาะแสมสาร". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
- ↑ พงษ์ชัย ดำรงโรจน์วัฒนา. "การจัดลำดับความสำคัญของเกาะต่างๆ ในพื้นที่ อพ.สธ. ในการอนุรักษ์ปักษาพรรณ : รายงานผลการดำเนินงาน" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- ↑ สุเมตต์ ปุจฉาการ; สิรินทร เทพมังกร; เศรษฐพงษ์ ปุจฉาการ. "การพัฒนาทรัพยากรชีวภาพทางทะเลบริเวณหมู่เกาะแสมสาร จังหวัดชลบุรีเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์". มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)