เกา ฉางกง

(เปลี่ยนทางจาก เกาฉางกง)

เกา ฉางกง (อังกฤษ: Gao Changgong; จีน: 高长恭; พินอิน: Gāo Chánggōng) หรือชื่อเดิมว่า เกา ซู (Gao Su; จีนตัวเต็ม:高肅; จีนตัวย่อ: 高肃; Gāo Sù) หรือ เกา เซี่ยวกวาน (高孝瓘; Gao Xiaoguan) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ หลานหลิงหวาง หรือ เจ้าชายแห่งหลานหลิง (蘭陵王; Prince of Lanling) เป็นบุคคลสำคัญที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์จีนในยุคราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ.420–589)

รูปปั้นเกา ฉางกง ที่ศาลเจ้าอิสึกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น

เกา ฉางกง เกิดเมื่อปี ค.ศ. 541 เป็นโอรสองค์ที่ 4 ของเกา เฉิง โอรสของจักรพรรดิฉีเซียนหวู่ตี้ หรือเกา ฮวน บิดาแห่งราชวงศ์ฉีเหนือ เกาฉางกง ได้ชื่อว่าเป็นบุรุษที่ใบหน้างดงามราวอิสตรี เป็นหนึ่งในสี่บุรุษรูปงามที่สุดที่ปรากฏในประวัติศาสตร์จีน แต่เกา ฉางกงกลับมีความสามารถในการสู้รบเป็นที่ประจักษ์ เกา ฉางกงมีชื่อเสียงเลื่องลือในด้านที่เป็นบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียรในการเล่าเรียน, อุปนิสัยที่สุภาพและความสามารถในการทหาร แต่ด้วยใบหน้าที่งดงามราวอิสตรีทำให้เมื่อออกศึก จึงเกรงว่าศัตรูจะไม่เกรงกลัว รวมถึงทหารใต้บังคับบัญชาจะไม่เชื่อฟัง จึงทำให้ต้องสวมหน้ากากปีศาจทุกครั้งในการออกรบ ในการรบที่สร้างชื่อมากที่สุด คือ เมื่อปี ค.ศ. 564 เมื่อกองทัพของราชวงศ์โจวเหนือยกมารุกรานเมืองจินหยง (ใกล้กับเมืองลั่วหยางในปัจจุบัน) ของฉีเหนือ เกา ฉางกงเป็นแม่ทัพนำทหารออกรบ เกา ฉางกงนำทหารม้า 500 คน รักษาเมืองจินหยง ต่อต้านกองทัพโจวเหนือที่กำลังมากถึง 100,000 คน เกา ฉางกงรบด้วยความกล้าหาญบุกตะลุยเข้าไปในกองทัพข้าศึก ทำให้ทหารโจวเหนือที่เห็นต่างกลัวเกรงกลัว และทหารฝ่ายฉีเหนือฮึกเหิมได้กำลังใจ จนเมื่อกองทัพโจวเหนือแตกพ่ายไปแล้ว เกา ฉางกงได้นำทหารม้า 500 คนเข้าเมืองจินหยง แต่ทหารฉีเหนือที่รักษาเมืองไม่แน่ใจว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ จึงไม่ยอมให้เข้าเมือง ทำให้เกา ฉางกงต้องถอดหมวกแม่ทัพรวมถึงหน้ากากปีศาจออก แสดงให้เห็นใบหน้าที่แท้จริง เหล่าทหารได้ไชโยโห่ร้อง และเปิดประตูเมืองต้อนรับเกา ฉางกงเยี่ยงวีรบุรุษ และได้มีการแต่งเพลงในชื่อ "เจ้าชายหลานหลิงในสมรภูมิ" (兰陵王入阵曲; Prince Lanling in Battle) เพื่อสดุดีเกียรติ โดยมีการเต้นรำด้วยการสวมใส่หน้ากากเหมือนเกา ฉางกง ในระยะแรกเชื่อว่าเป็นการการเต้นที่เน้นไปในทางดุเดือดหรือการต่อสู้ จนกระทั่งถึงยุคราชวงศ์ถังก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ แต่มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นการเต้นที่สวยงาม จนกระทั่งถึงรัชสมัยจักรพรรดิถังเสียนจง จึงได้มีการห้าม แต่กลับไปเผยแพร่และได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นแทน[1] โดยเป็นการแสดงระดับราชสำนัก และยังคงมีการเต้นเช่นนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งเรื่องของการสวมหน้ากากนี้เชื่อว่าเป็นส่งอิทธิพลมาถึงการแสดงงิ้วด้วย จนเกิดเป็นการแต่งหน้าตัวละครงิ้วด้วยสีสันและลวดลายต่าง ๆ [2]

เมื่อพระญาติผู้น้อง คือ เกา เว่ย ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิโหวจู่ แห่งราชวงศ์ฉีเหนือ ได้ทรงระแวงว่า เกาฉางกง อาจจะก่อการรัฐประหาร เนื่องจากเป็นผู้ได้รับความนิยมอย่างมากในราชสำนักและราษฎร โดยครั้งหนึ่งในงานเลี้ยงฉลองชัยชนะ พระองค์ตรัสกับเกา ฉางกงว่า ไม่ประสงค์ให้เกา ฉางกงขี่ม้าบุกตะลุยเข้าไปในแดนข้าศึก จะเป็นอันตราย แต่เกา ฉางกง ทูลตอบว่า ตนเองไม่เกรงกลัว นี่เป็นหน้าที่ที่ต้องรับใช้วงศ์ตระกูล เหล่าขุนนางได้ยินเช่นนั้นก็โห่ร้องสรรเสริญ จักรพรรดิโฮ่วจูจึงระแวงโดยเฉพาะคำว่า "รับใช้วงศ์ตระกูล" [1] เกา ฉางกงจึงปลีกตัวออกจากราชสำนักและการเมือง ที่สุดหลังการออกรบกับราชวงศ์โจวเหนือ เกา ฉางกงได้รับพระราชทานสุราพิษให้ดื่ม จนกระทั่งถึงแก่ความตาย ขณะเมื่ออายุย่าง 30 ปี เมื่อ ค.ศ. 573[3] พงศาวดารฉีเหนือฉบับที่ 11 บันทึกว่า ในเดือนพฤษภาคม ปีที่ 4 รัชศกหวูปิง ผู้แทนพระองค์ได้มอบสุราพิษให้ เกา ฉางกง กล่าวว่า "ข้าถือความจงรักภักดีเป็นที่ตั้ง ไม่เคยทำผิดต่อเบื้องบน เหตุไฉนจึงเกิดเรื่องนี้แก่ข้า" พระชายาเจิ้ง ชายาของเกา ฉางกง กล่าวว่า "เหตุไฉนท่านจึงไม่เข้าเฝ้าเบื้องบนเล่า" เกา ฉางกง กล่าวว่า "มีทางใดที่ข้าจะเห็นเบื้องบนได้เล่า" จากนั้นจึงสิ้นใจตาย[4]

เรื่องราวของเกา ฉางกง ได้ถูกอ้างอิงในวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายประการ เช่น เป็นตัวละครในวิดีโอเกม Romance of the Three Kingdoms XI และถูกสร้างเป็นซีรีส์ของจีนแผ่นดินใหญ่ในปี ค.ศ. 2013 ในชื่อ Prince of Lan Ling นำแสดงโดย เฝิง เส้าเฟิง[5]และในปี ค.ศ. 2016 ในชื่อ Princess of Lan Ling King[6]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Laurence Picken, บ.ก. (1985). Music from the Tang Court: Volume 5. Cambridge University Press. pp. 1–12. ISBN 978-0521347761.
  2. จุดประกาย 8 วัฒนธรรม, จากหน้ากากสู่หน้างิ้ว โดย ดนุพล ศิริตรานนท์. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10513: วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
  3. "PRETTY MEN IN HISTORY". theworldofchinese.com. 29 April 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-30. สืบค้นเมื่อ 30 April 2016.
  4. "ศึกรักสะท้านแผ่นดิน 17 พฤษภาคม 2559 ตอนที่ 27". ช่อง 7. 2016-05-17. สืบค้นเมื่อ 2016-05-17.[ลิงก์เสีย]
  5. 林淑娟 (2013-09-04). "《蘭陵王》收視火 燒給楊登魁知" (ภาษาจีน). 中國時報.
  6. "Princess of Lanling King (2016)". rielbox.com. 2016-04-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-15. สืบค้นเมื่อ 2016-04-30.