เกรียงไกร อัตตะนันทน์
จอมพล เกรียงไกร อัตตะนันทน์ อดีตผู้บังคับกองพันทหารอาสาสมัครของไทยชุดแรกในสงครามเกาหลี อดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และอดีตแม่ทัพภาคที่ 1 ท่านเป็นนายทหารที่ได้รับพระราชทานยศจอมพลเป็นคนสุดท้ายของกองทัพไทย ก่อนที่จะมีการระงับการพระราชทานยศชั้นดังกล่าวในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
เกรียงไกร อัตตะนันทน์ | |
---|---|
9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 – 28 สิงหาคม พ.ศ. 2515 (59 ปี) | |
![]() จอมพลเกรียงไกร อัตตะนันทน์ ในเครื่องแบบเต็มยศของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ | |
เกิดที่ | จังหวัดธนบุรี ประเทศไทย |
อนิจกรรมที่ | จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย |
เหล่าทัพ | ทหารบก |
ยศสูงสุด | จอมพล[1] |
รับใช้ | กองทัพบกไทย |
บัญชาการ | กองทัพภาคที่ 1 (2512-2515) กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (2500-2503) ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 24 (พ.ศ. 2498-2500) รองผู้บัญชาการกรมผสมที่ 21 (พ.ศ. 2496) ผู้บังคับการกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 (พ.ศ. 2493, พ.ศ. 2494-2496) ผู้บังคับการกองพันที่ 1 กรมผสมที่ 21 (พ.ศ. 2493) รักษาราชการผู้บังคับการกองดุริยางค์ มณฑลทหารบกที่ 1 (พ.ศ. 2493) |
การยุทธ | สงครามเกาหลี |
บำเหน็จ | มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวิชรมงกุฎ ทุติยจุลจอมเกล้า เหรียญจักรมาลา เหรียญบรอนซ์สตาร์ (สหรัฐอเมริกา) |
อาชีพอื่น | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 9 (ส.ส. ประเภทที่ 2) (พ.ศ. 2500-2501)[2] สมาชิกวุฒิสภา ชุดที่ 3 (พ.ศ. 2511-2514) |
ประวัติแก้ไข
จอมพลเกรียงไกร อัตตะนันทน์ เดิมชื่อ บุญสม อัตตะนันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 ที่จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรของเรือเอก ขุนรุตรณไกร (แฮนน์ อัตตะนันทน์) และนางเหม อัตตะนันทน์ จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ. 2474 จนจบการศึกษาใน พ.ศ. 2477 และเริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งประจำกรมทหารราบที่ 7 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ปีเดียวกัน
ราชการครั้งสำคัญของจอมพลเกรียงไกร คือ ได้เข้าร่วมสงครามเกาหลี ในฐานะผู้บังคับกองพันทหารอาสาสมัครชุดแรกแห่งกรมผสมที่ 21 (ขณะนั้นมียศเป็นพันโท) ซึ่งกองทัพไทยจัดส่งไปร่วมรบกับสหประชาชาติในสงครามครั้งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2493 นับว่าเป็นผู้บังคับกองพันคนแรกของกองกำลังทหารไทย ที่ไปปฏิบัติราชการสงครามนอกประเทศ กองพันนี้ได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่า เป็นกองกำลังที่มีความสามารถสูง และทำการรบด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว จนได้รับสมญานามว่า "กองพันพยัคฆ์น้อย"
จากการร่วมรบครั้งนี้ จอมพลเกรียงไกรจึงได้รับเหรียญบรอนซ์สตาร์จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องหมายยืนยันความสามารถและความกล้าหาญของท่าน ภายหลังเมื่อท่านกลับมาที่ประเทศไทยแล้ว ก็ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 (กองพันพยัคฆ์น้อย) และได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมผสมที่ 21 เมื่อ พ.ศ. 2496 (ปัจจุบันหน่วยนี้คือ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ)
ตำแหน่งราชการของท่านที่สำคัญอีกตำแหน่งคือ เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังรบที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ในช่วง พ.ศ. 2500 - พ.ศ. 2503
ตำแหน่งราชการครั้งสุดท้ายของจอมพลเกรียงไกร คือ แม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2512 (ขณะนั้นมียศเป็นพลโท) และได้รับหน้าที่เป็น ผู้อำนวยการป้องการการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เขต 1 อีกตำแหน่งหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์การต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในขณะนั้นเป็นไปอย่างรุนแรง
จอมพลเกรียงไกร อัตตะนันทน์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่จังหวัดราชบุรี ระหว่างการเดินทางไปปฏิบัติราชการ เพื่อวางแผนปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2515 พร้อมกันกับคณะนายทหารที่ร่วมเดินทางด้วยกันอีก 12 คน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศจอมพลเป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2515 และยังได้เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการพระราชทานเพลิงศพ ที่เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2516 อีกด้วย
ครอบครัวแก้ไข
จอมพลเกรียงไกร อัตตะนันทน์สมรสกับคุณหญิงกานดา อัตตะนันทน์ มีบุตรธิดารวม 4 คน คือ
- พลเอกสมทัต อัตตะนันทน์ (เดิมชื่อ สมภพ)
- พลเอกพิพัฒน์พงษ์ อัตตะนันทน์
- นางพูนพันธ์ พันธุ์ยิ้ม สมรสกับ ศาสตราจารย์ ดร. สกล พันธุ์ยิ้ม
- พลโทธีรศักดิ์ อัตตะนันทน์
เกียรติยศแก้ไข
เครื่องราชอิสริยาภรณ์แก้ไข
ในประเทศแก้ไข
- พ.ศ. 2515 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2513 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.)[3]
- พ.ศ. 2510 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
- พ.ศ. 2508 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)
- พ.ศ. 2507 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
- พ.ศ. 2506 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
- พ.ศ. 2504 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
- พ.ศ. 2498 - เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 3
- พ.ศ. 2496 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 3 ตริตราภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)
- พ.ศ. 2495 - เหรียญชัยสมรภูมิ กรณีสงครามเกาหลี
- พ.ศ. 2493 - เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8
- พ.ศ. 2491 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
- พ.ศ. 2489 - เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
- พ.ศ. 2484 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)
- พ.ศ. 2477 - เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (พ.ร.ธ.)
ต่างประเทศแก้ไข
- พ.ศ. 2495 - United Nations Service Medal for Korea (UNKM) : เหรียญปฏิบัติงานสหประชาชาติ กรณีประเทศเกาหลี
- พ.ศ. 2500 - Bronze Star Medal : เหรียญบรอนซ์สตาร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
รางวัลแก้ไข
- พ.ศ. 2559 - รางวัลโล่ห์เกียรติยศวีรบุรุษสงครามคาบสมุทรเกาหลีประจำปี ค.ศ. 2016 (2016 The Korean War Heroes Commemoration Ceremony)[4]
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2515/D/150/36.PDF
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. "รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2500 (วิสามัญ) วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2500 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม" (PDF). สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2019.
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
- ↑ กระทรวงการต่างประเทศ (21 เมษายน 2559). "ข่าวสารนิเทศ : รัฐบาลเกาหลีใต้มอบรางวัลโล่ห์เกียรติยศแก่ผู้แทนทหารไทยในฐานะวีรบุรุษสงครามคาบสมุทรเกาหลี". สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2019.
แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข
- พิมพ์เป็นธรรมบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล เกรียงไกร อัตตะนันทน์. กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์, 2516. 206 หน้า.