ฮาฮากิงิ

(เปลี่ยนทางจาก ฮะฮะกิงิ)

ฮาฮากิงิ (ญี่ปุ่น: 帚木โรมาจิHahakigi; พฤกษาฮาฮากิงิ) เป็นบทที่ 2 ของ ตำนานเก็นจิ ผลงานของ มุราซากิ ชิคิบุ ที่มีทั้งหมด 54 บท

ฮะฮะกิงิ หรือ โฮกิงุสะ หรือ โฮกิงิ


ที่มาของชื่อบท ฮาฮากิงิ แก้

ฮาฮากิงิ เป็นพืชชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นอย่างอื่นได้ว่า โฮกิงุสะ (Houkigusa) หรือ โฮกิงิ ( houkigi )หรือชื่อภาษาอังกกฤษว่า โคเชีย ( Kochia )เป็นไม้พุ่ม มีต้นกำเนิดในยุโรปตอนใต้ แล้วแพร่พันธุ์สู่ประเทศจีน ต่อมาถึงญี่ปุ่น ( มีประวัติการแพร่พันธุ์ย้อนหลังไปได้กว่า 1000 ปี )เมล็ดเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ทงบุริ (tonburi)ใช้เป็นสมุนไพรประกอบอาหาร บางชนิดสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ เมื่อแห้งแล้วสามารถทำเป็นไม้กวาดได้[1]

ฮะฮะกิงิ ในบทกวีของญี่ปุ่นนั้น จะมีความหมายว่า สามารถเห็นได้ในระยะไกล แต่ครั้นเข้าใกล้กลับหายไปจากสายตาไม่อาจมองเห็นได้โดยเป็นความหมายเปรียบเทียบจากบทกวีของ สะคะโนะอุเอะ โนะ โคะเระโนะริ(坂上是則) ใน ประชุมร้อยกรอง โคะคินวะกะชู (古今和歌集)ความว่า

園原や伏屋に生ふる帚木のありとてゆけど逢はぬ君かな

Sono-hara ya fuseya ni ofuru hahakigi no aritote yukedo ahanu kimi kana[2]

พฤกษา ฮะฮะกิงิ เติบโตในป่าฟุเสะยะกลางทุ่งโซโนะฮาระที่อยู่ในชินาโนะนั้น ยามไกลนั้นเห็นอยู่ ยามเข้าใกล้กลับวับหาย พฤกษานี้ดั่งนวลน้องพี่ปองพบเจ้าบ่ห่อนเห็น

[3]


ชื่อบท ฮะฮะกิงิ ในตำนานเก็นจินั้น มาจากบทกวีที่โต้ตอบกันระหว่างเก็นจิกับอุสึเซะมิ หญิงสาวที่เก็นจิไม่สามารถครอบครองได้


เก็นจิ


「帚木の心を知らで園原の   道にあやなく惑ひぬるかな  聞こえむ方こそなけれ」

Hahakigi no kokoro wo shira de Sono-hara no  michi ni ayanaku madohi nuru kana  Kikoemu kata koso nakere

พี่มิรู้ใจน้องนาง ที่เป็นดั่งพฤกษาฮะฮะกิงิเมื่อยามใกล้พลันหายวับ มิทันรับรู้ความในใจดั่งพี่เที่ยวท่องหลงเวียนวนไปในทุ่งโซโนะฮาระ


อุสึเซะมิ


「数ならぬ伏屋に生ふる名の憂さに   あるにもあらず消ゆる帚木」

Kazu nara nu fuse-ya ni ofuru na no usa ni  aru ni mo ara zu kiyuru Hahakigi

ด้วยรู้ตนต่ำต้อยเหลือประมาณ พฤกษาฮะฮะกิงินวลน้องนาง จำใจหายวับลับหลบสายตาจากเบื้องหน้าพี่ยาเอย

ตัวละครหลักในบทฮะฮะกิงิ แก้

  • เก็นจิ

ยศ จูโจ (Chuujou พลโทราชองครักษ์ )อายุ 17

  • โทโนะจูโจ

สหายและพี่ภรรยาของเก็นจิ

  • สะมะโนะคามิ

สหายของเก็นจิ

  • โทชิคิบุโนะโจ

สหายของเก็นจิ

  • สะไดจิน

พ่อตาของเก็นจิ

  • อาโออิ

ภรรยาของเก็นจิ

  • จูนะกอน

นางในผู้รับใช้สะไดจิน

  • นาคาซึคาสะ

นางในผู้รับใช้สะไดจิน

  • คิอิโนะคามิ

เจ้าเมืองคิอิ ขึ้นตรงกับสะไดจิน

  • อิโยะโนะสุเกะ

รองเจ้าเมืองอิโยะ สามีของอุทสึเซมิ และ บิดาของคิอิโนะคามิ

  • อะสะงะโอะ

บุตรีของชิคิบุเคียวโนะมิยะ

  • อุสึเซะมิ

แม่เลี้ยงของคิอิโนะคามิ

  • โคะงิมิ

น้องชายของอุสึเซะมิ อายุ 12-13 ปี

  • จูโจ

หญิงรับใช้ของอุสึเซะมิ

เรื่องย่อ แก้

บทนี้เป็นเรื่องราวตอน เก็นจิ อายุราว 17 ปี เขาใช้เวลาส่วนใหญ่อาศัยในวัง ไม่ค่อยจะไปหาภรรยาที่บ้านของสะไดจินบ่อยนัก ด้วยเป็นสามีภรรยาทีค่อนข้างมีความสัมพันธ์ที่ชืดชา แต่เขาสนิทกับพี่ชายของภรรยา ที่เรียกกันว่า โทโนะจูโจ มาก

ในวันหนึ่งของฤดูร้อน ฝนตกลงมาทั้งวัน เก็นจิพักผ่อนในตำหนักคิริ โดยมี โทโนะจูโจ อยู่ด้วย ขณะที่เก็นจิกำลังอ่านหนังสือ โทโนะจูโจ เหลือบเห็นกระดาษที่มีสีสันต่างๆ มากมายหลายแผ่น วางในลิ้นชัก เขาสนอกสนใจกระดาษพวกนั้นมาก เพราะมันอาจจะเป็น สาส์นรักหรือเพลงยาว แต่มันคงเป็นสาส์นรักที่ไม่สลักสำคัญ เพราะเก็นจิวางมันไว้อย่างไม่ใส่ใจ สาส์นที่เกนจิเห็นว่าสลักสำคัญนั้น เขาต้องเก็บไว้ให้พ้นสายตาผู้คนอย่างแน่นอน

โทโนะจูโจ หยิบสาส์นฉบับแล้วฉบับเล่า อ่านพลางเดาว่า คงมาจะท่านหญิงท่านั้นท่านนี้ เขาเดาผิดบ้างถูกบ้างไปตามเรื่อง ระหว่างนั้น มีขุนนาง 2 คนเข้ามาร่วมวงสนทนา เขาคือ สะมะโนะคามิ และ โทชิคิบุโนะโจ ช่วงนี้เอง พวกเค้าร่วมกันคุยเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงในลักษณะและคุณสมบัติต่างๆ ที่เหมาะและไม่เหมาะจะเลือกเป็นคู่ครอง หญิงชั้นสูงที่มีคำล่ำลือว่ามีคุณสมบัติดี ความจริงแล้วอาจจะเป็นเพียงการล่ำลือถึงเพียงคุณสมบัติที่ดี ส่วนด้านที่ด้อยก็ปกปิดไว้ อีกทั้ง สตรีชั้นสูงพ่อแม่ของนางย่อมสรรหาผู้ติดตามอันมีคุณสมบัติดีมาขัดเกลาห้อมล้อมนางเท่าไรก็ย่อมได้ หญิงที่ชั้นต่ำเกินไปไม่ต้องรสนิยม หญิงชั้นกลางนี่สิน่าปรารถนา ทั้งอ่อนโยนเอาใจนุ่มนวล คุยกันได้ออกรสชาติ ถ้าจะให้ดี หากุลสตรีผู้ไร้เดียงสา เฝ้าถนอมขัดเกลาให้กลายเป็นหญิงในอุดมคติสิดียิ่งนัก

สะมะโนะคามิ เล่าประสบการณ์รักๆใคร่ๆในอดีตของเขาว่า ครั้งนึง เขาเคยคบหากับหญิงสาวที่รักเขามาก และดูแลเขาอย่างดีทุกอย่าง แต่ก็ หึงเขามากเช่นกัน วันนึง เขาพูดกับนางว่า หากนางยังหึงหวงคอยจับผิดหวาดระแวงเขาเรื่อยๆแบบนี้ เขาจะไม่มาหานางอีก

นางฟังดังนั้นแล้ว คว้านิ้วของเขามากัดด้วยความแค้นจนเป็นแผลก่อนทั้งสองจะเลิกรายุติความสัมพันธ์กันไป สะมะโนะคามิ โกรธและเสียหน้ามาก เขาเลิกร้างไม่ไปหานางเป็นเวลานาน จนวันหนึ่ง ยามค่ำที่มีลูกเห็บตกหนัก เค้าคิดถึงนางและอยากจะไปพบนาง เมือ่ไปถึงบ้านของนาง เขาก็ได้รับทราบว่า นางนั้นได้ตายจากไปเสียแล้วด้วยความเจ็บช้ำ

สะมะโนะคามิยังเล่าต่ออีกว่า ในเวลาเดียวกัน เค้าได้คบหาติดพันกับผู้หญิงอีกคนหนึ่ง นางอบอุ่น เป็นมิตร น่ารักน่าใคร่ ฉลาดเฉลียว เก่งทั้งกาฟย์กลอนและดนตรี มีรสนิยมดีพูดจาไพเราะ แต่ทว่า วันนึง เขาพบว่า ตัวเขาเองหาใช่คนรักเพียงคนเดียวของนางไม่

คืนแสงจันทร์กระจ่างในฤดูใบไม้ร่วง ขณะที่เขากำลังกลับบ้าน มีเพื่อนขุนนางอาศัยติดรถเทียมวัวของเขาไปด้วย ระหว่างทางเพื่อนขุนนางคนนั้น แวะลงที่บ้านของคนรักผู้ฉลาดเฉลียวมีรสนิยมของเขา โดยไม่รู้ว่า เขาก็เป็นคนรักของนางเช่นกัน

ดอกเบญจมาศบานสะพรั่ง ทั้งใบไม้สีแดงก็งามนัก ยังสายลมในฤดูใบไม้ร่วงเป็นใจยิ่งทั้ง เพื่อนขุนนางของเขาเป่าขลุ่ยคลอประสานเสียงโคะโตะของนางอย่างเพราะพริ้ง

หลังจากเหตุการคราวนั้น สะมะโนะคามิก็เลิกไปเยี่ยมเยียนนางอย่างเด็ดขาด เรื่องที่เขาเล่าทั้ง 2 เรื่อง เหมือนกับจะบอกว่า สตรีที่ขี้หึงหวงเกินไปหรือใจง่ายเกินไป ล้วนไม่เหมาะที่เป็นคู่ครอง

โทโนะจูโจ ฟังแล้ว อยากเล่าเรื่องราวของตนบ้าง ว่าเขาเคบคบหาเป็นคู่รักกับหญิงสาวขี้อายบอบบางคนหนึ่ง นางเป็นกำพร้า ไม่มีที่พึ่งพาใดๆนอกจากตัวเขา เขาไปมาหาสู่กับนางจนกระทั่งมีธิดาด้วยกัน 1 คน แม้เขาจะไม่ค่อยไปหานางบ่อยนัก แต่นางก็ยังอ่อนโยนอยู่เสมอ ไม่เคยแสดงความหึงหวงเสียใจกับการกระทำของเขา จนกระทั่งภรรยาเอกของเขา พบว่า เขาไปมาหาสู่กับนางเยี่ยงคนรัก ข่มขู่จนกระทั่งนางหนีหายไปไร้ร่องรอย

พอเล่าจบ โทโนะจูโจ คะยั้นคะยอให้ โทชิคิบุโนะโจ เล่าประสบการณ์ความรักของเขาให้ฟังบ้าง เรื่องของ โทชิคิบุโนะโจ มีดังนี้

ครั้งนึง เมื่อตอนที่เขายังเป็นนักเรียน เขาได้คบหากับหญิงที่ปราดเปรื่องมาก เชี่ยวชาญแตกฉานด้านวิชาการ นางสามารถ เขียนคันจิ หรือ แต่งโคลงจีน ได้ดีกว่าเขา ซึ่งเป็นผู้ชายเสียอีก แถมยังช่วยสอนเรื่องวิชาการต่างๆให้ด้วย แต่นางเป็นผู้หญิงที่ไม่มีความอ่อนโยนเอาเลย เขาจึงห่างเหินจากนางไปพักใหญ่ จนกระทั่งวันนึง เขามีเหตุที่ต้องไปหานาง นางกลับยืนยันว่าจะคุยกับเขาผ่านฉากกั้นเท่านั้น โดยอ้างว่านางกินกระเทียมเข้าไป ยังมีกลิ่นปาก ไม่อาจคุยกับเขาใกล้ๆได้ จริงๆอาจจะเป็นข้ออ้าง เพราะนางโกรธเขา นางบอกเขาว่าวันหลังค่อยมาหาใหม่แล้วกัน เขาจึงแยกจากเลิกรากับนางเพราะทนความหัวแข็งไม่ไหว

เก็นจิเมื่อฟังเรื่องราวทั้งหลายที่เพื่อนๆเล่า ใจเขาคิดถึงเพียงสตรีเดียวท่านั้น นางเป็นสตรีที่ไร้ที่ติในใจเขา พวกหนุ่มๆคุยกันไปเรื่อยๆ และหาข้อสรุปอะไรไม่ได้มากนัก จวบจนคืนฝนพรำเวียนสู่รุ่งเช้า

ยามเช้าท้องฟ้าดูแจ่มใสปราศจากฝน เก็นจิ ผู้ไม่ได้ไปหาภรรยาที่บ้านสะไดจินนานพอสมควร กริ่งเกรงว่า ท่านสะไดจินผู้เป็นพ่อตาจะไม่พอใจ จึงรุดไปหาภรรยาที่คฤหาสน์ท่านสะไดจินที่ซันโจ ภรรยาของเขา ท่านหญิงอาโออิ สวย กิริยามารยาทไร้ที่ติ แต่เย็นชากับเขามาก ยามบ่ายบ่าวมาแจ้งเขาว่า ทิศของคฤหาสน์ซันโจวันนี้เป็นทิศไม่ถูกโฉลกกับเขา ดังนั้นเก็นจิต้องเปลี่ยนสถานที่พำนักเพื่อเลี่ยงความอัปมงคลไปที่คฤหาสน์ของ คิอิ โนะ คามิ ขุนนางท้องถิ่นของเกียวโต

คิอิ โนะ คามิ กุลีกุจอต้องรับเก็นจิและบ่าวไพร่เป็นอย่างดี คฤหาสน์หลังนี้ มีการชักน้ำจากแม่นำสร้างเป็นลำธารจำลองไหลผ่านด้านใต้คฤหาสน์ ระหว่างนั้น แม่เลี้ยงของ คิอิ โนะ คามิ ก็พำนักอยู่ในคฤหาสน์ด้วย

ระหว่างการต้อนรับ มีการแนะนำเด็กชายที่อยู่ในบ้านของ คิอิ โนะ คามิ ให้เก็นจิรู้จัก เด็กชายคนนึงมีใบหน้าท่วงท่าสะดุดตา เก็นจิถามไถ่ คิอิ โนะ คามิ ได้ความว่า เด็กผู้นั้นเป็นน้องชายของ แม่เลี้ยง ยังสาว ของเขาเอง

พ่อของแม่เลี้ยงสาวของ คิอิ โนะ คามิ ตายลง นางกับน้องชายไม่มีผู้ปกป้องดูแล จึงจำต้องแต่งงานกับ อิโยะ โนะ สุเกะ พ่อของ คิอิ โนะ คามิ ขุนนางหัวเมือง ทั้งที่เขาอายุมากกว่านางมาก

หลังจากการเลี้ยงสุราอาหาร ทุกคนพากันหลับใหล ยกเว้นเก็นจิ คืนนั้น เขาพบว่า แม่เลี้ยงสาวของ คิอิ โนะ คามิ พำนักอยู่ในห้องทางด้านเหนือ เขาลอบเข้าหานาง ร่างนางบอบบางจนเขาอุ้มนางไว้ได้อย่างง่ายดาย แต่นางแข็งขืน ไม่ยอมโอนอ่อนให้เขาด้วยความรู้ผิดชอบชั่วดี ไม่ว่าเก็นจิจะหว่านล้อมอย่างไรก็ไม่ได้ผล เขาจึงบังคับมีความสัมพันธ์กับนาง แม้ปากของนางจะปฏิเสธอย่างแข็งขัน แต่จิตใจนางกลับหวั่นไหว ครุ่นคิดว่าหากนางยังมิได้แต่งงานเพราะความจำเป็น และยังเป็นโสด ตอนนี้นางจะมีความสุขเพียงใด จนกระทั่งฟ้าสาง ไก่เริ่มขัน ผู้คนเริ่มตื่นจากหลับใหล เก็นจิจากลาไป แต่เขายังประทับใจความเด็ดเดี่ยวและสุขุมของนางมาก

จากนั้น เก็นจิ พำนักอยู่ที่คฤหาสน์ซันโจ พลางกลัดกลุ้ม ที่จะไม่ได้พบกับแม่เลี้ยงสาวคนงามของ คิอิ โนะ คามิ อีก เขาจึงขอให้ คิอิ โนะ คามิ ส่ง โคะงิมิ น้องชายของแม่เลี้ยงสาว มาเป็นเด็กรับใช้ประจำตัวในวัง เก็นจิใช้ให้โคงิมิส่งสาส์นรักให้พี่สาว เมื่อนางได้รับสาส์น นางไม่เขียนตอบ และตำหนิ โคะงิมิ น้องชายว่า เป็นเด็กเป็นเล็ก กลับทำสิ่งไม่เหมาะสม เช่นการส่งสาส์นรักเช่นนี้

แม้ลายมือ ข้อความในสาส์นของเก็นจิ จะงดงามปานใด นางก็ไม่อาจตอบโต้ หรือรับรักเขาได้ เพราะนางแต่งงานเป็นของคนอื่นไปแล้ว หากนางรับรักเก็นจิ หมายความว่าต้องทิ้งสามีของนางไป ซึ่งนางไม่อาจหักใจทำเรื่องไร้ศีลธรรมเช่นนั้นได้ แม้ใจนางปรารถนาเพียงใดก็ตาม[4]

บทประเมินสตรีในคืนฝนพรำ แก้

ในตำนานเก็นจิ บท ฮะฮะกิงิ นั้น บทประเมินสตรีในคืนฝนพรำ ( 雨夜の品定め, อะมะโยะโนะชินะซะดะเมะ "a rainy night of deciding levels of quality") ถือว่า เป็นบทสนทนาระหว่างเหล่าชายหนุ่มตัวละครในเนื้อเรื่องที่โด่งดังมาก การสนทนานั้นดำเนินไปจนถึงรุ่งเช้า คุยกันเกี่ยวกับการประเมินค่าคุณสมบัติที่ดีและไม่ดีของสตรีที่จะมาเป็นภรรยา และชู้รัก วิจารณ์ติเตียนสตรีที่ชั้นสูงเกินไป หรือชั้นต่ำเกินไป สตรีงดงามที่ไม่แสดงออกถึงความสามารถอื่นนอกจากรูปโฉม สตรีขี้หึง และสตรีใจง่ายก็ไม่เหมาะสมเป็นคู่ครอง

การพบพานสตรีที่เหนือความคาดหมาย สตรีผู้อาภัพ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ซึ่งเนื้อความตอนนี้ตรงกับคุณสมบัติของ อุสึเซะมิ หญิงสมรสแล้วผู้ไร้สุข หรือ ยูงะโอะ ชู้รักที่ถูกโทโนะจูโจทอดทิ้ง โทโนะจูโจเองก็เอ่ยถึงยูงะโอะ ในบทสนทนาประเมินค่าสตรีในคืนฝนพรำด้วย แต่ไม่ได้เอ่ยนามของนาง เพียงแทนชื่อนางด้วย ดอกโทะโคะนัตสึ[5]

อ้างอิง แก้