ฮานะโนะเอ็ง

(เปลี่ยนทางจาก ฮะนะโนะเอ็ง)

ฮานะโนะเอ็ง (ญี่ปุ่น: 花宴; Hana no En; วสันต์สังสรรค์; อังกฤษ: Festival of the Cherry Blossoms หรือ Under the Cherry bossoms) เป็นบทที่ 8 ของตำนานเก็นจิ ผลงานของ มุราซากิ ชิคิบุ จากทั้งหมด 54 บท

ซะกง โนะ ซะกุระ หน้าตำหนัก ชิชินเด็ง พระราชวังเกียวโต

ที่มาของชื่อบทฮะนะโนะเอ็ง แก้

ฮะนะ (花) ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ดอกไม้ ในชื่อบท ฮะนะโนะเอ็ง ของตำนานเก็นจิ มีความหมายโดยตรงถึง ซะกงโนะซะกุระ ( 左近桜 sakon no sakura) ที่ปลูกในพระราชวังของเมืองเฮอันเคียว

ซะกงโนะซะกุระ - ซากุระเบื้องซ้าย (左近桜 sakon no sakura) คือ ต้นซากุระ หน้าตำหนักชิชินเด็ง ซึ่งเป็นท้องพระโรงของเกียวโตะโกะโชะ (京都御所 Kyoto gosho) หรือ พระราชวังเกียวโต ที่ใช้ในราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคเฮอัน

ซะกง (左近) แปลว่า เบื้องซ้าย ซะกงโนะซะกุระ นั้น หากเดินลงจากบันไดของตำหนักชิชินเด็ง ต้นซากุระจะปลูกที่ตีนบันไดด้านซ้ายมือ ในทิศทางที่เดินลงจากตำหนัก ส่วน อุกงโนะทะชิบะนะ - ต้นส้มทะชิบะนะเบื้องขวา (右近橘 ukon on Tachibana) คือต้นส้มทะชิบะนะ ที่ปลูกตรงข้ามกับ ซะกงโนะซะกุระ ปลูกที่ตีนบันไดด้านขวามือ ในทิศทางที่เดินลงจากตำหนักชิชินเด็ง [1]

ในเรื่อง ตำนานเก็นจิ ยังมีการเปรียบเทียบ ฮิกะรุเก็นจิ เป็นดั่ง ดอกซากุระเบื้องซ้าย โทโนะจูโจ เป็นดัง ดอกส้มทะชิบะนะเบื้องขวา เป็นการสื่อว่า บุคคลทั้งสอง ล้วนเพรียบพร้อมทั้งรูปสมบัติและคุณสมบัติ เป็นคู่แข่งที่ไม่แพ้กันเลย

เอ็ง (宴) แปลว่า งานเลี้ยง

ชื่อบท ฮะนะโนะเอ็ง ในตำนานเก็นจิ หมายถึง งานเลี้ยงฉลองในโอกาสที่ซะกงโนะซะกุระ เบ่งบานในฤดูใบไม้ผลิ นั่นเอง

ตัวละครหลักในบท แก้

  • เก็นจิ

ยศ ไซโช อายุ 20 ปี

  • จักรพรรดิคิริสึโบะ

พระราชบิดาของเก็นจิ

  • ฟุจิตสึโบะ

จักรพรรดินีในจักรพรรดิคิริสึโบะ พระราชมารดาเลี้ยง ของเก็นจิ อายุ 25

  • องค์รัชทายาท

พี่ชายต่างมารดาของเก็นจิ

  • โทโนะจูโจ

สหานสนิทและพี่ชายภรรยาของเก็นจิ

  • สะไดจิน

เสนาบดีฝ่ายซ้าย พ่อตาของเก็นจิ อายุ 54

  • โอะโบะโระซึกิโยะ

บุตรีคนที่ 6 ของอุไดจิน

  • โคะเระมิตสึ

คนสนิท และ พี่น้องร่วมแม่นมเดียวกับเก็นจิ

  • โยะชิคิโยะ

ผู้ติดตามใกล้ชิดของเก็นจิ ผู้ติดตามของเก็นจิ เป็นบุตรชายของเจ้าเมืองเมืองฮาริมะ

  • มุระซะกิ

ท่านหญิงน้อย ภรรยาในอนาคตของเก็นจิ อายุ 12

  • อุไดจิน

เสนาบดีฝ่ายขวา ตาขององค์รัชทายาท

เรื่องย่อ แก้

ปลายเดือน 2 งานสังสรรค์ดอกซะกุระบานจัดขึ้นที่ตำหนักชิชินเด็ง เมื่อล่วงเข้ายามดึกดื่น เก็นจิผู้มึนเมาสุราพยายามลอบเข้าตำหนักฟุจิตสึโบะ ทว่าประตูตำหนักปิดสนิทแน่นหนา เขาเห็นประตูตำหนักโคกิเด็งซึ่งอยู่ใกล้เคียงแง้มอยู่ จึงลอบเข้าไป ณ โถงทางเดิน เก็นจิพบกับธิดาคนที่ 6 ของอุไดจิน นางกำลังชมจันทร์สลัวในคืนฤดูใบไม้ผลิ พลางเอื้อนบทกวีบทหนึ่งจาก ชินโคะคินวะกะชูแต่งโดย โอเอะ โนะ จิซะโตะ ว่า

朧月夜 (おぼろづきよ) に似 (に) るものぞなき[2]

Oborozukiyo ni niru mono zo naki โอะโบะโระซึกิโยะ นิ นิรุ โมะโนะ โซะ นะกิ

งามใดเปรียบงามจันทร์สลัวทอแสงหม่นมัวทั่วนภาฟ้าวสันต์

เก็นจิคว้าชายแขนเสื้อของนางไว้ พูดคุยกับนาง นางจำเสียงเก็นจิได้ และทั้งสองมีความสัมพันธ์กัน ในคืนจันทร์สลัวหมอกของวันที่ 20 นางไม่ยอมบอกชื่อกับเก็นจิ ทั้งสองแลกเปลี่ยนพัดของกันและกัน ยามฉุกละหุกขณะที่ใกล้รุ่งเช้าผู้คนเริ่มตื่นขึ้นมา เพราะกวีที่นางเอื้อนเอ่ย เก็นจิจึงเรียกนางว่า โอะโบะโระซึกิโยะ

ธิดาคนที่ 6 ของอุไดจินนั้น จำต้องอภิเษกกับองค์รัชทายาทในเดือน 4 อุไดจินจัดงานเลี้ยงชมดอกฟุจิในเดือน 3 เขาเชิญเก็นจิมาร่วมงานด้วย ทั้ง ๆ ที่เป็นศัตรูทางการเมืองของกันและกัน ความสง่างามของเก็นจิล้ำเกินกว่าแขกคนใด ๆ ในงาน กระทั่งยังงดงามเหนือดอกฟุจิอันสะพรั่งในสวนเสียอีก หลังจากการแสดงสังคีต เก็นจิแสร้งเป็นเมามาย เข้าไปในเรือนส่วนที่ท่านหญิงธิดาอุไดจินพำนัก เพื่อเสาะหาสตรีเจ้าของพัด เก็นจิเอื้อนบทกวีหน้าม่าน ทันใดนั้น ผู้ตอบบทกวีของเขา ก็คือ โอะโบะโระซึกิโยะนั่นเอง[3]

โอะโบะโระซึกิโยะ แก้

เมฆอัลโตสตราตัส(高層雲、こうそううん、altostratus、アルトストラタス) คือเมฆที่ลอยปกคลุมท้องฟ้าเป็นสีขาวเทาลอยอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ ๒-๗ กิโลเมตร บางครั้งอาจเรียกว่า เมฆโอะโบะโระ(朧雲)มักปกคลุมทั่วท้องฟ้า ถ้ามีอยู่บาง ๆ อาจทำให้เกิดร่มขึ้นกับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ แต่โดยทั่วไปแล้วจะเหมือนกับมองผ่านกระจกกรองแสงทำให้เห็นดวงอาทิตย์ได้ไม่ชัดเจน ตรงจุดนี้ทำให้เรามองแล้วแยกเมฆชนิดนี้ออกจากเมฆซีร์โรสตราตัสได้ชัดเจน ถ้าเมฆอัลโตสตราตัสหนาขึ้น จะทำให้บริเวณโดยรอบมืดจนยากที่จะเห็นเงา

พระจันทร์ที่ถูกเมฆชนิดนี้บดบังอาจเห็นเป็นสีต่าง ๆ เช่น สีทอง สีเงิน สีแดงอ่อน สีเหลือง ที่ญี่ปุ่นเรียกคืนที่พระจันทร์เป็นแบบนี้ว่า โอะโบะโระซึกิโยะ(朧月夜) [4]

ศึกษาเพิ่มเติม แก้

อ้างอิง แก้