อ่าวหะล็อง (เวียดนาม: Vịnh Hạ Long, "อ่าวแห่งมังกรผู้ดำดิ่ง") เป็นอ่าวแห่งหนึ่งในพื้นที่ของอ่าวตังเกี๋ยทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ใกล้ชายแดนติดต่อกับประเทศจีน มีพื้นที่ทั้งหมด 1,500 ตารางกิโลเมตร หรือ 937,500 ไร่ และมีชายฝั่งยาว 120 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงฮานอยไปทางตะวันออก 170 กิโลเมตร

อ่าวหะล็อง - กลุ่มเกาะก๊าตบ่า *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
อ่าวหะล็อง
พิกัด20°54′N 107°12′E / 20.9°N 107.2°E / 20.9; 107.2
ประเทศ เวียดนาม
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
ประเภทมรดกทางธรรมชาติ
เกณฑ์พิจารณา(vii), (viii)
อ้างอิง672
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2537 (คณะกรรมการสมัยที่ 18)
พื้นที่43,400 ha
อ่าวหะล็องตั้งอยู่ในประเทศเวียดนาม
อ่าวหะล็อง
ที่ตั้งอ่าวหะล็องในประเทศเวียดนาม
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

ในอ่าวหะล็องมีเกาะหินปูนจำนวน 1,969 เกาะโผล่พ้นขึ้นมาจากผิวทะเล บนยอดของแต่ละเกาะมีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น หลายเกาะมีถ้ำขนาดใหญ่อยู่ภายใน ถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณอ่าวคือ ถ้ำเสาไม้ (Hang Đầu Gỗ, ฮางเดิ่วโก๋) หรือชื่อเดิมว่า "กร็อตเดแมร์แวย์" (Grotte des Merveilles) ซึ่งตั้งชื่อโดยนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสที่มาเยี่ยมชมอ่าวเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภายในถ้ำประกอบไปด้วยโพรงกว้าง 3 โพรง มีหินงอกและหินย้อยขนาดใหญ่อยู่จำนวนมาก เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณอ่าว 2 เกาะ คือ เกาะก๊าตบ่าและเกาะต่วนเจิว ทั้งสองเกาะนี้มีคนตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างถาวร บนเกาะมีโรงแรมและชายหาดจำนวนมากคอยให้บริการนักท่องเที่ยว ส่วนเกาะขนาดเล็กอื่น ๆ บางเกาะก็มีชายหาดที่สวยงามที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมชม บางเกาะเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมง และบางเกาะยังเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์หลายชนิด เช่น ไก่ป่า ละมั่ง ลิง และกิ้งก่าหลายชนิด เกาะเหล่านี้มักจะได้รับการตั้งชื่อจากรูปร่างลักษณะที่แปลกตา เช่น เกาะช้าง (Hòn Voi, ห่อนวอย) เกาะไก่ชน (Hòn Gà Chọi, ห่อนก่าจ่อย) เกาะหลังคา (Hòn Mái Nhà, ห่อนม้ายหญ่า) เป็นต้น

หินจุมพิต

ตามตำนานพื้นบ้านได้กล่าวไว้ว่า ในอดีตนานมาแล้ว ระหว่างที่ชาวเวียดนามกำลังต่อสู้กับกองทัพชาวจีนผู้รุกราน เทพเจ้าได้ส่งกองทัพมังกรลงมาช่วยปกป้องแผ่นดินเวียดนาม มังกรเหล่านี้ได้ดำดิ่งลงสู่ท้องทะเลบริเวณที่เป็นอ่าวหะล็องในปัจจุบัน ทำให้มีอัญมณีและหยกพุ่งกระเด็นออก อัญมณีเหล่านี้กลายเป็นเกาะแก่งน้อยใหญ่กระจายอยู่ทั่วอ่าว เป็นเกราะป้องกันผู้รุกราน ทำให้ชาวเวียดนามปกป้องแผ่นดินของพวกเขาได้สำเร็จและก่อตั้งประเทศซึ่งต่อมาก็คือเวียดนามในปัจจุบัน บางตำนานสมัยใหม่ก็กล่าวไว้ว่า ปัจจุบันยังมีสัตว์ในตำนานที่ชื่อว่า ตาราสก์ (Tarasque) อาศัยอยู่ที่ก้นอ่าว

อ่าวหะล็องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ที่ภูเก็ต ประเทศไทย