อ็องเดร ดูว์ แปลซี เดอ รีเชอลีเยอ
พลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ หรือชื่อเกิดคือ อ็องเดร ดูว์ แปลซี เดอ รีเชอลีเยอ (ฝรั่งเศส: André du Plessis de Richelieu)) เป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือสยาม เป็นรองผู้บัญชาการการรบของสยามในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 และเป็นผู้ออกแบบป้อมพระจุลจอมเกล้า
พระยาชลยุทธโยธินทร์ (อ็องเดร ดูว์ แปลซี เดอ รีเชอลีเยอ) | |
---|---|
พระยาชลยุทธโยธินทร์ใน พ.ศ. 2446 | |
ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ | |
ดำรงตำแหน่ง 16 มกราคม พ.ศ. 2443 – 29 มกราคม พ.ศ. 2444 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ก่อนหน้า | นายพลเรือตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม |
ถัดไป | จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2395 Løjt Kirkeby ประเทศเดนมาร์ก |
เสียชีวิต | 25 มีนาคม พ.ศ. 2476 (81 ปี) Hørsholm ประเทศเดนมาร์ก |
ที่ไว้ศพ | โบสถ์โฮลเมน |
คู่สมรส | คุณหญิงชลยุทธโยธินทร์ (ดัคมาร์ เลิช) |
บุตร | Louis Armand • Helge • Dagmar • Agnes Ingeborg • Lilian Agenete • Louis |
วิชาชีพ | เจ้าหน้าที่กองทัพเรือ นักธุรกิจ |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | เดนมาร์ก สยาม |
สังกัด | กองทัพเรือเดนมาร์ก ราชนาวีสยาม |
ประจำการ | พ.ศ. 2418 - 2444 (26 ปี) |
ยศ | นายพลเรือโท |
ในเอกสารของฝ่ายไทยมีการสะกดชื่อของท่านไว้หลายแบบ เช่น ริเชลิว ริชลิว ริเชอลิเออ เป็นต้น
ประวัติการทำงาน
แก้กัปตันรีเชอลีเยอ เป็นชาวเดนมาร์กเชื้อสายฝรั่งเศส โดยสืบเชื้อสายมาจากพระคาร์ดินัล ดยุกแห่งรีเชอลีเยอ (Armand Jean du Plessis de Richelieu) มุขมนตรีในพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศส กัปตันรีเชอลีเยอเข้ามารับราชการทหารเรือสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2418 เป็นผู้บังคับกองเรือพิทยัมรณยุทธ (Regent) ที่ภูเก็ต กระทั่งวันอังคาร เดือนห้า ขึ้นสามค่ำ ปีมะแม เบญจศก จุลศักราช 1245 ตรงกับปี พ.ศ. 2426 กัปตันรีเชอลีเยอขณะมีบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงชลยุทธโยธินทร์" ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระชลยุทธโยธินทร์" ถือศักดินา 800[1]
ในปี พ.ศ. 2428 กัปตันรีเชอลีเยอเป็นผู้ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ใช้ป้อมปืนแบบทันสมัยล่าสุดจากประเทศอังกฤษ ที่มีชื่อว่า "ปืนเสือหมอบ" ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2436 ทำการทดลองยิงครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2436 ก่อนวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เพียงเดือนเศษ
ในปี พ.ศ. 2430 กัปตันรีเชอลีเยอ ร่วมหุ้นกับ กัปตันอัลเฟรด จอห์น ลอฟตัส หรือ พระนิเทศชลธี[2]เปิดบริษัททำการเดินรถราง เป็นครั้งแรก เส้นทางจากตำบลบางคอแหลม ผ่านถนนเจริญกรุง ไปสิ้นสุดที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นรถรางสายแรกในเอเชีย ต่อมาในปี พ.ศ. 2437 ได้พัฒนาเป็นรถรางเดินด้วยไฟฟ้า เริ่มเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2437 ก่อตั้งบริษัทไฟฟ้าสยาม ทำการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ท่านยังก่อตั้งบริษัทรถไฟปากน้ำซึ่งเปิดดำเนินการ รถไฟ สาย กรุงเทพ-สมุทรปราการ (ทางรถไฟสายปากน้ำ) ขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ระยะทาง 21 กิโลเมตร เป็นสายแรก เมื่อ พ.ศ. 2436
ในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 กัปตันรีเชอลีเยอ เป็นผู้นำทหารเรือชาวเดนมาร์กเข้าร่วมรบต่อสู้กับกองเรือฝรั่งเศสที่ปากน้ำ ทั้งที่กงสุลเดนมาร์กมีคำสั่งไม่ให้ชาวเดนมาร์กเข้ายุ่งเกี่ยวในการศึกครั้งนี้ ขณะนั้นท่านมียศเป็นพลเรือจัตวา ตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารเรือ ภายหลังการรบท่านได้รับพระราชทานยศเป็น พลเรือตรี พระยาชลยุทธโยธินทร์ และต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2443 - 29 มกราคม พ.ศ. 2444[3] กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ เพื่อเดินทางกลับประเทศเดนมาร์ก[4] นับเป็นผู้บัญชาการทหารเรือคนแรกและคนเดียวที่เป็นชาวต่างประเทศ
อีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีการหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) ขึ้นที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก โปรดเกล้าให้พระยาชลยุทธโยธินทร์ อัญเชิญนำขึ้นแพ ล่องเรือมาคุมองค์และแต่งที่กรมทหารเรือ โดยเป็นผู้ควบคุมการแต่งองค์พระ เสร็จแล้วเชิญลงเรือมณฑปแห่ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ปีเดียวกัน
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป พระยาชลยุทธโยธินทร์รับหน้าที่กัปตันเรือพระที่นั่งทุกครั้ง
ชีวิตส่วนตัว
แก้พระยาชลยุทธโยธินทร์ สมรสกับนางสาวดัคมาร์ เลิช (Dagmar Lousie Lerche) ธิดานายเอฟ. เลิช ผู้พิพากษาชาวเดนมาร์ก มีบุตรธิดา 3 คน คือ[5]
- Mr. Louis de Richelieu
- Mr. Helge de Richelieu
- Madame Schestede Juul
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
แก้- พ.ศ. 2444 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) (ประดับเพ็ชร์)[6]
- พ.ศ. 2435 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[7]
- พ.ศ. 2436 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[8]
- พ.ศ. 2436 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน (ร.ด.ม.(ผ))[9]
- พ.ศ. 2436 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการในพระองค์ (ร.ด.ม.(พ))[9]
- พ.ศ. 2436 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[10]
- พ.ศ. 2444 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 1 (จ.ป.ร.1)[11]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์เดนมาร์ก
แก้- พ.ศ. 2435 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์แดนเนอโบร ชั้น Chamberlain และชั้นที่ 2[12]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
แก้- รัสเซีย :
- พ.ศ. 2435 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญสตานิสเลาส์ ชั้นที่ 1[12]
- กรีซ :
- พ.ศ. 2435 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซ็นต์ซาเวีย ชั้นที่ 2[12]
- อิตาลี :
- พ.ศ. 2435 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎอิตาลี ชั้นที่ 2[12]
- ปรัสเซีย :
- พ.ศ. 2435 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎ ชั้นที่ 2[12]
- จักรวรรดิออตโตมัน :
- พ.ศ. 2435 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์เมจีดีเย ชั้นที่ 2[12]
- ฝรั่งเศส :
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นกร็องตอฟีซีเย
- สวีเดน :
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดาบ ชั้นที่ 2
- ออสเตรีย-ฮังการี :
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์ฟรานซ์โจเซฟ ไม่ปรากฏลำดับชั้น
สิ่งสืบเนื่อง
แก้- หินริเชลิว (Richelieu Rock) ปะการังใต้น้ำบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา มาจากชื่อของกัปตันริเชอลิเออ
ยศและบรรดาศักดิ์
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ พระราชทานสัญญาบัตร (หน้า 313)
- ↑ สำเนาสัญญาบัตร ปีจออัฐศก
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งตำแหน่งผู้รั้งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-09-05.
- ↑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ หม่อมเจ้าหญิง จงจิตรถนอม ดิศกุล. จดหมายถึงหญิงใหญ่ (ฉบับชำระใหม่). กรุงเทพ : สถาพรบุ๊คส์, 2551. ISBN 9789741665358
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๘ ตอนที่ ๔๗ หน้า ๙๐๐, ๒๓ กุมภาพันธ์ ๑๒๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙ ตอนที่ ๔๐ หน้า ๓๔๘, ๑ มกราคม ๑๑๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ถวายบังคมพระบรมรูปและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐ ตอนที่ ๓๔ หน้า ๓๖๘, ๑๙ พฤศจิกายน ๑๑๒
- ↑ 9.0 9.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐ ตอนที่ ๓๗ หน้า ๔๐๗, ๑๐ ธันวาคม ๑๑๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐ ตอนที่ ๔๒ หน้า ๔๖๘, ๑๔ มกราคม ๑๑๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายหน้า และฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๘ ตอนที่ ๔๖ หน้า ๘๗๔, ๑๖ กุมภาพันธ์ ๑๒๐
- ↑ 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิศริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๙ ตอนที่ ๒ หน้า ๑๒, ๑๐ เมษายน ๑๑๑
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตร
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตร (หน้า 38-39)
บรรณานุกรม
แก้- ณัฐนันท์ สอนพรินทร์ (2550). เจาะลึก สมาคมลับ กับการปฏิวัติโลก. อมรินทร์บุ๊ค. ISBN 9789747489880.
ก่อนหน้า | อ็องเดร ดูว์ แปลซี เดอ รีเชอลีเยอ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม |
ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ (16 มกราคม พ.ศ. 2443 - 29 มกราคม พ.ศ. 2444) |
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช |