อ็องตวน ฟูกีเย-แต็งวีล
อ็องตวน ก็องแต็ง ฟูกีเย เดอ แต็งวีล (ฝรั่งเศส: Antoine Quentin Fouquier de Tinville) หรือนิยมเรียก ฟูกีเย-แต็งวีล เป็นพนักงานอัยการในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสและสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว เขาเป็นญาติกับกามีย์ เดมูแล็ง ซึ่งมีส่วนช่วยให้เขากลายเป็นหัวหอกในการร้องทุกข์กล่าวโทษระบอบกษัตริย์
อ็องตวน ฟูกีเย-แต็งวีล Antoine Fouquier-Tinville | |
---|---|
เกิด | ค.ศ. 1746 จังหวัดแอน ประเทศฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1795 (49 ปี) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส |
สาเหตุเสียชีวิต | กิโยตีน |
อาชีพ | นักกฎหมาย, พนักงานอัยการ |
เมื่อที่ประชุมใหญ่แห่งชาติจัดตั้งศาลปฏิวัติขึ้นในวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1793 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานอัยการ[1] ความกระตือรือร้นของเขาทำให้ได้รับฉายาว่า "ผู้ส่งตัวขึ้นกิโยตีน"[2] การทำหน้าที่อย่างแข็งขันในตำแหน่งนี้ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในบุคคลชื่อเสียที่สุดในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส[3] เขาถูกมองว่าใช้ตำแหน่งอัยการสนองความต้องการของฝ่ายการเมืองโดยอ้างหลักกฎหมายโดยไม่สนใจว่าจำเลยจะกระทำผิดจริงหรือไม่ เป็นที่ทราบกันว่าเขาเป็นพวกสุดโต่งเช่นเดียวกับมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ ผู้มีอำนาจล้นฟ้าในฝรั่งเศสขณะนั้น
แม้ว่าฟูกีเย-แต็งวีลจะมีส่วนช่วยในการจับกุมรอแบ็สปีแยร์, หลุยส์ อ็องตวน เดอ แซ็ง-ฌุสต์ และฌอร์ฌ กูตง โดยมีพยานช่วยยืนยันต่อสภา อย่างไรก็ตาม เขาถูกจับกุมภายหลังถูกถอดถอนโดยสมาชิกสภา หลุยส์-มารี สตานิสลัส เฟรรง[1] และถูกนำตัวขึ้นพิจารณาต่อสภา เขาพยายามแก้ต่างว่าเขาเพียงแต่ทำตามคำสั่งของคณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวมเท่านั้น การพิจารณาความผิดกินเวลากว่า 41 วัน และในที่สุด เขาก็ได้รับโทษประหารชีวิตโดยกิโยตีนพร้อมกับอดีตบุคลากรในศาลอาญาปฏิวัติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1795[4]
เหยื่อของฟูกีเย-แต็งวีล
แก้- เหล่ามรณสักขีแห่งกงเปียญ
- ชาร์ล็อต กอร์แด
- พระนางมารี อ็องตัวแน็ต
- อาด็อง ฟีลิป เดอ กุสตีน และบุตรชาย
- ผู้นำฌีรงแด็ง
- กลุ่มด็องตง
- อ็องตวน บาร์นาฟว์
- ฌัก เอแบร์ พร้อมบรรดาผู้สนับสนุน
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Paul R. Hanson, The A-Z of the French Revolution: Fouquier-Tinville, Scarecrow Press, 2007, pp. 134–134.
- ↑ Edwin Bannon, Refractory Men, Fanatical Women: Fidelity to Conscience During the French Revolution. Gracewing Publishing, 1992, pp. 101–104.
- ↑ de Gramont, Sanche, The French, Portrait of a People, Putnam's, New York, 1969, p. 122
- ↑ Pièces original du procès du Fouquier-Tinville et de ses complices, 1795. p. 94