อูตางาวะ คูนิซาดะ

อูตางาวะ คูนิซาดะ (ญี่ปุ่น: 歌川国貞โรมาจิUtagawa Kunisada) (ค.ศ. 1786 - ค.ศ. 1865) เป็นจิตรกรภาพพิมพ์แกะไม้อูกิโยะชาวญี่ปุ่นคนสำคัญและมีชื่อเสียงของคริสต์ศตวรรษที่ 19

อูตางาวะ คูนิซาดะ

คูนิซาดะและประวัติศาสตร์ศิลปะ แก้

 
"The Hours of the Yoshiwara"; ราว ค.ศ. 1818 จากภาพชุดบิจิงงะที่มีชื่อเสียงของคูนิซาดะ

ในตอนปลายของสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1600 – ค.ศ. 1867) ฮิโรชิเงะ คูนิโยชิ (Kuniyoshi) และคูนิซาดะเป็นศิลปินสามคนที่เป็นตัวแทนอันดีของการสร้างงานภาพพิมพ์สีของญี่ปุ่นของเอโดะ แต่ในบรรดานักสะสมภาพพิมพ์ญี่ปุ่นชาวยุโรปและอเมริกันที่เริ่มขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถือว่างานของจิตรกรทั้งสามเป็นที่มีคุณภาพด้อยกว่างานอูกิโยะแบบคลาสสิก ซึ่งเป็นผลทำให้ความนิยมภาพพิมพ์ของศิลปินทั้งสามลดถอยลง และทำให้ได้ชื่อว่าเป็นงานศิลปะของ "ความฟุ้งเฟ้อ" (decadent)

เมื่อมาถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1930 และคริสต์ทศวรรษ 1970 งานของฮิโรชิเงะ และ คูนิโยชิก็ได้รับการนำมาพิจารณาใหม่ที่ทำให้ได้รับการยกฐานะว่าเป็นปรมาจารย์ของศิลปะภาพพิมพ์ แต่งานของคูนิซาดะก็ยังคงไม่ได้รับการเลื่อนฐานะให้เท่าเทียมกับจิตรกรทั้งสองดังกล่าว ยกเว้นแต่ภาพเหมือนนักแสดง (Yakusha-e) และภาพเหมือนของสตรีผู้มีความงาม (บิจิงงะ) ที่เขียนในระยะแรกของการเป็นศิลปิน และงานเขียนภาพเหมือนของศีรษะของนักแสดงในบั้นปลายของชีวิตแล้ว งานอื่น ๆ นอกไปจากนั้นของคูนิซาดะก็ถือกันว่าเป็นงานที่มีคุณภาพต่ำ จนกระทั่งเมื่อมาถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 เมื่อยาน ฟาน เดิสบวร์กเขียนหนังสือเกี่ยวกับการวิวัฒนาการของงานศิลปะของคูนิซาดะ[1] และเมื่อเซบาสเตียน อิซเซิร์ดเขียนงานศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับผลงานของคูนิซาดะ ทัศนคติเกี่ยวกับคูนิซาดะจึงได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของศิลปะภาพพิมพ์ของญี่ปุ่น

ประวัติ แก้

 
ภาพเหมือนของนักแสดงคาบูกิ คาวาราซากิ กนจูโร ที่ 1 (Kawarazaki Gonjuro I) (ค.ศ. 1861)

แม้ว่าเรื่องราวชีวิตของคูนิซาดะจะไม่มีรายละเอียดเท่าใดนัก แต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ทราบกันเป็นที่แน่นอน คูนิซาดะเกิดในปี ค.ศ. 1786 ที่ฮนโจะ (Honjo) ทางตะวันออกของเอโดะ ชื่อเดิมคือซูมิดะ โชโงโรที่ 9 (角田庄五朗) และรู้จักกันในชื่อซูมิดะ โชโซ (角田庄蔵) ด้วย ครอบครัวมีกิจการที่สืบกันมาในตระกูลทำเรือข้ามฟากที่ทำรายได้ให้แก่ครอบครัว บิดาของคูนิซาดะเป็นกวีสมัครเล่นที่มีชื่อเสียงพอสมควรผู้มาเสียชีวิตเพียงปีเดียวหลังจากที่คูนิซาดะเกิด ดูเหมือนว่าคูนิซาดะจะมีพรสวรรค์ทางการเขียนภาพมาตั้งแต่ยังเด็ก

งานร่างในช่วงแรกสร้างความประทับใจให้แก่โทโยกูนิ (Toyokuni) ผู้เป็นปรมาจารย์ของสำนักศิลปินอูตางาวะและเป็นช่างออกแบบภาพพิมพ์ของภาพเหมือนของนักแสดงคาบูกิคนสำคัญ ราวปี ค.ศ. 1800 หรือไม่นานหลังจากนั้นคูนิซาดะก็ได้รับเข้าศึกษาโดยโทโยกูนิในฐานะเป็นศิลปินฝึกหัด และต่อมาก็ได้รับชื่อศิลปินตามธรรมเนียมญี่ปุ่นว่า "คูนิซาดะ" ที่พยางค์แรก คูนิ มาจากอักษรคันจิตัวที่สองของชื่อศิลปินของอาจารย์โทโยกูนิ

งานพิมพ์แรกที่ทราบลงวันที่ในปี ค.ศ. 1807 ที่มีลักษณะการออกแบบที่เด่น และต่อมางานพิมพ์ที่ทำระหว่าง ค.ศ. 1809 ถึง ค.ศ. 1810 แต่ในปี ค.ศ. 1808 คูนิซาดะก็เริ่มเขียนภาพประกอบให้กับหนังสือประกอบภาพ และเริ่มเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ในปี ค.ศ. 1809 คูนิซาดะก็ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น "ดาราของจิตรกร" ของสำนักศิลปินอูตางาวะ และไม่นานหลังจากนั้นก็ได้รับการเปรียบเทียบว่ามีฝีมืออย่างน้อยก็เท่าเทียมกันกับอาจารย์ในด้านการเขียนภาพประกอบ

ภาพเหมือนของนักแสดงภาพแรกที่คูนิซาดะเขียนในไม่ปี ค.ศ. 1808 ก็ปี ค.ศ. 1809 และภาพชุดบิจิงงะและภูมิทัศน์ของเอโดะก็เริ่มทำในช่วงเดียวกัน เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1813 คูนิซาดะก็กลายเป็น "ดารา" ของบรรดาศิลปินในเอโดะ (รายชื่อศิลปินยอดนิยมร่วมสมัยลำดับคูนิซาดะไว้เป็นที่สองรองจากโทโยกูนิ) คูนิซาดะดำรงความเป็นผู้นำทางศิลปะภาพพิมพ์แกะไม้ต่อมาจนกระทั่งมาเสียชีวิตเมื่อต้นปี ค.ศ. 1865

ราวต้นปี ค.ศ. 1810 คูนิซาดะก็เริ่มใช้ชื่อ "โกโตเต" (Gototei) ที่เป็นนัยยะถึงกิจการเรือข้ามฟากของบิดา ชื่อนี้ใช้ในการวาดออกแบบภาพดาราคาบูกิเกือบทุกชิ้นมาจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1842 ราวปี ค.ศ. 1825 คูนิซาดะก็เริ่มใช้ชื่อ "โคโจโระ" (Kochoro) ในการวาดภาพที่ไม่เกี่ยวกับคาบูกิ ชื่อนี้มาจากการรวมนามแฝงของปรมาจารย์ทางจิตรกรรมฮานาบูซะ อิตโจ (Hanabusa Itcho) และฮานาบูซะ อิกเก (Hanabusa Ikkei) ผู้ดำเนินตามรอยอิตโจ ที่คูนิซาดะเริ่มเรียนแนวศิลปะการเขียนแบบใหม่ระหว่างปี ค.ศ. 1824 ถึงปี ค.ศ. 1825

เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1844 คูนิซาดะจึงได้รับชื่อศิลปินของอาจารย์โทโยกูนิมาใช้ โดยเริ่มด้วยการลงชื่อว่า "คูนิซาดะผู้มาใช้ชื่อโทโยกูนิที่ 2" อยู่ชั่วระยะหนึ่ง ระหว่างปี ค.ศ. 1844 ถึงปี ค.ศ. 1845 คูนิซาดะก็ลงชื่องานทุกชิ้นว่า "โทโยกูนิ" (บางครั้งก็เพิ่มชื่อห้องเขียนภาพหน้าชื่อเป็น "โคโจโระ โทโยกูนิ" และ "อิชิโยไซ โทโยกูนิ") แม้ว่าคูนิซาดะจะเรียกตนเองว่า "โทโยกูนิที่ 2" แต่อันที่จริงแล้วคูนิซาดะควรจะเป็น "โทโยกูนิที่ 3" ซึ่งก็ยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่ลงตัวถึงสาเหตุที่คูนิซาดะละเลยโทโยกูนิผู้เป็นทั้งลูกศิษย์และลูกเขยของโทโยกูนิผู้ที่ก็ได้รับชื่อศิลปิน "โทโยกูนิ" เช่นกันและได้เป็นผู้นำของสำนักศิลปินอูตางาวะอย่างถูกต้องระหว่างปี ค.ศ. 1825 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1835

วันเสียชีวิตของคูนิซาดะตรงกับวันที่ 15 ของเดือนสิบสองของปีแรกของเก็นจิ แหล่งข้อมูลหลายแหล่งให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเป็นปี ค.ศ. 1864 อันที่จริงแล้ววันที่ของปฏิทินจีน/ญี่ปุ่นตรงกับวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1865 ของปฏิทินจูเลียน

งานศิลปะ แก้

 
"พระอาทิตย์ขึ้นที่ฟูตามิงาอูระ" ภาพพิมพ์ทะเลทัศน์โดยคูนิซาดะ ราว ค.ศ. 1830
 
ฉากนักมวยปล้ำซูโม่ ภาพพิมพ์บานพับสามโดยคูนิซาดะ, ราว ค.ศ. 1851
 
ภาพพิมพ์เก็นจิ
 
"ภาพยวนอารมณ์" โดยคูนิซาดะ

ตั้งแต่เริ่มเป็นศิลปินจนกระทั่งเสียชีวิตคูนิซาดะก็เป็นผู้นำแนวนิยมใหม่ทางด้านศิลปะภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่นมาโดยตลอด และเป็นผู้มีหัวก้าวหน้าและรู้ใจตลาด ขณะเดียวกันก็วิวัฒนาการผลงานและลักษณะการสร้างงานศิลปะของตนเองอยู่ตลอดเวลา บางครั้งการเปลี่ยนแปลงก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างแนวทางใหม่และไม่ขังตัวอยู่กับกรอบงานศิลปะที่ตั้งกันขึ้นมาโดยศิลปินร่วมสมัยบางท่าน

นอกจากนั้นแล้วก็ยังสร้างผลงานไว้เป็นจำนวนมาก ที่กล่าวกันว่างานเขียนของคูนิซาดะมีด้วยกันราว 14,500 ชิ้น หรือ 22,500 แผ่น ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าคูนิซาดะอาจจะออกแบบพิมพ์แกะไม้ราวระหว่าง 20,000 ถึง 25,000 แบบด้วยตนเอง หรือ 35,000 ถึง 40,000 แผ่น

นอกจากงานตามแบบตระกูลงานของสำนักศิลปินอูตางาวะแล้ว งานส่วนใหญ่ของคูนิซาดะก็เป็นภาพพิมพ์ของคาบูกิและนักแสดง ราว 60% ของงานออกแบบอยู่ในกลุ่มนี้ นอกจากนั้นแล้วก็เป็นงานบิจิงงะหรือภาพสตรีราว 15% ซึ่งมากกว่าศิลปินร่วมสมัยผู้ใด ระหว่างปี ค.ศ. 1820 ถึงปี ค.ศ. 1860 คูนิซาดะก็สร้างงานภาพเหมือนเป็นจำนวนมากของนักมวยปล้ำซูโม่ และระหว่างปี ค.ศ. 1835 ถึงปี ค.ศ. 1850 ก็แทบจะเป็นผู้เดียวที่ผูกขาดการเขียนภาพพิมพ์เก็นจิ จนกระทั่งหลังจาก ค.ศ. 1850 เท่านั้นที่ศิลปินผู้อื่นเริ่มจะสร้างงานศิลปะในแบบที่คล้ายกับที่ว่า นอกจากนั้นแล้วคูนิซาดะก็ยังออกแบบซูริโมโนะ

งานเขียนคูนิซาดะที่ได้รับจ้างเป็นการส่วนตัวไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันเท่าใดนัก และสามารถที่จะเปรียบเทียบได้กับปรมาจารย์ภาพอูกิโยะอื่นๆ ได้ งานเขียนภาพประกอบส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการศึกษา แต่ที่ทราบคืองานออกแบบทางด้าน "ภาพยวนอารมณ์" (Shunga) ที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือต่างๆ แต่เพราะการเซนเซอร์ทำให้ลงชื่อแต่เพียงบนปกโดยใช้นามแฝงว่า "Matahei" ส่วนภาพพิมพ์ภูมิทัศน์ และ ซามูไรของคูนิซาดะยิ่งหาดูได้ยากกว่าภาพประเภทอื่นขึ้นไปอีก ซึ่งมีเพียงราว 100 แบบในแต่ละกลุ่ม

ราวกลางคริสต์ทศวรรษ 1840 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1850 เป็นช่วงที่งานภาพพิมพ์แกะไม้เป็นที่นิยมกันเป็นอันมากในญี่ปุ่น ระหว่างช่วงนี้คูนิซาดะก็ร่วมมือกับฮิโรชิเงะ หรืออาจจะกับคูนิโยชิด้วยก็เป็นได้ในการสร้างงานชุดใหญ่สามชุด และ ในโครงการย่อยอีกบางโครงการ แต่การร่วมมือเป็นการร่วมมือทางการเมืองเพื่อการต่อต้านของการเซ็นเซอร์ของกฎหมายการปฏิรูปเท็มโป (Tenpo reforms) และเริ่มราวกลางคริสต์ทศวรรษ 1850 ก็เริ่มมีภาพชุดที่แต่ละส่วนลงชื่อโดยลูกศิษย์หลายคนของคูนิซาดะ เพื่อที่จะเป็นการเผยแพร่ผลงานของศิลปินแต่ละคน ลูกศิษย์คนสำคัญรวมทั้งโทโยฮาระ คูนิจิกะ, อูตางาวะ ซาดาฮิเดะ และอูตางาวะ คูนิซาดะที่ 2

อ้างอิง แก้

  1. Jan van Doesburg, What about Kunisada? (Huys den Esch, Dodewaard, 1990)
  • Sebastian Izzard, Kunisada's World (Japan Society, New York, 1993)
  • Lars Berglund, Recapturing Utagawa Kunisada - 24 Prints from the Anders Rikardson Collection (p. 59ff, Vol 25, Issue 1, Jan-Feb 1995, Arts of Asia, Hong Kong)
  • Jan van Doesburg, What about Kunisada? (Huys den Esch, Dodewaard, 1990)
  • Shigeru Shindo, (translated Yoko Moizumi, E.M. Carmichael), Kunisada: The Kabuki Actor Portraits (Graphic-Sha, Tokyo, 1993)
  • Ellis Tinios, Mirror of the Stage: The Actor Prints of Kunisada (University Gallery, Leeds, 1996)
  • Willibald Netto, Kunisada (1786-1865) Ausstellung im Kupferstich-Kabinett des Wallraf-Richartz-Museums [Katalog]" (Wallraf-Richartz-Museums, Köln, 1966)

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อูตางาวะ คูนิซาดะ

  • The Utagawa Kunisada Project Overview of Kunisada's work with thousands of pictures, series titles, lists of actors and kabuki dramas portrayed by Kunisada, and detailed study of his artistic names and signatures. During his lifetime, he produced a staggering number of prints, so that even a partial list includes nearly 1,000 series.
  • Kunisada