อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ และอำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิด และมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตก แอ่งน้ำอุ่น บ่อน้ำร้อน ซึ่งสามารถเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่าใต้พื้นโลกเรายังมีความร้อนระอุอยู่

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
ตำแหน่งที่ตั้งอุทยานในจังหวัดลำปาง
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน (ประเทศไทย)
ที่ตั้งอำเภอแจ้ห่ม อำเภอเมืองปาน อำเภอเมืองลำปาง และอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง  ไทย
พิกัด18°50′11″N 99°28′14″E / 18.83639°N 99.47056°E / 18.83639; 99.47056
พื้นที่791.92 ตารางกิโลเมตร (494,951.44 ไร่)[1]
จัดตั้ง29 กรกฎาคม พ.ศ. 2531
ผู้เยี่ยมชม233,597 คน[2] (ปีงบประมาณ 2559)
หน่วยราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ

ประวัติ

แก้

ป่าไม้เขตลำปางได้มีหนังสือ ที่ กษ 0709 (ลป)/4181 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2524 เรื่อง ขอกำหนดพื้นที่ป่าบริเวณน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นวนอุทยาน กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งที่ 1648/2524 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2524 ให้นายนฤทธิ์ ตันสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปทำการสำรวจ สรุปได้ว่าสภาพป่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีจุดเด่นทางธรรมชาติสวยงามหลายแห่ง มีน้ำตกและบ่อน้ำร้อนตลอดปี เหมาะสำหรับจัดเป็นวนอุทยาน ในปีงบประมาณ 2526 กรมป่าไม้ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานแอ่งน้ำอุ่น (วนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน) บริเวณน้ำตกแจ้ซ้อน ตำบลแจ้ซ้อน กิ่งอำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 45,000 ไร่ หรือ 75 ตารางกิโลเมตร โดยอยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตลำปาง

ต่อมากรมป่าไม้ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713/13868 และ 13870 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2526 ถึงจังหวัดลำปางและป่าไม้เขตลำปาง ขอความเห็นที่จะยกฐานะวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน (วนอุทยานแอ่งน้ำอุ่น) เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจังหวัดลำปางได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ ลป 0009/18356 ลงวันที่ 12 กันยายน 2526 และป่าไม้เขตลำปางได้ให้ความเห็นชอบและสนับสนุน ในการที่จะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ เป็นการสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2526 ที่กำหนดให้จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดส่งเสริมการท่องเที่ยว 

กองอุทยานแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมต่อมาเป็นระยะ ๆ และกองอุทยานแห่งชาติ สำนักงานป่าไม้เขตลำปางและส่วนราชการองค์กรภาคเอกชนของจังหวัดลำปาง ได้เริ่มโครงการจัดตกแต่งวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2529 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2530 และเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2530 ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจราชการวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน เกิดความประทับใจในธรรมชาติที่สวยงาม จึงเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อวางแผนพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีเสนอ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2530 และได้มีหนังสือแจ้งให้กรมป่าไม้ดำเนินการตามสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0202/2889 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2530 

กองอุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งที่ 388/2530 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2530 ให้ นายสุทัศน์ วรรณะเลิศ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าบริเวณวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ เพื่อยกระดับฐานะวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นอุทยานแห่งชาติ อีกทั้งนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมป่าไม้ และนายธำมรงค์ ประกอบบุญ ผู้อำนวยการกองอุทยานแห่งชาติ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและร่วมพิจารณาความเหมาะสมในการวางแนวทางพัฒนาวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2530 และกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2530 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2530 เห็นชอบในการยกฐานะเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่สุก ป่าแม่สอย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลแจ้ซ้อน ตำบลเมืองปาน ตำบลบ้านขอ ตำบลทุ่งกว๋าว อำเภอแจ้ห่ม และตำบลบ้านคำ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 370,000 ไร่ หรือ 592 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 122 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 58 ของประเทศ 

ต่อมาได้มีประกาศขยายเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติป่าแม่สุก ป่าแม่สอย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย และป่าแม่ตุ๋ยฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลวังใต้ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ ตำบลแม่สุก อำเภอแจ้ห่ม และตำบลหัวเมือง ตำบลเมืองปาน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง พ.ศ. 2543 เนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่ หรือ 176 ตารางกิโลเมตร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 121 ก ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2543

ในการค้นพบพื้นที่ก่อนการขึ้นเป็นวนอุทยานนั้น ได้รับการเริ่มต้นการสำรวจครั้งแรกโดย นายประวิทย์ เรืองจรัส อดีตนักวิชาการของกรมป่าไม้เขตลำปาง

หน่วยงานในพื้นที่

แก้
 
น้ำตกแจ้ซ้อน
 
บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน
  1. อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
  2. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จซ.1 (ทุ่งยาง)
  3. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จซ.2 (ผางาม)
  4. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จซ.3 (แม่สุย)
  5. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จซ.4 (แม่อ้อ)
  6. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จซ.5 (แม่แจ๋ม)
  7. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จซ.6 (ป่าเหมี้ยง)
  8. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จซ.7 (ดอยล้าน)
  9. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จซ.8 (แม่กา)
  10. หน่วยจัดการต้นน้ำขุนสอย
  11. หน่วยจัดการต้นน้ำแม่นึง
  12. สถานีควบคุมไฟป่าแจ้ซ้อน
  13. ด่านตรวจ/ด่านเก็บค่าธรรมเนียม

ภูมิประเทศ 

แก้
 
จุดชมวิวกิ่วฝิ่น หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จซ.7 (ดอยล้าน)
 
ลานกางเต็นท์

สภาพภูมิประเทศ เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของสันเขาผีปันน้ำตะวันตก ทอดตัวตามแนวทิศเหนือสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เรื่อยไปทางทิศใต้จนถึงอำเภอแม่พริก ซึ่งเป็นเขตแบ่งระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 300-2,031 เมตร มียอดเขาสูงที่สุดคือ ดอยลังกา 

นอกจากนี้ยังประกอบด้วย ดอยสันผักกิ้ง ดอยชายแดน ดอยแม่กา ดอยตะไคร้ ดอยต๋ง ดอยวังหลวง ดอยห้วยหลอด ผาหลักไก่ ม่อนทางเก้า ดอยแม่บึก ม่อนจวง ดอยแม่มอน และดอยแปเมือง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้น 1-A ของลุ่มน้ำวัง ประกอบด้วยลำน้ำขนาดต่างๆ จำนวนมากที่สำคัญได้แก่ น้ำแม่หมี น้ำแม่ต๋อม น้ำแม่สอย น้ำแม่มอน น้ำแม่ปาน น้ำแม่ฮะ น้ำแม่ปอม น้ำแม่บึง น้ำแม่สุ่ย และน้ำแม่ค่อม เป็นต้น และเป็นแหล่งต้นกำเนิดของลำห้วยใหญ่ๆ ที่สำคัญเป็นสาขาของแม่น้ำวัง เช่น แม่น้ำสอย ห้วยแม่กา ห้วยแม่ปาน นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดินเป็นแหล่งบ่อน้ำร้อน บริเวณกว้างถึง 2,400 ตารางเมตร มีน้ำร้อนผุดจากบ่อเล็กถึง 9 บ่อ เต็มไปด้วยโขดหินน้อยใหญ่ มีอัตราการไหลอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งมีอัตราการไหลประมาณ 15 ลิตร/วินาที อุณหภูมิระหว่าง 39-47 องศาเซลเซียส 

ภูมิอากาศ

แก้

ลักษณะภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จัดอยู่ในลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับแล้ง ประกอบด้วย ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม จะมีฝนตกชุกในเดือนกันยายน ปริมาณน้ำฝนในรอบปี มีฝนตกเฉลี่ยประมาณ 1,070 มิลลิเมตร มีการกระจายไม่สม่ำเสมอ โดยจะมีฝนตกชุกในช่วงต้นเดือนกันยายน และจะมีระยะฝนทิ้งช่วงระหว่างต้นเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่อากาศเย็นสบาย อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22 องศาเซลเซียส และฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างจะร้อน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 26 องศาเซลเซียส แต่โดยปกติอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดปี 

พืชพรรณและสัตว์ป่า

แก้

สังคมพืชของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนสามารถจำแนกออกได้เป็น 

  • ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นอยู่โดยทั่วไปตามสันเขาและตามหุบเขาในระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ครอบคลุมพื้นที่ โดยทั่วไปทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้เด่นที่พบส่วนใหญ่ประกอบด้วย สัก แดง ประดู่ แสมสาร กระบก กว้าว เก็ดแดง ติ้ว ซ้อ ปอกระสา ฯลฯ จะพบไผ่กระจายอยู่ทั่วไป เช่น ไผ่ซางนวล ไผ่ไร่ ไผ่หอบ พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัยที่พบมีกล้วยนวล กระชาย เล็บเหยี่ยว กะลังตังช้าง เครือออน เป็นต้น 
  • ป่าเต็งรัง พบอยู่ตามเชิงเขาไหล่เขาทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติในระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง มะกอกป่า แดง ประดู่ อ้อยช้าง กระโดน มะเกิ้ม โมกมัน มะค่าแต้ ฯลฯ พืชพื้นล่างที่พบได้แก่ หญ้าเพ็ก โจด และปรงป่า 
  • ป่าดิบเขา พบขึ้นอยู่ในระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป มีอยู่เป็นหย่อมๆ บริเวณตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อตาหมู ไก๋ ทะโล้ เหมือด จำปาป่า ยางเหลือง ตะไคร้ต้น ฯลฯ พืชพื้นล่างที่พบ เช่น ไผ่ศก โชนผี และพืชในวงศ์ขิงข่า 
  • ป่าสนเขา ขึ้นเป็นหย่อมๆ บริเวณแนวสันเขา ไหล่เขา ที่มีความสูงมากกว่า 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ สนสองใบ สนสามใบ ก่อ จำปีป่า หว้า มะขามป้อมดง กำลังเสือโคร่ง ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้า หนาด สาบหมา และพืชในวงศ์ข่า 
  • ป่าดิบชื้น พบอยู่ในบริเวณหุบเขา ตามริมห้วยลำธารต่างๆ บริเวณที่มีความชุ่มชื้นสูง พันธุ์ไม้เด่นที่สำคัญ ได้แก่ ยาง มะหาด มะไฟ อบเชย ชมพู่ป่า สะท้อนรอก ลำไยป่าเครือ คอแลน สะตอ ยมป่า พระเจ้าห้าพระองค์ พืชพื้นล่างที่พบเป็นพวก ไผ่เฮียะ เฟิน หวาย และพืชในวงศ์ขิงข่า 

เนื่องจากสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ และผสมปะปนกันอยู่หลายชนิด ตลอดจนระดับความสูงที่แตกต่างกันตั้งแต่ 300 - 2,000 เมตร จึงทำให้เกิดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด สัตว์ป่าที่พบเห็นในเขตอุทยานแห่งชาติ ประกอบด้วย เก้ง กวางป่า เลียงผา หมูป่า เสือดาว หมีควาย ชะนีมือขาว ลิงลม เม่น หมูหริ่ง ชะมด พังพอน ลิ่นพันธุ์ชวา กระต่ายป่า กระรอกหลากสี กระแต อ้นใหญ่ หนูฟานเหลือง ค้างคาวไผ่หัวแบนเล็ก ไก่ป่า นกเขาเปล้า นกบั้งรอกใหญ่ นกแอ่นพันธุ์หิมาลัย นกกะเต็นน้อยธรรมดา นกโพระดกคอสีฟ้า นกนางแอ่นบ้าน นกพญาไฟใหญ่ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกเขียวคราม นกกินแมลงอกเหลือง นกกางเขนดง นกจับแมลงจุกดำ นกสีชมพูสวน ตะพาบน้ำ จิ้งจกดินลายจุด กิ้งก่าสวน แย้ขีด จิ้งเหลนบ้าน งูสามเหลี่ยม งูลายสอใหญ่ งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว อึ่งกรายตาขาว คางคกบ้าน เขียดจะนา กบหนอง ปาดบ้าน และอึ่งขาดำ เป็นต้น ประมาณเดือนเมษายนของทุกปี จะมีจักจั่นป่ามารวมตัวกันบริเวณบ่อน้ำร้อน ซึ่งเชื่อกันว่าจักจั่นป่าเหล่านี้มาดื่มน้ำแร่ 

การเดินทาง

แก้

โดยรถยนต์ 

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดลำปางประมาณ 75 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปอุทยานแห่งชาติได้ดังนี้ 

  • จากตัวเมืองลำปาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 1035 (ลำปาง-วังเหนือ) ระยะทาง 58 กิโลเมตร ผ่านอำเภอแจ้ห่ม เลี้ยวซ้ายท่สามแยกบ้านปงคอบ ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1287 (แจ้ห่ม-เมืองปาน) ระยะทาง 6 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1252 (ข่วงกอม-ปางแฟน) ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน (มีป้ายบอกตลอดเส้นทาง) 
  • จากตัวเมืองลำปางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1039 (ลำปาง-ห้างฉัตร) เลี้ยวขวาที่สามแยกบ้านน้ำโท้ง ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1157 (ลำปาง-ห้วยเป้ง-เมืองปาน) ระยะทาง 55 กม. เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1287 (เมืองปาน-แจ้ห่ม) ประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1252 (ข่วงกอม-ปางแฟน)อีกประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน (มีป้ายบอกตลอดเส้นทาง) 
  • จากจังหวัดเชียงราย สามารถเดินทางมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ประมาณ 25 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 118 ผ่านอำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า ระยะทางประมาณ 85 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านแม่ขะจานแล้วเลี้ยวซ้ายเข้ามา 10 กิโลเมตรแล้วเลี้ยวขวาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1035 (ลำปาง-วังเหนือ) ระยะทาง 60 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านปงคอบเลี้ยวขวา ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1252 (ข่วงกอม-ปางแฟน) อีกประมาณ 11 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน 

สถานที่ท่องเที่ยว

แก้
  • บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน
  • ห้องอาบน้ำแร่
  • จุดชมวิวดอยล้าน
  • เทศกาลดอกเสี้ยวบาน
  • ถ้ำผางาม
  • น้ำตกแจ้ซ้อน
  • น้ำตกแม่ขุน
  • น้ำตกแม่เปียก
  • น้ำตกแม่มอญ
  • เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ

อ้างอิง

แก้
  1. ส่วนภูมิสารสนเทศ. สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "รายงานสรุปพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พื้นที่รวม 72.046 ล้านไร่ (คำนวณในระบบ GIS)." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www2.dnp.go.th/gis/รูปอัพเว็บ/สรุปพื้นที่ป่า.pdf 2557. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.
  2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "ตารางที่ 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555–2559." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dnp.go.th/statistics/2559/ตาราง 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยาน ปี 2555-2559 (1ก.พ.60).xls 2560. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้