อุทยานแห่งชาติเขาหลวง

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในท้องที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้ป่าเขาหลวงและป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้ทำการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่บริเวณป่าเขาหลวงจะถูกวาตภัย ในปี พ.ศ. 2505 ทำให้ไม้ขนาดใหญ่ล้มโค่นเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นป่าแห่งนี้ยังมีคุณค่าควรแก่การเก็บรักษาไว้ เพื่อประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจ การศึกษา ค้นคว้าวิจัยและคุ้มครองรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นับว่าควรค่าแก่การจัดเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งต่อมาได้มีมติคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ จากการประชุมครั้งที่ 1/2517 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2517 เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งเป็นอุทยาน โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาหลวงในท้องที่ตำบลดอนตะโก ตำบลกะทูน ตำบลเขาพระ ตำบลพิปูน ตำบลยางค้อม อำเภอพิปูน ตำบลละอาย อำเภอฉวาง ตำบลสวนขัน ตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ตำบลพรหมโลก ตำบลบ้านเกาะ ตำบลอินทคีรี ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี และตำบลเขาแก้ว ตำบลท่าดี ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา ตำบลกรุงชิง ตำบลนบพิตำ ตำบลนาเหรง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 91 ตอนที่ 216 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2517 นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 9 ของประเทศ

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
น้ำตกพรหมโลกภายในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขาหลวง
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขาหลวง
ที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขาหลวง
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขาหลวง
อุทยานแห่งชาติเขาหลวง (ประเทศไทย)
ที่ตั้ง ไทย
เมืองใกล้สุดจังหวัดนครศรีธรรมราช
 • อำเภอฉวาง
 • อำเภอช้างกลาง
 • อำเภอนบพิตำ
 • อำเภอพรหมคีรี
 • อำเภอพิปูน
 • อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
 • อำเภอลานสกา
พิกัด8°29′36″N 99°43′46″E / 8.493333°N 99.729444°E / 8.493333; 99.729444
พื้นที่593.56 ตารางกิโลเมตร (370,972.22 ไร่)[1]
จัดตั้ง19 ธันวาคม พ.ศ. 2517
ผู้เยี่ยมชม111,240 คน[2] (ปีงบประมาณ 2559)
หน่วยราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ลักษณะภูมิประเทศ แก้

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 08 องศา 22 ลิปดา - 08 องศา 45 ลิปดา เหนือ และอยู่ระหว่างลองติจูดที่ 99 องศา 37 ลิบดา - 99 องศา 51 ลิบดา ตะวันออก พื้นที่อุทยานแห่งชาติครอบคลุมเทือกเขานครศรีธรรมราชตอนกลาง ประกอบด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทอดยาวเหนือจรดใต้ขนานไปกับชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก มีที่ราบตามหุบเขาเล็กน้อย ดินบนภูเขาเป็นดินที่เกิดจากการผุสลายของหินแกรนิต มียอดเขาสูงสุดคือ ยอดเขาหลวง สูงจากระดับน้ำทะเล 1,835 เมตร เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น แม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง คลองกรุงชิง คลองเขาแก้ว คลองท่าแพ คลองระแนะ และคลองละอาย อันเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของพื้นที่โดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาหลวง เป็นต้น

ทรัพยากรป่าไม้ แก้

เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวง มีพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูง โดยอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไปถึง 1,835 เมตร มีสภาพภูมิอากาศแบบคาบสมุทร มีฝนตกตลอดปี เนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาสูงทำให้ได้รับน้ำฝนจากมรสุมทั้งสองด้าน คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ความชื้น และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูง พืชพรรณไม้ที่ขึ้นส่วนใหญ่จึงเป็นสังคมพืชป่าดงดิบชื้น (Tropical Rain Forest) หรืออาจเรียกว่าป่าดงดิบ เป็นป่าไม้ที่มีใบสีเขียวตลอดทั้งปี สภาพป่ารกทึบทั้งในเรือนยอดของไม้ใหญ่ และชั้นไม้พื้นล่าง ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติทั้งหมด พันธุ์พืชซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นที่สำคัญ และเป็นไม้ที่มีค่าที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เป็นพืชในวงศ์ Dipterocarpaceae ได้แก่ ไม้ในตระกูลยาง (Dipterocarpus spp.) ตะเคียนทอง (Hopea odorata) ไข่เขียว (Parashorea stellata) ตะเคียนทราย (Shorea gratissima) สยาขาว (S. leprosula) กระบากดำ (S. ferinosa) กระบากขาว (Anisoptera costata) พันจำ (Vatica cinerea) นอกจากนี้ยังมีพันธุ์พืชในวงศ์อื่นๆ ได้แก่ หลุมพอ (Intsia palembanica) เอียน (Neolitsea zeylanica) เชียด (Cinnanomum iners) อบเชย(C. bejolghota) เทพทาโร(C. porrectum) จำปาป่า (Michelia champaca) สังโต้ง (Aglaia andamanica) แดงควน (Eugnia rhomboidea) ชุมแพรก (Hertiera javanica) เสียดช่อ (H. sumatrana) สุเหรียญ (Toona febrifuga) ยมป่า (Ailanthus triphysa) ยวน (Koompassia excelsa) ขมิ้นตอง (Horsfieldia grandis) และขุนไม้ (Podocarpus wallichianus)

สำหรับพันธุ์พืชที่หายากได้แก่ เต่าร้างยักษ์ (Caryota obtuse) รวมทั้งหวายชนิดต่างๆ ในสกุล Calamus ได้แก่ หวายหอม (Calamus javensis) หวายไม้เท้า(C. scipionum) หวายแส้ม้า (C. bousigonii) หวายกำพวน(C. longisetus) สกุล Daemonorops) ได้แก่ หวายขี้ไก่ (Deamonorops brachystachys) หวายจากจำ(D. grandis) หวายขี้เหร่(D. kunstleri) สกุล Korthalsia ได้แก่ หวายเถาใหญ่ หรือหวายแดง (Korthalsisa grandis) และหวายเถาหนู (K. rigida) นอกจากนี้มีไผ่สกุล Gigantochloa ได้แก่ ไผ่ผาก (Gigantochloa hasskarliana) ไผ่เกรียบ (G. Apus) และสกุล Schizostachyum ได้แก่ เมี่ยงไผ่ (Schzoatachyum blumei) และไผ่โป (S. brachycladum) เป็นต้น ปัจจุบันเต่าร้างยักษ์ลดจำนวนลงอย่างมาก ซึ่งอาจจะสูญพันธุ์ไปในอนาคต เนื่องจากสภาพนิเวศน์เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังมีบัวแฉก (Dipteris conjugate) และบัวแฉกใบมน (Cheiropleuria bicuspis) ซึ่งเป็นเฟิร์นประจำถิ่นของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง และพืชสำคัญที่เป็นพืชประจำถิ่นประเทศไทย พบเฉพาะถิ่นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวงคือ กุหลาบป่า (Rhododendron taiense)

ทรัพยากรสัตว์ป่า แก้

ผลการสำรวจชนิด และประชากรสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง พบว่าอุทยานแห่งชาติเขาหลวง เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 327 ชนิด โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จากการสำรวจพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 29 วงศ์ 100 ชนิด จำแนกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้ดังนี้
    1. สัตว์ป่าสงวน จำนวน 2 ชนิด คือ เลียงผา (Capricornis sumatraensis) สมเสร็จ (Tapirus indicus)
    2. สัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 จำนวน 29 ชนิด ลิงกัง (Macaca nemestrina) เม่นหางพวง (Atherurus) เสือลายเมฆ (Neofelis nebulosa) เป็นต้น
    3. สัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 จำนวน 7 ชนิด เก้ง (Muntiacus muntjak) กวาง (Cervus unicolor) เสือดำ (Panthera pardus) เสือโคร่ง (P. tiger) และจำนวนตามสถานภาพโดย Humphrey และ Bain (1990) คือ สัตว์ที่ถูกคุกคาม (Threatened species) พบจำนวน 15 ชนิด เช่น ลิงกัง (M. nemestrina) ลิงเสน (M. arctoides) หมีหมา (Helarctos malayamus) ค่างดำ (P. melalophos) ค่างแว่นถิ่นใต้ (P. obscura) เป็นต้น
    4. สัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ (endangered species) จำนวน 9 ชนิด เช่น เลียงผา (Capricornis sumatraensis) สมเสร็จ (Tapirus indicus) เสือดำ (Panthera pardus) ชะนีธรรมดา (Hylobates lar) เป็นต้น
  2. สัตว์จำพวกนกหรือ สัตว์ปีก จากการสำรวจพบนกทั้งสิ้นจำนวน 157 ชนิด 37 วงศ์ เป็นนกประจำถิ่น 143 ชนิด และเป็นนกอพยพย้ายถิ่น 14 ชนิด ซึ่งจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่สอง จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ไก่ป่า (Grallus gallus) นกเขาเปล้าธรรมดา (Treron curvirostra) สัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 จำนวน 137 ชนิด นอกนั้นไม่ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าสงวนแต่อย่างใด จากการายงานของ Humphrey และ Bain (1990) พบว่ามีนกที่จัดเป็นนกที่ถูกคุกคาม (Treatened) 6 ชนิด ได้แก่ อินทรีดำ (Ictinaetus malayansis) ไก่ฟ้าหน้าเขียว (Lophura ignifa) นกหว้า (Argusianus argus) นกเงือกหัวหงอก (Berenicornis comata) นกเงือกปากดำ (Anorshinus galeritus) และ นกกก (Buceros bicornis) และมีจำนวน 2 ชนิด ที่ถูกจัดเป็นนกที่กำลังจะสูญพันธุ์ (endangered) คือ นกชนหิน (Rhinoplax vigil) และ นกโพระดกหลากสี (Megalaima raffesii)
  3. สัตว์เลื้อยคลาน พบสัตว์เลื้อยคลานจำนวน 11 วงศ์ 40 ชนิด จากการสำรวจพบว่ามีสัตว์เลื้อยคลานที่พบเฉพาะในบริเวณเขาหลวงแห่งเดียวในประเทศไทย 1 ชนิด คือ งูลายสาปมลายู (Amphiesma inas) เต่าจักร (Heosemys spinosa) งูหลามปากเป็ด (Python curtus) งูหลามเหลียมหัวหางแดง (Bungarus flaviceps) และชนิดที่พบเฉพาะในประเทศไทย คือ จิ้งจกนิ้วยาวกำพล (Cnemasopis kumpoli) ตุ๊กแกป่าโคนนิ้วติด (Crytodactylus brevipalmatus) จิ้งเหลนเรียวปักษ์ใต้ (Lyzosoma herberti) งูเขียวดงลาย (Boiga sangsomi)
  4. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาหลวงจำนวน 5 วงศ์ 12 ชนิด จากการสำรวจ พบว่ามีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่พบเฉพาะบริเวณเขาหลวงแห่งเดียวในประเทศไทยจำนวน 1 ชนิด คือ กบเขาท้องลาย (Rana luctuosa) ชนิดที่หายากคือ กบตะนาวศรี (Ingerna tasanae) และชนิดที่พบเฉพาะในประเทศไทยจำนวน 1 ชนิด ได้แก่ เขียดงูศุภชัย (Ichthyophis supachaii)
  5. สัตว์น้ำ จากการสำรวจพบสัตว์น้ำจำพวกปลา 8 วงศ์ จำนวน 16 ชนิด จำพวกปู 2 ชนิด ซึ่งหากมีการสำรวจอย่างจริงจัง คาดว่าจะพบความหลากหลายของสัตว์น้ำมากชนิดกว่านี้ เนื่องจากแหล่งน้ำมนพื้นที่อุทยานฯ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารปริมาณสารอาหารในน้ำยังมีน้อย กระแสน้ำไหลแรง และพื้นท้องน้ำเป็นพื้นหินและทรายเป็นส่วนมาก ไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยส่วนรวม ทำให้มีสัตว์น้ำเพียงบางชนิดสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้
 
น้ำตกพรหมโลก อยู่ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวง อยู่ห่างจากสำนักงานประมาณ 40 กิโลเมตร ในอำเภอพรหมคีรี[3]

จุดน่าสนใจ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ส่วนภูมิสารสนเทศ. สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "รายงานสรุปพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พื้นที่รวม 72.046 ล้านไร่ (คำนวณในระบบ GIS)." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www2.dnp.go.th/gis/รูปอัพเว็บ/สรุปพื้นที่ป่า.pdf 2557. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.
  2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "ตารางที่ 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555–2559." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dnp.go.th/statistics/2559/ตาราง 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยาน ปี 2555-2559 (1ก.พ.60).xls 2560. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.
  3. "สำนักอุทยานแห่งชาติ :: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช". portal.dnp.go.th.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้