อุทยานแห่งชาติเขานัน

อุทยานแห่งชาติเขานัน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอสิชล อำเภอนบพิตำ และอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีลักษณะภูมิประเทศเป็นทิวเขาสูงทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ สลับซับซ้อน โดยเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขานครศรีธรรมราช สภาพป่าเป็นป่าดงดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช และประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญ และมีค่า มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกสุนันทา (น้ำตกเขานัน) น้ำตกกรุงนาง น้ำตกคลองเผียน ถ้ำกรุงนาง น้ำตกเขาใด เป็นต้น มีเนื้อที่ประมาณ 272,500 ไร่ หรือ 436 ตารางกิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติเขานัน
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขานัน
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขานัน
ที่ตั้งในประเทศไทย
ที่ตั้งอำเภอท่าศาลา อำเภอนบพิตำ และอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช
พิกัด8°45′N 99°42′E / 8.750°N 99.700°E / 8.750; 99.700
พื้นที่408.70 ตารางกิโลเมตร (255,440 ไร่)
จัดตั้ง24 ธันวาคม พ.ศ. 2552
ผู้เยี่ยมชม12,900 คน[1] (ปีงบประมาณ 2559)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ประวัติ แก้

ในการสำรวจเบื้องต้นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ากรุงชิง ป่าเขานัน และป่าคลองเผียน ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอท่าศาลา และอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งพื้นที่ที่ทำการสำรวจนี้เป็นพื้นที่ติดต่อผืนเดียวกันกับอุทยานแห่งชาติเขาหลวงและอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขานครศรีธรรมราช อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ากรุงชิง ป่าเขานัน และป่าคลองเผียน ท้องที่อำเภอท่าศาลา อำเภอสิชล กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ประมาณ 388,232 ไร่ หรือ 601 ตารางกิโลเมตร ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1627/2532 ให้นายลือสัก สักพันธ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จากการสำรวจในพื้นที่บริเวณดังกล่าวซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง พบมีการบุกรุกแผ้วถางป่าและทำไม้อยู่เป็นบางส่วนแต่ในอุทยานแห่งชาติเขานัน มีกำลังเจ้าหน้าที่และงบประมาณไม่เพียงพอต่อการที่จะออกตรวจป้องกันและปราบปราม ในการดำเนินการสำรวจในครั้งนี้ไม่แล้วเสร็จเนื่องจากไม่ได้กำหนดบริเวณพื้นที่ และไม่ได้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ

ดังนั้นอุทยานแห่งชาติเขานันจึงได้จัดทำรายการสำรวจเพิ่มเติมและกำหนดบริเวณพื้นที่ พร้อมทั้งจัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่จะประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามหนังสือของกองอุทยานแห่งชาติที่ กษ 0713 (ขน) /30 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขานัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามหนังสือของสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ กษ 0712.3/2822 ลงวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2537 และตามมติคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2535 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 ตามระเบียบวาระที่ 4 เห็นชอบให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขานันในท้องที่ตำบลกรุงชิง ตำบลนบพิตำ กิ่งอำเภอนบพิตำ ตำบลตลิ่งชัน อำเภอท่าศาลา และตำบลเขาน้อย ตำบลฉลอง ตำบลเทพราช ตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ

ลักษณะภูมิประเทศ แก้

สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ มียอดเขาที่สำคัญ ได้แก่ ยอดเขานันใหญ่ เขานันเมีย เขาเหล็ก เขาช่องลม เขาใด เขาค้อม เขาเหลี้ยม เป็นต้น โดยมียอดเขาที่สูงที่สุด คือ ยอดเขานันใหญ่ สูงประมาณ 1,438 เมตรจากระดับน้ำทะเลและสูงเป็นที่สามของเทือกเขานครศรีธรรมราช สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์และพบระบบนิเวศป่าเมฆ ซึ่งมีเมฆหมอกปกคลุมเหนือพื้นที่ป่า มีมอส เฟิร์น กล้วยไม้ และไม้อิงอาศัยตามต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญและมีค่า เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิดอยู่เป็นจำนวนมาก และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ มากมาย เช่น ดีบุก แบไรต์ วุลแฟรม ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีหุบเขาซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยต่าง ๆ มากมายเกิดเป็นแอ่งน้ำ น้ำตกที่คงความสวยงามตามธรรมชาติและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติเขานัน

ลักษณะภูมิอากาศ แก้

สภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เป็นฤดูฝนตลอดทั้งปี ฤดูฝนจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม และจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ฝนจะลดลงในเดือนมกราคม จากนั้นสู่ฤดูร้อนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าฝนเขตร้อนทำให้เกิดความชื้นในอากาศสูง และมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทำให้สภาพอากาศในพื้นที่ค่อนข้างชื้นตลอดทั้งปี

ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า แก้

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ครอบคลุมกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ มีพันธุ์ไม้ที่มีค่าหลายชนิดเช่น ยาง หลุมพอ ตะเคียนทอง ไข่เขียว ตะเคียนทราย เสียดช่อ และจำปาป่า เป็นต้น นอกจากนี้พื้นที่ป่าบริเวณบ้านทับน้ำเต้า บ้านหน้าพระเจ้า บ้านห้วยพริก และบ้านห้วยแห้ง จะพบไม้ประ (Elaleriospermum tapos Bl.) ซึ่งเป็นไม้ที่นิยมเก็บเมล็ดมารับประทาน และเมล็ดดังกล่าวมีราคาสูง ขึ้นอยู่ในบริเวณป่าดังกล่าวเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ค่อยพบเห็นไม้ประขึ้นเป็นกลุ่ม กลุ่มไม้ประในบริเวณนี้อาจถือได้ว่าเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์

ทรัพยากรสัตว์ป่า แก้

สัตว์ป่าที่พบแบ่งเป็น 5 ประเภทดังนี้

1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (Mammals) มีไม่น้อยกว่า 59 ชนิด เช่น

เลียงผา (Capricornis sumatraensis) สมเสร็จ (Tapicus indicus) ช้างป่า (Elephas maximus) หมูป่า (Sus scrofa) กวางป่า (Cervus unicolor) พังพอนธรรมดา (Herpestes javanicus) อีเห็นธรรมดา (Paradoxurus hermaphroditus) หมีขอ (Arctictis binturong) เม่นธรรมดา (Hystria brachyura) กระรอกบินใหญ่สีดำ (Aeromys tephromelas) พญากระรอกดำ (Ratufa bicolor) ชะนีธรรมดา (Hylobates lar) บ่าง หรือ พุงจง (Cynocephalus variegates) กระแตธรรมดา (Tupaia glis) เสือไฟ (Catopuma temminkii)

2. สัตว์ปีก จำพวกนก(Avian fauna) มีไม่น้อยกว่า 56 ชนิด เช่น

นกหว้า (Argusianus argus) นกแว่นสีน้ำตาล (Polyplectron malaceuse) นกกก (Buceros bicomis) ไก่ป่า (Gallus galus) นกเขาเปล้าธรรมดา (Treron curoirostra) นกเขาเขียว (Chaloophaps indica) นกกะปูดใหญ่ (Centropus sinensis) นกเค้ากู่ (Otus lempiji) นกเค้าแมว (Otus sumia) นกกระเต้นอกขาว (Haleyon smymensis) นกโพระดกคอสีฟ้า (Megalaima incognita) นกปรอดทอง (Pyenonotus atriceps) นกปรอดเหลือง(P. melanicterus) นกปรอดเล็กท้องสีเทา (P. erythropthalmus) นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ (Dicrurus paradisseus) นกเขียวคราม (lrena puella) นกกา (Corvus macrorhynchos) นกกางเขนดง (Copsychus malabaricus) นกจาบคาหัวสีส้ม (Merops leschenaulti) เหยี่ยวรุ้ง (Spilorinis cheela) นกกินปลีหางยาวเขียว (Aethopyga nipalemsisi australis)

3. สัตว์เลื้อยคลาน (Reptiles) ไม่น้อยกว่า 22 ชนิด เช่น

ตะพาบแก้มแดง (Trionyx subplanus) เต่าหวาย (Heosemys grandis) ตะกวด (Varanus bengalensis) เหี้ย (V. salvator) กิ้งก่าบิน (Draco spp.) จิ้งเหลนบ้าน (Mabuya multifasciata) งูหลามปากเป็ด (Python curtus) งูเขียวหัวจิ้งจก (Ahaetulla prasina) งูจงอาง (Ophiophajus hammah) งูเห่า (Naja naja)

4. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibians) มีไม่น้อยกว่า 9 ชนิด เช่น

อึ่งกลายหัวมน (Megophrys aceras) อึ่งอ่างบ้าน (Kaloula pulchra) กบทูด (Rana blythii) กบหนอง (Rana limnocharis) จงโคร่ง (Bufo aper)

5. สัตว์น้ำ จำพวกปลา (Fishes) มีไม่น้อยกว่า 7 ชนิด เช่น

ปลาดุกลำพัน (Prophagours cataractus) ปลาพลวงหิน (Tor soro) ปลาซิวน้ำตก (Danio aequipinnatus) ปลาซิว (Danio regina) ปลาไส้ขม (Danio peninsulas) ปลากระทิง (Mastacembelus armatus) ปลาอีกอง (Puntius lateristriga)

แหล่งท่องเที่ยว แก้

  1. น้ำตกสุนันทา
  2. นำตกกรุงนาง
  3. น้ำตกยอดน้ำ
  4. น้ำตกคลองเผียน
  5. น้ำตกคลองปาว
  6. น้ำตกหนานช่องฟ้า
  7. น้ำตกเขาใด
  8. ถ้าหงส์
  9. ถ้ำลอด
  10. ถ้ำหลวง
  11. ถ้ำกรุงนาง
  12. จุดชมวิวเขาสุนันทา

อ้างอิง แก้

  1. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "ตารางที่ 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555–2559." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dnp.go.th/statistics/2559/ตาราง 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยาน ปี 2555-2559 (1ก.พ.60).xls 2560. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.