อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง

อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง มีพื้นที่ครอบคลุมอท้องที่ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ และ อำเภอปง จังหวัดพะเยา มีสภาพป่าแตกต่างกันไป ได้แก่ ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง อีกทั้งยังมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกนาปัง น้ำตกธารสวรรค์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่อุดมสมบูรณ์ อุทยานแห่งชาติดอยภูนางมีเนื้อที่ประมาณ 537,604 ไร่ หรือ 860.17 ตารางกิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง
ที่ตั้งจังหวัดพะเยา
พื้นที่537,604 ไร่ (860.17 ตร.กม.)[1]
จัดตั้ง14 มิถุนายน 2555
ผู้เยี่ยมชม13,931[2] (2553)
หน่วยราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ

ลักษณะภูมิประเทศ แก้

สภาพพื้นที่ ประกอบด้วย ภูเขาสูง สลับซับซ้อน มีระดับความสูงตั้งแต่ 361 - 1,222 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีจุดสูงสุด ของพื้นที่ คือ ดอยภูนาง ตั้งอยู่ในเขต ตำบลปง อำเภอปง จังหวัดพะเยา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 1,222 เมตร เป็นต้นกำเนิดลำธารหลายสาย เช่น พื้นที่ป่าแปลงฝั่งตะวันตก มี ห้วยแม่ผง ห้วยแม่ฮิ ห้วยน้ำม่าว ห้วยร่องช้าง ห้วยน้ำแม่จั๊วะ ห้วยน้ำแม่ปั๋ง ห้วยกำปองหลวง เป็นต้น พื้นที่ป่าฝั่งตะวันออกมี ห้วยนางดอม ห้วยขิง ห้วยแม่ยัด ห้วยลึก ห้วยแม่ยั๊วะ ห้วยผาโค้ง เป็นต้น ลำห้วยเหล่านี้ ไหลลงสู่แม่น้ำยม

ทรัพยากรป่าไม้ แก้

 
นกยูงบริเวณใกล้สำนักงานอุทยาน

ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง สามารถ จำแนกชนิดป่าได้เป็น 4 ประเภท คือ

  1. ป่าดิบชื้น มีประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ พบตามหุบเขา ริมห้วยและบนภูเขา ได้แก่ ห้วยแม่ผง ห้วยแม่ปั๋ง ห้วยแม่จั๊วะ ประกอบไปด้วยต้นไม้ที่สำคัญ และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ไม้ยาง ตะเคียน มะม่วงป่า มะยม ไม้พื้นล่าง เช่น ไผ่ผง ไผ่หก หวาย เถาวัลย์
  2. ป่าดิบเขา มีประมาณร้อยละ 10 ของพื้นที่ พบเห็นตามสันเขาหรือภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป โดยจะปะปนอยู่ตามป่าเบญจพรรณ พบมากบริเวณดอยภูนาง ดอยหลวง ดอยประตูผา ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ประเภทต่างๆ เช่น กอข้าว ก่อตาหมู ก่อแป้น สนสามใบ ไม้พื้นล่าง เช่น ผักกูด กล้วยไม้ดิน
  3. ป่าเต็งรัง มีประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ มีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย หรือดินลูกรัง ความอุดมสมบูรณ์มีน้อย มีไฟป่าเกิดขึ้นในฤดูแล้ง จะพบเห็นได้ตามพื้นที่ราบหรือค่อนข้างราบติดภูเขา ได้แก่ ห้วยสระ ห้วยสิงห์ ห้วยระวาง ห้วยหมุ้น ห้วยขิง ห้วยขาม พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น เต็ง รัง พลวง กราด พะยอม ติ้ว ตะแบกเลือด รกฟ้า ไม้พื้นล่าง ได้แก่ หญ้าแพรก
  4. ป่าเบญจพรรณ

มีประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่ มีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ประกอบด้วยต้นไม้ขนาดเล็กหลายชนิด บางแห่งมีไผ่ขึ้นผสมกระจัดกระจาย ดินเป็นดินร่วนปนทราย ในฤดูแล้งมักเกิดไฟไหม้ทุกปี พบมากในบริเวณห้วยหลักปัน ห้วยละมัย ดอยหลวง ดอยผาตั้ง และดอยขุนน้ำปี้ ไม้ที่พบ เช่น สัก ประดู่ แดง มะค่า ตะแบกใหญ่ ชิงชัน ตีนนก ตะคร้อ ไม้พื้นล่าง เช่น ไผ่บง ไผ่ซาง ไผ่ไร่

สถานที่ท่องเที่ยว แก้

  • น้ำตกธารสวรรค์ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านมาง อำเภอเชียงม่วน เป็นน้ำตกขนาดกลางความสูงประมาณ 20 เมตร กว้าง 30 เมตร มี 2 ชั้น น้ำมีสีเขียวมรกตน้ำไหลตลอดปีและมีต้นไม้ขนาดใหญ่
  • น้ำตกนาปัง
  • พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์เชียงม่วน และแก่งหลวง ในวนอุทยานไดโนเสาร์แก่งหลวง

อ้างอิง แก้

  1. ดอยภูนาง สำนักอุทยานแห่งชาติ
  2. สถิติข้อมูลนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สืบค้นวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 19°00′N 100°10′E / 19°N 100.16°E / 19; 100.16