อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์ในพื้นที่หมู่บ้านหว้ากอ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเหตุการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในบริเวณนี้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ตามการคำนวณล่วงหน้าไว้ถึง 2 ปี
ก่อตั้ง | 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 |
---|---|
ที่ตั้ง | 181 หมู่ 4 ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ |
ประเภท | สถานศึกษา |
เว็บไซต์ | www |
ประวัติ
แก้หว้ากอเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช เพื่อทรงพิสูจน์การคำนวณสถานที่และเวลาการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างถูกต้องชัดเจน ซึ่งคำนวณล่วงหน้าไว้ถึง 2 ปีว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง จุลศักราช 1230 ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 โดยเส้นศูนย์ของอุปราคา จะผ่านมาใกล้ที่สุด ณ บ้านหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ในพระราชอาณาจักรสยาม ทางฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมมลายู ตรงเส้นวิตถันดร (แลตติดจูต) 11 องศา 38 ลิปดาทิศเหนือ และเส้นทีรฆันดร (ลองติดจูต) 99 องศา 39 ลิปดาทิศตะวันออก โดยคราสเริ่มจับเวลา 10 นาฬิกา 4 นาที จับเต็มดวง เวลา 11 นาฬิกา 36 นาที 20 วินาที กินเวลานาน 6 นาที 45 วินาที คลายคราสออกเวลา 13 นาฬิกา 37 นาที 45 วินาที ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการคำนวณจากประเทศตะวันตกมาก่อนหน้านี้
ในระหว่างนั้นประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างก็เฝ้ารอวันพิสูจน์การเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ เมื่อใกล้ถึงวันกำหนด ทรงโปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มาสร้างค่ายไว้ล่วงหน้า และพระองค์ได้ใช้ค่ายนี้เป็นห้องทดลองวิทยาศาสตร์กลางแจ้ง เพื่อเป็นที่ชุมนุมของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกและคณะทูตานุทูตประเทศต่างๆ แล้วก็เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงตามที่พระองค์ทรงคำนวณ โดยไม่คลาดเคลื่อน พระราชกรณียกิจในครั้งนั้นทำให้พระเกียรติยศระบือไกล บรรดาแขกต่างประเทศจำนวนมากได้รับทราบถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่มีไม่แพ้ชาติใดทั้งๆ ที่ยังขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ พระเกียรติคุณในด้านวิทยาศาสตร์เป็นที่ยอมรับและปรากฏเด่นชัดแก่บรรดานักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก
เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระองค์และวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ และในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานนามสถานที่แห่งนี้ว่า "อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์" โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งขึ้นเป็นสถานศึกษาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2536 ปัจจุบันสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้