ภาวะตัวเย็นเกิน

(เปลี่ยนทางจาก อุณหภูมิกายต่ำผิดปกติ)

ภาวะตัวเย็นเกินหรืออุณหภูมิกายต่ำผิดปกติ (อังกฤษ: hypothermia) นิยามว่ามีอุณหภูมิแกนของร่างกายต่ำกว่า 35.0 °C อาการขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ในภาวะตัวเย็นเกินอย่างอ่อน จะมีสั่นและสับสน ในภาวะตัวเย็นเกินปานกลาง การสั่นจะหยุดและมีความสับสนเพิ่มขึ้น ในภาวะตัวเย็นเกินรุนแรงอาจมีการเปลื้องปฏิทรรศน์ (paradoxical undressing) คือ บุคคลถอดเสื้อผ้าของตัว ตลอดจนมีความเสี่ยงหัวใจหยุดเต้นเพิ่มขึ้น[2]

ภาวะตัวเย็นเกิน
ระหว่างการถอยทัพจากรัสเซียของนโปเลียน โบนาปาร์ตในฤดูหนาว ค.ศ. 1812 ทหารเสียชีวิตจากภาวะตัวเย็นเกินเป็นเบือ[1]
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10T68
ICD-9991.6
DiseasesDB6542
MedlinePlus000038
eMedicinemed/1144
MeSHD007035

ภาวะตัวเย็นเกินมีสองสาเหตุหลัก สาเหตุตรงต้นแบบเกิดจากการได้รับความเย็นสุดขีด[1] อาจเกิดจากภาวะใด ๆ ซึ่งลดการผลิตความร้อนหรือเพิ่มการเสียความร้อน[1] โดยทั่วไปมีภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ แต่ยังมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะเบื่ออาหาร และสูงอายุ เป็นต้น[1][2] ปกติร่างกายรักษาอุณหภูมิกายไว้ใกล้ระดับคงที่ 36.5–37.5 °C โดยอาศัยการปรับอุณหภูมิกาย[2] หากอุณหภูมิกายต่ำลง จะมีความพยายามเพื่อเพิ่มอุณหภูมิกาย เช่น สั่น มีกิจกรรมใต้อำนาจจิตใจที่เพิ่มขึ้นและสวมเครื่องนุ่งห่มอบอุ่น[2][3] อาจวินิจฉัยภาวะตัวเย็นเกินได้จากอาการของบุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโดยการวัดอุณหภูมิกายของบุคคล[2]

การรักษาภาวะตัวเย็นเกินอย่างอ่อนมีเครื่องดื่มอุ่น เครื่องนุ่งห่มอุ่นและกิจกรรมทางกาย ในผู้ป่วยภาวะตัวเย็นเกินปานกลาง แนะนำให้ผ้าห่มความร้อนและสารน้ำเข้าหลอดเลือดดำอุ่น ผู้ป่วยที่มีภาวะตัวเย็นเกินปานกลางหรือรุนแรงควรเคลื่อนย้ายอย่างนุ่มนวล ในภาวะตัวเย็นเกินรุนแรง เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) หรือเครื่องปอด-หัวใจเทียมอาจมีประโยชน์ ในผู้ป่วยที่ไม่มีชีพจร การนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ (CPR) มีข้อบ่งชี้ร่วมกับมาตรการข้างต้น ตรงแบบให้ความอบอุ่นแก่ผู้ป่วยจนอุณหภูมิสูงกว่า 32 °C หากอาการ ณ จุดนี้ไม่ดีขึ้นหรือระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงกว่า 12 มิลลิโมลต่อลิตรครั้งหนึ่งแล้ว อาจยุติการกู้ชีพ[2]

ภาวะตัวเย็นเกินเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,500 คนต่อปีในสหรัฐ[2] พบมากกว่าในผู้สูงอายุและเพศชาย[4] อุณหภูมิกายต่ำสุดครั้งหนึ่งของผู้ที่มีภาวะตัวเย็นเกินโดยอุบัติเหตุแต่รอดชีวิตเท่าที่มีบันทึกคือ 13 °C ในเด็กหญิงวัย 7 ขวบที่ใกล้จมน้ำในประเทศสวีเดน[5] มีการอธิบายการรอดชีวิตหลัง CPR เกินหกชั่วโมง[2] ในผู้ที่ใช้ ECMO หรือเครื่องปอด-หัวใจเทียมมีการรอดชีวิตประมาณ 50% การเสียชีวิตเนื่องจากภาวะตัวเย็นเกินมีบทบาทสำคัญในสงครามหลายครั้ง[1] ภาวะตัวร้อนเกินหรือไข้สูงเป็นคำตรงข้ามของภาวะตัวเย็นเกิน คือ มีอุณหภูมิกายสูงขึ้นเนื่องจากการปรับอุณหภูมิกายล้มเหลว

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Marx, John (2010). Rosen's emergency medicine: concepts and clinical practice 7th edition. Philadelphia, PA: Mosby/Elsevier. p. 1870. ISBN 978-0-323-05472-0.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 Brown, DJ; Brugger, H; Boyd, J; Paal, P (Nov 15, 2012). "Accidental hypothermia". The New England Journal of Medicine. 367 (20): 1930–8. doi:10.1056/NEJMra1114208. PMID 23150960.
  3. Robertson, David (2012). Primer on the autonomic nervous system (3rd ed.). Amsterdam: Elsevier/AP. p. 288. ISBN 9780123865250.
  4. Bracker, Mark (2012). The 5-Minute Sports Medicine Consult (2 ed.). Lippincott Williams & Wilkins. p. 320. ISBN 9781451148121.
  5. "Remarkable recovery of seven-year-old girl". Jan 17, 2011. สืบค้นเมื่อ 2 March 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้