อินโฟกราฟิก (อังกฤษ: infographics) หรือ อินฟอร์เมชันกราฟิก (อังกฤษ: information graphics) เป็นการแสดงผลของข้อมูลหรือความรู้โดยภาพที่อ่านและเข้าใจง่าย งานกราฟิกประเภทนี้นิยมใช้สำหรับข้อมูลที่มีความซับซ้อน[1] ตัวอย่างเช่น ป้าย แผนที่ งานวิจัย โดยอินโฟกราฟิกนี้ยังคงนิยมใช้ในสายงานด้าน วิทยาการคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ สถิติศาสตร์ เพื่อให้แสดงถึงข้อมูลที่ซับซ้อนให้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างงานอินโฟกราฟิก ในรูปแผนที่รถไฟใต้ดินของวอชิงตันเมโทร

ปัจจุบันอินโฟกราฟิกปรากฏตามสื่อ ตามป้ายสาธารณะ หรือแม้แต่คู่มือการใช้งานในหลายอย่าง ซึ่งแสดงในลักษณะของตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ ตัวอย่างที่มักเห็นได้บ่อยเช่น แผนที่รถไฟฟ้า แผนผังอาคาร แผนภาพการพยากรณ์อากาศ และข้อมูลทางด้านสถิติ ที่ปรากฏตามสื่อสาธารณะ

ลักษณะการแสดง แก้

อินโฟกราฟิกกล่าวรวมถึงการแสดงผลของข้อมูล โดยใช้งานเครื่องมือต่างๆ เช่น แผนผัง แผนภูมิ กราฟ ตาราง ไดอะแกรม แผนที่ โดยอินโฟกราฟิกที่เห็นได้บ่อยเช่น แผนภูมิแท่ง แผนภูมิวงกลม และ ตารางที่ใช้สรุปข้อมูลทางสถิติ[1] ไดอะแกรมส่วนใหญ่จะใช้แสดงถึงการทำงานของงานที่เป็นระบบ และมีการใช้งานสำหรับผังองค์กรที่แสดงถึงเส้นของสายอำนาจ ในขณะที่ไดอะแกรมลักษณะโฟลว์ชาร์ตจะแสดงถึงเส้นทางของการเคลื่อนที่ซึ่งบ่งบอกให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ

ส่วนประกอบ แก้

ส่วนประกอบหลักของอินโฟกราฟิกคือเนื้อหาที่เป็นข้อมูล สารสนเทศ หรือ ความรู้ ที่ถูกนำมาแสดงผลในลักษณะของงานกราฟิกส์ โดยถูกนำมาจัดเรียงในลักษณะของ เส้น กล่อง ลูกศร สัญลักษณ์ หรือ พิกโตแกรม เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ นอกจากข้อมูลหลักที่แสดงผลออกมาทางกราฟิกแล้ว ข้อมูลเสริมเช่น คำอธิบายเพิ่มเติม สัดส่วนสเกลในแผนที่ รวมถึงป้ายกำกับ ยังคงเป็นอินโฟกราฟิกที่เสริมเข้ามาในชิ้นงาน

การอ่านและการตีความหมาย แก้

การอ่านและการตีความหมายของงานอินโฟกราฟิก จะมีหลายระดับโดยระดับพื้นฐาน งานอินโฟกราฟิกส์ที่ใช้ข้อมูล สี หรือ สัญลักษณ์ที่เป็นสากล ที่เข้าใจง่ายเพื่อให้ผู้อ่านสามารถได้ข้อมูลที่แสดงผลได้อย่างรวดเร็ว เช่น การใช้สีแดงแสดงถึงข้อมูลที่เร่งด่วน หรือเป็นอันตราย หรือการใช้สีเขียวแสดงถึงบริเวณป่าไม้ และสีฟ้าแทนพื้นน้ำบนแผนที่

ในขณะเดียวกันอินโฟกราฟิกส์ที่มีความซับซ้อนของข้อมูลสูง จำเป็นต้องมีการเข้าใจรูปแบบของสัญลักษณ์เป็นพื้นฐานถึงจะเข้าใจข้อมูลทั้งหมดภายในงานนั้น เช่น สัญลักษณ์สี่เหลี่ยมแทนสถานีรถประจำทาง ขณะที่สัญลักษณ์วงกลมแทนป้ายจอดรถประจำทาง

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Doug Newsom and Jim Haynes (2004). Public Relations Writing: Form and Style. p.236.