อินทรีแดง เป็นบทประพันธ์ซูเปอร์ฮีโร่ฉบับไทยของ เศก ดุสิต โดยมีตัวเอกคือ อินทรีแดง หรือ โรม ฤทธิไกร บทประพันธ์เรื่องนี้ เศก ดุสิตได้เริ่มเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2498 โดยได้แนวความคิดจากภาพยนตร์ของ ร็อก ฮัตสัน ชื่อเรื่อง Captain Lightfoot ในภาพยนตร์เล่นเป็นตีนแมว ที่มีอุดมการณ์ ช่วยเหลือผู้อื่น ใส่หน้ากากสีแดง จึงสร้างเป็นเนื้อเรื่องในทำนองเดียวกัน โดยใช้เป็นนกอินทรีเพราะเป็นนกที่มีอำนาจ บินได้สูงสุด ใครก็บินไม่สูงเท่านกอินทรี มีความยิ่งใหญ่[1] โดยนำเรื่องราวในสมัยนั้นมาผูกเข้ากับสภาพปัญหาทางสังคม ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งกฎหมาย เอื้อมไม่ถึง[2] บทประพันธ์ชุด อินทรีแดง ของ เศก ดุสิต เขียนขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2498-2513 บทประพันธ์ได้รับความนิยมจากนักอ่านอย่างมาก

อินทรีแดง
ตัวละครใน นวนิยายชุด อินทรีแดง
มิตร ชัยบัญชาในบท อินทรีแดง ในภาพยนตร์เรื่อง จ้าวนักเลง (2502)
ปรากฏครั้งแรกนวนิยาย อินทรีแดง (พ.ศ. 2498)
ปรากฏครั้งสุดท้ายละครโทรทัศน์ อินทรีแดง (พ.ศ. 2562)
สร้างโดยเศก ดุสิต (เริงชัย ประภาษานนท์)
แสดงโดยมิตร ชัยบัญชา (พ.ศ. 2502-พ.ศ. 2513)
สิงหา สุริยง (พ.ศ. 2520)
กรุง ศรีวิไล (พ.ศ. 2523)
เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ (พ.ศ. 2540)
อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม (พ.ศ. 2553)
อรรคพันธ์ นะมาตร์ (พ.ศ. 2562)

บทประพันธ์เรื่องนี้ได้นำมาสร้าง เป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์อยู่หลายครั้ง โดยครั้งแรก รังสรรค์ ตันติวงศ์ และประทีป โกมลภิส เตรียมสร้างภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ต่อจาก ชาติเสือ ให้มิตร ชัยบัญชา แสดง ระหว่างนั้น มิตร ชัยบัญชา ได้อ่านนิยายเรื่อง อินทรีแดง ที่บ้านรังสรรค์ ตันติวงศ์ จึงชอบและแจ้งความจำนงค์ว่าต้องการแสดงเป็นอินทรีแดง เพราะมีสองบุคลิก เมื่อผู้สร้างและผู้กำกับเห็นความตั้งใจของพระเอก จึงตัดสินใจพามิตร ชัยบัญชา ไปพบ เศก ดุสิต เพื่อขอซื้อนิยายอินทรีแดง ตอน จ้าวนักเลง ให้มิตร ชัยบัญชา รับบทอินทรีแดงครั้งแรก กับภาพยนตร์เรื่อง จ้าวนักเลง ออกฉายครั้งแรกวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2502 ทำรายได้เกินล้านบาท ซึ่งทำให้มิตร ชัยบัญชามีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว นับตั้งแต่นั้นมา (หลังจากเป็นที่รู้จักและเริ่มมีชื่อเสียงจากภาพยนตร์เรื่องแรก "ชาติเสือ") และยังมีภาพยนตร์ที่มิตรรับบทเป็นอินทรีแดงอีก 5 ตอนคือเรื่อง ทับสมิงคลา (2505), อวสานอินทรีแดง (2506), ปีศาจดำ (2509), จ้าวอินทรี (2511), และ อินทรีทอง (2513) ซึ่ง มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตขณะถ่ายทำฉากโหนบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากการผิดพลาดทางเทคนิคที่ทำให้การถ่ายทำไม่เป็นไปตามที่กำหนด

หลังจากภาพยนตร์อินทรีแดง นอกเหนือจากที่มิตรแสดงนำแล้วยังมี บินเดี่ยว (2520) นำแสดงโดย สิงหา สุริยง ต่อมาคือ พรายมหากาฬ (2523) นำแสดงโดย กรุง ศรีวิไล และ อินทรีผยอง (2531) นำแสดงโดย จารุณี สุขสวัสดิ์ สรพงศ์ ชาตรี มาริษา อุดมพร ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 มีการนำมาสร้างใหม่ภายใต้ชื่อ อินทรีแดง กำกับโดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง โดยมีนักแสดงนำคือ อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม รับบทอินทรีแดง[3][4]

ล่าสุดเป็นละคร ปี พ.ศ. 2562 นำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ออกอากาศทาง ช่อง 7HD ผลิตโดย บริษัท 9 บีเวอร์ ฟิล์ม จำกัด กำกับการแสดงโดย โอลิเวอร์ บีเวอร์ นำแสดงโดย อรรคพันธ์ นะมาตร์, เมลดา สุศรี, ชนะพล สัตยา, อาภา ภาวิไล, รัฐธีร์ วรโรจน์โยธิน, รัญดภา มันตะลัมพะ, สันติสุข พรหมศิริ, อติรุจ สิงหอำพล และนักแสดงแสดงอีกมากมาย [5]

ประวัติอินทรีแดง แก้

บทประพันธ์ แก้

เศก ดุสิต หรือ เริงชัย ประภาษานนท์ ได้เริ่มเขียนอาชญนิยายชุดอินทรีแดงขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2498 และวางตลาดเป็นนิยายปกอ่อน 6 ฉบับจบ ของสำนักพิมพ์อักษรสมิทร์ แต่ละฉบับจะใช้ชื่อชุดตามเหตุการณ์สำคัญภายในเล่มคือ อินทรีแดง, เล็บมังกร, กุหลาบดำ, ชาติทมิฬ, มัจจุราชคำรณ และ มังกรกระเจิง ตามลำดับ ก่อนที่ภายหลังจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อตอนเดียวกันว่า “มังกรขาว” ตามชื่อขบวนการวายร้ายของเรื่อง ที่ก่อวินาศกรรมป่วนเมือง หลังจบ มังกรขาว เศก ดุสิต ได้เขียนอินทรีแดงตอนที่ 2 ในชื่อ พรายมหากาฬ ให้กับสำนักพิมพ์บันลือสาส์น ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2500 จำนวน 10 ฉบับจบ ประสบความสำเร็จขายดีมากจนถึงมีตอนต่อมาอีกหลาย หลังเขียนอินทรีแดงชุดสองหรือพรายมหากาฬจบแล้ว เศก ดุสิตก็หันไปเขียนเรื่องอื่น แต่สุดท้ายต้องกลับมาเขียนอินทรีแดงอีกครั้งเพราะคนอ่านอยากอ่านสาเหตุที่อินทรีแดงถูกใจคนอ่านในยุคนั้น

บทประพันธ์ชุด อินทรีแดง ของ เศก ดุสิต เขียนขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2498-2513 บทประพันธ์ได้รับความนิยมจากนักอ่านอย่างมาก มีรายชื่อตอนดังนี้

  • มังกรขาว พิมพ์ครั้งแรก 2499 พิมพ์ครั้งที่สอง ปี 2505 โดย สำนักพิมพ์ บรรลือสาสน์ 7 เล่มจบ
  • พรายมหากาฬ พิมพ์ครั้งแรกปี 2500 สำนักพิมพ์ บรรลือสาสน์ 10 เล่มจบ สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม นำมาพิมพ์ใหม่ 4 เล่มจบ
  • จ้าวนักเลง พิมพ์ครั้งแรกปี 2501 สำนักพิมพ์ บรรลือสาสน์ 12 เล่มจบ
  • ภูตมรณะ
  • ปีศาจดำ พิมพ์ครั้งแรกปี 2502 พิมพ์ครั้งที่สอง ปี 2507 สำนักพิมพ์ บรรลือสาสน์ 10 เล่มจบ
  • ทับสมิงคลา
  • อวสานอินทรีแดง
  • อินทรีคืนรัง สร้างเป็นภาพยนตร์โดยใช้ชื่อว่า อินทรีทอง
  • มนุษย์ซาตาน
  • ตุ๊กตาเริงระบำ

ช่วงมิตร ชัยบัญชา รับบทเป็นอินทรีแดง แก้

 
ภาพยนตร์ จ้าวนักเลง นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา

ครั้งแรกของ อินทรีแดง ที่ได้มาผงาดบนแผ่นฟิล์มภาพยนตร์ขนาด 16 มม. โดยครั้งแรก รังสรรค์ ตันติวงศ์ และ ประทีป โกมลภิส เตรียมสร้างภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ต่อจาก ชาติเสือ ให้ มิตร ชัยบัญชา แสดง ระหว่างนั้น มิตร ชัยบัญชา ได้อ่านนิยายเรื่อง อินทรีแดง ที่บ้านรังสรรค์ ตันติวงศ์ จึงชอบและแจ้งความจำนงค์ว่าต้องการแสดงเป็นอินทรีแดง เพราะมีสองบุคลิก เมื่อผู้สร้างและผู้กำกับเห็นความตั้งใจของพระเอก จึงตัดสินใจพามิตร ชัยบัญชา ไปพบ เศก ดุสิต เพื่อขอซื้อนิยายอินทรีแดง ตอน จ้าวนักเลง ให้มิตร ชัยบัญชา รับบทอินทรีแดงครั้งแรก ในชื่อเรื่อง จ้าวนักเลง เมื่อผู้ประพันธ์พบหน้าพระเอกมิตร เขาถูกใจในรูปร่างสูงใหญ่ แบบชายชาติทหาร และได้กล่าวกับมิตรว่า "คุณคืออินทรีแดงของผม" ภาพยนตร์ได้ออกฉายครั้งแรกวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2502 เมื่อเข้าฉายก็ประสบความสำเร็จ ทำรายได้ถล่มทลาย พร้อมสร้างชื่อให้กับ มิตร ชัยบัญชา กลายเป็นพระเอกขวัญใจ มหาชน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเรื่อยๆ

หลังจากหนังเรื่องจ้าวนังเลง เรื่องแรกบนจอเงินประสบความสำเร็จ ก็ห่างหายไปอีกหลายปี จนมาถึงปี พ.ศ. 2505 ก็สร้างเรื่องที่สอง อินทรีแดง ตอน ทับสมิงคลา เข้าฉายปลายปี พ.ศ. 2505 ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ ปรากฏว่าประสบเช่นกันความสำเร็จด้านรายได้ ภาพยนตร์ชุด อินทรีแดง เรื่องที่สามที่มาเป็นภาพยนตร์จอใหญ่ ในปี พ.ศ. 2506 คือ อินทรีแดง ตอน อวสานอินทรีแดง ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างโดยดุสิตภาพยนตร์ ที่มีครูเนรมิตเป็นผู้กำกับและเป็นการมารับบทวาสนาโดยเพชรา เชาวราษฎร์ เป็นครั้งแรกซึ่งก่อนหน้านี้รับบทโดย อมรา อัศวนนท์

ปี พ.ศ. 2509 อินทรีแดงก็ผงาดฟ้า ในเรื่อง ปีศาจดำ ภาพยนตร์ของ ดุสิตภาพยนตร์ แต่มาครั้งนี้ได้ ส.อาสนจินดา มาทำหน้าที่กำกับ มิตรสวมบทบาทอินทรีแดงออกปฏิบัติการไล่ล่าเหล่าร้าย โดยมีวาสนาที่รับบทโดยคุณเพชราอีกครั้ง ภาพยนตร์เข้าฉายเมื่อ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 เป็นหนัง 16 มม. และไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ ปี พ.ศ. 2511 มีการนำนิยายเรื่อง อินทรีแดงมาสร้างเป็นหนังอีกครั้ง จากบทประพันธ์ตอน ภูตมรณะ ในชื่อเรื่อง อินทรีแดง ตอน จ้าวอินทรี ได้ ฉลอง ภักดีวิจิตร ในนาม ดรรชนี มาทำหน้าที่ผู้กำกับ ออกฉายในเมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ. 2511

ภาพยนตร์ อินทรีทอง (2513) ผลงานการกำกับการแสดงด้วยตนเองครั้งแรกของมิตร ชัยบัญชา
การถ่ายทำฉากสุดท้ายของเรื่อง อินทรีทอง

ในปี พ.ศ. 2513 มิตรมีโครงการสร้างภาพยนตร์เป็นของตัวเอง ทั้งแสดงนำและกำกับการแสดงเป็นเรื่องแรก ในเรื่อง อินทรีทอง ในบท โรม ฤทธิไกร หรือ อินทรีแดง ที่ต้องออกสืบหาอินทรีแดงตัวปลอม การถ่ายทำสำเร็จได้ด้วยดีจนถึงฉากสุดท้าย ถ่ายทำที่หาดดงตาล พัทยาใต้ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เวลา 19.00 น. ในเรื่อง หลังจากอินทรีแดงปราบผู้ร้ายได้แล้ว จะหนีตำรวจ ออกจากรังของคนร้าย โดยโหนบันไดเชือกจากเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งมีวาสนาเป็นผู้ขับ กล้องจะเก็บภาพเฮลิคอปเตอร์ พาอินทรีแดงบินลับหายไป

เพื่อความสมจริง และความไม่พร้อมของเสื้อผ้าของนักแสดงแทน มิตรตกลงว่าจะแสดงฉากนี้ด้วยตัวเอง โดยกำหนดการถ่ายทำไว้อย่างละเอียด แต่ด้วยความผิดพลาดทางเทคนิคที่มิตรไม่อาจรู้ได้ เพราะกำลังแสดงอยู่ ปรากฏว่าด้วยแรงกระตุกของเครื่องขณะบินขึ้น โดยที่มิตรไม่ได้เหยียบบนบันได และต้องโหนตัวอยู่กับบันได เครื่องไม่ได้ลงจอดเมื่อผ่านหน้ากล้องแล้ว มิตร พยายามให้สัญญาณด้วยการตบเท้าเข้าหากัน ในขณะที่นักบินมองไม่เห็นความผิดปกติและการให้สัญญาณจากพื้นล่าง ยังบินสูงขึ้นต่อไป และเกิดแรงเหวี่ยงในจังหวะที่เครื่องเลี้ยวกลับ ทำให้มิตรไม่สามารถโหนตัวต่อไปได้ ตกลงมาจากเฮลิคอปเตอร์กระแทกกับพื้น จากความสูง 300 ฟุต เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลศรีราชาด้วย เฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวภายใน 5 นาที แต่สายเกินไป จากผลการชันสูตรศพยืนยันว่า เขาเสียชีวิตทันที เพราะร่างกายแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี เชือกบาดข้อมือเป็นแผลลึก 2 ซ.ม. ยาว 8 ซ.ม. กระดูกขากรรไกรข้างขวาหัก กระดูกโหนกแก้มซ้ายขวาหัก มีเลือดออกทางหูขวา กระดูกซี่โครงขวาหัก 5 ซี่ กระดูกโคนขาขวาหัก กระดูกต้นคอหัก โดยเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 16.13 น.

มิตร ชัยบัญชา มีผลงานการแสดงภาพยนตร์ไว้กว่า 266 เรื่อง แต่เป็นเฉพาะที่นับได้ มิตรได้เสียชีวิตบริเวณหาดดงตาล พัทยาใต้ ได้มีการสร้างศาลมิตร ชัยบัญชา ตรงข้ามสำนักงานสรรพากร หลังโรงแรมจอมเทียนปาล์มบีช บริเวณหาดจอมเทียน นอกจากนี้ยังมีตั้งชื่อซอยมิตร ชัยบัญชา หรือพัทยาซอย 17 บนถนนเทพประสิทธิ์ อีกด้วย

ช่วงหลังปี พ.ศ. 2513 แก้

 
ภาพยนตร์ อินทรีแดง (2553) รับบทโดย อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 วินโปรดักชั่นฟิล์มโดย วิน วันชัย ก็สร้างด้วยการหยิบเอานิยายเรื่องอินทรีแดงที่เศกดุสิตเขียนขึ้นใหม่ มาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง บินเดี่ยว ได้พระเอกหน้าใหม่มาแสดง สิงหา สุริยง คู่กับนางเอก นัยนา ชีวานันท์ พอปี พ.ศ. 2523 พาราไดซ์ฟิลม์ โดย ประเสริฐ ศรีสมทรัพย์ นำเอานิยายเรื่องอินทรีแดง ตอน พรายมหากาฬ มาสร้างเป็นภาพยนตร์ใหญ่ มี ส.อาสนจินดา กลับมารับหน้าที่กำกับอีกครั้ง ผู้มาสวมบทบาทอินทรีแดงคือ กรุง ศรีวิไล ที่กำลังดัง พร้อมด้วยนางเอกยอดนิยม อรัญญา นามวงศ์

หลังจาก อินทรีแดง ตอน พรายมหากาฬ แต่พอเข้าสู่ จารุณี สุขสวัสดิ์ ในปี พ.ศ. 2531 อินทรีแดง กลับมาอีกครั้ง แต่การมาครั้งนี้เป็นการออกปฏิบัติการของลูกสาวอินทรีแดงรับบทโดย จารุณี สุขสวัสดิ์

หลังจากนั้น เคยมีข่าวออกมาว่าผู้กำกับหลายคนจะนำมาทำใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ธนิตย์ จิตต์นุกูล หรือ ศรัณยู วงศ์กระจ่าง แต่โครงการก็ล้มเลิกไป และต่อมาในปี พ.ศ. 2540 มีการทำออกมาในฉบับละครโทรทัศน์ทางช่อง 7 แสดงนำโดย เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ , กุลณัฐ ปรียะวัฒน์ และ กัญญารัตน์ จิรรัชกิจ กำกับโดย ฉัตรชัย นาคสุริยะ ทำออกมาหลายตอนไม่ว่าจะเป็น ตอน กำเนิดอินทรีแดง ตอน เด็กเสเพล ตอน พิษรักเพลงรัก แต่ได้ตัดแปลงให้เนื้อหาบางส่วน เช่น ให้ อินทรีแดง จากโรม ฤทธิไกร ลูกชายเศรษฐี เป็นเด็กหนุ่มชื่อ ฟ้าลั่น และเป็นนักข่าว เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2553 ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น และ กันตนา กรุ๊ป ได้สร้างตำนานของวีรบุรุษภายใต้หน้ากาก จากความตั้งใจจริงของผู้กำกับที่รักฮีโร่คนนี้ และการรอคอยกว่า 40 ปีจากภาคสุดท้ายของอินทรีแดง ที่ วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง จะเป็นผู้เปิดตำนานบทใหม่นี้ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เคยมีความประทับใจในวัยเด็ก ที่ใฝ่ฝันให้ อินทรีแดง กลับมามีชีวิต และอยากให้คนในยุคนี้ได้ รัก และ ชอบ เหมือนกับที่ตัวเค้าเองชอบเช่นเดียวกัน การดัดแปลงบทประพันธ์เพื่อปรับให้เข้ากับสมัยนี้ก็เป็นหน้าที่ของ วิศิษฏ์ ที่ต้องสร้าง อินทรีแดง ให้เป็น อินทรีแดง ในปี พ.ศ. 2553

อินทรีแดง ปี พ.ศ. 2562 นำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ออกอากาศทาง ช่อง 7 HD ผลิตโดยบริษัท 9 บีเวอร์ ฟิล์ม จำกัด กำกับการแสดงโดย โอลิเวอร์ บีเวอร์ นำแสดงโดย อรรคพันธ์ นะมาตร์, เมลดา สุศรี, ชนะพล สัตยา, อาภา ภาวิไล, รัฐธีร์ วรโรจน์โยธิน, รัญดภา มันตะลัมพะ, สันติสุข พรหมศิริ และอติรุจ สิงหอำพล

อินทรีแดงในรูปแบบต่างๆ แก้

ชื่อเรื่อง ปีที่ออกฉาย ผู้แสดงเป็นอินทรีแดง ผู้กำกับ ผลิตโดย
จ้าวนักเลง พ.ศ. 2502 มิตร ชัยบัญชา รังสรรค์ ตันติวงศ์
ประทีป โกมลภิส
ทัศไนยภาพยนตร์
ทับสมิงคลา พ.ศ. 2505 วิน วันชัย วชรินทร์ภาพยนตร์
อวสานอินทรีแดง พ.ศ. 2506 เนรมิต ดุสิตภาพยนตร์
ปีศาจดำ พ.ศ. 2509 ส.อาสนจินดา
จ้าวอินทรี พ.ศ. 2511 ดรรชนี รามาภาพยนตร์
อินทรีทอง พ.ศ. 2513 มิตร ชัยบัญชา สมนึกภาพยนตร์
บินเดี่ยว พ.ศ. 2520 สิงหา สุริยง วิน วันชัย วินโปรดั๊กชั่นฟิล์ม
พรายมหากาฬ พ.ศ. 2523 กรุง ศรีวิไล ส.อาสนจินดา พาราไดซ์ฟิล์ม
อินทรีผยอง พ.ศ. 2531 จารุณี สุขสวัสดิ์ ก้อง กังวาน วี.ที. เอ็นเตอร์เทนเมนท์
อินทรีแดง พ.ศ. 2540 เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ ฉัตรชัย นาคสุริยะ เรดดราม่า เอ็นเตอร์เทนเมนท์
พ.ศ. 2553 อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น
พ.ศ. 2562 อรรคพันธ์ นะมาตร์ โอลิเวอร์ บีเวอร์ บริษัท 9 บีเวอร์ ฟิล์ม จำกัด

อ้างอิง แก้

  1. "อินทรีแดง - หนังสือและหนัง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-19. สืบค้นเมื่อ 2010-08-25.
  2. "วันวานถึงวันนี้ 'ผู้แจ้งเกิด' ตำนาน 'อินทรีแดง' 'เริงชัย ประภาษานนท์'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-16. สืบค้นเมื่อ 2010-08-19.
  3. ไฟว์สตาร์ เปิดหน้ากาก อนันดา คือ อินทรีแดง kapook.com
  4. ไฟว์สตาร์เปิดตัว “อินทรีแดง” อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมยืนยัน “อนันดา” รับบทนำ thaicinema.org
  5. ภาพบรรยากาศบวงสรวงอินทรีแดง เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

แหล่งข้อมูลอื่น แก้