อิตาเลีย หรือ โรมันอิตาเลีย หรือ อิตาลีอา (อังกฤษ: Italia) ภายใต้สาธารณรัฐโรมันและต่อมาจักรวรรดิโรมันคือชื่อของคาบสมุทรอิตาลี

อิตาเลีย (สีแดง) ในจักรวรรดิโรมัน
ส่วนหนึ่งของ “แผนที่พิวทินเจอริอานา” (Tabula Peutingeriana) ซึ่งเป็นแผนที่โรมันจากคริสต์ศตวรรษที่ 4 ที่แสดงดินแดนอิตาลีตอนใต้

ภายใต้สาธาณรัฐและการจัดระบบของออกัสตัส แก้

ระหว่างสมัยสาธารณรัฐและในคริสต์ศตวรรษที่หนึ่งของจักรวรรดิ อิตาเลีย (ที่เมื่อเริ่มแรกมีเนื้อที่ครอบคลุมคาลาเบรียไปจนถึงรูบิคอน และต่อมาจากคาลาเบรียไปจนถึงเทือกเขาแอลป์) มิได้เป็นจังหวัดโรมันแต่เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของโรม ฉะนั้นจึงอยู่ในฐานะพิเศษ เช่นในการที่แม่ทัพไม่สามารถนำกองทหารเข้ามาในอิตาเลียได้ ฉะนั้นเมื่อจูเลียส ซีซาร์นำกองทัพผ่านรูบิคอนเข้ามายังอิตาเลียก็เท่ากับเป็นการประกาศสงครามกลางเมือง

คำว่า “อิตาเลีย” รวมบริเวณอิตาลีที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ จากหลักฐานการบรรยายของสตราโบ (“หนังสือภูมิศาสตร์” , v 1) เมื่อเริ่มแรกอิตาเลียหมายถึงดินแดนระหว่างช่องแคบเมสสินา (strait of Messina) และเส้นที่เชื่อมระหว่างอ่าวซาเลอร์โนกับอ่าวทารันโท ต่อมาอิตาเลียก็ขยายออกไปรวมคาบสมุทรอิตาลีทั้งหมด และรวมทั้งเมืองโคโลเนียปิเอทัสยูเรีย (โพลา)ในอิสเทรีย และในที่สุดจูเลียส ซีซาร์ก็มอบสัญชาติโรมันให้แก่ประชาชนใน “กาลเลียทรานสพาดานา”— ส่วนหนึ่งของซิสอัลไพน์กอลที่เลยไปจากแม่น้ำโป—ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายอิตาเลียไปจนถึงเทือกเขาแอลป์

เมื่อมาถึงปลายสงครามสังคมในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราชโรมก็อนุญาตให้พันธมิตรของอิตาลีเข้ามามีสิทธิเต็มที่ในสังคมของโรมันและมอบสัญชาติโรมันให้แก่กลุ่มชนชาวอิตาลีต่างๆ ทั้งหมด

 
โรมันอิตาลี (สีเขียว) ที่จัดระบบโดยออกัสตัส

ในสมัยแรกของจักรวรรดิอิตาเลียเป็นกลุ่มดินแดนที่มีระดับฐานะต่างๆ กัน บางเมืองก็เรียกตนเองว่า “municipium” ที่มีอิสระบางอย่างบ้างจากโรม บางเมืองก็เป็นเมืองบริวารที่โรมันก่อตั้งขึ้นเอง เมื่อมาถึงราวปี 7 ก่อนคริสต์ศักราชออกัสตัสก็จัดระบบการบริหารใหม่โดยแบ่งอิตาลีออกเป็น “เขต” (regiones) ตามคำบรรยายของพลินิผู้อาวุโส ใน “Pliny's Natural History”(iii 46) อิตาเลียแบ่งออกเป็น:

  • เขต 1 ละติอุมและคัมปาเนีย
  • เขต 2 อพูเลียและคาลาเบรีย
  • เขต 3 ลูคาเนียและบรูทิอิ
  • เขต 4 ซัมนิอุม
  • เขต 5 พิเชนุม
  • เขต 6 อุมเบรียและอเจอร์กาลลิคัส
  • เขต 7 เอทรูเรีย
  • เขต 8 เอมิเลีย
  • เขต 9 ลีกูเรีย
  • เขต 10 เวเนเชียและฮิสเทรีย
  • เขต 11 ทรานสพาดานา

อิตาเลียได้รับผลประโยชน์เป็นอันมากจากออกัสตัสและผู้ครองจักรวรรดิต่อมา ทั้งในด้านสิ่งก่อสร้างสารธารณะ และการก่อสร้างระบบถนนอันซับซ้อนที่ใช้ในการคมนาคมติดต่อไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วจักรวรรดิ

การจัดระบบการบริหารและการคมนาคมขึ้นเป็นผลให้เศรษฐกิจของอิตาเลียรุ่งเรืองตามขึ้นไปด้วย ที่รวมไปถึงการเกษตรกรรม งานฝีมือ และการอุตสาหกรรม อิตาเลียสามารถส่งสินค้าออกไปขายยังจังหวัดอื่นๆ ในจักรวรรดิได้ ในขณะเดียวกันจำนวนประชากรก็ถีบตัวสูงตามขึ้นไปด้วย ออกัสตัสสั่งให้มีการสำรวจสัมโนประชากรสามครั้ง เพื่อที่จะสำรวจจำนวนประชากรชายของจักรวรรดิ ในปี 28 ก่อนคริสต์ศักราชจักรวรรดิมีประชากรชายทั้งสิ้นราว 4,063,000 คน ในปี 8 ก่อนคริสต์ศักราชมีจำนวน 4,233,000 คน และในปี ค.ศ. 14 มีจำนวน 4,937,000 คน เมื่อรวมประชากรสตรีและเด็กเข้าด้วยแล้วประชากรทั้งหมดของอิตาเลียเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1 ก็มีด้วยกันทั้งสิ้นราว 10 ล้านคน

อิตาเลียใน คริสต์ศตวรรษที่ 3 แก้

 
บนเหรียญของจักรพรรดิอันโตนินัส ไพอัส บุคลาธิษฐานของอิตาเลียปรากฏอยู่ด้านหลังของเหรียญ

ต่อมาในปี 212 เมื่อสิทธิในการถือสัญชาติโรมันได้รับการมอบให้แก่ประชาชนทั้งจักรวรรดิ อิตาเลียก็เริ่มเสื่อมโทรมลงขณะที่จังหวัดต่างๆ นอกอิตาเลียรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ นอกจากนั้นดินแดนของอิตาลีก็ยังได้รับความเสียหายจากการรุกรานของอนารยชนเผ่าต่างๆ ที่เริ่มเกิดขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 3 (ดูรายละเอียดที่วิกฤติการณ์ของคริสต์ศตวรรษที่ 3 และจักรพรรดิค่าย (Barracks emperor))

ไดโอคลีเชียนทรงแบ่งจักรวรรดิออกเป็นสี่ส่วนที่เรียกว่า “มณฑล” (dioceses) โดย “มณฑลอิตาเลีย” ปกครองโดย “ออกัสตัส” แห่งตะวันตก ซึ่งแบ่งออกเป็นสองโซน แต่ละโซนก็แบ่งย่อยออกเป็นดินแดน (territories) ที่ปกครองโดย “corrector” โซนสองโซนและดินแดนภายใต้เขตปกครองก็ได้แก่:

  • โซน “อิตาเลียซับเบอร์บิคาเรีย” (ภายใต้การปกครองของข้าหลวงแห่งโรม)
    • “ทัสเคียและอุมเบรีย”
    • “วาเลเรีย”
    • “คัมปาเนียและซัมนิอุม”
    • “อพูเลียและคาลาเบรีย”
    • “ซิซิเลีย”
  • โซน “ซาร์ดิเนียและคอร์ซิกา”
    • “อิตาเลียอันโนนาเรีย” มีเมืองหลวงอยู่ที่มิลานปัจจุบัน
    • “เวเนเชียและฮิสเทรีย”
    • “เอมิเลียและลีกูเรีย”
    • “ฟลามิเนียและพิเชนุม”
    • เรเชีย
    • แอลป์โคตติเอ

อดีตดินแดนแอลป์โพนนิเน และ แอลป์มาริทิเมกลายเป็นส่วนหนึ่งของ“มณฑลกาลลิเอรัม”

อิตาเลียในคริสต์ศตวรรษที่ 4 และ 5 แก้

เมื่ออนารยชนกลายเป็นปัญหาสำคัญจักรพรรดิโรมันก็ตัดสินใจย้ายออกจากกรุงโรมและบางครั้งก็ต้องถึงกับต้องออกจากจังหวัด ซึ่งเป็นผลทำให้อิตาเลียยิ่งเสื่อมโทรมลงหนักยิ่งขึ้นไปอีก ในปี ค.ศ. 330 จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 ก็ทรงย้ายเมืองหลวงของจักรวรรดิจากโรมไปยังคอนสแตนติโนเปิลพร้อมด้วยราชสำนัก และหน่วยบริหารทางเศรษฐกิจและทางการทหาร

เมื่อจักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 1 เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ.395 อิตาเลียก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันตะวันตก หลังจากนั้นจักรวรรดิก็ถูกรุกรานโดยอนารชนจนต้องย้ายเมืองหลวงไปยังราเวนนาในปี ค.ศ. 402 ในปี ค.ศ. 410 อาลาริคที่ 1กษัตริย์แห่งวิสิกอธเข้าตีกรุงโรมแตก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นมากว่าเจ็ดร้อยปี

จากหลักฐานที่บันทึกใน “รายชื่อหน่วยบริหารและข้าราชการคนสำคัญของโรมัน” (Notitia Dignitatum) ที่ถือว่าถูกต้องสำหรับจักรวรรดิโรมันตะวันตกในคริสต์ทศวรรษ 420 อิตาเลียปกครองโดยข้าราชการตำแหน่ง “Praetorian prefect” (Prefectus praetorio Italiae) ผู้มีหน้าที่ปกครองอิตาเลีย อิลลิริคัม และ จังหวัดแอฟริกา และในเขตแปดเขตก็ปกครองโดยกงสุล (consulares)

เมื่อจักรพรรดิอยู่ในมือของอนารยชน รัฐบาลที่ปกครองอิตาเลียก็อ่อนแอลงชายฝั่งทะเลก็ถูกโจมตีเป็นระยะๆ ในปี ค.ศ. 476 เมื่อโรมิวลัสออกัสตัสเสียชีวิต และการปกครองต่างๆ ย้ายไปคอนสแตนติโนเปิล จักรวรรดิโรมันตะวันตกก็สิ้นสุดลง ระหว่างหลายสิบปีแรกอิตาเลียก็ปกครองโดยโอโดเซอร์ (Odoacer) ต่อมาโดยออสโตรกอธและไบแซนไทน์ แต่หลังจากการรุกรานของลอมบาร์ด อิตาเลียก็ถูกแบ่งออกเป็นอาณาจักรย่อยๆ และไม่ได้มารวมตัวกันอีกจนกระทั่งอีก 1300 ปีต่อมา

อ้างอิง แก้

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • De Reditu, poem by Rutilius Claudius Namatianus, at The Latin Library, describing the decadence of Italia and Rome around 410.